บิชอง ฟริเซ่

บิชอง ฟริเซ่ (Bichon Frise) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

บิชอง ฟริเซ่
บิชอง ฟริเซ่

ประวัติสายพันธุ์

สุนัขสายพันธุ์ บิชอง ฟริเซ่ (Bichon Frise) เดินทางมาถึงประเทศฝรั่งเศสช่วงก่อนศตวรรษที่ 14 ในขณะที่ถิ่นกำเนิดที่แน่นอนของสุนัขพันธุ์นี้ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ความเชื่อส่วนใหญ่ได้กล่าวไว้ว่าบิชอง ฟริเซ่ ถือกำเนิดขึ้นมาจากสุนัขพันธุ์บาร์เบท (Barbet) ซึ่งเป็นสุนัขขนาดกลาง ส่วนวิธีที่มันเดินทางมาถึงฝรั่งเศสยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ หลายคนกล่าวว่าพ่อค้านำมันมาจากอิตาลีและสเปนตามเส้นทางการค้า ในขณะที่คนอื่นเชื่อว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสนำพวกมันกลับมาหลังจากที่พวกเขาทำการบุกอิตาลีในศตวรรษที่ 16 อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทราบกันดีคือสุนัขสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมในยุโรปในช่วงระยะเวลานั้น

บิชอง ฟริเซ่ได้รับความนิยมจากกลุ่มชนชั้นสูง กษัตริย์ ราชวงศ์ และศิลปินที่มีชื่อเสียง บิชอง ฟริเซ่ได้รับการยกระดับในรัชสมัยของจักรพรรดินโปเลียน แต่ความนิยมก็ได้ลดลงภายหลังจากที่ผู้เพาะพันธุ์จำนวนมากได้สร้างความหลากหลายของสายพันธุ์ ทำให้บิชอง ฟริเซ่สูญเสียความพิเศษเฉพาะตัวและกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงทั่ว ๆ ไป

หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ผู้เพาะพันธุ์ชาวฝรั่งเศสได้ทำการคงไว้ซึ่งเชื้อสายของบิชอง ฟริเซ่ เช่นเดียวกันกับสายพันธุ์ลาบราดอร์ (Labradors) อันที่จริงสายพันธุ์นี้เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้วในช่วงของการฟื้นฟูประเทศ อย่างไรก็ตามผู้เพาะพันธุ์สามารถปรับปรุงสายพันธุ์ของบิชอง ฟริเซ่ สร้างชื่อเสียงให้กับสุนัข และได้ทำการส่งออกไปยังทวีปอื่น ๆ โดยสุนัขสายพันธุ์บิชอง ฟริเซ่ได้เข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงกลางศตวรรษที่ 20 และได้รับการยอมรับจาก AKC ในปี 1975

ลักษณะทางกายภาพ

บิชอง ฟริเซ่ เป็นสุนัขขนาดเล็กที่มีน้ำหนักประมาณ 5 – 10 กก. (10 – 20 ปอนด์) และมีความสูงอยู่ที่ 23 – 30 ซม. (9 – 12) นิ้วโดยวัดจากส่วนที่สูงที่สุดของหลัง แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบสุนัขที่มีขนาดใหญ่มากกว่านี้เล็กน้อย บิชอง ฟริเซ่มีจมูกสีดำและดวงตากลม สีดำ ขนสีขาวของมันประกอบไปด้วยขนชั้นนอกที่หยิกและขนชั้นในที่อ่อนนุ่ม โดยขนของสุนัขในสายพันธุ์นี้ส่วนมากมีแนวโน้มที่จะหยิกน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เมื่อขนของสุนัขเหล่านี้จับตัวเป็นก้อนอาจมองเห็นเป็นสีส้มได้ ส่วนน้อยอาจพบสีน้ำตาล, สีครีม, หรือสีแอปริคอทเล็ก ๆ ในบริเวณรอบ ๆ หู, จมูกและปาก, อุ้งเท้า หรือลำตัวก็ได้ แต่โดยปกติแล้วสีเหล่านี้มีอยู่ไม่เกิน 10% ของร่างกาย บิชอง ฟริเซ่มีหัวและขาที่มีขนาดพอดีกับร่างกาย หูและหางถูกปล่อยตามธรรมชาติ (ไม่ได้มีการตัด) ส่วนขนมักถูกตัดบ่อยครั้งเพื่อให้ขนดูมีความยาวสม่ำเสมอกัน

