ค็อกเกอร์ สแปเนียล (Cocker Spaniel) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

สุนัขพันธุ์ ค็อกเกอร์ สแปเนียล เป็นสุนัขพันธุ์ขนาดกลาง มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสเปน (Spain) มีการกล่าวถึงความเป็นมาของสายพันธุ์เป็นอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถระบุจุดเริ่มต้นของสายพันธุ์ได้ แต่มีข้อมูลที่ตรงกันคือ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สุนัขสายพันธุ์สแปเนียลมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มสุนัขบ้าน (Home dog) และกลุ่มสุนัขนักล่า (Hunting dog) โดยค็อกเกอร์ สแปเนียล ถูกจัดเป็นสุนัขนักล่า เป็นสุนัขที่มีความคล่องแคล่วในการล่านก Woodcock

ค็อกเกอร์ สแปเนียล

ในปี ค.ศ. 1892 สุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล ได้รับการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์เป็นครั้งแรก จัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์อิสระ (Independent breed) และในต่อมาได้ถูกนำมาเลี้ยงในสหรัฐอเมริกา ทำให้สุนัขพันธุ์นี้เริ่มเป็นที่รู้จักขึ้น

ในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 สุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และเป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 (Post World War II) ในปี ค.ศ. 1946 สมาคม The American Kennel Club (AKC) ได้จดทะเบียนสายพันธุ์แยกออกจากกันเป็น 2 พันธุ์ คือสุนัขพันธุ์อิงลิช ค็อกเกอร์ สแปเนียล (English Cocker Spaniel) นิยมเลี้ยงเป็นสุนัขบ้านมากกว่าสุนัขนักล่า และสุนัขพันธุ์อเมริกา ค็อกเกอร์ สแปเนียล (American Cocker Spaniel) เป็นสุนัขหูใหญ่ และเป็นที่รักของทุกคน

ลักษณะทางกายภาพ    

สุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล เป็นสุนัขขนนุ่มคล้ายเส้นไหม (Silky) ขนยาวปานกลางบริเวณลำตัวและหู บริเวณขาจะมีขนยาวปกคลุมทั้งขา ขนาดหัวกว้างเล็กน้อย เป็นรูปทรงสีเหลี่ยม สมส่วนกับขากรรไกร ตากลม ใหญ่ ดวงตามีสีดำเข้ม, จมูกมีสีดำ หูตก ยาว และกลม จะอยู่ระดับเดียวกับตา ความยาวของหูต้องถึงปลายจมูก ส่วนหางอยู่เหนือบั้นท้าย ชี้ไปทางด้านหลัง มักตัดหางออกให้สมส่วน

ค็อกเกอร์ สแปเนียล

โดยทั่วไปสุนัขพันธุ์นี้มีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 13.5-15.5 นิ้ว หรือ 34-39 เซนติเมตร วัดจากหัวไหล่ถึงพื้น ซึ่งสุนัขเพศผู้ส่วนมากจะสูงกว่า 15.5 นิ้ว หรือ 39 เซนติเมตร และสุนัขเพศเมียจะสูงประมาณ 14.5 นิ้ว หรือ 37 เซนติเมตร แต่ทั้งสุนัขเพศผู้และสุนัขเพศเมียจะมีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 24-33 ปอนด์ หรือ 11-15 กิโลกรัม

สีขนของสุนัขสามารถพบได้หลากหลายสี ได้แก่ สีเหลืองอ่อน (Buff) เป็นสีพี่พบได้มากที่สุด สีดำ (Black) สีดำเงา (Solid black) สีดำแต้มสีน้ำตาลไหม้ (Black with tan points) สีน้ำตาล (Brown or Chocolate) สีเงิน (Silver) สีดำปนขาวแต้มสีน้ำตาลไหม้ (Black and white with tan points) สีดำปนขาว (Black and white) สีน้ำตาลปนขาว (Brown and white) สีน้ำตาลปนขาวแต้มสีน้ำตาลไหม้ (Brown and white with tan points) สีแดงปนขาว (Red and White) สีฟ้าโรน (Blue roan) สีส้มโรน (Orang roan) สีช็อกโกแลตโรน (Chocolate roan) สีฟ้าเมอร์ หรือสีดำเมอร์ (Blue Merle or Black Merle) สีฟ้าเมอร์ หรือสีดำเมอร์แต้มสีน้ำตาลไหม้ (Blue or Black Merle with tan points) สีแดงเมอร์ (Red Merle) และสีน้ำตาลเมอร์ (Brown Merle or Chocolate Merle)

อายุขัย

สุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล โดยทั่วไปมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 12-15 ปี

ลักษณะนิสัย

สุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล เป็นสุนัขที่อ่อนโยน มีเสน่ห์ดึงดูด ขี้เล่น ชอบกระโดดมาก และสามารถเข้ากับคนอื่นได้ดี หากพบเจอสุนัขตัวใหญ่กว่า สุนัขพันธุ์นี้จะนิ่ง และสงบ

