เชื่อว่าบรรยากาศรอบบ้านที่ดี เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่มาเติมเต็มคำว่าบ้านได้อย่างสมบูรณ์แบบ บางคนชอบบ้านที่เดินทางไปไหน มาไหนได้อย่างสะดวกสบาย บางคนชอบบ้านที่มีวิวภูเขาสูง บางคนก็ชอบบ้านที่มีความคล้ายคลึงกับบ้านของญาติผู้ใหญ่ ที่เลี้ยงดูมาเมื่อตอนเด็ก ๆ บ้านในสวน
My Little Home Vol.2 บ้านเล็กอยู่สบายในต่างจังหวัด
บรรยากาศรอบ ๆ บ้านจึงเป็นอีกเครื่องปรุงรสกลมกล่อมชั้นดี ที่จะทำให้บ้าน เป็นบ้านได้อย่างแท้จริง วันนี้ my home ได้รวบรวมเอาแบบ บ้านในสวน ที่มีบรรยากาศรอบบ้านคุ้นตา เป็นลักษณะบ้านที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน และนับว่าเป็นเสน่ห์ที่เข้มข้น ยากที่จะปฏิเสธความน่าอยู่ ที่สอดผสานไปด้วยวิถีชีวิตแบบเก่า ๆ ไว้อย่างเหนียวแน่น
1 . Surround me with everything I love บ้านในสวน ที่แวดล้อมด้วย (ของ) รัก

“ เคยคิดเล่น ๆ ว่าถ้ามีบ้านอยากจะอยู่ในสวนในซอยที่ไม่วุ่นวาย เคยไปดูตามหมู่บ้านจัดสรรก็ไม่ชอบ รู้สึกว่าไม่ค่อยเป็นส่วนตัว อีกอย่างงานที่ทําก็ต้องใช้เสียง บางทีก็เกรงใจคนอื่นเขาด้วย อย่างที่ตรงนี่เพื่อนรี่พามาดูชอบเลยแต่สภาพไม่เหมือนตอนนี้เลยนะ เป็นป่ารก ๆ สูง ๆ พอคืนนั้นกลับบ้านไปก็เริ่มร่างภาพนึกว่าแค่เขียนออกมาแล้วไปคุยกับช่าง ก็เริ่มสร้างได้ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะที่ตรงนี้เป็นของอาศรมศิลป์ซึ่งเขาจะมีสถาปนิกมาดูแลภาพรวมเพื่อไม่ให้บ้านเราดูโมเดิร์นจนเกินไป จึงเริ่มทํางานด้วยกันหาเรเฟอเรนซ์ให้ทางสถาปนิกดูว่า เราชอบแนวนี้นะประมาณนี้รวมแล้วระยะเวลาในการออกแบบแก้แบบขออนุญาตสร้างเกือบปี ” บ้านหลังเล็กของ คุณเชอรี่-วิภานี กาญจนาภิญโญกุล บนพื้นที่ 105 ตารางวา มีต้นไม้เรียงรายอยู่โดยรอบตัดกับตัวบ้านสีขาวสบายตา ประตู หน้าต่างไม้สีซีด ๆ จาง ๆทําให้องค์ประกอบของบ้านยิ่งดูน่าสนใจ


ชั้นล่างประกอบไปด้วยส่วนทํางาน มุมพักผ่อน มุมทีวี มุมครัว โดยทั้งหมดเป็นพื้นที่โล่งต่อเนื่องกัน แต่ใช้วิธีการเล่นระดับ และชั้นลอยเป็นตัวกําหนดขอบเขตประตู-หน้าต่างขนาดใหญ่ และเพดานสูงทําให้อากาศถ่ายเทสะดวก สิ่งที่โดดเด่นมากในบ้านหลังนี้คือ ประตู-หน้าต่างของเก่า ที่คุณเจมสะสมไว้แต่ละชิ้นทั้งสวยทั้งแปลกตา พอมีโอกาสสร้างบ้านของตัวเองประตู-หน้าต่างจึงกลายเป็นตัวบังคับสําคัญรวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้สวย ๆ อีกหลายชิ้น


