ในทุกมุมทุกห้องของบ้านเรามักมีของใช้กระจุกกระจิกวางกอง หรือวางสุมไว้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะ บนโต๊ะทำงาน หรือในห้องนั่งเล่น ซึ่งวิธีจัดเก็บข้าวของพวกนี้ให้ดีก็คงหนีไม่พ้นการจัดให้เป็นหมวดหมู่และเก็บลงภาชนะ อย่าง ลิ้นชัก ตะกร้า หรือชาม เพื่อให้พื้นที่ดูเป็นระเบียบร้อยสะอาดตา
วันนี้ my home เลยอยากจะชวนคุณมาเพิ่มความเก๋ไก๋ให้ตะกร้าเหล่านี้ขึ้นอีกสักหน่อย ด้วยการนำเชือกฝ้ายตีเกลียวสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นเส้นใยที่แห้งง่าย ระบายความชื้นได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา มาทำเป็น ตะกร้าจากเส้นเชือก ด้วยวิธีการง่าย ๆ เพิ่มพื้นผิวสัมผัสแบบธรรมชาติ แถมยังสามารถสร้างลวดลาย และโทนสีสวยๆ ใช้แบ่งข้าวของออกเป็นหมวดหมู่ได้อีกด้วย .. ถ้าพร้อมแล้ว ไปลงมือทำกันเลยค่ะ!
อุปกรณ์
- เชือกฝ้าย (มีขนาดตั้งแต่ 1 มิล จนถึง 20 มิล)
: เส้นใยอันนุ่มนวลจากฝ้าย ที่ผ่านกรรมวิธีการตีเกลียว เพื่อให้ออกมาเป็นเชือกฝ้ายที่มีคุณสมบัติเหนียว นุ่ม ทนทาน แข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี สามารถนำไปย้อมสี เพื่อความสวยงาม ทำเป็นไส้เทียนหรืองานประดิษฐ์ต่าง ๆ ได้
- กาวติดผ้า หรือกาวสำหรับงานผ้า
: เนื้อกาวมีลักษณะเป็นแบบสีขาวขุ่น เมื่อกาวแห้ง กาวจะไม่แข็ง เนื้อผ้าไม่แข็ง ไม่มีสี คล้ายกาวลาเท็กซ์ สามารถโดนน้ำได้เมื่อทิ้งให้แห้งไว้ประมาณ 48 ชั่วโมง เหมาะสำหรับงานตกแต่ง งานฝีมือต่าง ๆ อย่าง งานผ้า ผ้าลูกไม้ โบว์ ริบบิ้น - ชามเซรามิก (ขนาดตามต้องการ เพื่อเป็นแบบของตะกร้า)
: ชามเคลือบเซรามิก มีผิวสัมผัสที่ค่อนข้างเรียบและลื่น จึงไม่เกิดปัญหากาวติดชาม เมื่อถอดชิ้นงานออกจากแบบ - เข็มเย็บผ้า
- เส้นด้าย (สามารถเลือกสี เพื่อสร้างลวดลายได้ตามใจชอบ)
ขั้นตอนการทำ
1. ทากาวสำหรับงานผ้าที่ปลายเส้นเชือกฝ้ายด้านใดด้านหนึ่ง แล้วรอให้กาวแห้งพอประมาณ จากนั้นเริ่มขดเชือกห่อหุ้มรอบชามเซรามิกที่เตรียมไว้สำหรับเป็นแบบ โดยเริ่มจากบริเวณกึ่งกลางของก้นชาม แล้วค่อย ๆ ม้วนเชือกให้เป็นวงกลมตามรูปทรงของแบบที่เตรียมไว้ พร้อมทั้งกดเชือกให้แต่ละรอบติดกันอย่างแน่นหนาไม่ให้มีช่องว่างระหว่างเส้นเชือก แต่ถ้าไม่มีกาวสำหรับงานผ้า สามารถใช้กาวลาเท็กซ์ หรือกาวน้ำแทนได้เช่นกันค่ะ
Tips ก่อนเริ่มทำชิ้นงานควรล้างมือให้สะอาดก่อน เพื่อให้ชิ้นงานของเราสวยงาม และสะอาดน่าใช้นะคะ
2. ทำซ้ำเรื่อย ๆ จนพันเชือกหุ้มรอบชามทั้งหมด เมื่อได้เป็นชิ้นงานตามรูปทรงที่ต้องการแล้ว ให้รอสักครู่ เพื่อปล่อยให้กาวแห้งและเซ็ทตัวพอประมาณ จากนั้นจึงตัดปลายเส้นเชือกส่วนเกินออก เก็บรายละเอียดของชิ้นงานให้เรียบร้อย แล้ววางพักชิ้นงานไว้ที่อุณหภูมิห้อง เพื่อรอให้กาวแห้งสนิทอีกประมาณ 1 วัน