ค็อกเกอร์ สแปเนียล

เป็นสุนัขที่มีความกระตือรือร้นสูง และมีความไวต่อสิ่งแวดล้อม หากสุนัขมีอารมณ์แปรปรวน หรือโกรธจะทำให้ทำลายข้าวของภายในบ้าน และรอบตัวสุนัข นอกจากนั้นยังเป็นสุนัขเก็บตัว และก้าวร้าว เมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น โดนคุกคาม หรือขู่ เป็นต้น ดังนั้นการเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ต้องเข้าใจ ดูแล และเอาใจใส่เป็นอย่างมาก

การเข้ากับเด็ก

สุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล สามารถเข้ากับเด็กได้ดีเยี่ยม เป็นสุนัขที่อ่อนโยน เป็นมิตร ไม่ก้าวร้าว และอดทนกับเด็กมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่น ซึ่งสุนัขพันธุ์นี้จะมีความไวต่อการรับรู้ เมื่อเด็กก้าวร้าว หรือโกรธ จะทำให้สุนัขตอบสนองด้วยการแสดงพฤติกรรมไม่ดีได้ สามารถแก้ไขได้ คือสุนัขควรได้รับการฝึกให้เข้าสังคม และได้เจอเด็กในช่วงที่สุนัขยังเล็ก เพื่อเป็นสุนัขที่ดีเยี่ยมได้

การดูแล

การออกกำลังกาย

สุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล จำเป็นต้องออกกำลังกายด้วยการให้สุนัขเดินเร็วประมาณ 30 นาทีต่อวัน คล้ายกับสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) โดยเมื่อพาไปออกกำลังกายจะสามารถพบพฤติกรรมได้ 2 แบบ คือเป็นสุนัขสมาธิสั้น (Hyperactive) มีพลังงานมาก หรือเฉื่อยชา และนิ่ง

อย่างไรก็ตามดั้งเดิมของสุนัขพันธุ์นี้เป็นสุนัขนักล่า ควรให้สุนัขได้ใช้พลังงานในแต่ละวัน นอกจากจะออกกำลังกายด้วยวิธีการเดินแล้ว เจ้าของยังสามารถเล่นกับสุนัขได้ เช่น การให้สุนัขคาบของมาคืน การให้สุนัขวิ่งจับนกให้สุนัขขุดดิน หรือนำสุนัขไปเล่นกับสุนัขตัวอื่น เป็นต้น

หากสุนัขไม่ได้ใช้พลังงาน ไม่กระตือรือร้น หรือไม่ออกกำลังกาย จะทำให้สุนัขน้ำหนักเพิ่มขึ้น หรืออ้วน ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพ และอายุของสุนัขได้

เหตุผลที่คุณควรพาสุนัขไปออกกำลังกาย

อาหาร

สุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล สามารถกินอาหารได้ทุกอย่าง ปริมาณอาหารที่แนะนำคือ 1-3 ถ้วยต่อวัน แบ่งให้เท่ากัน 2 มื้อ และควรระวังหากให้สุนัขกินมาก แต่ไม่ออกกำลังกาย จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นปริมาณอาหารจำเป็นต้องเหมาะสมกับการออกกำลังกายในแต่ละวัน หรืออาจขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อายุ กระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) และน้ำหนักตัว

เจ้าของควรคอยสังเกตสุนัขไม่ให้อ้วนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา และการลดน้ำหนักจะใช้เวลานาน และยากกว่าการทำให้สุนัขอ้วน

ค็อกเกอร์ สแปเนียล

โรคประจำพันธุ์

สุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล จัดเป็นสุนัขที่สุขภาพแข็งแรง มีอายุยาวนาน ไม่ค่อยมีปัญหาทางสุขภาพ อย่างไรก็ตามเจ้าของควรรู้ถึงโอกาสการเกิดโรคจากความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยดูได้จากสุนัขพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ต้องแข็งแรง ไม่ซึม และมีใบรับรองประวัติสายพันธุ์

โรคที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • โรคผิวหนัง
    • โรคหูอักเสบ (Ear infection)
    • โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Skin allergies)
  • โรคระบบประสาท
    • โรคลมชัก (Epilepsy)
    • โรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง (Intervertebral disc disease (IVDD))
  • โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
    • โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย (Dilated cardiomyopathy)
    • โรคลิ้นหัวใจไมทรัลรั่ว (Mitral regurgitation)
  • โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    • โรคตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic hepatitis)
  • โรคระบบทางเดินหายใจ
    • โรคหลอดลมโป่งพอง (Bronchiectasis)
    • โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
  • โรคระบบต่อมไร้ท่อ
    • ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
  • โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
    • โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
    • โรคกระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation)
  • โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
    • โรคภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงตัวเอง (Autoimmune hemolytic anemia)
  • โรคตา
    • โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive retinal atrophy)
    • โรคต้อกระจก (Cataracts)
    • โรคกระจกตาเสื่อม (Corneal dystrophy)
    • โรคขนตางอกผิดปกติ (Distichiasis)
    • โรคเปลือกตาม้วนเข้าข้างใน (Entropion eyelids)
    • โรคเปลือกตาม้วนออก (Ectropion eyelids)
    • โรคต้อหิน (Glaucoma)

เรื่อง : ทรงภูมิ อานันทคุณ

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่