A Conversation with TIDA สนทนากับนายกสมาคมมัณฑนากรฯ คุณวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล

วันนี้ บ้านและสวน ได้มีโอกาสสนทนากับมัณฑนากรมากฝีมือผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานาน นั่นคือคุณเป้า-วิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท P49 Deesign and Associates และนายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA) ในปัจจุบัน โดยสิ่งที่ได้พูดคุยนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ภาพของวงการที่คุณเป้าได้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงมาตลอด เรื่องของรางวัล TIDA Awards ที่ได้กลับมาจัดอีกครั้งในรอบ 10 ปี ไปจนถึงเรื่องของผลกระทบจาก Covid-19 ที่มีต่อวงการมัณฑนากร รวมไปถึงบทบาทของ TIDA ว่าอะไรคือสิ่งที่สมาคมมัณฑนากรฯ ตั้งใจพัฒนาและผลักดันต่อไปในอนาคต

อ่าน : TIDA Awards 2019 13 รางวัล กับ 11 ผลงานออกแบบตกแต่งภายในที่ดีที่สุดของเมืองไทย

“สำหรับ TIDA Awards ในอนาคต  เราได้ขยายสาขารางวัลขึ้นมาเพิ่มเติม เพราะอยากให้ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็ตาม อยากให้เขามีเป้าหมาย ได้รับการพูดถึงมากขึ้น มีรางวัลให้กับเขา ในทางกลับกันพอประเภทของรางวัลมีเยอะขึ้น ความหลากหลายของงานที่จะเข้ามาและความน่าสนใจดี ๆ ย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน”

Q. อยากให้พี่เป้าช่วยเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของวงการมัณฑนากรที่มองเห็นจากสายตาของพี่ ว่ามีอะไรที่แตกต่างไปบ้างจากอดีตจนถึงปัจจุบัน?

คุณเป้า : “ถ้าให้ย้อนไปตั้งแต่เริ่มแรกเลยพี่ทำงานมากว่า 40 ปี แล้ว สมัยโน้นวงการแทบไม่มีใครเลยที่เป็นบริษัท Interior Design อย่างเดียว ส่วนมากก็เป็น Architect ที่ทำ Interior Design แล้วคนที่ใช้บริการส่วนมากก็เป็นคนที่มีสตางค์สักหน่อย ขณะที่เดี๋ยวนี้บริษัทที่เน้นทางด้าน Interior Design อย่างเดียวนี่ก็มีเยอะมาก ผู้คนส่วนใหญ่ตื่นตัวแล้วในการที่จะใช้ Interior Designer มาออกแบบให้ เพราะเข้าใจว่าสามารถเพิ่มคุณค่าให้ได้ในทุก ๆ ด้าน ทั้งธุรกิจและจิตใจ พอมองดูรอบ ๆ ตัวเรา เดี๋ยวนี้ไปไหน ๆ ก็มีร้านรวงและโรงแรมสวยงามเต็มไปหมด บ้านพักอาศัยก็ยกระดับ มีบ้านตัวอย่างที่ออกแบบโดยมัณฑนากรให้ดู จัดกันสวยงามทุกแห่ง อย่างตอนนั้นคนที่บุกเบิกก็จะมีคุณจรูญ อังศวานนท์ ซึ่งเขาแทบจะเป็นบริษัทแรก ๆ เลยที่เป็น Interior Design 

เมื่อก่อนถ้าจะไปร้านอาหารที่โก้ ๆ หน่อย ก็ต้องเข้าโรงแรม เดี๋ยวนี้ร้านที่แยกออกมาเรียกว่า Freestanding มีเต็มเมืองไปหมดเลย ส่วนนี้ทำให้วงการสนุกมาก ดีมาก ตกแต่งกันเท่ ๆ ทั้งนั้น นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัด ๆ เป็น Improvement ตรงนั้น

 

