การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับสัตว์เลี้ยง (First aid)

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับสัตว์เลี้ยง คือ การดูแลเมื่อสัตว์มีอาการป่วย หรือบาดเจ็บ โดยไม่จำเป็นต้องมีสัตวแพทย์อยู่ แต่ควรจะรู้จักคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ที่ใกล้ที่พักและเวลาเปิด-ปิด

แต่ที่สำคัญที่สุด คือ เจ้าของจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อลดความเจ็บปวดและลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่สัตว์

วิธีการนำสัตว์เลี้ยงมายังโรงพยาบาล

หลังจาก การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับสัตว์เลี้ยง ควรพาสัตว์เลี้ยงไปยังโรงพยาบาล เพื่อรักษาอาการอย่างถูกต้อง ด้วยภาชนะที่นำสัตว์ที่เหมาะสม เช่น

• สุนัขพันธุ์เล็ก หรือแมว ให้ใส่กระเป๋า หรือกล่องกระดาษแข็ง
• สุนัขพันธุ์ใหญ่ สามารถใช้เปลหาม หรือจูงสัตว์มา หากสุนัขยังสามารถเดินได้ โดยเคลื่อนย้ายอย่างระมัดระวัง และจับสัตว์เลี้ยงอย่างระมัดระวัง เพราะเมื่อสัตว์อยู่ในภาวะเครียด จะทำให้สัตว์เลี้ยงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวได้
• ใช้อุปกรณ์ในการช่วยจับบังคับสัตว์ เพื่อป้องกันสัตว์กัดเจ้าของ เช่น ที่ปิดปากสัตว์ (Muzzling), การใช้ผ้าห่อตัวสัตว์ (Wrapping), การทำให้สัตว์นอนอยู่กับที่ (Immobilizing)

ภาวะฉุกเฉินที่สามารถพบได้บ่อย 

1.การได้รับสารพิษ

ไม่ว่าจะเป็นจากการกิน การหายใจเข้าไป หรือการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงจากสารเคมีชนิดต่าง ๆ เช่น สารเคมีในครัวเรือน, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด, ยาตามใบสั่งแพทย์, สารกำจัดหนู หรือ อาหารที่เป็นพิษต่อสัตว์ (ช็อคโกแลต)

อันตรายจากช็อคโกแลต (chocolate toxicity) ที่มีผลต่อสัตว์เลี้ยง

– สิ่งที่ควรทำ :
1. รู้พันธุ์สัตว์, อายุ, น้ำหนัก, เพศของสัตว์เลี้ยง
2. ดูผลิตภัณฑ์ และอ่านคำแนะนำตามฉลากข้างผลิตภัณฑ์
3. ดูปริมาณ และระยะเวลาที่สัตว์กิน, สูดดมเข้าไป, หรือสัมผัสกับพิษ
4. ห้ามทำให้สัตว์อาเจียนเด็ดขาด ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที
5. ใช้สบู่ผสมกับน้ำ ล้างบริเวณที่สัตว์สัมผัส (ห้ามใช้ล้างบริเวณตา ปาก และจมูก)
6. ใช้น้ำล้างบริเวณตา ปาก และจมูก หรือเท่าที่สามารถจะล้างได้
7. ถ้าหากสัตว์เลี้ยงไม่สามารถยืนได้ มีปัญหาในการหายใจ หรือไม่รู้สึกตัว ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที และควรนำผลิตภัณฑ์ที่สัตว์ได้รับให้สัตวแพทย์ดูด้วย

– สิ่งที่ไม่ควรทำ :
1. ห้ามทำให้สัตว์อาเจียนเด็ดขาด ถ้าหากไม่สามารถยืนได้, มีปัญหาในการหายใจ, ไม่รู้สึกตัว, หรือกินสารเคมีที่มีองค์ประกอบของปีโตรเลียม เพราะจะทำให้สัตว์มีอาการรุนแรงมากกว่าเดิมได้

