The Rectangle Coffee X Tower

THE RECTANGLE COFFEE X TOWER รื้อร่องรอยอาคารร้าง สู่คาเฟ่มากเรื่องราว

The Rectangle Coffee X Tower
The Rectangle Coffee X Tower

เสียงตอบรับจากผู้มาเยือน คาเฟ่เชียงใหม่ ในอำเภอหางดง หลายเสียงต่างบอกไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะจากบรรดาคนท้องถิ่นที่พูดถึงความคุ้นเคยกับเเท่งคอนกรีตสูงใหญ่บนเนินดินที่ดูคล้ายเนินเขาขนาดย่อม

บริเวณหัวมุมถนนเลี่ยงเมืองสันป่าตอง – หางดง ซึ่งยังคงสภาพเป็นอาคารร้างมานานเกือบ 30 ปี จนเเทบไม่อยากเชื่อสายตาว่า วันหนึ่งซากคอนกรีตที่สูงนับสิบเมตรนี้จะกลายเป็นสถานที่ตั้งของ “The Rectangle Coffee X Tower” คาเฟ่เชียงใหม่ ติดอันดับความนิยมอย่างรวดเร็วในโลกโซเชียลมีเดีย จากกระเเสของผู้คนทั้งนอกเมืองและในเมืองที่เเวะเวียนมาถ่ายรูปจิบกาเเฟกันเเบบคึกคักตลอดทั้งวัน

“ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นตึกนี้แล้ว”
“ขับรถผ่านก็เห็นตลอด”
“เห็นภาพตึกก็รู้แล้ว ไม่ต้องเปิดกูเกิ้ลแมพเลย”
“ใครจะมาสร้างตึกแบบนี้เพื่อทำร้านกาแฟ”

คาเฟ่เชียงใหม่ คาเฟ่ตึกร้าง

“มันไม่มีทางที่ใครจะลงทุนสร้างตึกเเละเสาใหญ่ ๆ นี้ เพื่อทำเป็นเเค่อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็ก ๆ ตรง ๆ สูง ๆ มันไม่มีใครทำแบบนี้หรอก”

จากการบอกเล่าของคุณถิรพัฒน์ นอกจากความคุ้นเคยของผู้คนในท้องถิ่นที่มีต่อซากอาคารที่ตั้งอย่างรกร้างมานานแสนนาน หน้าตาอันแปลกประหลาดของโครงสร้างที่ยากจะเดาที่มาที่ไป ถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายอันเตะตา จนเป็นแรงดึงดูดให้เขาเเละภรรยาที่เพิ่งย้ายจากกรุงเทพฯ มาอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ได้ไม่นาน อดความสงสัยที่มีต่อซากคอนกรีตทิ้งร้างไว้นี้ไม่ได้ กระทั่งนำมาสู่ไอเดียการเปลี่ยนซากอาคารที่น่าพิศวงให้กลายเป็นคาเฟ่ตามแบบที่ตนเองชอบ

“เจ้าของเขาบอกว่า พ่อเขาสร้างไว้เพื่อจะใช้วางพระพุทธรูปขนาดใหญ่” คุณถิรพัฒน์เฉลยความน่าสงสัยของโครงสร้างคอนกรีตสูงใหญ่นี้ให้เราฟัง

“เพื่อวางองค์พระขนาดใหญ่ไว้ข้างบน ตั้งนานมากแล้วนะ ก่อนปี40เสียอีก แล้วตอนที่สร้างเขาบอกว่าฟ้าผ่าก็เลยทำให้ต้องหยุดไป พอจะกลับมาสร้างใหม่ก็เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี เลยจำเป็นต้องเบรกโครงการตั้งแต่นั้น”