“คนเข้าใจมากขึ้นว่าร้านที่ทำการตกแต่งภายในสวย ๆ และลงตัว สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเขาได้ เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นตลาดที่ดีมากอันหนึ่ง คนตื่นตัวกันมาก รู้จักแล้ว เข้าใจแล้ว ขนาดที่ว่า โฮมสเตย์ ใครจะนึกว่าจะได้รับความนิยมขึ้น เพราะอะไรนะหรอ พี่ก็ถามตัวเองนะว่าเพราะอะไร น่าจะเพราะในตอนนี้การเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศง่ายขึ้นกว่าเก่าเยอะ แต่ก่อนต้องเป็นคนมีสตางค์ไป ๆ มา ๆ ก็ต้องมีความชำนาญ ไปยาก ต้องเก็บเงิน ทำงานนาน ๆ แต่เดี๋ยวนี้การท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้เงินเยอะ คนไปกันได้ง่ายขึ้น ได้เห็นเยอะขึ้น อย่าง  Bed and Breakfast ก็เป็นอะไรที่น่ารักไปหมด ไม่จำเป็นต้องอยู่โฮเทลที่ต้องอยู่บนตึก เป็นลูกโซ่ใหญ่ ๆ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ตัวเลือกมีเยอะแยะ อย่างในไทยเองก็ผุดขึ้นน่ารักเต็มไปหมด ไม่ต้องเป็นโฮเทลใหญ่ อยู่ต่างจังหวัดไม่กี่ห้องก็ทำได้ นั่นคือสิ่งที่เห็นในการเปลี่ยนแปลง และเห็นว่า Interior Design  เริ่มมีบทบาทมากขึ้นตรงนั้น

 

“แต่อันหนึ่งที่ตกใจพอสมควรเวลาที่พี่ได้ไปสอนเด็ก ๆ ตามมหาวิทยาลัย พี่จะได้คุยกับเด็ก ๆ คุยกับอาจารย์ หรือแม้กระทั่งคนในวงการออกแบบเองก็ตามว่า เด็กที่จบคณะมัณฑนศิลป์ไปทำงานด้าน Interior Design โดยตรงจะมีแค่ 50/50 ที่อยู่ในแขนงนี้จริง ๆ นอกนั้นเขาเปลี่ยนอาชีพไปเลย ไปทำร้านกาแฟ ไปออกแบบเสื้อ หรือขายเสื้อแทน พอออกไปเยอะ คนที่ทำงานแขนงนี้ก็เหมือนจะน้อยลงตามไป”

 

Q. นั่นคือในส่วนของบทบาทของ Interior Design  ในสังคม แล้วถ้ามองในเรื่องของรูปแบบ หรือสไตล์ละครับ?

คุณเป้า“อันนี้คือชัดมาก อย่างเมื่อก่อนถ้าพูดถึงอะไรที่หรู ๆ  เมื่อ 20-30 ปี ก่อน ต้องออกไปในสไตล์คลาสสิก ถึงจะเรียกว่า “หรู” แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เผอิญพี่อาจยกตัวอย่างโรงแรมเยอะหน่อย เพราะเราอยู่ในวงการทำโรงแรมเยอะ เมื่อก่อนเจ้าของเดียวกันจะแบ่งเป็น 5 ดาว 4 ดาว 3 ดาวไล่ไป แต่เดี๋ยวนี้อาจเป็น 5 ดาว หมดเลยก็ได้ แต่คนละสไตล์เพราะเขารู้แล้วว่า ตลาดของคนที่ใช้ของเหล่านี้มีหลากหลาย แล้วเขาไม่ได้มุ่ง หรือเล็งไปที่กลุ่มลูกค้าแต่เฉพาะคนที่ชอบคลาสสิก หรือคนมีอายุ แต่เดี๋ยวนี้ต้องตอบโจทย์ความต้องการของคนที่มีหลากหลายและแตกต่างกัน อย่างคนอายุ 30 กับคนอายุ 60 ความชอบจะเป็นคนละสไตล์ เพราะฉะนั้นจึงมีความเป็นไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันไป ตลาดมันหลากหลายมากขึ้น เพราะฉะนั้นแบรนด์ต่าง ๆ ที่ทำโฮเทลก็จะต้องเตรียมเก็บให้หมดทุกสไตล์ ตลาดมันเปลี่ยน สไตล์ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เมื่อสังเกตดี ๆ การออกแบบในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมมาก ทั้งการทำงานและตลาดเองที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ความหลากหลายนั้น ความงามมีได้หลายรูปแบบ การออกแบบที่ตอบรับก็ต้องหลากหลายตามไปด้วยเช่นกัน”