2. แมลงที่มีเหล็กในต่อย

เมื่อโดนแมลงกัด หรือผึ้งต่อย จะทำให้เกิดอาการเจ็บ, บวม, หรือคัน บริเวณที่โดนกัด หรือต่อย ไปจนถึงขั้นอาจมีอาการรุนแรง อย่าง โรคลมแดด, หน้าบวม, อาเจียน, ปัญหาทางเดินหายใจ, หรือร่างกายอ่อนแรงเฉียบพลัน

– สิ่งที่ควรทำ :
1. ถ้าสามารถระบุบริเวณที่โดนเหล็กในได้ ให้ใช้บัตรแข็ง หรือเล็บมือ เขี่ยให้เหล็กในออกได้ (ถ้าเจ้าของแพ้ผึ้ง ควรให้คนอื่นทำแทน)
2. ใช้น้ำแข็ง หรือที่ประคบเย็น กดบริเวณที่สัตว์เลี้ยงโดนเหล็กใน 2-3 นาที
3. ใช้น้ำผสม baking soda เพื่อให้เหล็กในสลาย
***หากพบอาการ เช่น โรคลมแดด, หน้าบวม, อาเจียน, ปัญหาทางเดินหายใจ, หรือร่างกายอ่อนแรงเฉียบพลัน ควรนำสัตว์เลี้ยงพบสัตวแพทย์ทันที

– สิ่งที่ไม่ควรทำ :
1.ห้ามใช้แหนบดึงเหล็กในออก เพราะจะทำให้เหล็กในเข้าไปในแผลมากขึ้น
2.ห้ามใช้ยาแก้ปวด หรือยาลดการอักเสบ เพราะจะทำให้สัตวแพทย์วินิจฉัยอาการยากขึ้น

3. การอาเจียน

ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นกับสุนัข โดยอาจเกิดจากการกินอาหารเร็วเกินไป อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ กินยาหรือสารพิษบางชนิดเข้าไป ทำให้สุนัขมีอาการคลื่นไส้ ผะอืดผะอม หรือเลียปาก ก่อนที่จะเกิดการขยับของกล้ามเนื้อท้องและกระบังลมอย่างรุนแรงเป็นจังหวะ อีกทั้งการอาเจียนหลายครั้ง มักจะแสดงร่วมกับอาการท้องเสีย ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำในร่างกายสัตว์ได้ง่าย

– สิ่งที่ควรทำ :
1. ไม่ให้ให้อาหาร และน้ำ เป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง
2. ถ้าสัตว์หยุดอาเจียนแล้ว ให้กินน้ำที่ผสมแร่ธาตุ หรือให้สัตว์เลียกินน้ำแข็งก้อน
3. หลังจาก 2 ชั่วโมง ที่สัตว์ไม่มีอาการแล้ว สามารถให้สัตว์กินน้ำในปริมาณมากได้ และพยายามให้อาหารที่เป็นของแข็งในปริมาณน้อย (1-2 ช้อนโต๊ะ) ทำซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง
4. ถ้ายังมีอาการอาเจียน และ/หรือท้องเสียอยู่บ้าง ให้สัตว์กินอาหารเหลว เพื่อป้องกันสัตว์อ่อนแรง และควรนำมาพบสัตวแพทย์
5. ถ้ายังมีอาการอาเจียน หรือท้องเสียในปริมาณมาก ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที

– สิ่งที่ไม่ควรทำ :
1. ห้ามให้สัตว์กินอาหาร หรือน้ำ จนกว่าสัตว์จะหยุดอาเจียนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
2. ห้ามให้ยาขณะที่สัตว์อาเจียนอยู่ด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้สัตว์เกิดอาการรุนแรงถึงตายได้

4. แผลไฟไหม้หรือโดนความร้อน

อันเกิดจากการได้รับความร้อน, ไฟ, ไฟฟ้า, หรือการได้รับสารเคมี บริเวณร่างกาย รวมถึงการทานสารเคมี ซึ่งจะทำให้สัตว์มีอาการเจ็บปวดรุนแรง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