ชั้นบนแบ่งเป็นห้องนอนขนาดไม่ใหญ่มาก แต่น่าสนใจตรงเพดานที่ลาดเอียงตามทรงหลังคาและใช้โทนสีม่วงทั้งห้อง คุณเจมลงมือทาสีเองให้ดูดิบ ๆ คล้ายบ้านดิน อีกด้านเป็นห้องน้ำที่มีอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ กรุกระเบื้องสีสดทั้งส้มและเขียว เป็นห้องที่สีจัดจ้าที่สุดของบ้าน ด้านในสุดเป็นห้องทํางานผ้าของคุณรี่ ห้องนี้ตกแต่งอย่างเรียบง่ายมีพื้นที่สําหรับจัดเก็บวัสดุต่าง ๆ เช่น ผ้า กระดุม ลูกปัด ไว้อย่างเป็นระเบียบพร้อมหยิบใช้งานได้ทันที ถึงบ้านนี้จะมีของกระจุกกระจิก ตกแต่งอยู่ทั่วทั้งบ้านแต่ทั้งคู่ต่างมีของรักของสะสมกันคนละอย่าง คุณรี่ชอบสะสมจักรเย็บผ้าหลังเล็ก ๆ ที่คุณรี่บอกว่า “ อย่าให้เห็นเป็นต้องซื้อ ” ส่วนคุณเจมสะสมเครื่องดนตรีที่มีเยอะจนเต็มตู้แต่ยืนยันว่า “ ยังใช้งานได้ทุกชิ้น ” อ่านต่อ…
Owner -design : คุณเชอรี่ – วิภานี กาญจนาภิญโญกุล และคุณเจม – ชัยบวร ศรีลูกหว้า
สถาปนิก : คุณปาสิตา ศรีสง่า สถาบันอาศรมศิลป์
ควบคุมก่อสร้าง : บริษัทบ้านนาช่าง จํากัด
story : jOhe
photo : ณัฐวุฒิ เพ็งคําภู , อุ้ม เชาวนปรีชา
style : บุญยวีร์ บุนนาค
2 . บ้านกลางทุ่งที่สร้างด้วยเงินเก็บสามแสนและน้ำพักน้ำแรงฉบับคนบ้านนอก

คุณในดวงตา ปทุมสูติ – คุณรุ่งโรจน์ ไกรบุตร เจ้าของบ้าน ตัดสินใจสร้างบ้านด้วยเงินเก็บทั้งหมดราว 3 แสนบาท แน่นอนว่าไม่ได้ตัวบ้านทั้งหมดที่เห็น แต่ได้เพียงค่าโครงสร้างคอนกรีตและหลังคาซึ่งต้องจ้างช่างมาทำ ส่วนที่เหลือสร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงและพลังใจที่ก่อเป็นความภาคภูมิในแบบฉบับของคนบ้านนอกสองคนนี้

2 ปีจากวันที่เริ่มต้น โครงสร้างบ้านเสร็จด้วยฝีมือช่างชาวบ้านที่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมเงินที่ค่อยๆ หมดลงจนเหลือไม่กี่พัน ต่อจากนั้นจึงมีแต่สองมือของ “ช่างรุ่ง” ที่ทำงานไม้ทั้งหมด คือ ผนัง ประตูหน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์บางส่วน
“ตอนนั้นมั่นใจว่าสร้างบ้านเองได้ โดยใช้ไม้สะเดา ไม้ประดู่ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินของเรา ทั้งยังมีไม้เก่าและประตูหน้าต่างเก่าที่ซื้อสะสมไว้ เราเดินทางบ่อยและตั้งใจว่าจะไม่เป็นหนี้ จึงใช้เวลาร่วม 2 ปี บ้านจึงเป็นรูปเป็นร่างที่ดูภายนอกเหมือนเสร็จแล้ว แต่ก็ค่อยๆ เติมแต่งและปรับไปตามการใช้งาน”

“ต้นธาร” คือชื่อบ้านชั้นเดียวหลังแรกที่คุณพ่อกับคุณแม่สร้างไว้ตั้งแต่ต้นไม้ที่ปลูกไว้ยังเป็นต้นกล้า และตกทอดเป็นมรดกของเจ้าของบ้าน จึงสร้างบ้านหลังใหม่ให้ต่อเชื่อมกับหลังเดิม โดยจุดเด่นของบ้านคือรอบบ้านใช้ประตูบานเฟี้ยมไม้เก่า สามารถเปิดโล่งกว้างและให้บรรยากาศแบบบ้านโบราณ หน้าต่างไม้เก่าและลูกกรงเหล็กที่ติดผ้าม่านพอสบายตา ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์วินเทจที่สะสมไว้ มีมุมดริปสำหรับคอกาแฟ มีชั้นลอยเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ใช้นั่งทำงาน เป็นที่เล่นของหลานๆ หรือกางมุ้งวางฟูกก็เป็นที่พักของมิตรสหาย รวมถึงยังมีวู้ดชอปใช้ทำงานช่างและเก็บไม้ โดยสร้างตามขนาดของนั่งร้านที่ซื้อมาสำหรับสร้างบ้าน พอสร้างเสร็จก็นำมาเป็นชั้นเก็บแผ่นไม้แทน อ่านต่อ…
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
ผู้ช่วยช่างภาพ : ธนวรรณ ฤาษีประสิทธิ์
สไตล์ : jeedwonder
3 . บ้านไม้หลังเล็ก บ้านในสวน กับความสุขที่ลงตัว


บ้านไม้สีขาวที่แวดล้อมไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ ล้อมรอบไปด้วยร่องสวนเก่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ความสงบท่ามกลางธรรมชาติแห่งนี้เสมือนเป็นอีกมิติของการใช้ชีวิตท่ามกลางละแวกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เปิดประตูบานเฟี้ยมกรอบไม้ เข้าไปชมบ้านไม้สีขาว ผลงานการเนรมิตบ้านสวนหลังเก่าให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างพอเหมาะพอดีของ คุณโอ๊บ – นวพล นวลแจ่ม และ คุณกุล – กุลวรางค์ ภักดี