อายุขัย

โดยทั่วไปอายุขัยของบิชอง ฟริเซ่อยู่ในช่วงระหว่าง 12-15 ปี

ลักษณะนิสัย

บิชอง ฟริเซ่ เป็นสุนัขที่สุภาพ อ่อนโยน ชอบที่จะได้รับความรัก และมักเรียกร้องความสนใจจากผู้คนรอบข้างและได้รับการยอมรับจากสังคมชั้นสูง แม้จะเป็นสุนัขที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม toy dog แต่พวกมันมีความเป็นตัวของตัวเองและค่อนข้างจะร่างเริงมากจนสามารถท้าทายความสามารถของเจ้าของได้

บุคลิกที่ขี้เล่นและชอบแสดงความรักของบิชอง ฟริเซ่ส่งมอบความสุขให้กับผู้คนได้ พวกมันรักที่จะทำกิจกรรมทุกอย่างกับครอบครัวและรักที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น พวกมันมีแนวโน้มที่จะรักอิสระเล็กน้อยแต่อารมณ์เหล่านั้นมักจะเป็นแค่ชั่วคราว โดยส่วนใหญ่พวกมันเป็นสุนัขที่มีความสุขและอารมณ์ดีจึงทำให้เป็นสัตว์เลี้ยงที่ยอดเยี่ยมสำหรับทุกครอบครัว

บิชอง ฟริเซ่มีความอ่อนไหว โดยสุนัขในกลุ่ม toy dog จำนวนมากถูกซื้อมาด้วยเหตุผลที่ว่าเราสามารถนำสุนัขไว้ที่บ้านได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องกังวลและไม่จำเป็นต้องมีเวลาให้มาก อย่างไรก็ตามบิชอง ฟริเซ่จะประสบกับความกลัวจากภาวะวิตกกังวลต่อการแยกจาก (separation anxiety) บิชอง ฟริเซ่จึงไม่ใช่สุนัขที่ควรเอาไว้ในบ้านเป็นเวลานานโดยไม่มีเจ้าของอยู่ด้วย หากเป็นเช่นนี้พวกมันอาจเปลี่ยนมามีนิสัยที่ชอบทำลาย, กระวนกระวาย และก้าวร้าวได้

การเข้ากับเด็ก

บิชอง ฟริเซ่เข้ากันได้ดีกับเด็ก ๆ พวกมันมักจะอ่อนโยน ขี้เล่น และมีความอดทนมากพอ แต่สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าพวกมันเป็นสุนัขตัวเล็กและหากเด็ก ๆ เล่นอย่างรุนแรงมากเกินไปพวกมันอาจได้รับบาดเจ็บได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแนะนำทั้งเด็กและสุนัขให้รู้จักกันตั้งแต่เริ่มต้น

ควรสอนพวกมันถึงวิธีการโต้ตอบ ขอบเขต และวิธีการเล่นที่ถูกต้องและเหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญในช่วงระยะแรกที่คุณต้องคอยดูการตอบสนองของพวกมันอยู่เสมอ บิชอง ฟริเซ่เป็นสุนัขที่เป็นมิตรแต่พวกมันสามารถกัดและแสดงความก้าวร้าวได้หากพวกมันรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยหรือรู้สึกถูกคุกคาม

