ชิสุ (Shih Tzu) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

สุนัขพันธุ์ ชิสุ จัดเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดมาจากทิเบต และเป็นพันธุ์ที่นิยมในประเทศจีน โดยการตั้งชื่อสายพันธุ์ชิสุ มีความหมายว่าเป็นสิงโตน้อย (Little lion) หรือสุนัขตัวเล็ก (Little dog)

ในประเทศจีน สุนัขพันธุ์ชิสุ มีลักษณะคล้ายสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง (Pekingese) เนื่องจากได้รับการผสมพันธุ์กับสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง ถูกจัดอยู่ในสายพันธุ์ชนชั้นสูง พวกเดียวกับปักกิ่งและปั๊ก เป็นสุนัขที่หรูหราที่สุดจากจักรพรรดิจีน โดยกล่าวว่าพระทิเบตมอบสุนัขพันธุ์ชิสุให้จักรพรรดิจีนเป็นของกำนัล สุนัขพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักนอกอาณาจักรจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1903

ในต่อมาได้ถูกนำมาเลี้ยงในแถบทวีปยุโรป ได้แก่ ประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส ทำให้ได้ความนิยมมากยิ่งขึ้น โดยสมาคม English kennel clubs ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์สุนัขชิสุ เป็นสุนัขพันธุ์ลาซา แอปโซ  (Lhasa Apso) และในปี ค.ศ.1935 สุนัขพันธุ์ชิสุได้มีการพัฒนาลักษณะประจำสายพันธุ์มากขึ้น ทำให้ถูกขึ้นทะเบียนอีกครั้งเป็นสุนัขพันธุ์ชิสุ แยกออกจากสุนัขพันธุ์ยุโรปอย่างชัดเจน และถูกนำต่อมายังอเมริกา โดยทหารอเมริกาที่กลับมาจากทวีปยุโรป ทำให้เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก

ลักษณะทางกายภาพ

สุนัขพันธุ์ชิสุ เป็นสุนัขพันธุ์เล็ก ปากสั้น ตาลึกดำสนิท จมูกเล็กแบน หลังจากกินอาหาร หรือกินน้ำควรทำความสะอาดให้แห้งทุกครั้ง ป้องกันการเกิดเชื้อราเจริญเติบโตขึ้นบริเวณใต้คาง ลำตัวจะมีความยาวกว่าส่วนสูง โดยจะมีความสูงน้อยกว่า 10.5 นิ้ว หรือ 26.7 เซนติเมตร วัดจากพื้นถึงช่วงบนสุดของหัวไหล่ (Withers) น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 10-16 ปอนด์ หรือ 4.5-7.3 กิโลกรัม อาจพบการสบฟันของสุนัขที่ผิดปกติ (Underbite) เป็นลักษณะทั่วไปที่สามารถพบได้

มีขนยาว นุ่มปกคลุม 2 ชั้น เมื่อเวลาสุนัขเดินทำให้ขนลากกับพื้นเป็นสิ่งที่ควรระวังทำให้สกปรกได้ ซึ่งเจ้าของสุนัขมักจะตัดขนให้สั้นเป็นทรง puppy cut ให้ง่ายต่อกันทำความสะอาดขน หรือควรแปรงขนสัตว์ทุกวัน หู บริเวณหลัง และหางถูกปกคลุมด้วยขนทั้งหมด สีขนของสุนัขพันธุ์ชิสุสามารถมีสีขนมากกว่า 1 สีปนกันได้ ส่วนมากบริเวณหัวและหางจะมีสีขาว

อายุขัย

สุนัขพันธุ์ชิสุ โดยทั่วไปมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 10-14 ปี

ลักษณะนิสัย

สุนัขพันธุ์ชิสุ เป็นที่รู้กันว่ามีความสดใสร่าเริง มีชีวิตชีวา เป็นมิตร ชอบการผจญภัย และกระตือรือร้น เป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่มีความใจเย็น มีความอดทน ยึดมั่น เป็นสุนัขเงียบ ไม่ชอบเห่า สามารถเข้าได้ดีกับทุกคนที่พบเจอ แต่อาจพบพฤติกรรมก้าวร้าว หรือเห่าได้บางครั้ง ถ้าพบคนแปลกหน้าบริเวณหน้าบ้าน หรือได้ยินเสียงที่สุนัขไม่ชอบ

