ตะลุย 7 ด่านอรหันต์ ทดสอบ “สุนัขนิสัยดี”

วันนี้พี่ฮอลล์ของเรามีภารกิจสำคัญคือ ต้องพาพี่หมูลูกชายสุดที่รัก น้องหมาพันธุ์มินิบูลเทอร์เรียร์ไปทำกิจกรรม ทดสอบสุนัขนิสัยดี โดยชมรมสุนัขนิสัยดี (Good Dog Club) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีการทดสอบทั้งหมด 7 ด่าน เรียกได้ว่าท้าทาย ทั้งน้องหมาและเจ้าของเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่พี่ฮอลล์ต้องบรีฟงานกับเจ้าหมาหมูไว้ก่อนล่วงหน้าเลยทีเดียว 5555

เวลา 9.30 โมงเช้า พี่ฮอลล์กับพี่หมูน้องหมาคู่ใจเดินทางมาถึงสถานที่ ทดสอบสุนัขนิสัยดี ก่อนเวลาครึ่งชั่วโมง เพื่อให้พี่หมูได้ทำการเดินสำรวจรอบ ๆ สถานที่ทดสอบ ให้เกิดความคุ้นชิน ไม่ตื่นสนาม ถือว่าเป็นเทคนิคสำคัญที่พี่ฮอลล์วางแผนมาอย่างดี เนื่องจากเราเป็นเจ้าของน้องหมาเราจะรู้จักนิสัยใจคอของหมาเราดีที่สุด ซึ่งพี่หมูนั้นเพิ่งผ่านคำว่าหมาเด็กมาได้ไม่นาน ความนิ่งยังน้อย มีความอยากรู้อยากเห็นมากตามวัยของน้อง ที่สำคัญที่สุดคือพี่หมูจัดเป็นหมาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เฟรนด์ลี่กับทุกคนและสุนัขตัวอื่นๆ พูดง่ายๆอยากเล่นกับเค้าไปหมดนั่นล่ะ ดังนั้นการมาก่อนเวลาสักนิดจึงเป็นผลดีในเรื่องสมาธิทั้งของคนและน้องหมาก่อนเข้าทำการทดสอบ อ้อ! ลืมบอกไปการทดสอบทั้ง 7 ด่านนี้เจ้าของต้องเข้าทดสอบด้วย ต้องเป็นคนควบคุมน้องหมาทำตามคำสั่งในแต่ละด่าน

10 โมงเช้า พี่ฮอลล์และพี่หมู รายงานตัวและลงทะเบียน พร้อมทำการทดสอบ ซึ่งทางกรรมการจะมีสมุดพกให้เรานำไปยื่นในแต่ละด่าน เพื่อให้กรรมการตัดสินและลงคะแนนให้ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนแบ่งเป็น 1- 5 คะแนน

ด่านที่ 1 เจอคนแปลกหน้า

จุดประสงค์ของด่านนี้ คือ น้องหมาของเราจะต้องแสดงให้กรรมการเห็นว่าสามารถยอมรับเพื่อนใหม่ของเจ้าของ ซึ่งน้องหมาไม่เคยเห็นหรือพบเจอมาก่อน โดยเพื่อนใหม่จะเดินเข้ามาพูดคุย ส่งเสียงทักทายกับเจ้าของ โดยน้องหมาที่อยู่ข้างๆเจ้าของต้องไม่แสดงอาการกลัวคน และยังมีท่าทีเป็นมิตรกับเพื่อนใหม่ของเจ้าของอีกด้วย

ทดสอบสุนัขนิสัยดี

วิธีการทดสอบ คือ กรรมการจะสมมุติตัวเพื่อนใหม่ พูดคุยทักทายกับเจ้าของ โดนให้สุนัขอยู่ในสายจูง ยืนหรือนั่งข้างๆ เจ้าของ ซึ่งในระหว่างทำการพูดคุยกรรมการจะสังเกตพฤติกรรมน้องหมาของเรา และกรรมการจะค่อยๆ นั่งลง สัมผัสตัวน้องหมา ทั้งบริเวณอก ไหล่ ช่วงตัว (ยกเว้นที่ไม่สัมผัสคือ ส่วนหัว หาง และช่วงท้ายลำตัว)