“เดิมบ้านหลังนี้เก่าและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา มีทั้งปลวก ทั้งแมลงอยู่เต็มไปหมด เราจึงตกแต่งใหม่ แต่คงโครงสร้างหลักๆ ที่ยังใช้งานได้อยู่ อย่างพื้นและหลังคา แล้วปรับปรุงในส่วนที่เสียหาย เช่นผนังเดิมซึ่งเป็นไม้เสียหายเกือบทั้งหมด เราจึงทำการรื้อออกแล้วเปลี่ยนมากรุผนังด้วยแผ่นสมาร์ทบอร์ดลายไม้เซาะร่อง เลือกเป็นโทนสีขาว เพราะรู้สึกว่ามันตัดกับสีเขียวดี ดูแล้วสบายตา ใช้เวลาตกแต่งประมาณ 3 เดือนงบประมาณทั้งหมดไม่รวมเฟอร์นิเจอร์ 300,000 บาท โครงสร้างส่วนใหญ่จ้างช่าง ส่วนรายละเอียดต่างๆ ลงมือทำเอง ” ภายในตัวบ้านมีพื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตรออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่หลากหลาย หลีกเลี่ยงการกั้นห้องเพื่อเพิ่มพื้นที่การใช้งานและทำให้บ้านดูกว้างขึ้น

“การสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเอง คงเป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่ฝันโดยเฉพาะหากเป็นบ้านชั้นเดียวพื้นที่กว้างๆ และมีที่ดินรอบตัวบ้านให้ปลูกต้นไม้หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามใจ ยิ่งถ้าสามารถออกแบบบ้านได้ตรงความต้องการมากที่สุดก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะนั่นจะเป็นบ้านที่อบอุ่นจนแทบไม่อยากออกไปไหนเลยทีเดียว” บ้านหลังนี้เป็นอีกตัวอย่างที่เจ้าของลงมือและใส่ใจรายละเอียดต่าง ๆ ทำให้บ้านออกมาสมบูรณ์ “

นอกจากตัวบ้านแล้ว ยังมีส่วนที่แยกออกมา นั่นคือส่วนครัว ห้องน้ำ และชานพัก ซึ่งเป็นผังเดิมที่เจ้าของยังคงไว้ โดยออกแบบให้ตัวบ้านเชื่อมต่อกับส่วนครัว มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 6 ตารางเมตร เดิมเป็นผนังทึบเวลาจะเข้าไปต้องเดินออกไปทางชานบ้าน เจ้าของบ้านจึงเพิ่มความสะดวกด้วยการเว้นช่องทางเข้า-ออกและช่องรับ -ส่งอาหาร ภายในเป็นครัวไทยเปิดโล่ง ติดตั้งเคาน์เตอร์รูปตัวแอลที่ดัดแปลงมาจากไม้เก่า มีช่องหน้าต่างเพื่อเพิ่มการถ่ายเทอากาศและเพิ่มช่องแสงจากหลังคากระเบื้องลอนแบบใส ตกแต่งผนังด้วยการแขวนอุปกรณ์การทำอาหาร เพิ่มความน่ารักให้ห้องครัวได้ดี อ่านต่อ…
เจ้าของ – ออกแบบ : คุณโอ๊บ – นวพล นวลแจ่ม,คุณกุล-กุลวรางค์ ภักดี
เรื่อง : นภสร ศรีทอง
ช่างภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคําภู, อุ้ม เชาวนปรีชา
สไตล์ : ศศิพรรณศิริพร
4 . The Happy Home บ้านไม้สองชั้น บ้านในสวน และวิถีแบบไทย ๆ

บ้านไม้สองชั้นกลางสวนผลไม้หลังนี้ คุณน้ำผึ้ง – อลิศา ตั้ง บรรณาธิการข่าว มูลนิธิรอยเตอร์ผู้ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาเกือบตลอดชีวิตและสามี คุณลองดรีย์ ดูนองด์ นักออกแบบกราฟิกชาวฝรั่งเศส ที่ตัดสินใจกลับมาสู่วิถีเรียบง่ายแบบไทยบ้านอย่างเก่า เมื่อความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บรรยากาศของสวนผลไม้ เริ่มทำงาน หว่านยาเสน่ห์มัดใจทั้งคู่ให้หลงรักที่นี่ได้แบบไม่ยากเย็น

