เมื่อปวดหัวตัวร้อน เป็นหวัดขัดจมูก หรือเริ่มมีอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ตู้ยาสามัญประจำบ้าน ก็ต้องรับบทเป็นที่พึ่งพิงอันดับแรกเสมอ ๆ การจัดการกับความเรียบร้อย รวมไปถึงดูแลเรื่องความสะอาดสะอ้านของตู้ยาสามัญประจำบ้าน เป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของสมาชิกในบ้านจึงเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้เด็ดขาด จัดระเบียบตู้ยา
บางคนคิดว่าการมีตู้ยาสามัญประจำบ้านติดไว้ไม่ใช่เรื่องสำคัญจำเป็น เหล่ายาพื้นฐานที่เคยซื้อเผื่อ ๆ ไว้ตอนครั้งที่เคยเจ็บป่วยต่างก็กระจัดกระจายอยู่ตามลิ้นชัก ตามกระเป๋าใบต่าง ๆ รวมไปถึงหัวเตียง พอถึงเวลาเจ็บป่วยแบบกระทันหัดขึ้นมาจริง ๆ ก็วิ่งหายากันให้วุ่น การมีตู้ยาสามัฐประจำบ้านจึงเป็นเสมือนศูนย์รวมของยา และควรจะติดตั้งไว้ในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ ไม่วางเฟอร์นิเจอร์ หรือวางของชิ้นใหญ่กีดขวาง my home ว่าการมีตู้ยาสามัญประจำบ้าน ก็เหมือนกับการมีถังดับเพลิงนั่นแหละค่ะ ซึ่งวิธีการที่จะทำให้ตู้ยาสามัญประจำบ้านเรา อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานเมื่อต้องการนั้น ก็สามารถทำได้ตามคำแนะนำที่ my home คัดมาฝากกันในวันนี้ค่ะ จัดระเบียบตู้ยา
1 . ติดตั้งตู้ยาสามัญประจำบ้าน ในตำแหน่งที่เหมาะสม

ก่อนจะลงมือจัดตู้ยาก็ต้องมาเริ่มต้นที่ตำแหน่งการติดตั้งตู้ยาภายในบ้านกันก่อนค่ะ ซึ่งก็รวมทั้งกล่องหรือภาชนะต่าง ๆ ที่ไว้สำหรับเก็บรวบรวมยาประจำบ้านด้วยนะคะ โดยตำแหน่งที่เหมาะสมนั้น จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่มีความสูงประมาณ 150 เซนติเมตรจากพื้น หรือเป็นมุมที่เด็ก ๆ เอื้อมหยิบไม่ถึง เพื่อป้องกันการแอบหยิบยามาเล่นซน จนอาจทำให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ก็ควรติดตั้งอยู่ในมุมที่มีอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่โดนแสงแดด หรือ อากาศร้อนหรือชื้นจนเกินไป อย่างบริเวณห้องน้ำ หรือ ห้องครัว จึงไม่ควรติดตั้งตู้ยาเลยค่ะ เพราะความชื้น เสียงแดด และความร้อนสิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ยาในตู้เสื่อมคุณภาพได้เร็วขึ้น แม้ยังไม่ถึงวันหมดอายุของมันเลยก็ตาม
2 . เลือกขนาดและดีไซน์ของตู้ยาให้ลงตัวกับสไตล์การตกแต่งบ้าน
ตู้ยาสามัญประจำบ้านที่ดี ควรจะต้องลงตัวกับการใช้งานของแต่ละครอบครัว ทั้งขนาดและดีไซน์ ยิ่งถ้ามีสมาชิกในบ้านหลาย ๆ คนก็ต้องเตรียมยาให้มีปริมาณที่เหมาะสม และครอบคลุมกับการใช้งานของสมาชิกแต่ละคน ขนาดของตู้ยาสามัญประจำบ้าน จึงแตกต่างกันไป แต่ภายในตู้ยาของทุกบ้านจะต้องเรียบง่าย ไม่ลึก หรือ มีมุมอับที่ไม่สามารถเอื้อมถึง หากต้องการหยิบใช้ยาตัวไหน ควรจะต้องมองเห็นยาทั้งหมดในตู้ได้ในคราวเดียว และควรมีชั้น หรือ กล่อง แบ่งแยกประเภทให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนหยิบใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วในยามจำเป็น ที่สำคัญจะต้องมีป้ายหรือสัญลักษณ์ของตู้ยาเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันอย่างชัดเจนด้วยค่ะ
3 . ฉลากยาต้องชัดเจน บรรจุภัณฑ์ต้องสมบูรณ์

