” มันมีภาพในหัวตั้งนานแล้วว่าอยากมีบ้านไม้ มีพื้นที่กว้าง ๆ ต้นไม้เยอะ ๆ พาเด็ก ๆ ไปทำกิจกรรมข้างนอกได้ เป็นที่กรุงเทพฯมันมองไม่เห็นบรรยากาศแบบนั้น แต่ที่นี้มี ” คุณครูแตงโม – สาริณี เอื้อกิตติกุล เจ้าของบ้านหลังเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ต้นไม้บรรยากาศแบบบ้านสวนต่างจังหวัด ถึงแม้ว่าพื้นเพไม่ได้เป็นคนเชียงใหม่ แต่ระยะเวลากว่า 25 ปี ที่ครูแตงโมและครอบครัวย้ายมาที่นี่ ก็สามารถเรียกว่าเป็นคนเชียงใหม่ได้อย่างเต็มปาก บ้านไม้ หลังเล็ก
ภายในซอยวัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ แม้จะเริ่มมีความคึกคักเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต แต่ก็ยังมีความสงบเงียบแบบบ้านสวนในต่างจังหวัด บ้านไม้ หลังเล็ก ที่ซ่อนตัวอยู่หลังต้นไม้แห่งนี้เป็นทั้งโรงเรียนขนาดย่อมและบ้านพักอาศัยบางครั้งบางคราวของครูแตงโมของเด็ก ๆ แตงโมก่อตั้งศูนย์การเรียนพอดีพอดี ขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนในบ้านหลังเล็กที่เปิดสอนเด็กพิเศษโดยเฉพาะ ลักษณะคล้ายโฮมสกูลมีแตงโมทำหน้าที่เป็นผู้จัดการศึกษาที่นี่มีบรรยากาศสงบ ผ่อนคลาย และแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ มีเด็กจำ นวนไม่มากนักเน้นการฝึกทักษะชีวิตและให้เด็กๆ เรียนรู้กับธรรมชาติมากกว่าแค่นั่งเรียนในห้อง
แม้ว่าพื้นเพดั้งเดิมจะไม่ได้เป็นคนเชียงใหม่ แต่ครอบครัวของแตงโมก็ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่เมื่อ 25 ปีที่แล้ว เมื่อเรียนจบทางด้านจิตวิทยาคลินิก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แตงโมจึงมุ่งหน้าไปเรียนต่อปริญญาโทด้านพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และปักหลักทำ งานอยู่ในกรุงเทพฯระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับมาอยู่เชียงใหม่อีกครั้ง
“ ตอนนั้นสอนเด็กพิเศษตามบ้านที่กรุงเทพฯแบบตัวต่อตัว พอทำไปสัก 7 – 8 ปีคุณพ่อป่วยก็เลยย้ายไปอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ แต่แตงโมคิดว่าที่นั่นไม่เหมาะกับเขาเลยกลับมาคิดว่าเราอยากทำโรงเรียนสำหรับเด็ก มันมีภาพในหัวตั้งนานแล้วว่าอยากมีบ้านไม้ พื้นที่กว้าง ๆ ต้นไม้เยอะ ๆ พาเด็กไปทำกิจกรรมข้างนอกได้ด้วยถ้าเป็นกรุงเทพฯมันมองไม่เห็นบรรยากาศแบบนั้นคิดว่าทำที่เชียงใหม่นี่ละเพราะบ้านก็อยู่เชียงใหม่อยู่แล้ว ” เมื่อกลับมาเชียงใหม่แตงโมตั้งต้นที่ย่านวัดอุโมงค์เพราะใกล้กับมหาวิทยาลัยที่คุ้นเคยในซอยนี้แตงโมพบกับเวิ้งมาลัยคอมมูนิตี้งานคราฟต์ที่มีคาเฟ่เล็ก ๆ บรรยากาศสบาย ๆ ทำให้รู้สึกชอบ