เกณฑ์การให้คะแนน

กรรมการจะสังเกตพฤติกรรมน้องหมาว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเดินหรือวิ่งส่ายห่างด้วยท่าทีที่ดูเป็นมิตร หรือมีความลังเล ถอยหนี รวมถึงการยอมให้กรรมการสัมผัสตัวหรือพยายามหลบเลี่ยง หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น เห่า ขู่ แยกเขี้ยวใส่ งับหรือกัด โดยจะพิจารณาให้คะแแนน 1-5 คะแนนไปตามความเหมาะสมจากพฤติกรรมที่น้องหมาแสดงออก

ซึ่งในด่านนี้พี่หมูซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหมาที่เฟรนด์ลี่มาก (ถึงมากที่สุด) ก็ไม่ทำให้พี่ฮอลล์ผิดหวัง ทดสอบผ่านฉลุยได้ 5 คะแนนเต็ม ด้วยการส่ายหางดิ๊ก ๆ เข้าหากรรมการ นอกจากจะให้สัมผัสตัวแล้ว ยังนอนให้กรรมการเกาพุงให้อีกด้วยจ้า 5555

ด่านที่ 2 เดินในสายจูง

ด่านนี้เจ้าของน้องหมาจะต้องแสดงให้กรรมการเห็นว่า สามารถควบคุมน้องหมาของตนให้เรียบร้อยระหว่างเดินเล่นด้วยกันภายใต้สายจูง โดยที่ไม่ต้องดึงสายจูงให้ตึงหรือสายจูงอยู่ในลักษณะที่หย่อนระหว่างเดินเล่นกันนั่นเอง

5 ขั้นตอนง่ายๆ กับ การฝึกใช้สายจูงให้น้องหมา

วิธีการทดสอบ คือ กรรมการจะให้เจ้าของพาน้องหมาค่อย ๆ เดินจากจุด A ไปยังจุด B โดยเจ้าของจับสายจูงให้ยาวพอประมาณ และถือสายจูงในระดับเดียวกันตลอดการเดิน สายจูงจะต้องหย่อนไม่ตึง ไม่ดึงสายจูงหรือกระชาก เมื่อไหร่ที่สายจูงตึงเป็นเส้นตรงให้นับว่าเป็นสายจูงตึง 1 ครั้ง และให้เจ้าของหยุดเดินจนกว่าน้องหมาจะกลับมาใกล้เจ้าของอีกครั้งแล้วจึงเริ่มเดินต่อ (สามารถใช้ขนมหลอกล่อให้น้องหมากลับมาสนใจได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ขนมหลอกล่อขณะที่เดินทดสอบ) หากในระหว่างนี้ น้องหมาไม่เดินกลับมาหาเจ้าของและยังดึงสายจูงต่อเนื่อง กรรมการจะนับว่าน้องหมาไม่ยอมเดินไปต่อกับเจ้าของ

เกณฑ์การให้คะแนน

กรรมการจะสังเกตพฤติกรรมน้องหมาว่าจะยอมเดินหรือไม่ยอมเดินขณะที่อยู้ในสายจูง  รวมถึงลักษณะของสายจูงที่ตึงหรือหย่อน  โดยจะพิจารณาให้คะแแนน 1-5 คะแนนไปตามความเหมาะสมจากพฤติกรรมที่น้องหมาแสดงออก

