ภาพวาด งานศิลปะ หุ่นกระบอก สัตว์สตัฟฟ์ และอีกมากมายเกินกว่าจะพูดได้ครบ ได้รวมอยู่ในบ้านหลังนี้ การแต่ง บ้าน สตูดิโอ ในแบบมิวเซียมที่ของสะสมทุกชิ้นถูกจัดแสดง และถูกมองเห็น จึงเป็นความหลากหลาย น่าสนใจ และบ่งบอกตัวตนของเจ้าของบ้านได้อย่างชัดเจน
เมื่อเลี้ยวรถเข้าซอยหนึ่งตามหมุดหมายที่ปักไว้ เพียงแว๊ปแรกทีเห็น ก็มั่นใจได้ในทันทีว่าเรามาถึงบ้านของ คุณฮ่องเต้ – กนต์ธร เตโชฬาร เจ้าของเพจ Art of Hongtae ไม่ผิดหลังแน่นอน สมเป็น บ้านศิลปิน รั้วเหล็กยาวขึ้นสนิมสีแดง ดูเหมือนไม่ตั้งใจ แต่มีลวดลายที่ถูกเพ้นท์ในแนวไทยประยุกต์ที่หน้าประตูบ้าน “สวัสดีจ้า เข้ามาเลยๆ” เสียงของคุณฮ่องเต้ ทะลุผ่านรั้วบ้านออกมา ตั้งแต่เรายังไม่ทันได้เห็นหน้ากัน สัมผัสได้ถึงความอารมณ์ดีของเจ้าของ บ้าน สตูดิโอ ในวันนี้
คุณฮ่องเต้ช่วยสรุปความเก่าของบ้านไว้ได้อย่างเห็นภาพ “บ้านหลังนี้พ่อซื้อไว้ ตั้งใจให้เราอยู่ไม่ไกลจากบ้านพ่อนัก ถึงข้างนอกจะดูเป็นบ้านเก่าธรรมดา แต่ยิ่งรื้อ ยิ่งเห็นถึงความแข็งแรงของตัวบ้าน โครงสร้างบันไดที่เรียกว่าแน่น ผนังอิฐมอญอย่างหนา ที่ใช้ค้อนปอนด์ทุบจนหัวหลุด ฝ้าเพดานเป็นไม้เนื้อแข็ง ที่เอาเหล็กเชื่อมจากปูนลงมา งานระบบกับตู้ไฟที่รวมสายไฟเอาไว้ อย่างน่ากลัวสุดๆ และระบบน้ำเป็นท่อทองเหลืองฝังในผนัง บ้านสร้างไว้เกือบเต็มพื้นที่ แทบไม่เหลือพื้นที่สีเขียว ในการปลูกต้นไม้ แต่ใช้วิธีปลูกต้นไม้ที่ระเบียงชั้น 2 แทน ค่อยๆแบกต้นไม้ขึ้นมาทีละต้น แล้วก็เป็นอย่างที่เห็น” ภาพที่เราเห็นคือเหล่าไม้กระถางน้อยใหญ่ ที่วางเรียงกันจนเต็มระเบียง ความเขียวสดชื่นของต้นไม้ไม่แพ้บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียง
กว่าจะมาเป็นพื้นที่สตูดิโอสุดเท่อย่างที่เห็นนั้น แน่นอนว่าเส้นทางการปรับปรุง ต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน “เข้ามาอยู่ก่อนที่จะเริ่มปรับปรุง คือเราต้องลองอยู่ก่อน จะได้รู้ว่าอยู่สบาย นอนโซฟาเบดที่ห้องชั้น 2 มา 3-4 ปี ทำงานอยู่ในห้องนั้น ยังไม่ได้แตะชั้น 3 เลย ตอนแรกตัวบ้านปิดทึบมาก พื้นปูพรมอัดสีเขียวฝุ่นเยอะๆ มีม่านทึบ หน้าต่างลูกฟักซอยช่องถี่ๆ กระจกสีชาดำตัดแสง ติดม่านอีก คือพลังหยินสูงมาก แต่พอเราเปิดบ้านปุ๊ป มันโล่งมีลมผ่าน และถึงจะโดนล้อมด้วยตึก แต่ก็มีแสงเข้าได้”
เมื่อดูทิศทางสำรวจทุกพื้นที่ของบ้าน การปรับปรุงพื้นที่ชั้น 3 จึงเริ่มต้นขึ้น “ปีนขึ้นไปดูช่องเซอร์วิส ถึงเห็นโถงหลังคาใหญ่มาก สูงประมาณ 3 เมตรกว่า ถ้าตีฝ้าเพดานออก จะได้โถงสูงอย่างน้อย 5 เมตร เป็นห้องใต้หลังคาทรงจั่วที่ชอบ แต่ถ้าเปิดฝ้าออกหมด แล้วติดแอร์มันจะเปลืองไฟ เลยเอาฝ้าออกแค่ครึ่งเดียว พอเริ่มเห็นพื้นที่เป็นรูปเป็นร่าง ก็เริ่มวางผัง อยากกั้นพื้นที่สำหรับติดแอร์ แต่ยังอยากให้รู้สึกเป็นห้องเดียวกันอยู่ เลยสั่งทำตู้โชว์กระจกใสสูงเสมอฝ้า ใช้กั้นพื้นที่ เหมือนเป็นผนังห้อง แต่ยังมองเห็นถึงกันได้”