“ รู้สึกว่าที่นี่น่ารักจัง ถามพี่เขาว่าแถวนี้มีที่อยู่บ้างไหมเขาก็แนะนำโครงการบ้านข้างวัดซึ่งกำลังสร้างพอดีเราพอมองเห็นภาพว่าอยากให้เด็ก ๆ เข้ามาวิ่งเล่นมีกิจกรรมก็เลยตกลงเช่ากับน้องอีกคนทำเป็นห้องสมุดคิดภาพว่ามีเด็กมาเรียนก็น่าจะอบอุ่นดีพอทำ ไปสักพักบ้านข้างวัดเริ่มเป็นที่รู้จักมีนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น เลยรู้สึกว่ามันอาจจะไม่เหมาะ โดยเฉพาะเด็กของเราเป็นเด็กพิเศษที่ต้องการความสงบ เลยเปลี่ยนภาพว่าจริงๆต้องเป็นที่ส่วนตัว เป็นบ้านเราเอง มีที่เยอะขึ้น เลยกลับมาที่เวิ้งมาลัยอีกครั้ง เพราะเรารู้สึกว่าที่นี่เป็นคนที่เราพึ่งพิงได้ เขาก็แนะนำ ว่าในซอยนี้มีบ้านเช่าหลายหลัง บังเอิญเห็นที่แปลงนี้ให้เช่าระยะยาว 10 ปี ช่วงนั้นทำ งานเป็นอาจารย์พิเศษใน มช.ด้วย เลยคิดว่าเดินทางไปมาน่าจะสะดวก ”
พื้นที่ขนาด 90 ตารางวาแห่งนี้เดิมเป็นสวนกล้วย แตงโมรื้อกล้วยออกและปลูกไผ่รวมทั้งต้นไม้อื่นๆ มีภาพบ้านในใจเป็นบ้าน
ไม้หลังเล็กๆ ที่แตงโมบอกว่าอยากให้เหมือนเป็นบ้านของเด็ก “ จริง ๆ อยากได้สเกลเด็กเลย แต่เราจะอยู่ยาก เลยทำ หน้าต่างเป็นเหมือนประตู เพราะหน้าต่างเล็กๆ ก็เหมือนเป็นประตูที่เด็กก้มออกไปได้ ให้เขารู้สึกว่าเปิดประตูไปเล่นที่ไหนก็ได้ เหมือนอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ ” เมื่อมีรูปแบบบ้านแล้วจึงเริ่มเสาะหาไม้เก่ามาเป็นองค์ประกอบของบ้าน ส่วนใหญ่ได้มาจากจังหวัดลำ พูนในราคาไม่แพงนัก ไม้แผ่นราคาเมตรละ 10 – 20 บาท ตัวบ้านใช้โครงเหล็กสร้างยกใต้ถุนเตี้ย ผนังกรุไม้เก่าและหน้าต่าง
บานเก่าประกอบกันขึ้นมา วางตั้งบ้างนอนบ้าง ตรงไหนขาดก็วัดขนาดแล้วไปเลือกประตูหน้าต่างเก่ามาใช้ประกบเข้ากับโครงที่มี ส่วนวัสดุอื่น ๆ เน้นแบบเรียบง่าย ราคาไม่แพงนักพื้นในบ้านใช้แผ่นสมาร์ทบอร์ด เนื่องจากมองว่าไม่ได้อยู่ที่นี่ถาวร อีกทั้งมีงบประมาณสร้างบ้านอยู่จำกัด
“ ตอนแรกตั้งงบไว้แสนนึง แต่สรุปว่าใช้งบทั้งหมดสองแสนบาท รวมทุกอย่างแล้ว ค่าแรงช่างที่เชียงใหม่ไม่แพง รวมๆ แล้วห้าหมื่นบาทเท่านั้นเอง ทีแรกได้ช่างมาเจ้าหนึ่งอธิบายแบบไปจนขึ้นโครงเรียบร้อย พอเราเอาไม้มา เอาหน้าต่างมา ปรากฏว่าเขาไม่ใช่ช่างที่ทำ งานไม้จึงไม่มีเครื่องมือ ก็เลยได้มาแค่โครงหลังคา และติดประตูให้เสร็จก็ไปเลย (หัวเราะ) จนไปเจอช่างอีกคนที่ทำ งานไม้ได้ ช่างคนนี้เหมือนรู้ใจกันค่อย ๆ เติมไปด้วยกัน ทำอยู่ประมาณ 6 – 7 เดือนจึงเสร็จเรียบร้อย ”
บ้านขนาดกะทัดรัดหลังนี้มีเฉพาะสิ่งที่จำเป็นได้แก่ โถงนั่งเล่น ครัว และห้องน้ำ มีบันไดขึ้นไปชั้นลอยเหมือนห้องใต้หลังคา ใช้เป็นห้องนอน ภายในบริเวณเดียวกันยังมีเรือนที่สร้างขึ้นใหม่หลังจากบ้านหลังแรก 2 ปี เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงเล็กน้อย มีระเบียงยาวตลอดตัวบ้าน ด้านในเป็นโถงโล่ง ใช้เป็นห้องเรียนและทำ กิจกรรมได้อเนกประสงค์ ด้านหลังมีครัวเล็ก ๆ รอบบ้านปลูกกล้วยให้เด็ก ๆ นำมาทำขนม เลี้ยงไก่ให้ลองเก็บไข่มาฟัก ทุกอย่างเรียนรู้ได้จากรอบตัวเรานี่เอง “ ตอนแรกตั้งใจจะสอนตัวต่อตัว ไม่ได้คิดว่าจะเป็นโรงเรียน มันเหมือนเป็นสถานที่ทดลองก่อนว่ าถ้าเราใช้แนวคิดการสอนประมาณนี้ ให้อิสระ เด็กจะชอบไหม จะรู้สึกอยากเรียนไหม นำแนวคิดที่ได้จากเด็กมาวางแผนว่าจะสอนยังไง ผู้ปกครองหลายคนเล่าว่าปัญหาคือเด็กๆไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโรงเรียนและเพื่อนได้แต่พอมาที่นี่ไม่มีพฤติกรรมแบบนั้น ตอนแรกรับมาแค่คนสองคน พอมีคนรู้ว่ากำลังจะเปิดก็ทยอยมา ตอนนี้มีสัก 7 – 8 คนแล้วค่ะ ด้วยจำนวนกลุ่มที่มันเล็ก ครูดูแลได้เต็มที่รับได้มากสุด 10 คน ไม่อยากให้เกินกว่านั้น เด็กปกติก็มีมาเรียนเหมือนกัน เพราะพ่อแม่สนใจแนวคิดการเรียนการสอนแบบนี้
ภายในห้องเรียนบรรยากาศเหมือนบ้าน มีโต๊ะเตี้ยวางง่าย ๆ ให้เด็กใช้เขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ และมีกระดานดำ เล็ก ๆ แบบไม่เป็นทางการ แค่พอให้เด็กเห็นภาพ เพราะส่วนใหญ่จะเน้นให้เด็กเห็นภาพจากของจริงและการลงมือทำ “ เรานึกถึงตอนเด็ก ๆ ว่าเราก็ชอบธรรมชาติ เราไปบ้านคุณตา มีต้นไม้ มีต้นกล้วย มีบ้านไม้รู้สึกว่าทุกอย่างมันเรียนรู้ได้หมด ก็เลยออกแบบเป็นเหมือนบ้านชนบท เหมือนบ้านคุณตาสมัยก่อน มีบ้านไม้หลังเล็ก ๆ ไม่ต้องใหญ่เพราะอยากให้เด็กมีพื้นที่ข้างนอกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เด็กก็เป็นคนวางแผนกิจกรรมร่วมกับเราอยากทำอะไร วันนี้อยากฟักไข่ อยากเที่ยวดูสัตว์ เดินดูธรรมชาติรอบๆบ้าน “ตรงนี้เป็นที่เช่าแต่ในอนาคตคงหาพื้นที่ที่มันกว้างกว่านี้อาจจะรับเด็กได้เพิ่มขึ้นแตงโมคิดว่าหากวันหนึ่งต้องย้ายไปก็อยากจะย้ายบ้านหลังนี้ไปทั้งหลัง บ้านไม้มันมีข้อดีคือสามารถถอดไปได้ทั้งหมด ”
ส่วนครัวของเรือนหลังใหม่ อาคารคอนกรีตทาสีแดงจับคู่กับงานไม้เก่า ๆ อย่างกลมกลืน ห้องครัวนี้มักจะให้เด็ก ๆ มาลองทำ ขนม เช่น ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย พอวันพระก็พาเด็ก ๆ ไปวัดอุโมงค์ นำ ขนมที่พวกเขาทำ ไปถวายพระ เป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำแบ่งปันและได้เดินเที่ยวในชุมชนไปด้วยในตัว
นำหน้าต่างหลากหลายขนาดมาจัดเรียงบนผนังบ้านโดยไม่ได้มีแบบมาก่อน แต่ติดตั้งหน้างานตามวัสดุที่หาได้ ใช้ไม้เก่าเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างบ้านหาได้จากแหล่งซื้อไม่ไกลนัก หากมีการย้ายที่อยู่ในอนาคตก็สามารถรื้อถอนไปใช้ใหม่ได้ รวมทั้งเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบอื่น ๆ ในบ้าน โดยเฉพาะไม้ไผ่ที่ปลูกเองตัดมาสานเป็นช่องลม
สั่งซื้อหนังสือ My Little Home Vol.2 บ้านเล็กอยู่สบายในต่างจังหวัด โดย สำนักพิมพ์บ้านและสวน
ได้ที่นี่ >>>คลิ๊ก<<<
เจ้าของ : คุณสาริณี เอื้อกิตติกุล
เรื่อง : วรัปศร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
รวมบ้านไม้สไตล์ล้านนา อบอุ่น อยู่สบาย
10 แบบบ้านไม้หลังเล็ก ขนาดกำลังพอดีกับใจ โอบกอดด้วยธรรมชาติ
กลับบ้านเรารักรออยู่ รวม 7 บ้านต่างจังหวัดสวย ๆ ของคนกลับบ้านเกิด