ซึ่งด่านนี้พี่ฮอลล์แอบหวั่นใจลึก ๆ ในอารมณ์สุนทรีย์ของพี่หมู ก็แหม..สถานที่ทดสอบเป็นสนามหญ้ากว้างใหญ่ ลมเย็นสบายขนาดนี้ กลัวพี่หมูจะรื่นรมย์จูงแม่มากกว่าน่ะสิ … อย่างที่คาดไว้เมื่อกรรมการให้สัญญานเริ่มเดินจากจุด A พี่หมูก็ออกตัวทันที พี่ฮอลล์ก้าวตามไม่ทันสายจูงตึง 1 ครั้ง จึงเรียกให้พี่หมูหยุด รอแม่ก่อนครับ เมื่อพี่หมูหยุดและตัวเราอยู่ข้างๆกันแล้ว พี่ฮอลล์ก็ลูบหัวสัมผัสด้วยการกอดและมองตากัน เหมือนเป็นการส่งสัญญานให้กันว่า “เราต้องไปด้วยกันนะ” จากนั้นพี่หมูกับแม่ก็เดินไปยังจุดหมายด้วยจังหวะเดียวกัน ไม่เร็วไม่ช้า เข้าสู่จุด B ด้วยรอยยิ้มแบบแฮปปี้เอนดิ้ง จึงได้คะแนนจากด่านนี้ไป 4 คะแนนค่ะ

ด่านที่ 3 พบคุณหมอ

ด่านนี้น้องหมาต้องแสดงให้เห็นว่าน้องหมาให้ความร่วมมือกับคุณหมอในการตรวจร่างกาย ไม่แสดงอาการกลัวหรือก้าวร้าวใส่คุณหมอขณะตรวจร่างกาย คุณหมอสามารถเปิดดูหู เปิดปากดูสุขภาพเหงือกและฟันต่าง ๆ ได้ และยอมให้สัมผัสหรือคลำตามตัว

วิธีการทดสอบ คือ คุณหมอ(กรรมการ)จะคุย ซักประวัติคร่าว ๆ กับเจ้าของ เช่นสอบถามชื่อน้องหมา อายุ โรคประจำตัว ประวัติการฉีดวัคซีน รวมถึงความถี่ในการตรวจสุขภาพ จากนั้นคุณหมอจะเริ่มตรวจร่างกาย โดยเริ่มจากลูบตัว ลูบขา เปิดดูสีเหงือก เปิดดูหู ฟังเสียงปอดและเสียงหัวใจ ซึ่งระหว่างทำการตรวจสุขภาพนี้คุณหมอจะสังเกตพฤติกรรมของน้องหมาไปด้วยเพื่อให้คะแนน

เกณฑ์การให้คะแนน

กรรมการจะพิจารณาพฤติกรรมของน้องหมาว่ายินยอมให้คุณหมอตรวจร่างกายหรือไม่อย่างไร ไม่ว่าจะโดยไม่แสดงอาการขัดขืน ขู่ หรือกลัว หรือแสดงอาการกลัว เช่น สั่น หูลู่ หางตก ถอยหนี หรือไม่ยอมให้คุณหมอตรวจร่างกายเลย จนถึงกับแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น เห่า ขู่ แยกเขี้ยว งับ หรือกัด ซึ่งกรรมการจะพิจารณาให้คะแแนน 1-5 คะแนนไปตามความเหมาะสมจากพฤติกรรมที่น้องหมาแสดงออก

สำหรับด่านนี้ พี่ฮอลล์มั่นใจที่สุดใน 3 โลกว่า นอกจากประวัติการตรวจสุขภาพที่แข็งแรงแล้วนั้น พี่หมูจะยอมให้คุณหมอตรวจร่างกายโดยดีแล้ว พี่หมูจะปฏิบัติการหว่านเสน่ห์ อ้อนให้คุณหมอรักคุณหมอหลง โดยเฉพาะงานถนัดคือส่งสายตาปิ๊งๆๆ สุดท้ายก็ผ่านด่านนี้ไปแบบชิล ๆ ด้วย 5 คะแนน ค่ะ

ด่านที่ 4 พบปะฝูงชน

ด่านนี้น้องหมาต้องแสดงให้กรรมการเห็นว่า น้องหมาของเราสามารถเดินผ่านฝูงชน หรือเดินไปในบริเวณที่มีคนมาก ได้อย่างสบาย ไม่แสดงอาการกลัวหรือก้าวร้าวต่อคนอื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคม

วิธีการทดสอบ คือ กรรมการจะให้เจ้าของพาน้องหมาที่อยู่ในสายจูง เดินสวนกับกลุ่มคนที่กรรมการจัดเตรียมไว้ประมาณ 4-5 คน โดยจูงผ่านกลุ่มคนแบบเดินไปและเดินกลับ โดยกลุ่มคนนั้นจะไม่สนใจน้องหมา และกรรมการจะสังเกตพฤติกรรมของน้องหมาที่แสดงออก

เกณฑ์การให้คะแนน

กรรมการจะพิจารณาพฤติกรรมของน้องหมาในขณะที่เดินผ่านกลุ่มคนว่าแสดงออกอย่างไร เช่นไม่มีอาการตกใจ หรือไม่สนใจฝูงชน หรือมีอาการตกใจเล็กน้อย ชะงัก หยุดจ้องมอง ส่งเสียงเห่า หรือแสดงอาการตกใจ กลัว หยุดนิ่ง วิ่งหนีฝูงชน หรือถึงขั้นแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เห่า ขู่ แยกเขี้ยว จะงับ หรือกัด ซึ่งกรรมการจะพิจารณาให้คะแแนน 1-5 คะแนนไปตามความเหมาะสมจากพฤติกรรมที่น้องหมาแสดงออก

สำหรับด่านพบปะฝูงชนนี้ พี่ฮอลล์ลุ้นสุด ๆ เช่นกัน ไม่ใช่กลัวพี่หมูจะกลัวคนหรือก้าวร้าวใดๆ แต่หมาที่ขึ้นชื่อว่าเฟรนด์ลี่กับคนมากๆ อย่างเจ้าหมาหมู จะยอมเดินผ่านฝูงชนไปแบบเท่ๆ แมนๆ นั้นยากเกิน และอย่างที่คิดไว้พี่หมูนั้นเดินผ่านฝูงชนไปกับพี่ฮอลล์ แต่มีหยุดมองและเหลียวหลังเล็กน้อยเหมือนว่า อ้าววว พี่ๆไม่เล่นกับผมหน่อยเหรอค้าบบบ อะไรประมาณนี้ พอพี่ฮอลล์บอกว่าไปๆ และจูงเดินต่อก็ออกเดินอย่างว่าง่าย เรียกว่าด่านนี้ได้ 4 คะแนน ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งพี่ฮอลล์แอบหวังใจว่าหากพี่หมูโตขึ้นจะมีสมาธิและไม่ขี้เล่นแบบหมาเด็กนะครับ

ด่านที่ 5 คอย

การทดสอบของด่านนี้ต้องแสดงให้เห็นว่า หากอยู่ในบางสถาณการณ์ที่น้องหมาไม่สามารถไปกับเจ้าของได้และจำเป็นต้องคอย น้องหมาต้องสามารถคอยตามคำสั่งของเจ้าของ และมาหาเมื่อเจ้าของเรียก

วิธีการทดสอบ คือ กรรมการจะให้เจ้าของสั่งให้น้องหมาคอยที่จุด A ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง หมอบ หรือยืน เพื่อคอยตามที่เจ้าของได้เคยฝึกมา จากนั้นให้เจ้าของเดินไปยังจุด B ซึ่งมีระยะห่างกันประมาณ 3 เมตร เมื่อเจ้าของอยู่ที่จุด B แล้ว กรรมการจะเริ่มนับเวลา 10 วินาที เมื่อครบตามเวลาที่กำหนด ให้เจ้าของออกคำสั่งเรียกน้องหมามาหา ซึ่งน้องหมาต้องวิ่งกลับมาหาเจ้าของภายในเวลา 5 วินาที

เกณฑ์การให้คะแนน
กรรมการจะดูว่าน้องหมาสามารถฟังคำสั่งให้คอยและเรียกให้มาหาได้ครบตามเวลาที่กำหนดหรือไม่อย่างไร อาจจะทำได้ในคำสั่งแรกหรือคำสั่งถัดไปก็แล้วแต่สุนัขแต่ละตัว ซึ่งกรรมการจะพิจารณาให้คะแแนน 1-5 คะแนนไปตามความเหมาะสมจากพฤติกรรมที่น้องหมาแสดงออก