นอกจากสเปซของบ้านที่น่าตื่นเต้นแล้วของทุกชิ้นที่ถูกจัดวางอยู่ในที่แห่งนี้ต่างก็ดูน่าสนใจไม่แพ้กัน องค์ประกอบของแต่ละอย่างที่เหมือนจะดูไม่เข้ากันแต่กลับยิ่งทำให้ดูมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เป็นการรวมกันของงานศิลปะหลากหลายแขนงเอาไว้ในพื้นที่แห่งนี้ “เป็นการรวมทุกอย่างที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นหัวโขนที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2 หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอกจีน หุ่นกระบอกไต้หวัน หัว ฮก ลก ซิ่ว มีทั้งของที่ซื้อมาเป็นครูเพื่อศึกษา หรือโครงกระดูกที่สั่งมาจากเมืองนอก มีทั้งของจริงและแบบเรซิ่น รวมไปถึงสัตว์สตัฟฟ์ เอามาศึกษา anatomy เพื่อใช้ในการออกแบบคาแร็คเตอร์ ซึ่งงานส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ประหลาด creature ต่างๆ มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องศึกษาเพื่อดูกล้ามเนื้อ กะโหลกเป็นยังไง ตำแหน่งตาอยู่ตรงไหน ต้องศึกษาจากของจริง”
หลายคนชื่นชอบผลงานศิลปะแต่ไม่กล้าซื้อ ลังเลที่จะนำออกมาโชว์ เพราะกลัวว่าจะไม่เข้ากับบ้าน หรืออีกหลายๆเหตุผลที่กังวลใจ “การแต่งบ้านแบบคนที่มีงานศิลปะเยอะๆ ให้มองว่างานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน อย่ากลัวที่จะเอาออกมาวาง ออกมาโชว์ งานสามารถ inspired เราได้ คนที่มาบ้านเรา ก็จะเข้าใจไอเดียที่เราเป็นผ่านไอเท็มเหล่านี้ การเลือกศิลปะเข้ามาในบ้าน ก็เหมือนเลือกเสื้อผ้าที่ใส่สบายตัว งานศิลปะก็เลือกที่ตัวเองมีแล้วสบายใจ อย่าไปเลือกซื้อตามคนอื่น เพราะสุดท้ายเราก็ไม่ได้ชอบ ศิลปะเป็นปัจจัยที่ 6-7 ไม่ใช่ปัจจัยที่ 4 ซื้อได้ถ้าซื้อแล้วเราไม่เดือดร้อน มันเป็นเหมือนสิ่งชื่นชูใจเหมือนกันนะ”
“บ้านหลังนี้แต่งแบบไม่รีบ ทุกคนถามว่าเมื่อไหร่บ้านจะเสร็จ เราบอกว่าไม่รู้จริงๆ มันคงโตไปตามเรา เป็นคนชอบจัดบ้าน จัดไปเรื่อยๆ การได้หยิบจับของเดิมเมื่อเราเปลี่ยนที่วาง เราก็ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ในของชิ้นนั้นอีก ของบางอย่างที่เอามาวางในบ้าน แล้วไม่เวิร์ค พลาดเองมาก็เยอะ แต่ไม่กลัวที่จะพลาด ต้องลองก่อน เพราะไม่มีอะไรเพอร์เฟค ทุกอย่างต้องผ่านการเรียนรู้ เราไม่รู้ว่าภาพต่อจากนี้บ้านจะเป็นยังไง จะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน รู้แต่ว่ามันจะสนุกขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่สนุกเราไม่ทำ(หัวเราะ)” มั่นใจเหลือเกินว่าบ้านหลังนี้คงจะเปลี่ยนไปอีกหลายๆเวอร์ชั่น ในทิศทางที่เจ้าของบ้านตอบเราด้วยตาเป็นประกายเปี่ยมความสนุก ไม่แน่ว่าอีกสัก 5 ปี เราอาจจะได้เห็นความสนุกแบบภาคต่อ จากบ้านหลังนี้ก็เป็นได้
เจ้าของ – ออกแบบ : คุณฮ่องเต้ – กนต์ธร เตโชฬาร
เรื่อง : jOhe
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
บ้านสตูดิโอ ที่ทั้งอยู่อาศัยและเป็นโฮมออฟฟิศ