– สิ่งที่ควรทำ :
1. ควรดับไฟ และให้สัตว์ห่างออกจากไฟโดยทันที
2. ปิดไฟฟ้า หรือถอดปลั๊กเท่าที่จะทำได้ ให้ห่างออกจากสัตว์
3. สังเกต หากสัตว์มีอาการเจ็บ หรือเฝ้าดูอาการสัตว์ที่แสดงออกมา
4. บริเวณที่โดนไฟ หรือไฟฟ้า ให้ทำประคบเย็น
5. บริเวณที่โดนสารเคมี ให้ล้างน้ำอุ่น อย่างน้อย 15 นาที
6. หากโดนสารเคมีบริเวณตา ให้ใช้ยาหยดตาล้าง และล้างน้ำอุ่น อย่างน้อย 15 นาที (ควรอ่านระบุข้างผลิตภัณฑ์ ‘multipurpose’ (ใช้อเนกประสงค์) หรือ ‘disinfectant’ (สารเคมีทำลายเชื้อโรคสำหรับอุปกรณ์หรือพื้นผิว)
7. ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที

– สิ่งที่ไม่ควรทำ :
1. ห้ามใช้น้ำแข็งประคบ
2. ห้ามใช้ขี้ผึ้ง หรือครีมทา
3. ห้ามแกะ หรือตัดขนออก จากการเกิดแผล หรือขนที่ไหม้ ด้วยตัวเอง

5. ชัก

อาการชักเกิดจากความผิดปกติของสมอง เป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จนเกิดการสั่นทั่วร่างกาย หรือใบหน้ากระตุก

– สิ่งที่ควรทำ :
1. เลี่ยงให้สัตว์อยู่ห่างจากสิ่งของ หรือพื้นที่ไม่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ ขณะสัตว์มีอาการชัก เช่น การตกจากที่สูง และให้อยู่ห่างจากแหล่งน้ำ
2. ระวังสัตว์กัด
3. บันทึกเวลาชัก และเวลาหยุดชัก และให้สัตว์อยู่ในพื้นที่เงียบ และอุณหภูมิห้อง
4. ถ้าสัตว์ชัก 1 ครั้ง แต่ละครั้งน้อยกว่า 3 นาที แสดงว่าสัตว์ยังไม่เข้าภาวะฉุกเฉิน แต่ให้ติดต่อสัตวแพทย์ไว้ด้วย
5. ถ้าสัตว์ชัก 1 ครั้ง แต่ละครั้งอยู่ประมาณ 3-5 นาที หรือถ้าสัตว์ชักมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที
6. หากสัตว์เป็นโรคเบาหวาน ให้สัตว์กินน้ำเชื่อม โดยป้อนช้าๆเข้าทางปาก และควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์

6. พิษจากงูกัด

สัตว์เลี้ยงน่ารักที่มักจะซุกซน ชอบผจญภัยไปในที่ต่าง ๆ ทำให้มีหลายครั้งที่อาจเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าของไม่คาดคิดขึ้นได้ อย่าง การโดนงูฉก ซึ่งเซรุ่มต้านพิษจะมี 2 ชนิดหลัก คือ เซรั่มเฉพาะงูแต่ละชนิด (specific antivenin) และ เซรั่มรวมสำหรับพิษแต่ละระบบ (polyvalent antivenin) เช่น ระบบประสาท ระบบเลือด ซึ่งจะให้ในกรณีพบอาการของแต่ละระบบแต่ไม่สามารถระบุชนิดของงูได้

– สิ่งที่ควรทำ :
1. ใช้ที่ปิดปากสัตว์ เพื่อป้องกันสัตว์เลียแผล
2. นำซากงูมาให้สัตวแพทย์ด้วย ถ้าเป็นไปไก้หรือพยายามจำลักษณะงู และรู้ชนิดงู (ถ้ารู้จัก และสามารถสังเกตได้)
3. ยก หรือลดการขยับตำแหน่งบริเวณที่โดนกัด
4. เลี่ยงการสัมผัส หรือจับบริเวณที่โดนกัด
5. ให้สัตว์อยู่ในภาวะสงบ สัตว์ที่ตื่นเต้นตกใจจะทำให้พิษแพร่ไปทั่วร่างกายได้ไวขึ้น
6. ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที

– สิ่งที่ไม่ควรทำ :
1. ไม่พยายามกรีดแผล หรือเอาปากดูดเลือดออกจากแผล
2. การขันชะเนาะ บริเวณที่โดนกัดหรือใช้น้ำแข็งประคบ อาจะทำให้เกิดเนื้อตายได้ ดังนั้นแนะนำให้พามาพบสัตวแพทย์ไวที่สุด

7. Bleeding (เลือดออก)

ส่วนมากจะเกิดร่วมกับการบาดเจ็บ ซึ่งสิ่งแรกที่ควรทำคือการห้ามเลือด โดยการที่เลือดไหลออกมานอกร่างกาย (จากการโดนของมีคมบาด หรือแผล) หรือเลือดออกภายในร่างกาย (เลือดคั่งบริเวณอกหรือช่องท้อง จากการตกจากที่สูง หรือรถชน) สามารถทำให้เกิดอาการช็อก, ร่างกายอ่อนแรงเฉียบพลัน, หรือเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี

– สิ่งที่ควรทำ เมื่อเลือดไหลออกมานอกร่างกาย :
1. เลี่ยงการให้สัตว์เลี้ยงเลียแผลตัวเอง โดยการใช้ muzzle (ที่ครอบปากสำหรับสัตว์เลี้ยง)
2. ใช้ผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาด หรือผ้าอนามัยกดบาดแผลป้องกันเลือดไหล (ถ้าหากไม่ได้ผล ใช้มือ หรือนิ้วปิดบริเวณบาดแผล)
3. กดบาดแผล 5-10 นาที เพื่อให้เลือดแข็งตัว
4. ห้ามนำผ้าก๊อซออก หากพบเห็นเลือดยังไหลอยู่ ให้กดอย่างต่อเนื่องเพราะการนำออกจะทำให้เลือดไหลออกมาเหมือนเดิม แล้วเช็คดูบริเวณแผลทุก 3 นาที
5. เปลี่ยนผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาด หากเลือดซึมเข้ามาในผ้าหมดแล้ว
6. ถ้าเลือดออกมากบริเวณขา สามารถทำขันชะเนาะได้ โดยใช้ผ้าก๊อซพันแผล เพื่อให้ผ้าก๊อซกดแผลไว้ และคลายออก 20 วินาที ทำทุกๆ 15-20 นาที  แต่การขันเชนาะที่แน่นเกินไปจะทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงปลายขาได้ ให้ขันให้แน่นแต่ไม่ใช่จนเกิดการบวมของขา ปลายขาเย็น
7. ควรทำให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในภาวะสงบ
8. ให้สัตว์เลี้ยงนอนในด้านตรงข้ามของแผล เพื่อลดการไหลเวียนของเลือด
9. หากแผลได้รับการรักษาภายใน 4 ชั่วโมง สามารถเย็บแผลปิดได้ ถ้าหากแผลได้รับการรักษาหลัง 4 ชั่วโมง จะมีโอกาสติดเชื้อ และทำให้แผลเป็นหนักมากขึ้น หรือแผลหายช้าขึ้น
10. ถ้าหากพบภาวะรุนแรง เช่น เลือดไหลออกมามาก ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์ทันที

– สิ่งที่ควรทำ เมื่อเลือดไหลออกภายในร่างกาย :
1. สังเกตอาการสัตว์เลี้ยง เช่น เลือดออกทางปาก จมูก หรือทางทวารหนัก, เหงือกซีด, ตัวเย็นขึ้น, หายใจถี่ขึ้น, ไอแล้วมีเลือดออกมา, ช่องท้องขยายใหญ่, ปัสสาวะเป็นเลือด, เซื่องซึม, ร่างกายอ่อนแรงเฉียบพลัน, และชีพจรเต้นเบา
2. ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในภาวะสงบ
3. ทำให้สัตว์เลี้ยงตัวอุ่น และอยู่ในอุณหภูมิห้อง
4. ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที

9. แผล

เกิดจากของมีคมบาดทุกชนิด โดยแผลลึก (deep wound) คือแผลลึกเลยชั้นผิวหนังลงไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ, ไขมัน, และกระดูก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินต้องได้รับการรักษาโดยสัตวแพทย์ทันที, แผลชนิดตื้น (superficial wound) คือแผลไม่ทะลุชั้นผิวหนังลงไป สามารถรักษาเองได้ที่บ้าน, แผลโดนกัด (bite wound) คือแผลอยู่บริเวณชั้นผิวหนัง แผลที่ควรได้รับการรักษาโดยสัตวแพทย์ เพราะสามารถติดเชื้อได้หากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้า จาก Rabies virus เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ถ้าหากสัตว์ที่กัดไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน หรือมาจากสัตว์ป่า

– สิ่งที่ควรทำ เมื่อเกิดแผลลึก :
1. ใช้ที่ปิดปากสัตว์ เพื่อป้องกันสัตว์เลียแผล
2. ห้ามเลือดไหล โดยใช้แรงกดโดยตรง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อเลือดออก
3. ห้ามทำความสะอาด หรือล้างแผลด้วยตัวเอง
4. ถ้าเห็นรอยกัดบริเวณบาดแผล ห้ามสัมผัสบริเวณแผล
5. ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซสะอาด หรือผ้าสะอาด
6. ให้สัตว์อยู่ในภาวะสงบ
7. ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที

– สิ่งที่ควรทำ เมื่อเกิดแผลตื้น :
1. สวมถุงมือ เพื่อป้องกันสัตว์ที่กัดไม่ได้รับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า
2. ล้างเลือดบริเวณแผล, สิ่งสกปรก, และเศษผิวหนังที่ลอกหลุดออกมา ด้วยน้ำสะอาด
3. ทำให้แผลแห้ง
4.. ใส่ปลอกคอกันเลียหรืออลิซาเบธ คอลลาร์ (Elizabethan collar) เพื่อป้องกันสัตว์เลียแผลตัวเอง

– เกิดแผลเล็กน้อย สามารถใช้ผ้าพันแผลได้ :
1. ใช้แผ่นแปะปิดบริเวณแผล เช่น Fixomull®
2. ปิดด้วยผ้าก๊อซบริเวณแผล และปิดเลยแผลทั้งบนและล่าง 1 นิ้ว
3. ใช้แผ่นเทปแปะยึดให้ผ้าก๊อซไม่หลุด เช่น Coban® โดยแปะไม่ให้หลวมเกินไป และแน่นเกินไป (ถ้าสอดนิ้ว 2 นิ้วเข้าไปในผ้าก๊อซไม่ได้ แสดงว่าแน่นแปะแน่นเกินไป)
4. เปลี่ยนผ้าก๊อซทุกวัน
5. ถ้าแผลมีรอยแดง, บวม, มีกลิ่น, หรือมีหนองไหลออกมา ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที

10. กระดูกแตกหัก

เกิดจากกระดูกแตกหัก สัตว์มีอาการเจ็บบริเวณขา หรือแสดงอาการยกขา การเกิดกระดูกหักแบบแผลเปิด (open fracture) คือกระดูกที่ทิ่มผิวหนังออกมา หรือได้รับการบาดเจ็บจนผิวหนังเปิด และการเกิดกระดูกหักแบบแผลปิด (closed fracture) คือกระดูกหัก แต่ผิวหนังไม่ได้รับบาดเจ็บ หรือผิวหนังเปิด