การเข้ากับเด็ก

สุนัขพันธุ์ ชิสุ ไม่มีนิสัยดุร้าย หรือก้าวร้าว ขนาดตัวของสุนัขเหมาะสมกับเด็กเล็ก ทำให้สามารถนำมาเล่นกับเด็กได้ ทำให้เด็กรู้สึกมีเพื่อน และมีความสุขได้

การดูแล

การออกกำลังกาย

สุนัขพันธุ์ชิสุ เป็นสุนัขชอบเดิน ชอบออกกำลังกาย แต่เนื่องจากเป็นสุนัขพันธุ์เล็กจึงไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายมากทั้งวัน  เพียงแค่พาสุนัขให้เดินไว หรือให้วิ่งรอบสวนสาธารณะ ซึ่งการออกกำลังกายช่วยป้องกัน และคงพฤติกรรมของสุนัขไว้ หนึ่งในสิ่งที่ควรระวังมากที่สุดคือสุนัขพันธุ์ชิสุจะอุณหภูมิภายในตัวสัตว์สูงขึ้น (Overheat) เร็วมาก ควรสังเกตสุนัขขณะเล่นเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูร้อน หากพบอาการที่ผิดปกติควรหยุดให้ได้พัก และนำเข้าที่ร่มทันที

อาหาร

ค่าเฉลี่ยน้ำหนักของสุนัขพันธุ์ชิสุคือ 10-16 ปอนด์ หรือ 4.5-7.3 กิโลกรัม

ในสุนัขพันธุ์ชิสุที่มีอายุ 1 เดือน ควรให้ได้กินอย่างอิสระ และเต็มที่ต่อวัน

ในสุนัขอายุ 3 เดือน – 1 ปี ควรเริ่มจำกัดปริมาณเพียงเล็กน้อย

ในสุนัขโตเต็มวัย ควรให้ปริมาณแคลอรี่ 35 แคลอรี่ต่อ 1 ปอนด์ หรือ 0.45 กิโลกรัม

ในสุนัขมีอายุมากขึ้น ควรลดปริมาณเหลือ 30 แคลอรี่ต่อ 1 ปอนด์ หรือ 0.45 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตามควรสังเกตให้น้ำหนักกับอายุสมดุลกัน เพื่อป้องกันการเกิดโรคอ้วน และปัญหาสุขภาพที่อาจเกินขึ้นได้

โรคประจำพันธุ์

โรคที่พบได้บ่อย อ้างอิงจาก American Shih Tzu, Inc. และ Shih Tzu Rescue, Inc. 

  • โรคระบบประสาท
    • โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Intervertebral disc disease (IVDD))
    • โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation anxiety)
  • โรคตับ
    • ภาวะหลอดเลือดดำที่ตับลัดเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด (Portosystemic shunts, PSS)
  • โรคระบบทางเดินปัสสาวะและไต
  • โรคระบบทางเดินหายใจ
    • กลุ่มอาการทางเดินหายใจของสุนัขหน้าสั้น (Brachycephalic syndrome)
    • การจามย้อนกลับ (Reverse sneezing)
  • โรคระบบกระดูก เอ็น และข้อต่อ
    • โรคกระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation)
    • โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
  • โรคตา
    • คราบน้ำตา (Tear staining)
    • โรคขนตาซ้อนแยง (distichiasis)
    • โรคแผลหลุมกระจกตา (corneal ulcer)
    • โรคตาแห้ง (Kerrato conjunctivitis sicca, KCS)
    • โรคต้อกระจก (Cataract)
    • โรคต้อหิน (Glaucoma)
  • โรคอื่นๆ
    • ไส้เลื่อน (Umbilical hernia)

เรื่อง : ทรงภูมิ อานันทคุณ

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่