สำหรับด่านนี้พี่ฮอลล์ฝึกพี่หมูมาตลอด แต่เป็นการฝึกในบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด เช่นให้หมอบคอยนิ่งๆ จากนั้นพี่ฮอลล์เดินออกไปจากห้องไปเอาขนมหรืออาหาร หรือหมอบคอย แต่อยู่ใกล้ๆ นับ1-10 แล้วค่อยให้ขนม ซึ่งที่ฝึกมาก็ทำได้ แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งในการทดสอบวันนี้พี่หมูหมอบคอยตามที่ฝึกมาเป๊ะ! แต่แม่นับได้เพียง 1-7 เมื่อพี่หมูเหลือบไปเห็นน้องมะลิน้องหมาสาวสวย มายืนต่อคิวทดสอบที่ด่าน หัวใจหนุ่มน้อยก็ไม่นิ่งซะละลุกขึ้นเดินไปจุ๊บ ๆ น้องมะลิทันที โธ่เอ๊ย! เรื่องหัวใจไม่เข้าใครออกใครจริงๆ รับไป 2 คะแนน

ด่านที่ 6 เจอน้องหมาแปลกหน้า

การทดสอบด่านนี้ต้องแสดงให้คณะกรรมการเห็นว่า เมื่อน้องหมาของเราต้องเจอกับหมาตัวอื่นที่ไม่คุ้นเคย น้องหมาสามารถอยู่ใกล้กับหมาตัวอื่นได้อย่างเรียบร้อย ไม่กลัว หรือไม่แสดงพฤติกรรมใดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาระหว่างกัน

วิธีการทดสอบ คือ กรรมการจะแจ้งให้เจ้าของน้องหมาทั้ง 2 ตัว เดินสวนกัน ค่อยๆเดินช้าๆ และสังเกตพฤติกรรมที่น้องหมาแสดงออก โดยด่านนี้กรรมการจะเป็นผู้จัดหาน้องหมาที่จะมาทดสอบคู่ด้วย โดยให้มีขนาดใกล้เคียงกันเท่าที่จะทำได้

เกณฑ์การให้คะแนน 
กรรมการจะดูพฤติกรรมการแสดงออกของน้องหมาของเราในขณะที่เดินผ่านหมาตัวอื่น ไม่ว่าจะผ่านเดินผ่านได้โดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ นิ่ง หยุดทักทาย ถอยหนี หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือก้าวร้าว เช่น กระโจนใส่ หรือพุ่งเข้าหา ซึ่งกรรมการจะพิจารณาให้คะแแนน 1-5 คะแนนไปตามความเหมาะสมจากพฤติกรรมที่น้องหมาแสดงออก

ด่านนี้พี่ฮอลล์ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องสงสัย เพราะรู้อยู่แล้วล้านเปอร์เซ็นต์ว่าพี่หมูหมาน้อยโลกสวย ต้องหยุดเซย์ ฮัลโหล เพื่อนใหม่แน่นอนจ้า ประมาณว่าเราชื่อหมู นายหรือเธอชื่ออะไรอะ เรามาเป็นเพื่อนกันนะ อะไรงี้! แล้วก็เป็นอย่างที่คิดเป๊ะ! ได้ไป 4 คะแนน ตามคาดจ้า

ด่านที่ 7 เผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย

การทดสอบด่านนี้ น้องหมาของเราต้องแสดงให้กรรมการเห็นว่า น้องหมาไม่มีอาการกลัว หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยพบในชีวิตประจำวันมาก่อน

วิธีการทดสอบ คือ กรรมการจะให้เจ้าของพาน้องหมาเดินไปตามทางเดินที่เตรียมไว้ เดินผ่านสิ่งของที่ไม่คุ้นเคย เช่นเหยียบพื้นผิวหยาบๆ ดังกรอบแกรบ ผ่านวัตถุมันวาวเห็นเงาตัวเอง หรือหุ่นประหลาดที่กรรมการประดิษฐ์ขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะจัดวางไว้เป็นสามลำดับ ไล่จากขนาดเล็กไปขนาดใหญ่ โดยระหว่างการเดินผ่านนั้นกรรมการจะสังเกตพฤติกรรมของน้องหมา

เกณฑ์การให้คะแนน

กรรมการจะสังเกตพฤติกรรมน้องหมาว่าสนใจหรือไม่สนใจที่จะเข้าไปสำรวจสิ่งของทั้ง 3 อย่างด้วยพฤติกรรมอย่างไร ไม่ว่าจะสำรวจแบบปกติหรือก้าวร้าว ซึ่งจะพิจารณาให้คะแแนน 1-5 คะแนนไปตามความสามารถและพฤติกรรมของสุนัขแต่ละตัว

สำหรับด่านทดสอบนี้ พี่หมูผ่านฉลุยเช่นเดิม คือไม่มีอาการตกใจกลัวใดๆต่อสิ่งของแปลกใหม่ ไม่ว่าจะมีเสียง วัตถุมันวาว หรือสิ่งของประหลาด อาจจะเป็นเพราะการฝึกตั้งแต่เล็กๆ เรื่องการอดทนต่อสิ่งเร้าต่างๆ ด้วยการพาเดินเล่น หรือให้เล่นของเล่นที่ฝึกทักษะไปในตัว จึงทำให้พี่หมูเดินผ่านไปแบบง่ายๆ มีหยุดมองหุ่นประหลาดชิ้นใหญ่ด้วยความสนใจนิดนึง แล้วก็เดินผ่านไป ทำให้ผ่านด่านทดสอบนี้ด้วย 5 คะแนนเต็มจ้า

เมื่อน้องหมากับเจ้าของทำการ ทดสอบสุนัขนิสัยดี ครบทั้ง 7 ด่านแล้ว กรรมการก็จะนำสมุดพกไปรวบรวมคะแนน หากผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คณะกรรมการจะมอบเกียรติบัตร “สุนัขนิสัยดี” ให้แก่น้องหมาและเจ้าของ ซึ่งผ่านการรับรองจาก ชมรมสุนัขนิสัยดี (Good Dog Club) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไว้ให้ภูมิใจ พร้อมผ้าพันคอ Good Dog ใช้ปุ๊บ หล่อเท่ขึ้นมาทันที ซึ่งการทดสอบวันนี้พี่หมู ก็ทำให้พี่ฮอลล์ภูมิใจด้วยคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 4.28 จากคะแนนเต็ม 5 รับทั้งเกียรติบัตรและผ้าพันคอ สุนัขนิสัยดี กลับไปโม้ได้จ้า 5555

โดยแท้จริงแล้ววัตุประสงค์ของการ ทดสอบสุนัขนิสัยดี ทั้งหมดคือ ต้องการให้เจ้าของที่เลี้ยงน้องหมานั้น รู้จักฝึกฝนดูแล เอาใจใส่น้องหมาของตัวเอง โดยสามารถออกคำสั่งพื้นฐานต่างๆ เพื่อควบคุมพฤติกรรมน้องหมาของตนได้ ไม่ว่าจะเดินในสายจูง หยุด หมอบ คอย และการฝึกให้อดทนต่อสิ่งเร้าต่างๆ ไม่ให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวหากต้องพาออกไปนอกบ้าน ทั้งนี้เพื่อความสุขและความปลอดภัย และเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเองค่ะ

ขอบคุณ
อ.ดร.น.สพ. ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม
อาจารย์ประจำภาควิชาปรีคลินิกและสัตวศาสตร์ประยุกต์ และที่ปรึกษาชมรมสุนัขนิสัยดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เรื่อง ลีฬภัทร กสานติกุล
ภาพ อรวรรณ มงคลสำโรง