– สิ่งที่ควรทำ :
1. ใช้ที่ปิดปากสัตว์ เพื่อป้องกันสัตว์เลียแผล
2. ห้ามเลือดหากพบเลือดไหลออกมา สามารถทำตามหัวข้อ เลือดออก
3. หากกระดูกหักแบบแผลเปิด น้ำเกลือล้างขนและดินที่ติดอยู่บนบาดแผลออกให้มากที่สุด ใช้ผ้าก๊อซสะอาด หรือผ้าสะอาดปิดบาดแผล
4. ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในภาวะสงบ
5. ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที โดยระหว่างนำมาพบสัตวแพทย์ ควรจับสัตว์เพื่อไม่ให้สัตว์ดิ้น
6. ในกรณีที่ขาสัตว์มีขาห้อยรุ่งริ่งและมีแนวโน้มจะทำให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้นถ้าไม่มีการเข้าเฝือก ให้ทำการเข้าเฝือกโดยใช้ไม้บรรทัดแข็งหรือท่อนไม้แบนยาวมาประคองไว้ด้านล่างของขา ให้ใช้ผ้าพันแผลพันขาโดยล็อคข้อต่อเหนือตำแหน่งที่หัก 1 ข้อและด้านล่างของตำแหน่งหักอีก 1 ข้อ นั่นแผลแปลว่าการเข้าเฝือกในสัตว์เลี้ยงจะทำได้นกรณีที่มีการหักของกระดูกที่ต่ำกว่าข้อศอกและข้อเข่าเท่านั้น

– สิ่งที่ไม่ควรทำ :
1. โดยทั่วไปไม่แนะนำให้เข้าเฝือก หรือพันแผลด้วยตัวเอง อาจจะทำให้สัตว์มีอาการแย่กว่าเดิมเนื่องจากพันไม่ถูกต้องได้
2. ห้ามทำความสะอาดแผลด้วยตัวเอง ควรให้สัตวแพทย์เป็นคนทำความสะอาดแผลเอง
3. ห้ามใช้ยาลดปวดของคนให้กับสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้สัตว์มีอาการแย่กว่าเดิม

11.อัมพาต

กล้ามเนื้อของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ เช่น คอ, ขา, หรือหาง ซึ่งเกิดจากการได้รับแผลบาดเจ็บ (การตกจากที่สูง หรือโดนรถชน) หรือเกิดจากแผ่นรองกระดูกแยกออกจากกัน เป็นต้น

– สิ่งที่ควรทำ :
1. ใช้ที่ปิดปากสัตว์ เพื่อป้องกันสัตว์เลียแผล และป้องกันสัตว์กัด
2. ให้สัตว์อยู่ในภาวะสงบ
3. พยายามไม่ให้สัตว์เดิน
4. ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที

– สิ่งที่ไม่ควรทำ :
1. ไม่ให้สัตว์เดินไปมา ป้องกันการบาดเจ็บมากกว่าเดิม

11. การหายใจลำบาก

การหายใจลำบาก (dyspnea) คือการที่สัตว์เลี้ยงพยายามหายใจมากขึ้น มีเสียงดังในขณะหายใจ มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเข้า หรือการหายใจออก แต่ไม่สามารถนำออกซิเจนเข้าไปใช้ได้ จะพบเหงือก และลิ้นและ/หรือริมฝีปากเป็นคล้ำหรือม่วงในกรณีอาการที่รุนแรงมาก

– สิ่งที่ควรทำ (หากสัตว์เกิดอาการสำลัก, อุณหภูมิสูงมากขึ้น, หรือสัตว์เลี้ยงหยุดการหายใจ) :
1. ดึงลิ้นสัตว์ออกมา หากมีสิ่งแปลกปลอม หรือของเหลว ให้นำออกจากปาก และลิ้นสัตว์
2. ใช้ปากเจ้าของ “อม” ไปที่ส่วนจมูกและปิดปากให้สนิท (mouth to snout)
*** ห้ามทำเด็ดขาด หากสัตว์เลี้ยงยังรู้สึกตัว
3. ให้เจ้าของเป่าลมเข้าไปเพื่อขยายช่องอกของสัตว์ (ระวังช่องอกของสัตว์ขยายมากเกินไป)
4. หายใจเข้า-ออก โดยทำประมาณ 3-5 ครั้ง แต่ละครั้งเว้น 4-5 วินาที (ทำทั้งหมด 20 ครั้ง ต่อนาที)
5. สังเกตสัตว์ ถ้าสามารถเริ่มหายใจได้เองแล้ว ให้หยุดทำ
6. ทำซ้ำหากสัตว์ยังไม่สามารถหายใจได้เอง