ระหว่างปลูกบ้าน คุณลองดรีย์เข้ามาดูการก่อสร้างทุกวัน และยังทำเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นเองด้วย “เราซื้อที่ดินต่อจากเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านก็เป็นช่างไม้ เขาช่วยเราสร้างบ้านด้วยตอนออกแบบก็ลองทำโมเดลบ้านก่อน นอกจากนี้ยังมีเพื่อนซึ่งเป็นสถาปนิก (คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ จากบริษัท Site-Specific) เป็นที่ปรึกษาให้ด้วย เพื่อนบ้านอยู่ในพื้นที่มาก่อนก็จะรู้ว่าลมมาทางไหน ฝนมาทางทิศไหน ทั้งสองคนนี้ให้ไอเดียและคำแนะนำได้อย่างดี”
“เริ่มต้นจากเราไปหาเพื่อนที่เวียดนาม เขาสะสมพัดลมโบราณ ก็เลยซื้อมาด้วย เป็นสไตล์ Dutch Antique พอจะออกแบบบ้าน เราก็อยากให้พัดลมตัวนี้เป็นมาสเตอร์พีซของบ้าน จึงกำหนดให้พื้นที่ภายในเป็น open space ไร้ผนังกั้น แม้จะไม่ใหญ่ แต่ก็โล่ง ไม่คับแคบ ช่วยให้ระบายอากาศได้ดีและอยู่สบายขึ้นด้วย”

“ ด้านหลังบ้านเป็นคลอง บริเวณรอบๆ ก็มีท้องร่อง เพื่อนบ้านแถวนี้ก็ดี หากมีมะม่วงมีกล้วยก็นำมาแบ่งปันกัน ในบ้านเรามีต้นไม้ที่เพื่อนบ้านปลูกไว้ก่อนแล้วคือมะพร้าวและกล้วยน้ำว้า เพราะเขาทำขนมต้มขาย ส่วนที่เรามาปลูกเพิ่มคือมะขาม มะกรูด กล้วยหอม และมะม่วง ” อ่านต่อ…
เรื่องโดย : อัจฉรา จีนคร้าม
ภาพโดย : อภิรักษ์ สุขสัย, ปรัชญา จันทร์คง
5 . บ้านไม้หลังเล็ก ความสุขไซส์บิ๊กท่ามกลางสวนยางในจังหวัดขอนแก่น

ระยะทางจากตัวเมืองขอนแก่นเพียงชั่วโมงกว่า ๆ บรรยากาศโดยรอบก็เปลี่ยนจากวิวเมือง กลายเป็นต้นไม้ เราต่างถูกธรรมชาติล้อมไว้ จนต้องยกมือยอมแพ้ ภายใต้อ้อมกอดที่อบอุ่นของสวนยาง มีบ้านไม้หลักเล็กแบบท้องถิ่นทำด้วยโครงสร้างไม้ขนาด 100 กว่าตารางเมตรของครอบครัวเฮงรัศมีตั้งอยู่ บ้านที่ดูจากไกล ๆ จะเห็นเป็นบ้านยกพื้นสูงธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วเป็นบ้านสองชั้นหลังคาทรงหน้าจั่ว (gable roof) ผลงานการอออกแบบและเขียนแบบด้วยตัวเองของ คุณพ่อ-ธิติ เฮงรัศมี คณบดีคนแรกของคณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

แบบบ้านหลังนี้คุณพ่อลงมือออกแบบและเขียนแบบด้วยตัวเองเรียกว่าลงรายละเอียดถี่ยิบทุกส่วน เล่นเอาเราอึ้งกับแบบเขียนมือที่คุณพ่อหยิบออกมากางให้เราดู ลายเส้นสวย ๆ ลงดีเทล ทั้งรูปแปลน รูปด้าน รูปตัด แบบขยาย ไปถึงดีเทลการเข้าไม้ ก็มีให้ครบทุกส่วน โต๊ะกินข้าวรูปทรงแปลกตา ให้ช่างประกอบขึ้นจากเศษไม้ที่เหลือจากการสร้างบ้านต่อเนื่องกับมุมครัวเล็ก ๆ ภายในบ้าน

“ บ้านนี้สร้างตอนเกษียณแล้ว เน้นเอกลักษณ์ท้องถิ่นทำด้วยโครงสร้างไม้ อยู่ได้ในสภาพอากาศไทย ๆ รับแบบให้เหมาะสมกับการตั้งอยู่ที่นี่ มีเขื่อนรอบที่เกิดขึ้นจากคลองขุด ทำให้บริเวณนี้เป็นเนินสูงขึ้น ใช้เวลาสร้างปีกว่า ทำไปเรื่อย ๆ ถ้ามองจากด้านหน้าจะเห็นเป็นบ้านยกพื้นสูงธรรมดา แต่จริงๆ แล้วเป็นบ้านสองชั้นหลังคาทรงหน้าจั่ว (gable roof) แต่ยกหลังคาซ้อนขึ้นไปอีกชั้น (dormer) ทำให้สามารถระบายอากาศร้อนที่ยกตัวสูงออกทางด้านบนและรับแสงสว่างเข้ามาในช่วงกลางวัน ”

