LIVIST RESORT PHETCHABUN พักผ่อนกลางประติมากรรมคอนกรีตสุดท้าทาย

ทันทีที่ภาพสระว่ายน้ำที่ล้อมรอบไปด้วยคอนกรีตรูปทรงพีระมิดกลับหัวของโครงการ Livist Resort Phetchabun ถูกโพสต์ลงในสื่อออนไลน์ ก็กลายเป็นกระแสในวงกว้างทันที ด้วยรูปทรงสะดุดตาของสถาปัตยกรรมดิบกระด้างที่โดดเด่นท่ามกลางธรรมชาติ ที่นี่ได้รับการออกแบบภายใต้ความตั้งใจที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ในการพักผ่อน พร้อมท้าทายความรู้สึกและทดลองกับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: POAR

Livist Resort Phetchabun  รีสอร์ตขนาด 76 ห้อง ออกแบบโดย POAR ตัวโครงการตั้งอยู่ห่างจากสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างเขาค้อเพียง 30 นาที โดยคำว่า Livist (ลิวิสต์) นั้น มาจากชื่อ Livistona Speciosa ซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นค้อ ที่ทางสถาปนิกตั้งใจเลือกชื่อนี้เพื่อต้องการสื่อถึงการนำบริบทมาถ่ายทอดเป็นงานออกแบบที่ผ่านการตีความอย่างตรงไปตรงมาจากทิวเขาค้อที่โอบล้อมพื้นที่แบบ 270 องศา โดยถอดเส้นสายจากระนาบแนวนอนมาผสานกับลักษณะพื้นที่ตั้งโครงการที่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ตัวอาคารจึงมีลักษณะเป็นแนวยาวทอดตัวล้อไปกับแนวเขา โดยมีความยาวถึง 99 เมตร นำเสนอความต่อเนื่องของเส้นสายจากธรรมชาติมาสู่งานสถาปัตยกรรม

Livist Resort Phetchabun

Livist Resort Phetchabun
จากมุมบน องค์ประกอบรูปทรงเรขาคณิตของสระว่ายน้ำวงกลม และประติมากรรมคอนกรีตทรงพิระมิดโดดเด่นท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ

Livist Resort Phetchabun

ด้วยทำเลที่ตั้งจึงทำให้ทางโรงแรมตั้งใจจะเป็นศูนย์กลางการพักผ่อนไปพร้อมกับการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวเขาค้อที่มีมากกว่าแค่การมาดูทะเลหมอกยามเช้า ด้วยการสร้างสระน้ำกลางแจ้งไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของคอร์ตยาร์ดโรงแรม เพื่อให้แขกสามารถใช้ว่ายน้ำได้หลังจากกลับมาจากการดูทะเลหมอก สถาปนิกจึงเลือกใช้วงกลมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากจานมาเป็นรูปทรงของสระ และไล่ระดับความลึกไปยังกลางสระเช่นเดียวกับจานโดยไม่มีสเต็ป โดยมีพีระมิดกลับหัว ที่สร้างจากการหล่อคอนกรีตในที่วางตำแหน่งไว้อยู่กลางสระ และด้วยระดับความลึกที่ค่อยๆ ลดลงทำให้ผู้ใช้สระสามารถสัมผัสกับระดับความสูงของพีระมิดที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป จากที่เมื่ออยู่ขอบสระว่ายน้ำ พีระมิดจะมีความสูงราว 3 เมตร แต่เมื่อว่ายไปยังกลางสระความสูงของพีระมิดจะเปลี่ยนไปเป็น 4 เมตร เนื่องจากความลึกของก้นสระที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง เป็นการสร้างประสบการณ์แบบใหม่ในการเข้าถึงพื้นที่ (space) ผ่านพีระมิด พร้อมกับการสร้างภาพลักษณ์ที่น่าจดจำให้กับโรงแรม

Livist Resort Phetchabun
ความลึกของสระว่ายน้ำลาดเอียงจากตื้นบริเวณขอบสระ ไปสู่ส่วนลึก ณ ใจกลาง สร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้ผู้ใช้งานในการมีปฏิสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมคอนกรีต

นอกจากนั้น พีระมิดกลับหัวดังกล่าวยังได้ถูกวางหน้าที่ให้เป็น multi-functional architecture ที่ถูกตีความให้เป็นรากของต้นไม้ โดยด้านบนได้ปลูก ‘ต้นแปรงล้างขวด’ (Callistemon viminalis) ซึ่งเป็นไม้ไม่ผลัดใบเอาไว้ เพื่อให้สีเขียวของต้นไม้มาช่วยสร้างบรรยากาศการพักผ่อน เมื่อว่ายน้ำผ่านเข้าไปยังกลางสระแล้วจะพบกับพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมแต่ไม่ปิดกั้นไว้อย่างตั้งใจ โดยพื้นที่ดังกล่าวเกิดจากการเรียงมุมของพีระมิดกลับหัวที่ออกมาคล้ายกับหลังคาหน้าจั่ว เพื่อสร้างความรู้สึกอบอุ่นและเป็นส่วนตัว แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่ไม่ปิดกั้นลมธรรมชาติที่พัดผ่านเข้ามา พร้อมกันนั้นด้วยองศาของรูปทรงพีระมิดยังช่วยกรองแสงแดดที่จะเข้ามาภายกลางสระได้อย่างดี ทำให้แขกที่มาพักสามารถว่ายน้ำได้ตลอดทั้งวันแม้กระทั่งช่วงบ่ายซึ่งเป็นเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน

Livist Resort Phetchabun
นอกจากรูปทรงสะดุดตาที่ดึงดูดความสนใจในเวลากลางวัน การออกแบบแสงสว่างบริเวณสระว่ายน้ำ ให้ขับเน้นประติมากรรมให้โดดเด่นนยิ่งขึ้น ก็สร้างบรรยากาศน่าค้นหายามค่ำคืน

นอกจากเรื่องลักษณะอันโดดเด่นของภูมิประเทศของเขาค้อแล้ว เรื่องของลมธรรมชาติจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ก็เป็นอีกปัจจัยแวดล้อมสำคัญในการออกแบบโครงการ สถาปนิกจึงยกฝ้าเพดานชั้น 1 ให้สูงขึ้นไปถึง 7 เมตร และกั้นผนังทึบให้น้อยที่สุด โดยเลือกใช้ทรายล้าง และหลังคาสีดำที่สร้างซ้อนขึ้นแทนฝ้าเพดานมาใช้ในการแบ่งพื้นที่ จนเกิดเป็นพื้นที่ใต้ถุนขนาดใหญ่ของอาคาร เพื่อให้ลมนั้นสามารถพัดผ่านไปยังส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ซึ่งการออกแบบเช่นนี้ ยังทำให้อาคารไม่ไปขวางทางลมจนลมเปลี่ยนเส้นทาง อีกทั้งหลังคาสีดำยังถูกปรับองศาเพื่อทอนกำลังของลมและป้องกันไม่ให้ลมไปกระทบต่อบริบทโดยรอบ

Livist Resort PhetchabunLivist Resort Phetchabun  Livist Resort Phetchabun   Livist Resort Phetchabun

สำหรับตัวห้องพักมีให้เลือกถึง 5 ประเภท ซึ่งจะแตกต่างตามตำแหน่งและมุมมองที่แต่ละห้องได้รับ โดยทุกห้องจะถูกบิดแกนทำมุม 30 องศา และมีความยาว 7 เมตร เพื่อสำหรับเปิดรับวิวของเขาค้อและวิวสระว่ายน้ำรูปวงกลมได้อย่างเต็มที่ โดยจะเห็นเป็นกลุ่มคอนกรีตที่เรียงตัวเพื่อปิดล้อมอยู่กลางสระท่ามกลางเฉดสีเทาจากหินอ่อนจากพื้นสระที่ค่อย ๆ ไล่สีไปอย่างสวยงาม อีกทั้งตัวห้องยังเว้นระยะห่างระหว่างห้องพักแต่ละห้อง 1.20 เมตร  เพื่อเปิดเป็นช่องให้ลมพัดเข้ามายังทางสัญจร (circulation) ภายในอาคารแทนการเปิดเครื่องปรับอากาศโดยไม่จำเป็น

Livist Resort Phetchabun   Livist Resort

ส่วนด้านการตกแต่งภายในทั้งหมดมาจากแนวความคิดในการเลือกวัสดุในพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นหลัก อย่างไม้สักและหินเหมืองสีดำที่จะเห็นได้ตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งพื้น ผนังและฝ้าเพดาน นอกจากนั้นยังมีคอนกรีตซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับงานก่อสร้างโรงแรม เนื่องด้วยทางเจ้าของโครงการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอยู่แล้ว ทางทีมช่างจึงมีทักษะด้านงานคอนกรีตเป็นอย่างมาก ทำให้สถาปนิกเลือกที่จะให้งานคอนกรีตแสดงศักยภาพตัวเองอย่างเต็มที่ เสมือนให้ที่นี่เป็นแกลเลอรี่ทางงานคอนกรีตโดยเฉพาะ

เชื่อว่า Livist Resort Phetchabun ได้สร้างมาตรฐานการพักผ่อนในบ้านเราขึ้นใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งการสร้างประสบการณ์ให้กับแขกที่มาพักด้วยสระว่ายน้ำกลางแจ้งที่สามารถว่ายได้ทั้งวัน ไปพร้อมกับการที่ POAR ได้ยกระดับงานออกแบบคอนกรีตไปอีกขั้น ด้วยการท้าทายทั้งเรื่องของเทคนิคการก่อสร้างและรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม โดยมีประติมากรรมคอนกรีตทำหน้าที่เป็น ‘สื่อกลาง’ เพื่อถ่ายทอดความตั้งใจไปในทุกรายละเอียดของงานออกแบบ

ออกแบบสถาปัตยกรรม / ออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน / ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: POAR

Patchara Wongboonsin, Prakai Voranisarakul, Ornnicha Duriyaprapan, Pongsakon Ponpaiboon, Sakrawut Suma, Chanont KaeKlang, Panchika Trisukosol

ออกแบบแสงสว่าง: Light Is co., ltd.

วิศวกรรมโครงสร้าง: Basic Design co.,ltd.

วิศวกรรมงานระบบ: Weint co.,ltd.

รับเหมาก่อสร้าง: Livist ResortBuilding

ออกแบบสวนหิน: ภูริวัจน์ วรากิติยาวิโรจกุล

——-

ภาพ: Patchara Wongboonsin และ Light Is co., ltd.

เรื่อง: Ektida N.


ATHITA THE HIDDEN COURT CHIANG SAEN

ซ่อน “ความสุข” และ “ความสงบ” หลังกำแพงอิฐกลางเมืองโบราณเชียงแสน