BORO ( โบโร่ ) เป็นศิลปะงานผ้าต่อของชาวชนบทในประเทศญี่ปุ่น ผ้าที่ใช้ทำโบโร่ในสมัยก่อนจะประกอบไปด้วยผ้าคอตตอน หรือ ผ้าเดนิม ที่เหลือใช้จากการตัดผ้า นำมาปะผ้าที่มีรอยขาดบนเสื้อผ้าซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง เพราะว่าคนในสมัยก่อนมีความคิดว่าเสียดายผ้า และอยากใช้ผ้าทั้งหมดให้มีประโชยน์มากที่สุด ถือได้ว่าโบโร่เป็นเทคนิคการ UP CYCLING ที่มีมานานมาก
แต่การทำ โบโร่ นั้น คือ การนำของเก่ามาซ่อมแซม ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญในการออกแบบลวดลายผ้า การวางผ้า การเย็บผ้า เพื่อให้ชิ้นงานออกมาสวยงามน่าประทับใจ เกิดเป็นของที่มีคุณค่าน่าใช้งาน ไม่ใช่การนำขยะมาเพิ่มให้เป็นขยะมากขึ้นไปอีก
TIPS
UP CYCLING เป็นกระบวนการที่เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ด้วยการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทั้งหลาย มาพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ และมีมูลค่าสูงขึ้น และที่สำคัญก็คือ ต้องเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งกระบวนการออกแบบและการผลิต UP CYCLING คือการ “ ดีไซน์ ” ทั้งในด้านรูปแบบ และเนื้อหา ที่สำคัญก็คือ กระบวนการ UP CYCLING จะต้องไม่ใช้พลังงาน และทรัพยากรอื่น ๆ หรือต้องไม่มีการแต่งเสริมเติมสร้าง กระบวนการทางเคมีที่ส่งมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
อุปกรณ์การทำBORO (โบโร่)
1 เสื้อผ้าที่ขาดเป็นรู
2 เศษผ้า
3 เข็มด้ามยาว
4 เส้นใยกัญชง
5 กาวลาเท็กซ์
6 กรรไกร
TIPS
ใยกัญชง หรือ Hemp เป็นต้นไม้ที่มีคุณสมบัติพิเศษจากเส้นใยของมัน เป็นเส้นใยที่มีคุณภาพสูงเหมาะกับการนำไปประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น เครื่องนุ่งห่ม กระเป๋า รองเท้า ผ้าห่ม ผ้าคลุมไหล่ ตุ๊กตา และอื่นๆอีกมากมาย ด้วยคุณสมบัติที่เหนียวทนทาน ไม่อับชื้น ปราศจากเชื้อราและแบคทีเรีย ที่สำคัญป้องกันรังสียูวีโดยธรรมชาติ แถมยังทนความร้อนได้สูงถึง 170 องศาเซลเซียสโดยไม่มีส่วนผสมของสารเคมีแต่อย่างใด
กาวลาเท็กซ์ หรือวัสดุที่ใช้ประสาน ในรูปแบบน้ำ เหนียวข้น คือส่วนผสมของของเหลวหรือวัสดุกึ่งของเหลวที่สามารถเชื่อมติด หรือประสานวัสดุสองชิ้นหรือหลาย ๆ ผนึกเข้าด้วยกัน กาวมีอยู่หลากหลายรูปแบบมีทั้งมาจากธรรมชาติหรือสารเคมีสังเคราะห์ ซึ่งการใช้งานกาวลาเท็กซ์ มักจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่จะนำมาติดกัน ใช้ติดวัสดุที่มีลักษณะบาง หรือวัสดุที่แตกต่างกัน โดยกาวจะแตกต่างจากการเชื่อมวัสดุแบบอื่นคือ กาวจะใช้เวลาในการประสาน
รูปแบบการเย็บ
1 การเนายาว จับผ้าด้วยมือซ้าย จับเข็มด้วยมือขวา แทงเข็มขึ้น – ลง ให้ฝีเข็มยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และให้ปมของด้ายอยู่ด้านล่างของผ้า
2 การเนาสั้น จับผ้าด้วยมือซ้าย จับเข็มด้วยมือขวา แทงเข็มขึ้น – ลง ให้ฝีเข็มยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร และให้ปมของด้ายอยู่ด้านล่างของผ้า
3 การปักไขว้ เย็บผ้าด้วยการเย็บเนาก่อน จากนั้นปักเข็มกลับมาโดยปักพาดทับเส้นที่ปักไว้ก่อนหน้านี้ในแนวทแยง
4 การปักลายหว่านเมล็ดข้าว แทงเข็มขึ้นมา จากนั้นแทงเข็มลงไปให้ได้เส้นตรง ทำซ้ำเช่นเดิมโดยปักให้เส้นตรงกระจายไปรอบ ๆ
5 การชุนผ้า ตัดผ้าเป็นรอยขาดวงกลม ด้นตะลุยถี่ ๆ รอบรอยขาด จากนั้นคัทเวิร์คทับแนวที่ด้นไว้โดยรอบ ทำคัทเวิร์คแบบสานชั้นที่สอง ทำไปเรื่อย ๆ จนเต็มรอบที่ขาด
ขั้นตอนการทำกระเป๋า
1 ติดกาวลาเท็กซ์ปริมาณเล็กน้อยลงไปที่เศษผ้า
2 นำเศษผ้ามาปะติดกับผืนผ้าที่จะเย็บเป็นกระเป๋า
3 เย็บเศษผ้าติดกับผืนผ้าแพทเทิร์นกระเป๋าด้วยเทคนิคการเย็บรูปแบบต่าง ๆ ผสมเข้าด้วยกัน
4 พับผ้าด้านที่มีลวดลายของเศษผ้าขึ้นมาประกบกันตามภาพ โดยเหลือผ้าบริเวณด้านบนไว้สำหรับพับลงมาเป็นฝาปิดกระเป๋า จากนั้นเย็บด้นถอยหลังยึดติดผ้าทั้งสองชิ้นบริเวณริมขอบผ้าด้านข้าง
5 พับผ้าด้านบนลงมา แล้วเย็บลูกปัดและสายคล้องยึดติดด้านหน้าเป็นตัวล็อคกระเป๋า
6 เย็บสายคล้องคอติดกับด้านข้างของกระเป๋า
ขั้นตอนการซ่อมแซมเสื้อผ้า
1 เป็นการเย็บขอบผ้า คล้ายการเย็บแบบสอย แต่จะเห็นด้ายเยอะกว่า โดยเราจะเย็บให้ฝีเข็มติดกันถี่ ๆ เพื่อช่วยให้คอเสื้อมีโครงสร้างที่แข็งแรง
2 ตัดเศษผ้าให้มีขนาดใหญ่กว่ารูที่ขาด จากนั้นนำเศษผ้ามารองด้านในเสื้อ แล้วใช้เทคนิคการเย็บรูปแบบต่าง ๆ เย็บเศษผ้าปะติดกับเสื้อ เทคนิค BORO (โบโร่) นั้นจะไม่เน้นการเย็บที่เรียบร้อยมาก เราจึงเห็นการปะติดที่ขรุขระมีการซ้อนทับกันของเศษผ้าและฝีเข็มที่เย็บก็อาจจะออกมาไม่สม่ำเสมอกัน
SPACIAL THANK
คุณปรัศนาลักษณ์ เครือเมฆ
สนใจสมัครเรียน BORO เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่
Facebook : PRASANALAK KRUAMAK
เรื่อง : อรพรรณ วัจนะเสถียรกุล
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตลิส : suanpak