 

Q. ในส่วนของพี่เป้าเอง จากเมื่อตอนที่เริ่มทำงานจนมาถึงทุกวันนี้ มีแง่คิด หรือวิธีการทำงานอย่างไรครับ?

คุณเป้า : “ตั้งแต่เริ่มมาจนถึงตอนนี้ไม่ค่อยเปลี่ยนเลยค่ะ สิ่งที่เชื่อเลยก็คืองานต้องตอบโจทย์ โจทย์ในที่นี้พี่แบ่งเป็น 3+1 ข้อ นั่นคือ 1.ต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ เขาวางไดเร็คชั่นมา เราต้องทำความเข้าใจ และตอบสนองต่อสิ่งนั้นให้สำเร็จ 2.ต้องเคารพงบประมาณ จะไปทำงานแล้วเกินงบของลูกค้าไม่ได้  3.ต้องอยู่ในเวลา หรือที่เรียกว่า Schedule กลับมามองแบบการตลาด เขากำหนดมาแล้วว่าต้องเปิดตัวช่วงนั้นช่วงนี้ ถ้าเราเป็นคนที่ทำ Schedule เสียเอง ทุกอย่างก็ผิดแผนไปหมด ไม่ใช่แค่เรา แต่เป็นลูกค้าที่เสียหาย และที่  +1 มาให้อีกข้อก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ คือการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในงาน 3 ข้อแรก เป็นเรื่องของแนวทางการปฏิบัติ ถ้าทำได้ครบ นั่นคืองานที่ดี แต่ถ้าเราใส่ความเป็นศิลปะลงไปได้ งานนั้นจะกลายเป็นงานที่ดูยูนีค ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดในตลาดได้ 

“ถ้าถามว่าทำไมต้องมีความยูนีค นั่นก็เพราะหากเปรียบเทียบกับสถาปนิก เขาสร้างความยูนีคได้ง่ายกว่า เพราะตึก ๆ หนึ่งอยู่ได้นานเกินอายุเรา แต่อินทีเรียร์ที่จะอยู่ไปได้นาน ๆ พอมีตัวอย่างอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือ Spice Market ภัตตาคารที่อยู่ในโรงแรม Anantara Siam Bangkok Hotel โรงแรมนี้เริ่มจาก Peninsula Hotel เปลี่ยนมาหลายรอบ มีการรีโนเวตมาหลายครั้ง แต่สิ่งที่แทบจะไม่เปลี่ยนเลยคือ Spice Market เพราะเขาบอกว่าห้องนี้ห้ามเปลี่ยนเด็ดขาด  เหมือนเขาชอบกัน ถ้าย้อนกลับไปคือ ห้องอาหารในสมัยโน้นจะเน้นความหรูหรา แต่เราได้โจทย์มาว่าเป็นร้านอาหารไทย ซึ่งสมัยก่อนนี่ทำร้านอาหารไทยจะออกมาเป็นฝาปะกนแบบไทย ๆ แต่เราเลือกที่จะใช้สตรีทฟู้ด  คือนำร้านข้างถนนเข้าไปอยู่ในโรงแรมระดับ 5 ดาว  ก็เลยเป็นคอนเซ็ปต์ของ Spice Market ตอนแรกที่ได้โจทย์มา เราก็คิดอยู่นานเหมือนกัน นึกถึงเยาวราช  สำเพ็ง ตลาดเก่า เพราะพี่เองก็ชอบไปเดินแถวนั้น มันสวยเท่ ชอบมาก พอมีงานนี้เราก็เลยเลือกที่จะใช้รูปแบบนั้น มีการขึงผ้าใบ มีสายไฟโผล่มา ประตูเหล็กยืด เครี่องชั่งกิโล ใส่บรรยากาศริมถนนเข้ามา ปรากฏว่าเป็นเหมือนรูปแบบใหม่ และยังคงผ่านเวลามาได้จนถึงวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะมันฉีกจากความ “หรู” ที่คนคุ้นชินไปอีกทาง ภูมิใจว่าเราก็ทำให้เขาอยากที่จะเก็บเอาไว้ได้ ซึ่งก็อยู่มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 หรือนับได้เกือบ 37 ปี แล้ว”

