คนรักงานตกแต่งบ้าน ไม่มีใครไม่รู้จัก Habitat แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ในดวงใจของหลายคน ด้วยจุดเด่นของงานดีไซน์ที่เรียบง่าย แต่มีลูกเล่นทั้งเรื่องสีสันและรูปทรง ช่วยเติมความอบอุ่นให้บ้าน เป็นบ้านที่สมบูรณ์แบบ เหมือนกับชื่อแบรนด์ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1964 จากฝีมือของเซอร์ เทอเรนซ์ คอนราน ( Sir Terence Conran ) ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ

ชื่อเต็มของเขาคือ Terence Orby Conran เกิดที่เมือง Surrey ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ปี ค.ศ.1931 ในครอบครัวนักธุรกิจนำเข้ายางใน East London ชีวิตวัยเด็กเขาเป็นเด็กชายที่ชอบเก็บสะสมของที่เห็นแล้วสะดุดตาน่าสนใจ ซึ่งจุดเริ่มต้นของงานอดิเรกนี้มาจากการไล่จับผีเสื้อที่มีลวดลายสีสันแปลกตา อันมีส่วนช่วยจุดประกายสายตาที่เฉียบแหลมและรสนิยมที่ดีในงานศิลปะด้วยส่วนหนึ่ง
หากแต่ในวัย 13 ปี เขาได้ประสบอุบัติเหตุเศษเหล็กจากเครื่องกลึงโลหะกระเด็นใส่หน้า จนทำให้ต้องสูญเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความรักในงานออกแบบและศิลปะลดลงเลย โดยระหว่างเรียนหนังสือเขาได้ทำงานฝีมือจำพวกงานไม้และงานโลหะไปพร้อมกัน จากพรสวรรค์บวกกับฝีมือนั่นทำให้เขาได้รับคำชื่นชมมากมาย สร้างกำลังใจให้เขามุ่งหน้าสู่การเรียนสาขาดีไซน์อย่างที่ชื่นชอบ ในระดับอุดมศึกษาที่ Central School of Art and Design (ซึ่งปัจจุบันคือ Central Saint Martins University of Arts) ในสาขาการออกแบบสิ่งทอ


แต่เขาเรียนไปได้แค่ปีครึ่ง ช่วงปี ค.ศ.1950 เขาก็ลาออกไปช่วยงานสถาปนิกในการทำงานโครงสร้างให้กับ 1951 Festival of Britain และหลังจากนั้นอีกปีหนึ่ง (ค.ศ.1952) เขาได้เปิดเวิร์กชอปทำเฟอร์นิเจอร์ในชื่อ Conran and Company ละแวก Notting Hill จนสร้างชื่อให้เขาได้ไปทำงานออกแบบภายในให้กับร้านค้า รวมจนถึงการเปิดร้านอาหารและร้านกาแฟในปีถัด ๆ มา แต่ก็ยังไม่ทิ้งงานดีไซน์ ด้วยการตั้งบริษัท Conran Design Group รับทำงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และอินทีเรียร์สำหรับร้านค้าแบบเต็มตัว
เพราะเป็นคนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ประกอบกับเซนส์ที่ดีในด้านการดีไซน์และตกแต่ง นั่นทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ถึงชีวิตทำงานจะรุ่งสุด ๆ แต่ชีวิตคู่กลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม เขาได้แต่งงานและหย่าถึง 2 ครั้ง จนกระทั่งได้พบคู่ชีวิตคนที่ 3 ทั้งคู่ได้ร่วมกันก่อตั้งแบรนด์ Habitat ขึ้น จากการเล็งเห็นร้านค้าที่นำเฟอร์นิเจอร์ของเขาไปขายต่อ แต่มีการออกแบบดิสเพลย์ได้ไม่ดีนัก Habitat สาขาแรก จึงได้รับการก่อตั้งขึ้น ณ ถนน Fulham ในกรุงลอนดอน เพื่อให้เป็นโชว์รูมรวบรวมสินค้าภายใต้แบรนด์ Habitat พร้อมการออกแบบตกแต่งโชว์รูมอย่างสวยงาม