“ ที่นี่สงบดีนะ กลางคืนไม่มีเสียงอะไรเลย เงียบกริบ ทุ่มสองทุ่มก็มืดสนิทละ ตกดึกก็จะเริ่มเห็นแสงไฟแวบ ๆจากหมวกคนงานที่ออกมากรีดยางถ้ามีดาวตกนี่มองเห็นหมดเลย เสียงหมาเห่า เสียงไก่ขันจากบ้านไกล ๆออกไปนอนดูหนังกันกลางบ้าน ลืมเวลาไปจนเช้า ”
เจ้าของ : ครอบครัวเฮงรัศมี
ออกแบบ : คุณธิติ เฮงรัศมี
เรื่อง : jOhe
ภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู , อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์ : เกษม์จงกล พูลล้น
6 . นิทานคำกลอน ๒ บ้านในสวน ท่ามกลางธรรมชาติและวิถีชีวิตริมคลอง

นิทานคำกลอน ๒ เป็นที่พักตั้งอยู่ใจกลางตลาดน้ำ ท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม รายล้อมด้วยลำคลองและบรรยากาศสวนมะพร้าวเป็นธรรมชาติ เงียบสงบและมีสไตล์ด้วยเสน่ห์ของเรือนไทยร่วมสมัยผสมผสานการออกแบบอย่างลงตัว ภายในโครงการมีพื้นที่ทั้งหมด 4 ไร่ ติดกับตลาดน้ำท่าคา ซึ่งเป็นตลาดน้ำโบราณที่ยังคงมีกลิ่นอายความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม เป็นตลาดน้ำต่อเนื่องที่ยังคงความบริสุทธิ์อยู่ เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นสวนมะพร้าวซึ่งเป็นวิถีชีวิตเก่าแก่ของชาวบ้านที่ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน

“ ผมเป็นคนจังหวัดสมุทรสาคร แต่ผันตัวเองมาอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงครามอยู่มาหลายปี หลงเสน่ห์ในวิถีชีวิตที่ยังคงความเป็นไทยอยู่ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปเรามักจะเห็นบ้านเรือนไทยถูกรื้อทิ้ง เพราะลักษณะของบ้านทรงไทยเป็นบ้านไม้ยกสูง คนเก่าๆ ที่อาศัยอยู่พอแก่ตัวลงก็ขึ้นบันไดไม่ไหวลูกหลานจึงปรับปรุงบ้านใหม่และบ้านเก่าที่ถูกรื้อก็กลายเป็นเศษไม้ที่เรามักจะเห็นวางขายอยู่ตามบางแพหรือบางโพ “

ลักษณะบ้านเป็นบ้านสองชั้นที่ออกแบบในรูปแบบบ้านไทยประยุกต์โดยนำบ้านเก่าอายุเกือบร้อยปีมาผสมกับบ้านยุคกลางและใหม่ปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อรองรับแขกผู้เยือนโดยมีแนวคิดมาจากบุคลิกของเจ้าของ “ ซับซ้อนอยู่ภายนอก แต่คลี่คลายอยู่ภายใน” สถาปนิกจึงออกแบบให้แต่ละห้องมีบุคลิกที่แตกต่างกัน ผสมศิลปะเข้ากับความเป็นอยู่อย่างกลมกลืน และภายในโครงการยังคงอนุรักษ์ความสมบูรณ์ทางธรรมชาติไว้อย่างชัดเจน

ด้วยฝีมืออันประณีตและงดงามของการออกแบบบ้านเรือนไทย แสดงถึงโครงสร้างของสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ โดยสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สามารถใช้ได้จริงกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ที่ยังชื่นชอบและหลงในมนตร์เสน่ห์เรือนไทยจึงกลายเป็นวิถีไทยที่ร่วมสมัยลงตัวกับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน อ่านต่อ…
เจ้าของ : คุณใช้ ศุภเศรษฐอนันต์
ออกแบบ : คุณชวลิต เอี่ยมศิริ
เรื่อง : นภสร ศรีทอง
ช่างภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู, อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
7 . Noo Jo Art and Farm : บ้านโรงนาท่ามกลางธรรมชาติ

“ผมไม่มีหลักการหรือทฤษฎีอะไรมากมาย นอกจากความตั้งใจว่าชีวิตหนึ่ง จะกลับคืนสู่ชนบทและธรรมชาติ ซึ่งอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ตั้งใจจะทำและอยู่กับสิ่งที่ทำไปเรื่อย ๆ ” บ้านโรงนาบนพื้นที่อดีตท้องนา ก่อนแปลเปลี่ยนมาเป็นบ่อปลาสลิด ก่อนที่ คุณหนู – ภัทรพร อภิชิตและคุณโจ – วีรวุฒิ กังวานนวกุล จะตัดสินใจกลับมาเริ่มต้นกับธรรมชาติ พร้อมกับลงมือลงแรงสร้างโรงนาเล็ก ๆ ให้กลายเป็นบ้าน เป็นพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่สำหรับทำงานศิลปะ ทำเกษตร ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย

“เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นท้องนาไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาก็กลายเป็นฟาร์มปลาสลิด ซึ่งตอนเรามาเจอพื้นที่ตรงนี้เต็มไปด้วยต้นไม้และบ่อน้ำเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ จึงวางแผนที่จะทำอาคารแกลเลอรี่บนน้ำ แต่ด้วยโครงสร้างที่ต้องใช้งบประมาณมาก เลยหันมาทำบนพื้นดินแทน ทำให้ได้โครงสร้างที่ใหญ่และแข็งแรงในงบประมาณซึ่งไม่สูงจนเกินไป แถมยังรองรับการใช้งานได้มากขึ้น”
“ความตั้งใจแรกคือการสร้างที่นี่ให้เป็นแกลเลอรี่อย่างเดียวแต่ทุกอย่างในชีวิตเรามันมีหลายมิติ แล้วเราก็ต้องทำทุกอย่างไปพร้อมๆกัน จึงสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ที่หลากหลาย ทั้งทำเกษตร ทำอาหาร ที่พัก แต่คงไว้ซึ่งความเรียบง่าย การได้กลับมาอยู่กับธรรมชาติเป็นความคิดที่ผมมีมาตั้งแต่สมัยเรียน เพราะทั้งชีวิตคือการเดินทางและทำงานศิลปะ ต้องการพื้นที่ให้ผมได้ทำงานที่ตัวเองรัก ทำงานที่ตัวเองเชื่อ ตั้งใจจะใช้ชีวิตแบบนั้น เพราะคิดว่ามันใช่สำหรับเรา ”

ตัวอาคารอเนกประสงค์เป็นอาคารโครงสร้างเหล็ก มีรูปแบบเหมือนกับโรงนาสมัยก่อน มีประตูหน้าต่างขนาดใหญ่ บวกกับมีหลังคาสูงโปร่ง ทำให้มีลมพัดผ่านตลอดทั้งวัน ภายในมีพื้นที่กว้างขวางสามารถองรับได้หลายกิจกรรมทั้งเป็นมุมทำงานศิลปะ ร้านขายของทำมือ และเป็นแกลเลอรี่สำหรับจัดแสดงผลงานของเจ้าของอีกด้วย

“ ปกติพี่ไม่ค่อยได้ทำอาหารเลย ก่อนหน้านี้ก็ใช้ชีวิตปกติอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่พอใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติก็ไม่เป็นเหมือนคนเมืองทั่วไปมาอยู่ที่นี่หลายอย่างต้องทำด้วยตัวเอง เพราะที่นี่ไม่มีอะไรพร้อม ถ้าเราอยากได้ อยากกินอะไร เราก็ต้องหา ต้องทำเอาเอง เราจึงได้พบว่าทุกวันเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หมดทุกอย่างแล้วเราก็เลยอยู่ได้เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ปรับตัวได้กับทุกสถานที่แม้แต่สัตว์ พืช ก็ยังปรับตัวได้ แต่ติดที่ความกลัวและทัศนคติที่มันครอบคลุมเราไว้ ” อ่านต่อ…
8 . บ้านชั้นเดียวโอบกอดด้วยสวนเขียว

ครูปิ๋ม-คุณศิริลักษณ์ ริ้วบำรุง และสามี ครูตู่-คุณยุทธนา เรืองลอยขำ เปิดบ้านริมแม่น้ำท่าจีน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นโรงเรียนสอนภาษาและศิลปะเด็ก ด้วยความตั้งใจที่จะให้เด็กๆได้เรียนรู้และเติบโตท่ามกลางธรรมชาติ คุณปิ๋มจึงมาสร้างบ้านอีกหลังไม่ไกลจากบ้านเดิมนัก โดยให้บ้านหลังนี้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุดเป็น แบบบ้านไม้ชั้นเดียว ทั้งความตั้งใจที่จะใช้พลังงานภายในบ้านแต่น้อย ไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ ไม่มีโทรทัศน์ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น นำน้ำจากบ่อขุดข้างบ้านมาใช้ ตลอดจนใช้เตาฟืนทำกับข้าว ซึ่งสิ่งต่าง ๆเหล่านี้ก็สอดแทรกให้ลูกๆทั้งสองคนได้เรียนรู้และเติบโตแบบพึ่งตนเองได้