เรื่องของฉลากบนยานั้นถือว่าสำคัญมากเลยค่ะ บนบรรจุภัณฑ์ยาแต่ละชิ้นจะต้องมีทั้งชื่อ สรรพคุณ ขนาดและวิธีใช้ รวมทั้งวันหมดอายุระบุให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการสับสนหรือใช้ยาผิดพลาดจนทำให้เกิดอันตราย ซึ่งถ้าหากยาตัวไหนเป็นซองแยกออกมาหรือมีฉลากที่เริ่มจางลงแล้วก็สามารถนำกระดาษมาแปะและเขียนข้อมูลที่จำเป็นเพิ่มเติมไว้เองได้เลยค่ะ แต่ถ้าหากยาตัวไหนไม่มีฉลากหรือเก็บไว้นานจนข้อมูลจางหายไปหมดแล้วก็ไม่ควรเก็บไว้หรือเสี่ยงนำมาใช้โดยเด็ดขาด นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ก็ต้องมีสภาพดี เป็นซองหรือแพงที่ไม่มีรอยขาดรั่ว และไม่ควรนำยาเม็ดเทออกมาเก็บไว้ในตลับจัดยาไว้เป็นเวลานาน เพราะตลับเหล่านี้อาจไม่ได้มาตรฐานและป้องกันความชื้นไม่ดีพอ ทำให้ยาเสื่อมสภาพได้เร็ว ส่วนยาน้ำหรือวิตามินก็ควรอยู่ในขวดสีชาที่ทึบแสงจึงจะรักษาคุณภาพได้ดีอย่างยาวนานค่ะ
4 . คัดแยกและรวมยาสามัญประจำบ้านไว้เป็นกลุ่ม

ในตู้ยาสามัญประจำบ้านนั้นมียาอยู่หลายประเภทด้วยกัน สิ่งสำคัญในการจัดระเบียบตู้ยาคือ การแยกประเภทของยาออกเป็นกลุ่มง่าย ๆ จัดกลุ่ม แยกหมวดหมู่ตามการใช้งาน รวมทั้งไม่นำของใช้อื่น ๆ มาวางปะปนภายในตู้ อาจใช้การแบ่งโดยแยกตามชั้นวาง หรือ จัดหากล่องมาใส่แยกกันไป ทั้งยาสำหรับการใช้ภายนอก – และยาสำหรับใช้ภายใน ยาสามัญประจำบ้านในกลุ่มอาการเดียวกันรวมทั้งอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ อย่างอุปกรณ์ทำแผล หรือ เครื่องมือวัดตวงยา ก็ควรจัดให้อยู่รวมกัน และนำชิ้นที่ใช้งานบ่อย หรือ ใกล้หมดอายุที่สุดมาไว้ด้านนอกเพื่อให้หยิบออกมาใช้ได้ง่ายค่ะ
5 . หมั่นทำความสะอาดและตรวจสอบสภาพยา

ตู้ยาสามัญประจำบ้าน ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่ต้องคอยดูแลในเรื่องความเป็นระเบียบและความสะอาด ไม่ต่างจากมุมอื่น ๆ ภายในบ้านเหมือนกันค่ะ ทั้งต้องคอยเช็ดทำความสะอาด และตรวจสอบยาสามัญประจำบ้านบางตัวที่ขาดไป รวมทั้งคัดแยกยาตัวที่หมดอายุออกจากกลุ่มของยาอื่น ๆ ด้วย แม้ว่าวันที่ที่ฉลากของยาจะระบุว่าถึงวันหมดอายุแล้ว แต่สภาพยายังดีอยู่ ก็ไม่ควรเก็บไว้ให้สับสนนะคะ นอกจากนี้หากมียาตัวที่เริ่มจะเสื่อมสภาพ ก็ต้องคัดแยก และนำยาเหล่านั้นไปทิ้งทันทีเหมือนกัน โดยถ้าเป็นยาชนิดเม็ดเริ่มเสื่อมสภาพ ตัวของยาจะเริ่มเหนียว เยิ้ม และถ้าเป็นแคปซูล เมื่อเริ่มเสื่อมสภาพก็จะมีลักษณะบวมพอง สำหรับยาน้ำจะมีการแยกชั้นและเกาะตัวกันเป็นตะกอน รวมทั้งอาจเปลี่ยนสีและมีกลิ่นด้วย ส่วนยาที่เป็นเนื้อครีม จะเปลี่ยนสี และมีกลิ่นค่ะ เมื่อคัดแยกยาที่ใช้งานไม่ได้ออกไปแล้วจึงค่อยตรวจเช็คยาที่เหลือและจัดหามาเพิ่มเติมไว้ให้พร้อมใช้งานต่อไป
6 . เตรียมยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดตู้

ถ้านึกไม่ออกว่า ภายในตู้ยาสามัญประจำบ้าน ควรมียาประเภทไหนติดตู้ไว้บ้าง ก็ลองจัดเตรียมยาหมวดหลัก ๆ ไว้ยามฉุกเฉินได้เลยค่ะ ซึ่งก็จะมีกลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้แพ้ – ลดน้ำมูก ยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องอืด – ท้องเฟ้อ ยาแก้ไอขับเสมหะ นอกจากนี้ก็จะเป็นยาสำหรับใช้ภายนอก อย่างเช่นยาดม และยาหม่องที่ช่วยเรื่องอาการวิงเวียน ยาทาสำหรับแมลงสัตว์กัดต่อย ยาทาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอุปกรณ์ทำแผลค่ะ
story : Kamonchanok.L
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับสัตว์เลี้ยง (First aid)
อันตรายของพิษจากคางคก ที่มีผลต่อสุนัข พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น