Tips นอกจากเชือกฝ้ายแล้ว เราสามารถนำเชือกประเภทอื่นมาผสม เพื่อให้เกิดลวดลายและผิวสัมผัสอื่น ๆ ได้ เช่น เชือกมะนิลา หรือ เชือกคอตตอน เป็นต้น
3. เมื่อพักให้กาวแห้งจนสนิทแล้ว ให้ถอดตะกร้าเส้นเชือกออกจากแม่แบบชามเซรามิก จากนั้นให้นำเข็มกับด้ายมาเย็บเส้นเชือกในแต่ละชั้นด้วยฝีเข็มแบบซิกแซ็ก เพื่อเชื่อมเส้นเชือกของตะกร้าแต่ละชั้นให้แข็งแรงทนทาน โดยอาจเลือกใช้เส้นด้ายที่มีสีสันสดใสตัดกับชิ้นงาน มาทำให้ตะกร้าของเราสวยงาม และโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ วิธีการสร้างตะกร้าโดยเส้นเชือก จะสามารถนำมาใส่ของกระจุกกระจิก จัดระเบียบเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้แล้ว เรายังสามารถนำไปประยุกต์เป็นชิ้นงานอื่น ๆ ได้อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ถาดรองของร้อน จานรองแก้ว ชามใส่ของ และตะกร้าใส่ต้นไม้ค่ะ
ไอเดียการใช้งาน ตะกร้าจากเส้นเชือก
1.ใส่ต้นไม้ไว้ภายในบ้าน
ต้นไม้ที่ซื้อมาส่วนใหญ่มักจะปลูกลงในกระถางสีดำที่ดูแล้วไม่สวยงาม เมื่อนำมาวางไว้ในบ้านก็ดูจะขัดหูขัดตากับการตกแต่งของบ้านไปซะหมด ลองนำ ตระกร้าจากเส้นเชือก ที่เราลงมือทำเองมาเปลี่ยนชุดให้กระถางต้นไม้กันสักหน่อย เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้มุมต้นไม้ภายในบ้านดูสวยงามน่ารักขึ้นมาได้แล้ว ยิ่งถ้าปลูกไม้ฟอกอากาศ อย่าง เฟินบอสตัน เปเปอโรเมียใบป้าน กวักมรกต หรือ คล้าแววมยุรา ก็จะยิ่งช่วยให้ทั้งสวยและมีประโยชน์ไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
2.ใส่อาหารและของแห้ง
พื้นที่ในครัวใช่ว่าเราจะปล่อยให้รก หรือไม่สวยได้นะคะ ยิ่งเป็นพื้นที่ที่มีข้าวของและอุปกรณ์มากมายด้วยแล้ว การจัดระเบียบให้สวยงามน่าใช้ น่ามอง หยิบจับได้ถนัดสะดวกก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งถ้าเรามีตะกร้าสวย ๆ แล้ว จะนำมาใส่ผัก ผลไม้ เครื่องปรุง หรืออาหารแห้งก็ย่อมได้ ซึ่งตะกร้าเชือกนี้ยังสามารถนำไปเคลือบ หรือเลือกใช้เชือกที่กันน้ำได้อีกด้วย
3.จัดระเบียบของใช้
ตามมุมต่าง ๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะ โต๊ะเครื่องแป้ง ชั้นวางของ โต๊ะข้างโซฟา หรือโต๊ะทำงาน ไม่ว่าจะมุมไหน ๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีข้าวของกระจุกกระจิกอยู่เต็มไปหมด สำหรับสาว ๆ รักงานประดิษฐ์อย่างเรา ๆ ปัญหาเล็กแค่นี้สบายมากค่ะ เพราะ เรามีตะกร้าจากเส้นเชือกไว้คอยใส่ของและจัดระเบียบ ซึ่งจะทำกี่สี จะทำกี่ขนาด หรือจะทำอีกสักกี่อันก็ย่อมได้
Plant Hanger เชือกแขวนกระถางต้นไม้
เรื่อง : อรพรรณ วัจนะเสถียรกุล
สไตล์ : suanpak
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม