DESIGN IN MOTION OFFICE ออฟฟิศสถาปนิกที่โชว์ผิววัสดุ โครงสร้าง และสเปซคุณภาพ

อาคารที่ออกมา จึงเป็นอาคารรูปร่างเหมือนมีชั้นลอยเป็นขั้นๆ สลับกันขึ้นไปเรื่อยๆ โดยภายในนี้ ได้แบ่งพื้นที่ใช้สอยเรียงกันขึ้นไป คือขั้นที่ 1 เป็นส่วนโถงต้อนรับ ขั้นที่ 2 เป็นครัวแพนทรี่ ขั้นที่ 3 เป็นห้องทำงานของพนักงาน ขั้นที่ 4 เป็นห้องทำงานของกลุ่มพาร์ทเนอร์ ต่อจากนั้นก็ยังมีชั้นดาดฟ้าเป็นขั้นที่ 5 และ 6 ไว้เป็นส่วนพักผ่อนภายนอกได้ด้วย

ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการออกแบบโครงสร้างภายใต้งบประมาณที่จำกัด โดยคุณธฤตกล่าวว่า การออกแบบจะใช้ระยะช่วงเสาเกือบทั้งหมดที่ระยะ 4 เมตร ด้วยเป็นระยะมาตรฐานของโครงสร้างปูนที่เอื้อให้ก่อสร้างเป็นไปได้ง่าย และยังคล้ายกับระยะของตึกแถว ที่ Design In Motion คุ้นเคยจากที่ทำงานเดิม นอกจากนั้น ภายใต้ระยะนี้ ยังใช้เผื่อไว้ต่อเติมชั้นของอาคารสำนักงานให้สูงขึ้นไป หากจะต้องขยับขยายขนาดสำนักงานอีกในอนาคต

ออฟฟิศสถาปนิก design in motion บันได

โดยในการออกแบบ มีแนวคิดเรื่องวัสดุคือ การใช้วัสดุที่เรียบง่ายที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดสำคัญคือเรื่องงบประมาณเป็นสำคัญ ดังนั้น ภาพลักษณ์ของอินทีเรียร์จึงเป็นการใช้คอนกรีตเปลือยผิวโดยไม่ตกแต่งเพิ่ม และแสดงระบบโครงสร้างทั้งเสาและคานอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการใช้พื้นสำเร็จแบบท้องหยัก ซึ่งก็ใช้โชว์เป็นฝ้าได้อย่างไม่ขัดเขิน และโดยเฉพาะในส่วนบันได ที่ทั้งภายในและภายนอกนั้นสามารถมองเห็นสัดส่วนและรูปร่างของบันไดได้ชัดเจน จนท้ายที่สุดบันไดนั้น ก็ได้กลายเป็นรูปลักษณ์ของอาคารโดยรวมไปโดยปริยาย

ที่สำคัญกว่านั้น บันไดเหล้านี้นั้นไม่ได้มีหน้าที่ใช้สอยไว้เฉพาะใช้เดินเชื่อมชั้น หรือไว้แสดงรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมแต่เพียงเท่านั้น

“เราคุยกันว่า เวลานั่งทำงานที่โต๊ะ พนักงานทุกคนจะเครียด เพราะนั่งอยู่แต่กับที่เดิม ไม่มีสเปซหรือพื้นที่ส่วนกลางให้นั่งอ่านหนังสือ กินกาแฟ หรืออะไรอย่างนี้เลย” คุณธฤตว่า

ออฟฟิศสถาปนิก design in motion บันได

“ความเครียดมันสะสมมากๆ พอมาที่นี่เราก็รู้สึกว่าทุกคนแฮปปี้ขึ้นเยอะมาก และจริงๆ ออฟฟิศเราตั้งใจให้แต่ละคน ทำงานแบบเคลื่อนย้ายไปมาได้ด้วย ดังนั้นตอนนี้เราจึงใช้โน้ตบุ้คแทบจะเป็นหลัก ทุกคนเลยสามารถถอดโน้ตบุ้ค แล้วก็ยกลงไปนั่งทำงานข้างล่างได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตอนนี้คนครึ่งหนึ่ง เอาโน้ตบุคลงไปนั่งทำงานตรงที่เป็นแพนทรี่ข้างล่าง เพราะมันมีความเป็นโถงส่วนกลาง คุยกันเรื่องโปรเจ็คได้ หรือเอาหนังสือมานั่งคุยกันก็ได้”

นอกจากจะใช้เชื่อมต่อพื้นที่ใช้สอยในทางกายภาพ บันไดที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะบนชั้น 1 จึงกลายเป็นพื้นที่เชื่อมต่อผู้คนด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ใช้นั่งคุยงาน เป็นที่รับประทานอาหาร รวมไปถึงเวลาพักผ่อนสังสรรค์ของบริษัท ด้วยเหตุนี้ บันไดซึ่งทำหน้าที่กลางๆ ที่ได้รอยรัดพื้นที่ใช้สอยของอาคารสำนักงานทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันนี้ จึงกลายเป็นองค์ประกอบที่ช่วยส่งเสริมทั้งมิติด้านกายภาพของสถาปัตยกรรม และมิติด้านความสัมพันธ์ของสำนักงานแห่งนี้ในเวลาเดียวกัน

ออกแบบ: Design In Motion Co.,ltd


เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: ศุภกร

TOUCH STUDIO โฮมออฟฟิศโมเดิร์นของ TOUCH ARCHITECT