Q. ขอกลับมาที่เรื่อง สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย หรือ TIDA ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คน อาจยังไม่รู้บทบาทหน้าที่ของสมาคมฯ ในฐานะนายกสมาคมอยากให้พี่เป้าเล่าให้เราฟังทีครับ

คุณเป้า : “สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย ถ้าพูดให้ชัดก็คือถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนที่จะดูแลมัณฑนากรในประเทศ ดูแลผลประโยชน์ เสริมความรู้ หรือคอนเน็กชั่น เพื่อที่ว่าจะได้พัฒนาให้วงการแข็งแกร่งขึ้น อย่างตอนนี้เราก็ร่วมกับสภาสถาปนิก เพื่อผลักดันเรื่องผลตอบแทนต่าง ๆ แล้วก็พยายามที่จะช่วยเรื่องความรู้ เรามีจัดสัมมนา มีการส่งทีมของสมาคมไปเล็คเชอร์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อย่างล่าสุดที่เราภูมิใจมาก ๆ คือ  Thesis Awards ระดับทั่วประเทศ จัดขึ้นเพื่อที่จะยกระดับความรู้แขนงนี้ จากโจทย์ที่ว่าทำไมแต่ก่อนสังคมจะรู้จักแค่มหาวิทยาลัยที่อยู่ในกรุงเทพฯ รู้กันแค่นั้น แล้วมหาวิทยาลัยตามต่างจังหวัดจะได้รับโอกาสอย่างไร? วิธีการที่เราค้นพบก็คือต้องทำให้เด็กได้เห็นงานซึ่งกันและกันให้ได้ เราก็ใช้วิธีให้เขาส่งงานเข้ามาจากทั่วประเทศ แล้วใช้วิธีการให้กรรมการเข้ามาคัดเลือกโดย “ปิด” ไม่ให้รู้ว่าส่งมาจากมหาวิทยาลัยไหน แล้วก็ให้คะแนน กรรมการที่เราเชิญมาก็เลือกจากคนที่มีส่วนร่วมกับวงการอินทีเรียร์ นอกจากมัณฑนากรแล้ว ก็มีสถาปนิก ภูมิสถาปนิก สื่อที่ทำเกี่ยวกับเรื่องในวงการเราและอาชีพออกแบบอื่นๆ ที่ผ่าน ๆ มา ก็มีเรื่องให้ดีใจเยอะ ว่างานที่ติดเข้ามาชิงรางวัล และที่ชนะก็มาจากสถาบันที่หลากหลายมากขึ้น นักศึกษา คณาจารย์ ก็มีโอกาสได้มาฟังเด็กจากต่างสถาบันทำการนำเสนอผลงาน  ได้มาเห็นงานจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่นำมาจัดโชว์ ทำให้ทั้งมหาวิทยาลัยและนักศึกษาได้เห็นผลงานของต่างองค์กร เผื่อได้เอาไปปรับปรุงหลักเกณฑ์ของตัวเองได้ และผู้ชนะเลิศเรายังได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ให้ได้ไปเรียนต่อที่มิลานอีกด้วย”

“ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ เรายังได้ทำ TIDA CLUB ที่เป็นการรวมตัวของนักออกแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นมัณฑนากรเท่านั้นที่มาพูดคุย แบ่งปันความรู้ แชร์ประสบการณ์ในรูปแบบที่เป็นกันเอง เพื่อให้วงการของเราเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น โครงการนี้ที่จริงเราก็อยากให้มันโตขึ้นจนเป็นที่รู้จัก และประชาชนต่าง ๆ ที่สนใจ แม้นอกวงการก็เข้าถึงได้ด้วย เพื่อมาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มาเจอคนใหม่ ๆ และได้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ต่อไป

 

“เพื่อส่งเสริมจุดมุ่งหมายนี้  TIDA กำลังจะเปิดตัว tida.thailand Instagram Page เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น เป็นศูนย์รวมผลงานออกแบบภายใน โดยนักออกแบบไทย และเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับวงการออกแบบผู้ประกอบการต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป”

“สุดท้ายว่าเรามี “สมาคมฯ” กันไปทำไม ก็ต้องบอกตรง ๆ ว่า การที่วงการมัณฑนากรจะสามารถต่อรอง หรือพูดคุยในภาพที่ใหญ่ขึ้น เช่น การพูดคุยกับรัฐบาล หรือหน่วยงานต่าง ๆ การกำหนดค่าตอบแทนวิชาชีพ หรืออะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าเป็นใครเป็นตัวแทนแล้วจะไปพูดได้ แต่เราต้องมี “ชื่อ” ต้องมี “สมาชิก” ที่มารวมตัวกันในฐานะผู้ร่วมวิชาชีพ  และได้เป็นที่ที่ได้รับข่าวสารในวงการของเรา หรือเวลามีกิจกรรมกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเชิญไปแสดงผลงาน หรือมีเวิร์กชอปร่วมกันจากหลาย ๆประเทศจะได้ทราบถึงโอกาสที่มีเข้ามาให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ขอให้ใครก็ตามที่ทำงานอยู่ในวิชาชีพนี้มา “ลงชื่อ” เป็นสมาชิกกันไว้หน่อย เพราะตอนนี้เราก็ยกเลิกค่าสมาชิกไปแล้ว เวลาที่ต้องผลักดันอะไร เช่น กฏหมายต่าง ๆ เราจะได้มีข้อต่อรอง และมีพลังที่เกิดจากทุกคนได้จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นจะเห็นผลได้ชัดขึ้น”

Q. TIDA Awards หายไปนานถึงสิบปี กลับมาพร้อมกับ 13 สาขารางวัล เกิดอะไรขึ้นกับ TIDA Awards ครับ?

คุณเป้า : “ที่หายไปนานถึง 10 ปี ก็ต้องของบอกก่อนว่า การเป็นกรรมการสมาคมเป็นเรื่องที่ไม่เล็กนะ คือก็ต้องใช้พลังอยู่พอตัว กรรมการ TIDA มีงานที่ต้องทำประจำกันอยู่ แล้วทุกคนก็ต้องขอขอบคุณกรรมการทุกคนที่สละเวลามาให้  TIDA เบี้ยประชุมก็ไม่มี เพราะเราไม่ค่อยมีสตางค์ เราได้จัดแยกกลุ่มของรางวัลออกมาหลายแขนง มีทั้งบ้านไปจนถึงโรงแรม โฮสเทล ร้านอาหาร บาร์ ไปจนถึงศูนย์ปฏิบัติธรรม ร้านค้า ออฟฟิศ เพราะเราตระหนักถึงความต้องการและโจทย์ในการออกแบบที่ไม่เหมือนกัน ในปีนี้เรายังได้พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ชนะ TIDA Awards ในประเภทต่าง ๆ ครั้งนี้เรากลับมาก็อยากให้สมาชิกเข้ามาร่วมกัน เราไม่ได้เก็บค่าสมัครด้วย ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ได้ทำมานาน คิดว่าคนอาจจะลืมไปแล้ว เราใช้วิธีให้กรรมการช่วยคัดสรรงานไหนดี ๆ เจ๋ง ๆ ก็เสนอเข้ามา แล้วทีมงานก็ค่อยตามไปดูว่าเขาสนใจไหม เพื่อจะเชิญให้ส่งงานเข้ามาประกวด และในขณะเดียวกันเราก็เปิดโอกาสให้คนอื่น ๆ  สามารถส่งผลงานเข้ามาเองได้โดยตรง ขนาดนั้นแล้วก็ยังคิดว่างานยังไม่พอ ยังไม่ค่อยหลากหลายอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่จากจุดนี้ก็คาดว่าในอีก 2 ปี จะกลับมาอีกครั้งเป็น TIDA Awards 2022 คาดว่าจะได้รับการยอมรับและสนใจที่มากขึ้นอย่างแน่นอน”

