น้ำแอร์หยด เป็นอีกปัญหากวนใจของใครหลายคน วันดีคืนดีอาจหยดลงมาเลอะเทอะไปทั่ว ถ้าแย่หน่อยโดยเฉพาะแอร์ที่ติดตั้งอยู่เหนือโต๊ะ ตู้ เตียง ชั้นวาง หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง เครื่องเสียง และทีวี งานนี้อาจมีไฟช็อต! ได้เลยทีเดียว
วันนี้ บ้านและสวน จึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาทำความเข้าใจปัญหา น้ำแอร์หยด ถึงที่มา และแนวทางแก้ไขป้องกันไปด้วยกัน

อาการและแนวทางจัดการ
น้ำแอร์หยด มีที่มาจากหลายสาเหตุ ซึ่งเราจะไล่ไปตามความยาก-ง่ายของวิธีแก้ไข ตามอาการที่เกิดขึ้น เพื่อผู้อ่านจะได้ค่อย ๆ ไล่ดูปัญหาไปทีละจุด ๆ กันครับ
อาการที่ 1 “มีหยดน้ำเกาะข้างเครื่อง”
- สาเหตุ : เกิดจากการติดตั้งถาดน้ำทิ้งไม่เรียบร้อย
- ทางแก้ : ถอดและติดตั้งใหม่ให้เรียบร้อย

อาการที่ 2 “มีน้ำเอ่อล้นออกมาด้านหน้าและด้านข้างของช่องลมออก”
- สาเหตุ : เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำทิ้ง หรือถาดน้ำทิ้งที่ติดขัด
- ทางแก้ : ทำการถอดถาดน้ำออกมาล้าง และใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงล้างในท่อน้ำทิ้งให้โล่งสะอาดเสีย


อาการที่ 3 “มีหยดน้ำเกาะตามท่อแอร์”
- สาเหตุ : เกิดจากท่อแอร์หุ้มฉนวนไม่ดี หรืออาจหุ้มบางเกินไป
- ทางแก้ : เพิ่มความหนาของฉนวนท่อแอร์ หรืออาจหุ้มใหม่ให้เรียบร้อย
อาการที่ 4 “มีหยดน้ำเกาะตามที่ครอบแอร์”
- สาเหตุ : เกิดจากตำแหน่งของการติดตั้งแอร์ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่มีไอร้อนผ่าน หรืออยู่ใกล้ประตู จึงทำให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำ(คล้ายหยดน้ำบนแก้วน้ำเย็น)
- ทางแก้ : ย้ายตำแหน่งการติดตั้งแอร์ให้ห่างจากแหล่งความร้อน หรือประตู
เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามไม่ใช่เพียงจัดการตามอาการดังที่กล่าวไปข้างต้นเท่านั้น เราควรจัดการกับคราบสกปรกต่าง ๆ ด้วย เช่น ถาดกรองน้ำที่มักเกิดตะไคร่น้ำ จนเข้าไปอุดตันในระบบท่อน้ำทิ้ง รวมทั้งตัวฟินและแผ่นกรองอากาศที่มีสิ่งสกปรกอุดตัน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดหยดน้ำได้เช่นกัน ซึ่งเกิดจากประสิทธิภาพที่ลดลงของการไหลเวียนอากาศ แต่หากดูแล้วยากเกินกว่าจะจัดการได้เอง ก็ขอให้ตามช่างผู้ชำนาญมาช่วยดูก็เป็นทางออกที่ดีกว่าครับ

ติดตั้งแอร์อย่างไร ปัญหาน้อยใช้งานได้ยาว ๆ
ทิศทางการติดตั้งแอร์ ควรดูเรื่องของทิศทางการวางที่นอนประกอบกันด้วย เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อเรื่องสุขภาพของเรา การกระจายความเย็นที่ทั่วถึง รวมถึงความสะดวกในการซ่อมบำรุง
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- ตำแหน่งเบอร์ 3 ติดตั้งแอร์เหนือหัวเตียง นอกจากจะทำให้ลมเย็นที่ออกมาตกลงที่ตัวคุณตรง ๆ จนทำให้ไม่สบายได้แล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์น้ำแอร์หยดลงมาก็จะตกลงที่ศีรษะคุณเต็ม ๆ นอกจากนั้นเมื่อต้องซ่อมบำรุงก็อาจทำให้คุณลำบาก ต้องรื้อฟูก และย้ายเตียงเป็นเรื่องวุ่นวายไปหมดได้
- ตำแหน่งเบอร์ 5 ติดตั้งแอร์ที่ปลายเตียง ข้อห้ามนี้ก็เป็นอีกปัญหา เช่นเดียวกับการติดตั้งแอร์เหนือหัวเตียง เพราะทิศทางของลมเย็นและความชื้นจะปะทะกับตัวเราพอดี และหากเราติดตั้งทีวีไว้ปลายเตียง ก็เชื่อได้เลยว่าทีวีของคุณจะต้องเปียก หรือเกิดไฟช็อตแน่นอน
- ตำแหน่งเบอร์ 4 หลีกเลี่ยงติดตั้งแอร์ตรงตำแหน่งเหนือประตู เพราะความเย็นจะไหลออกไปนอกห้องได้ง่าย อีกทั้งการเปิด- ปิดประตูบ่อย ๆ ยังทำให้อุณหภูมิไม่คงที่ เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก กินไฟ และเกิดน้ำแอร์หยดได้
- ตำแหน่งเบอร์ 2ไม่ควรวางเตียงใกล้กับระเบียง หรือหน้าต่างที่วางคอนเดนซิ่งยูนิต (CDU) หรือที่เรามักเรียกกันว่า คอมเพรสเซอร์แอร์ เครื่องที่ทำหน้าที่ระบายความร้อน ซึ่งมักนิยมติดตั้งให้อยู่นอกอาคาร เพื่อป้องกันเสียงพัดลมภายในเครื่องที่อาจส่งเสียงดังรบกวนการนอนของเราได้
สิ่งที่ควรทำ
- ตำแหน่งเบอร์ 1 ติดตั้งเครื่องปรับอากาศตรงทิศทางด้านข้างของเตียง โดยขยับเยื้องไปทางปลายเตียงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้แอร์ตกลงมาที่ตัวเราโดยตรง
เรื่อง วุฒิกร สุทธิอาภา