12. ภาวะช็อค

เกิดจากการได้รับบาดเจ็บรุนแรงเสียเลือดมาก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หัวใจล้มเหลว หรือหายใจล้มเหลว (จากการแพ้ หรืออุณหภูมิสัตว์สูงขึ้น) โดยพบอาการ คือ ชีพจรเต้นหรือคลำไม่พบชีพจร ความดันต่ำ การหายใจตื้นและถี่ (Shallow breathing) หรืออาจจะหยุดหายใจ หากไม่ได้รับการรักษาโดยทันที จะทำให้เซลล์ของอวัยวะต่างๆภายในร่างกายสัตว์ตาย และเซลล์ที่ตายไม่สามารถกลับมาได้

– สิ่งที่ควรทำ :
1. ให้สัตว์อยู่ในภาวะสงบ, และเงียบ
2. ถ้าสัตว์อยู่ในภาวะไม่หายใจ ให้ยกหัวสัตว์ขึ้น และให้ทำตามหัวข้อ การหายใจลำบาก
3. หากหัวใจสัตว์หยุดเต้น ให้ทำปฏิบัติการกู้ชีวิต (Cardiopulmonary resuscitation (CPR)
4.ให้สัตว์นอนตะแคงข้างขวาลงกับพื้น เพราะหัวใจสัตว์อยู่ใต้หน้าอกฝั่งซ้าย และอยู่ข้างหลังข้อซอกขาหน้าข้างซ้าย โดยวางมือประสานกันเหนือหัวใจ หรือถ้าสัตว์ตัวเล็กให้ใช้นิ้วมือนวดบริเวณหัวใจ การนวดหัวใจทำในอัตรา 100-120 ครั้ง ต่อนาทีโดยทุกๆ 30 ครั้ง ให้ทำการช่วยหายใจ (mouth to snout) 2 ครั้ง โดยสังเกตดูว่าเป่าจนอกลอยขึ้น
5. ห้ามทำการช่วยหายใจ พร้อมกับการช่วยเต้นหัวใจ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับทรวงอกได้
6. ให้ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ยินเสียงหัวใจเต้น หรือสามารถจับชีพจรที่เส้นเลือดขาหลัง หรือสัตว์สามารถกลับมาหายใจเป็นปกติ
7. และควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที

13. สำลัก (Choking)

การสำลัก เกิดเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหลอดลม เป็นการป้องกันนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด โดยการสำลัก กับการไอ จะแยกออกจากกันยาก ในทางสัตวแพทย์ การไอส่วนใหญ่จะเกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมไปอุดตันบริเวณลำคอ หรือเรียกว่า Tracheobronchitis (Kennel cough) สำคัญมากในการหายใจเข้า แต่การสำลักจะไม่เกิดปัญหานี้ และการสำลักจะไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงอาจพบริมฝีมือ และลิ้น เริ่มมีสีฟ้าม่วง อาจทำให้สัตว์ไม่รู้สึกตัวได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา

– สิ่งที่ควรทำ เมื่อสัตว์ยังรู้สึกตัว :
1. ถ้าสัตว์ยังสามารถหายใจได้อยู่ ควรให้สัตว์อยู่ในภาวะสงบ และควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที ซึ่งสัตวแพทย์สามารถที่จะเอาสิ่งปลอมออกได้ รวมถึงการใช้อุปกรณ์พิเศษ และการทำให้สัตว์สงบลงได้
2. หากเจ้าของเห็นสิ่งแปลกปลอม สามารถใช้นิ้ว หรือที่คีบ (forceps) ออกมาได้
*** ระวัง ห้ามทำถ้าสัตว์มีอาการดุร้ายอาจจะกัดได้