 

Q. หรือ TIDA อยากให้คนเข้าถึงงานต่าง ๆ เหล่านั้นง่ายขึ้นด้วยหรือเปล่าครับ?

คุณเป้า : “ถ้าพูดตรง ๆ นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ แต่เป็นผลพลอยได้ จุดประสงค์จริง ๆ ของการขยายสาขารางวัลก็คือ การที่เราอยากจะ “สนับสนุน” ให้กับผู้ออกแบบ ไม่ว่าสิ่งที่เขาทำจะคืออะไร เรามีหมวดหมู่ให้กับทุกประเภทของงาน เพราะหวังว่าในอนาคตไม่ว่าใครจะทำอะไรก็อยากให้เขามีเป้าหมาย ประเภทผลงานของเขาจะได้รับการพูดถึงมากขึ้น มีรางวัลให้กับเขา ในทางกลับกันพอประเภทของรางวัลมีเยอะขึ้น ความหลากหลายของงานที่จะเข้ามา ความน่าสนใจก็จะมากขึ้นตามไปด้วย นั่นคือสิ่งที่เราตั้งใจ เป็นจุดประสงค์ที่แท้จริง”

 

Q. Covid-19 มีผลต่อวงการมัณฑนากรอย่างไรบ้างหรือไม่ครับ?

คุณเป้า : “เรื่องนี้มีผลกระทบกับเรื่องโครงการเยอะ มีการหยุดไปก่อน คือแน่นอนมันส่งผลกระทบทันทีทั้งวงการ และที่ตื่นเต้นเร้าใจก็คือไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะจบเมื่อไหร่ ถ้าพูดถึงเรื่องงานโรงแรม ก็คือรายได้ก้อนนี้เป็นก้อนที่ใหญ่มาก มีปัญหาแน่นอน แล้วโครงการที่กำลังทำก็ได้รับผลกระทบสืบต่อมาแน่นอน เป็นผลกระทบแรกเลยที่รู้สึก เราจึงคิดกันว่าต้องเตรียมตัว แต่ก็เตรียมตัวไปแบบไม่รู้ว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่

“สำหรับการทำงานพอโควิดมากระทบกับวิธีทำงานด้วยเช่นกัน การ Work from Home หรือการประชุมก็เปลี่ยนวิธีกันไป การตรวจไซต์ต่างประเทศเรายังมีการถือกล้องวิดีโอเดินตรวจแล้วส่งภาพมาที่ออฟฟิศ โดยไม่ได้เข้าไปในพื้นที่บ้างเหมือนกัน มีวิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับ ต้องหาวิธีขึ้นมาเลยว่าจะทำงานให้ลงตัวได้อย่างไร เป็นการบริหารสมองอยู่เหมือนกัน