นวัตกรรมที่เป็นที่ฮือฮาในตอนนั้น คือ Flat-Packaging หรือกล่องแบน ๆ ภายในบรรจุชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์สำหรับนำไปประกอบเองที่บ้านได้ นั่นทำให้ราคาเฟอร์นิเจอร์ของเทอเรนซ์ คอนราน ถูกลง ลูกค้าซื้อกลับบ้านได้ง่าย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องของผู้คนในยุคนั้น(ซึ่งตรงกับยุค Bauhaus) เป็นอย่างมาก แต่ที่มีอิทธิพลมากกว่านั้นคือ ได้มีการผนวกเรื่องดีไซน์และความงามไว้ด้วยกันเป็นที่โดนใจเหล่าวัยรุ่นและคนชนชั้นกลางทั่วไปจนนำมาสู่การขยายสาขาไปยังสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1970
เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ Habitat ก็คือความป็อปด้วยสีสันและรูปทรง การคิดโครงสร้างในแบบโมดูลาร์ ทำให้ถูกใจชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้คนยุคนั้นถึงขั้นบอกว่า เฟอร์นิเจอร์ของเทอเรนซ์ คอนรานเป็นหนึ่งในพลวัตที่สร้างให้ลอนดอนเป็นเมืองชั้นแนวหน้า นำโลกไปสู่งานดีไซน์ ศิลปะ และดนตรี พร้อมกับ The Beatles และกระโปรงมินิสเกิร์ตเลยทีเดียว
หลังจากนั้นเทอเรนซ์ คอนราน ก็ยังไม่หยุดพัฒนางานดีไซน์ ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาธุรกิจให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดไลน์โปรดักต์สำหรับแม่และเด็ก ไลน์การผลิตเสื้อผ้า รวมถึงการขยายตลาด เพื่อตอบรับความต้องการของบุคคลระดับผู้บริหาร จากความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้ เขาได้รับพระราชทานยศท่าน Sir ในปี ค.ศ.1983 จนกระทั่งปี ค.ศ.1988 หลังการส่งบริษัทเข้ามือผู้ถือหุ้น เขาก็ออกจากตำแหน่งผู้บริหารในปี ค.ศ. 1990 และในที่สุด Habitat ก็ถูกขายต่อให้กับ Ikano Group หรือ IKEA ที่เรารู้จักกันดี


ถึง Habitat จะถูกขายต่อไปแล้ว แต่ปณิธานการทำงานดีไซน์ของเทอเรนซ์ คอนราน ก็ยังคงอยู่ ครั้งหนึ่งเขาเคยพูดว่า เขาเป็นดีไซเนอร์ที่ดีนะ แต่เป็นนักธุรกิจที่แย่ นั่นเป็นเพราะต้องเจอกับวัฒนธรรมหลากหลายจากการขยายสาขาไปหลายประเทศทั่วโลก พร้อมกับประเภทธุรกิจที่หลากหลายเกินรับมือ นั่นทำให้เกิดความล้มเหลวครั้งแรก แต่เขาก็ยังกลับมาก่อตั้ง Conran ร้านเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นตลาดระดับสูงกว่าเดิม และขยายไปกว่า 8 ร้าน ใน 4 ประเทศ
นอกจากนั้น ในปี ค.ศ. 1989 เขายังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Design Museum ซึ่งบริหารจัดการโดย Conran Foundation สำหรับทำงานดีไซน์และสถาปัตยกรรม, เปิด Conran Holdings ในปี ค.ศ.1990 โดยเน้นไปที่ธุรกิจร้านอาหารเป็นหลัก และตามมาด้วย Conran & Partners ในปี ค.ศ.1999 โฟกัสงานออกแบบเป็นสำคัญ อย่างที่เรารู้จักกันดีคือ โปรเจ็กต์การพัฒนา Roppongi Hills ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
เทอเรนซ์ คอนราน ยังคงทำงานดีไซน์ตลอดชีวิตของเขา ไม่เพียงแค่ธุรกิจงานออกแบบร้านอาหาร แต่ก็ยังกลับมาทำเฟอร์นิเจอร์สำหรับท้องตลาดให้กับ Marks & Spencer ถึงจะอยู่ในวัย 79 ปี แล้วก็ตาม เพราะเขาบอกว่า
“การได้เห็นร้านที่เต็มไปด้วยผู้คน หรือร้านอาหารที่ผู้คนเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุข นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริง”


เซอร์ เทอเรนซ์ คอนราน เพิ่งจากเราไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 88 ปี นั่นนับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของชาวอังกฤษ และวงการออกแบบโลก เพราะจากสายตาที่เฉียบแหลม และรสนิยมอันยอดเยี่ยมของเขา ไม่ได้เป็นเพียงการก่อกำเนิดเฟอร์นิเจอร์ หรือโปรดักต์ที่ใช้ในบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์ทุกมิติของการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร รวมไปจนถึงการส่งต่อรสนิยมที่ดีให้กับผู้ใช้งาน หรือจะเรียกว่าเขาได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า ไลฟ์สไตล์ ให้กับโลกใบนี้ก็ไม่ผิดนัก
เรื่อง: Skiixi
เรียบเรียง: Phattaraphon