– สิ่งที่ควรทำ เมื่อสัตว์ไม่รู้สึกตัว :
1. ใช้นิ้วไล่สิ่งแปลกปลอมจากบริเวณปลายลำคอขึ้นมา
2. ถ้าหากข้อ 1 ไม่สามารถทำได้ ให้นำมือทั้ง 2 ข้าง จับบริเวณซี่โครงทั้ง 2 ข้าง แล้วทำการกดให้เร็ว 3-4 ครั้ง ให้สัตว์สำลักสิ่งแปลกปลอมออกมาเอง (เมื่อกด จะทำให้เกิดการเอาอากาศออกมาจากปอด และอากาศจะดันสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา)
3. หากสัตว์มีอาการหยุดหายใจ ให้ทำตามหัวข้อ Breathing trouble (การหายใจลำบาก)

14. ไข้

สัตว์แสดงอาการป่วย โดยบริเวณปาก และหูร้อน สามารถวัดอุณหภูมิสัตว์ได้จากทางทวารหนัก โดยใช้ thermometer (เครื่องวัดอุณหภูมิ) ซึ่งอุณหภูมิปกติของสัตว์จะอยู่ที่ 100.5 – 102.5˚F หากวัดอุณหภูมิได้ 103˚F หรือมากกว่านั้น แสดงว่าสัตว์เป็นไข้ และถ้ามีอุณหภูมิสูงถึง 105˚F หรือมากกว่านั้น จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยด่วน (life-threatening)

– สิ่งที่ควรทำ :
1. อุณหภูมิสูงถึง 105˚F หรือมากกว่านั้น ต้องให้ความเย็นกับสัตว์ โดยเปิดพัดลม หรือให้คลุมเสื้อกับเจลเย็น
2. ให้สัตว์ดื่มน้ำเย็น
3. ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที

– สิ่งที่ไม่ควรทำ :
1. ห้ามใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง โดนตัวสัตว์โดยตรง
2. เมื่อสัตว์อุณหภูมิลดลงถึง 103˚F ควรหยุดการให้ความเย็นกับสัตว์
3. ห้ามให้ยาลดไข้ของคน เช่น aspirin, Tylenol®, หรือ ibuprofen กับสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้สัตว์อาการแย่กว่าเดิมจากพิษของยา

15. โรคลมแดด (Heat Stroke)

ภาวะที่สัตว์มีอุณหมิสูงขึ้นมากกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกายมากเกินไปในอากาศร้อน หรือในช่วงฤดูร้อน, การที่สัตว์มี น้ำหนักมากเกินกว่าปกติ หรือสุนัขพันธุ์ใหญ่ (Bulldogs, pugs, Boston terriers และพันธุ์หน้าสั้นเป็นต้น) ทำให้อุณหภูมิสูงมากกว่าปกติ, สัตว์ที่อยู่ในรถ ถึงแม้จะเป็นเวลาสั้น ก็สามารถทำให้สัตว์เกิดอันตรายเนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นได้

– สิ่งที่ควรทำ :
1. ให้สัตว์อยู่ห่างจากแดด และความร้อน
2. วัดอุณหภูมิสัตว์จากทางทวารหนัก สามารถสังเกตได้จากหัวข้อ ไข้
3. ให้ความเย็นแก่สัตว์ บริเวณคอ และหัว ห้ามให้โดนบริเวณ ตา จมูก และปาก
4. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นที่มาชโลมบริเวณขาหนีบ รักแร้ และช่องอกเพื่อลดอุณหภูมิสัตว์ลงได้
5. ถ้าต้องปิดรถและให้สัตว์อยู่ในรถจริงๆ ให้เปิดหน้าต่างเพื่อระบายความร้อน ควรติดฟิล์มกันแดดให้กับรถ เพื่อลดอุณหภูมิภายในตัวรถได้ รีบนำมาพบสัตวแพทย์โดยทันที ถ้าสัตว์ถูกทำการรักษาแล้ว แต่สัตว์ยังสามารถพบผลข้างเคียงได้หลังจากนั้นได้ 1 ชั่วโมง

– สิ่งที่ไม่ควรทำ :
1. ห้ามใช้น้ำเย็น หรือน้ำแข็ง โดนตัวสัตว์โดยตรง
2. ไม่ปล่อยให้สัตว์อยู่ในรถเป็นระยะเวลานาน

บทความโดย

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ อว.สพ. ศัลยศาสตร์
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่