แบบบ้านชั้นเดียว ขนาดกะทัดรัดสไตล์กึ่งนิวอิงแลนด์และคันทรีท่ามกลางบรรยากาศสวนสวยหลังนี้เกิดจากความชอบอาศัยอยู่ในบ้านไม้ของคุณปิ๋ม โดยมีน้องชายคือ คุณศิริวิทย์ ริ้วบำรุง นักจัดสวนที่หลายคนรู้จักกันดีเป็นผู้ออกแบบทั้งบ้านและสวนให้พร้อมกัน ไอเดียหลายอย่างจึงเกิดจากการหารือร่วมกันของทั้งสองท่าน ด้านหนึ่งของบ้านทำทางลงไปยังบ่อน้ำ มีไม้ดอกสีสวยหลายชนิดขึ้นแทรกกันสองข้างทางที่เดินลงไปยังท่าน้ำอย่างเป็นธรรมชาติ เราเดินตามเสียงหัวเราะอันแสนร่าเริงของเด็ก ๆจนกระทั่งพบน้องปั้น น้องบุญ และเพื่อน ๆกำลังเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางกอบัวที่ปลูกตั้งแต่ขุดบ่อใหม่ ๆและได้เก็บสายบัวมาประกอบอาหารอยู่เสมอ เช้าๆบึงนี้จะเต็มไปด้วยดอกบัวสีชมพูบานสล้างสะพรั่งเต็มบ่อ

“พี่ปิ๋มชอบบ้านไม้ที่มีระเบียง แล้วก็ชอบดอกไม้ เลยวางสวนให้เป็นไม้ดอกโทนสีเบาๆออกพาสเทล มีหงอนไก่ไทยและดาวกระจายที่หว่าน ๆให้ขึ้นเองไว้อยู่แล้ว และค่อยปลูกอย่างอื่นเสริมเอา มีกุหลาบบ้างพุดบ้าง ไม้พุ่มและไม้ดอกอื่น ๆ มีมาการ์เร็ต หญ้าถอดปล้อง หญ้าน้ำพุ เดซี่ ดูฟุ้ง ๆ เวลาต้องลมเกิดความเคลื่อนไหว ให้บรรยากาศแบบทุ่งหญ้าในชนบท โดยวางทางเดินเป็นแพตเทิร์นให้ใช้งานสะดวกและดูไม่รก บ้านหลังนี้คิดไปทำไป ไม่ได้กำหนดสไตล์ชัดๆว่าต้องเป็นบ้านแบบไหน จึงมีทั้งกลิ่นอายแบบนิวอิงแลนด์นิด ๆ ผสมผสานกับข้อดีของบ้านไทย ทำให้บ้านอยู่สบาย” อ่านต่อ…
เรื่อง : วรัปศร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
9 . บ้านไม้หลังเล็ก อวลกลิ่นความรัก และบรรยากาศของความอบอุ่น

บ้านพักสไตล์ไทยโมเดิร์นบนพื้นที่แสนสงบ รายล้อมไปด้วยต้นไม้ และแม่น้ำ ของคุณบีม – ชัยภัทร์ ปิยะดำรง อดีตข้าราชการ ที่ตัดสินใจออกจากกรุงเทพฯกลับมาปลูกบ้านบนที่ดินแห่งความทรงจำอายุร่วมร้อยปีของครอบครัว บ้านไม้ทรงเป็นมิตรกับ เฟอร์นิเจอร์สไตล์ Mid-century Modern ที่โชยกลิ่นอายของความร่วมสมัยย้อนยุคนิด ๆ พอให้เป็นรายละเอียดที่น่าสนใจ
“ เดิมเป็นพื้นที่โล่ง อยู่ติดกับบ้านเก่าของคุณปู่คุณย่า ที่มาลงหลักปักฐานอยู่ตรงนี้นานนับร้อยปี โดยใช้พื้นที่ตรงนี้ทำการเพาะปลูกไม้ผล กทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำขนาดใหญ่ และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯไปไหนมาไหนก็สะดวก เมื่อก่อนทำร้านอาหาร นอนกลางวันตื่นกลางคืน พอไม่ได้ทำแล้วก็รู้สึกไม่ค่อยคุ้นชินกับการอยู่แบบแออัด จึงตัดสินใจขายบ้านที่กรุงเทพฯ แล้วย้ายมาปลูกบ้านติดกับบ้านคุณพ่อคุณแม่แทน “

โครงสร้างหลักเป็นอาคารไม้รูปแบบไทยโมเดิร์น ออกแบบให้พื้นใต้ถุนสูงแบบบ้านไทยในสมัยก่อน มีลมพัดผ่านตลอดเวลา ภายในบ้านมีการจัดพื้นที่การใช้งานเป็นแนวยาวเริ่มจากมุมรับแขก มุมรับประทานอาหาร และแพนทรี่สำหรับเตรียมอาหาร จัดวางด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งหลากสีหลากดีไซน์ในสไตล์ Mid-century Modern ได้กลิ่นอายของความร่วมสมัยย้อนยุค

“ หลังจากกลับมาอยู่ที่นี่ทุกๆ วันของผมมีความสุขตื่นเช้ามาพบกับธรรมชาติ ได้สูดอากาศดี ๆ ได้อยู่กับคนที่เรารัก ได้ชิมอาหารฝีมือของคุณแม่ ซึ่งจะเป็นอาหารที่คัดแต่วัตถุดิบดี ปลอดภัย ได้นั่งเล่น พูดคุยจนถึงช่วงเวลาโพล้เพล้แล้วหลับตาไปพร้อมๆ กัน ความสุขเหล่านี้มันเกิดขึ้นทุกวัน จนทำให้เรารู้สึกไม่อยากไปอยู่ที่ไหนอีกเลย ”

ฟังก์ชันของชานบ้านที่กว้างขวาง พร้อมกับหลังคาทรงแหงนสไตล์โมเดิร์นทำให้รูปทรงของบ้านดูแปลกตาและน่าสนใจ บ้านหลังนี้ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง พื้น ผนัง รวมไปถึงประตูหน้าต่าง “ ตอนเด็กผมเติบโตมากับบ้านไม้ เพราะบ้านไม้เป็นบ้านที่อยู่แล้วรู้สึกสบาย ส่วนการตกแต่งบางส่วนจะถูกกำหนดจากของที่มีอยู่ ” อ่านต่อ…
Owner – Design : คุณบีม – ชัยภัทร์ ปิยะดำรง
Story : นภสร ศรีทอง
Photo : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, ศุภวรรณ สอาด
Style : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
10 . บ้านริมคลองกับความสุขที่รายล้อมด้วยนิเวศสุดสุนทรี

บ้านริมคลอง มหาสวัสดิ์ของ อาจารย์วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร บ้านหลังที่เขาเรียกว่า “ กระท่อมเล็ก ๆ ” แต่อุดมไปด้วยนิเวศสุนทร “ ผมอยู่กับวัฒนธรรมข้าวที่ปลูกข้าว ปลูกผักกินเองใน บ้านริมคลอง หลังเล็ก ๆ อยู่กับแสงและลมธรรมชาติ มีความช่วยเหลือเกื้อกูลจากชาวบ้าน นี่คือความสุนทรีของวิถีชีวิตไทย ” จากความทรงจำเมื่อครั้งยังเด็กที่แม้จะไม่ใช่ลูกชาวนา แต่ก็คุ้นเคยอยู่กับเพื่อน ๆ ครอบครัวชาวนามาตลอด ทำให้เด็กชายคนหนึ่งได้ใช้ชีวิตได้วิ่งเล่นอยู่ตามคันนา ไล่จับปลา กระทั่งตักน้ำในทุ่งนากิน ตามวิถีชนบทที่แสนเรียบง่ายและธรรมดา จนรู้สึกผูกพันและรักในผืนนาเหล่านี้ แม้เมื่อเติบโตและได้เข้ามาเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาก็ได้นำเรื่องราวธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ฝังอยู่ในใจมาบอกเล่าผ่านงานศิลปะมาโดยตลอด

“ บังเอิญชาวบ้านที่ผมเช่าที่นาของเขาเพื่อทำงานวิจัยพาเข้ามาเดินดูชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ ก็มาเจอกับบ้านกึ่งโกดังหลังนี้ที่ปิดร้างไว้ ผมเห็นว่าทำเลดี มีน้ำ มีทุ่งกว้างของวัดอยู่ใกล้รถไฟที่ผมรัก พอดีเจ้าของขายสิทธิ์ให้ ผมเลยลงมือปรับปรุงบ้านใหม่ ทาสี ปะรอยร้าวอุดรอยรั่ว โดยมีชาวบ้านชาวนามาช่วยด้วย ส่วนพื้นที่ด้านข้างก็ทำนาปลูกข้าว ทำให้ที่นี่เป็นสตูดิโอศิลปะที่มีนาบ้านอยู่ข้าง ๆ บนพื้นที่แค่แปลงเล็ก ๆ แต่ก็สามารถปลูกข้าวเพื่อกินกันในครัวเรือนได้ ที่มากกว่านั้นคือเรื่องสุนทรียภาพที่ได้จาก กำแพงสีเขียวของต้นข้าวเต็มผืนนา ตามมาด้วยสุขภาพที่ดีจากอาหารที่ผลิตเองในแบบ Slow Food ”


ตัวบ้านเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนที่ยกเพดานไว้สูงพอประมาณ พร้อมช่องหน้าต่าง ช่องลม และช่องแสงจากบล็อกแก้วไว้อยู่แล้ว อาจารย์วิจิตร จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลักนอกเหนือไปจาก ทาสีผนังใหม่ แล้วนำเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีจากบ้านเดิม เข้ามาจัดวางเพื่อใช้งานและกำหนดพื้นที่ใช้งานภายใน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตูดิโอทำงานศิลปะ ทั้งมุมจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และศิลปะสื่อผสม พอดีกับที่ภายในมีการยกสเต็ปของพื้นที่ไว้สองระดับ อาจารย์วิจิตรจึงใช้พื้นที่ยกสูงนี้เป็นเหมือนเวทีเล็ก ๆ แขวนฉากผ้าใบที่ตอนนี้เป็นภาพของทุ่งนาเขียวขจี ซึ่งเพิ่งใช้เป็นฉากหลังของการเสวนาเล่าเรื่องงานวิจัยนานิเวศสุนทรีให้กลุ่มผู้สนใจฟัง อ่านต่อ…