คาเฟ่เชียงใหม่ คาเฟ่ตึกร้าง  คาเฟ่เชียงใหม่ คาเฟ่ตึกร้าง
ลักษณะของอาคารนี้เป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก 6 ชั้น มีเพียงเสาและคานขนาดใหญ่ค้ำยันอาคารให้สูงขึ้นไป โดยถูกสร้างให้มีระยะช่วงเสาห่างกันราว 4 เมตร อาคารจึงมีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 8 x 8 เมตร โดยมีการวางพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปไว้ทั้งหมด 5 ชั้น รวมชั้นดาดฟ้า และจะเห็นได้ว่า 3 ชั้นบนสุดนั้น ออกแบบให้แผ่นพื้นสำเร็จฯ แผ่ความกว้างออกมาอีกด้านละ 1 เมตร จึงกล่าวได้ว่าแผ่นพื้นที่แผ่ออกมาจากตัวโครงสร้างนี้ เป็นหนึ่งปัจจัยช่วยเสริมจุดเด่นให้อาคารมีเอกลักษณ์ด้วยโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว คุณถิรพัฒน์ปรับปรุงอาคารโดยตั้งใจสร้างความเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ คือ ทำชั้น 1 ให้เป็นห้องกระจกขนาดใหญ่ เเละทำพื้นใหม่ ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างไร้ฝ้าที่มีอยู่แล้วช่วยให้เพดานดูสูงขึ้น สำหรับเป็นพื้นที่ใช้สอยหลักของคาเฟ่ ต่อมาได้เพิ่มบันไดเหล็กด้านหลังเพื่อเป็นทางสัญจรที่แข็งแรงและสะดวกเชื่อมการใช้งานขึ้นไปสู่ชั้น 2 ที่ทำเป็นที่นั่งกึ่งกลางแจ้งโล่ง ๆ ตลอดทั้งชั้น นอกจากนั้นยังมีการวางแผนว่าจะพัฒนาชั้น 3 และชั้นต่อ ๆ ไป โดยใช้บันไดเหล็กและช่องทางเดินเดิมที่มาพร้อมกับอาคาร จากจุดเด่นของความสูงระดับนี้ พื้นที่ชั้นบนที่ไร้ผนังกั้นจึงกลายเป็นส่วนที่นั่งชมทิวทัศน์รอบ ๆ ได้ 360 องศา
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดอยู่ภายใต้แนวคิดการคงลักษณะของอาคารเดิมให้มากที่สุด รักษาพื้นผิวที่เคยเป็นมาไว้อย่างเก่า และเสริมเติมแต่งสิ่งใหม่ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังที่คุณถิรพัฒน์กล่าวว่า

คาเฟ่เชียงใหม่ คาเฟ่ตึกร้าง
“ผมคิดว่าตึกที่นี่สวยเเละเท่อยู่แล้ว ตอนที่มาเช่าเจ้าของเขาถามว่า เราจะทำอย่างไร จะทาสีอะไร เราจึงตอบกลับไปว่า คงไว้อย่างเดิมนี่แหละ มันเจ๋งอยู่แล้ว แค่กั้นกระจก ทำพื้น เเละผนังนิดหน่อยเท่านั้น
“ด้วยเเนวคิดที่ว่าเราอยากคงรูปแบบของอาคารที่ดูดิบ ๆ นี้ไว้อย่างเดิม เพราะนั่นเป็นสิ่งที่มันเคยเป็นมา เป็นร่องรอยของมัน”
ไม่ว่าจะด้วยสไตล์ความชอบส่วนตัว หรือด้วยหน้าตาที่ไม่มีใครเหมือนของอาคาร สิ่งเหล่านี้ทำให้ร่องรอยของยุคก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เดินทางข้ามผ่านเวลามาหลายสิบปีจนถึงทุกวันนี้
ที่สำคัญกว่านั้นอาคารที่ถูกทิ้งร้าง เเละยังไม่เคยบรรจุหน้าที่ใช้สอยใดที่ชัดเจนมาก่อน จะได้รับการฟื้นคืนชีวิต เพื่อเริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวบทใหม่ของเมืองเชียงใหม่ต่อไปในที่สุด

ออกแบบ: ถิรพัฒน์ จินดาวงศ์


เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: อนุพงษ์, ศุภกร

อ่านต่อ ตึกสาธรยูนิค ทาวเวอร์กับฝันที่ยังสร้างไม่เสร็จ

5 ตึกร้าง ที่สูงที่สุดในโลก!