การดูแล

การออกกำลังกาย

บิชอง ฟริเซ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการออกกำลังกายมากนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกมันควรจะอยู่นิ่ง ๆ ควรออกกำลังกายประมาณ 20-30 นาทีต่อวันด้วยการเดินเร็วสองถึงสามรอบ บิชอง ฟริเซ่รักการเล่นซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกมันชื่นชอบ การโยนลูกบอลไปรอบสนามหรือวิ่งไล่จับกันเป็นกิจกรรมที่ทำให้พวกมันมีอาการร่าเริงขึ้นด้วยความดีใจ

อย่าคาดหวังว่าบิชอง ฟริเซ่จะออกกำลังกายด้วยความเร็วอย่างที่ควรจะเป็น ถึงแม้ว่าลักษณะภายนอกของพวกมันจะดูเหมือนว่าสามารถร่วมกิจกรรมที่โลดโผนกับเราได้แต่ความจริงแล้วมันไม่สามารถทำได้ มันทำได้เพียงวิ่งเหยาะ ๆ ข้างคุณเมื่อคุณพามันไปเดินเล่นตามปกติแทนที่จะวิ่งผ่านทุ่งหรือปีนเขา เนื่องจากพวกมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งเหล่านี้

สุนัขเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนได้ เนื่องจากพวกมันไม่มีสิ่งดึงดูดความสนใจและบ่อยครั้งมักจะไม่ค่อยสนใจการออกกำลังกาย ยิ่งพวกมันมีอายุมากขึ้นพวกมันก็ยิ่งมีแรงจูงใจที่น้อยลง สิ่งสำคัญคือเจ้าของจะต้องทำการกระตุ้นพวกมันและให้แน่ใจว่าพวกมันได้รับการออกกำลังกายทุกวันเนื่องจากปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตได้

อาหาร

ปริมาณอาหารที่แนะนำสำหรับบิชอง ฟริเซ่คือ 1-1.5 ถ้วยต่อวัน โดยแบ่งออกเป็นสองมื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าสุขภาพของบิชอง ฟริเซ่อยู่ในสภาวะที่ดีที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องดูแลการรับประทานอาหารเทียบกับระดับกิจกรรมเพื่อให้แน่ใจว่าพวกมันจะไม่มีน้ำหนักที่เกินมาตรฐาน

อายุ กระบวนการเผาผลาญอาหาร และน้ำหนักเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อทำการจัดการอาหารสำหรับบิชอง ฟริเซ่ สุนัขสองตัวที่กินแบบเดียวกันไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีกระบวนการเผาผลาญอาหารที่เหมือนกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องคอยดูการตอบสนองของสุนัขต่ออาหารที่ได้รับ

โรคประจำสายพันธุ์

โดยทั่วไปแล้วบิชอง ฟริเซ่จะมีสุขภาพดีแต่พวกมันไม่มีภูมิคุ้มกันต่อการเกิดปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้เพาะพันธุ์จึงต้องทำการตรวจสุขภาพสัตว์ โดยสุนัขควรได้รับการตรวจจากสถาบันสุขภาพสัตว์ที่ผ่านการรับรองและมีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามปัญหาสุขภาพของบิชอง ฟริเซ่ที่พบได้มีดังนี้

  • โรคผิวหนัง
    • โรคภูมิแพ้ (skin allergies)
  • โรคระบบทางเดินอาหาร
  • โรคไตและทางเดินปัสสาวะ
    • โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
    • โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  • โรคระบบต่อมไร้ท่อ
  • โรคระบบกระดูก เอ็น และข้อต่อ
    • โรคหัวกระดูกต้นขาตายจากการขาดเลือด (Legg-Perthes Disease)
    • โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip Dysplasia)
    • โรคกระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar Luxation)
  • โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
    • การแพ้หลังจากการฉีดวัคซีน (Vaccination Sensitivity)
  • โรคตา
    • โรคต้อกระจกในวัยเด็ก (Juvenile cataracts)

เรื่อง : ธันยพร แท่นนอก

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่