“เรื่องที่เปลี่ยนไปอีกอย่างคือ เสน่ห์ที่โรงแรมเคยเป็น  “ประสบการณ์” ที่แขกจะได้รับเมื่อเข้ามาพักผ่อนมันจะเปลี่ยนไปหมดหรือเปล่า กลายเป็นเรื่องที่ “กลัวโควิด” มากไปหรือเปล่า อย่างการลงมานั่งเล่นสบาย ๆ ในโถง หรือชานระเบียงสวย ๆ การทานอาหารเช้าที่คนลงมาเป็นหลายร้อยคน นั่งรับประทานอาหารกันในโถงใหญ่ ๆ ก็มีการเปลี่ยนวิธีไปเพื่อเป็นการป้องกัน หรืออย่างการไปเข้าพักแล้ว ไม่ต้องพบใครเลย  ตอน Check-In ก็ไม่ใช่เสน่ห์ของการพักโรงแรมที่เราคุ้นเคย เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยังไม่ชัด แต่ที่แน่ ๆ คือเปลี่ยนไปแน่นอน และหลังจากยุคนี้ก็อาจจะมีเรื่องอื่นเข้ามาอีก คือโควิดมันไม่ได้กระทบแค่การออกแบบ แต่กระทบไปถึงการใช้ชีวิตกันเลยทีเดียว”

 

Q. คำถามสุดท้าย สำหรับมุมมองวิชาชีพ ในส่วนตัวของพี่เป้าเอง กับสิ่งที่ TIDA อยากผลักดันต่อไปในอนาคตเรามีแนวทางอย่างไรบ้างครับ?

คุณเป้า : “ถ้าถามว่าในภาพอันใกล้อยากผลักดันอะไรที่สุด ก็คงเป็นเรื่องของ Mind Set สิ่งที่พี่อยากเห็นคือ Mind Set ว่า มัณฑนากรของเราสามารถทำงานนอกเมืองไทยได้ด้วย คือไปทำงานที่ไหนก็ได้ และสิ่งที่ต้องพัฒนาก็น่าจะเป็นเรื่องภาษา กับการมองตัวเองว่าจริง ๆ เราก็เป็นประชากรของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะสิงคโปร์ ฮ่องกง จีน หรือยุโรป เราไปทำงานได้หมดเลย เพื่อที่จะขยายฐานทั้งการทำมาหากิน รวมถึงในแง่ของการพัฒนาการออกแบบจากหลาย ๆ แนวคิดอีกด้วย

 

“คนไทยเก่งนะ มีความเป็นอาร์ติสท์ที่ดีอยู่แล้ว ไม่ได้บอกว่าให้นำความเป็นไทยออกไปนะ แต่อยากให้ออกไปนอกรั้วบ้านของเราบ้างจะดีมาก มันจะมีช่องทางอีกมากมายในความเป็นไปได้ที่เปิดรับ

 

“แล้วอยากให้มหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่าง ๆ  มีหลักสูตรสอนทางด้านการตลาด  หรือเรื่องที่รอบตัวมากกว่านี้  ถ้าเพิ่มตรงนี้จะทำให้เวลาคุยกับลูกค้า เราสามารถให้คำแนะนำกับเขาได้กว้างขึ้นมาก

 

“แต่สุดท้ายก็ไม่แน่ใจว่าความหลากหลาย หรือการลงลึกไปในวิชาชีพนั้น แนวทางใดเป็นแนวทางที่ถูกต้องมากกว่ากัน ก็คงต้องให้ตัวผู้ประกอบวิชาชีพเก็บไปคิดดู แต่อย่างน้อยก็ควรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบในอนาคต เหมือนที่เราเจอกับ Covid-19 ในปีนี้นั่นเอง”

และนี่ก็คืออีกหนึ่งเรื่องราวดี ๆ จากประสบการณ์กว่า 40 ปี ของพี่เป้า – คุณวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล ช่วยให้เราเห็นภาพวงการมัณฑนากร รวมถึงบทบาทและการส่งเสริมวิชาชีพนี้โดย TIDA มากยิ่งขึ้น


เรื่อง  : Wuthikorn Sut
ภาพ  : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