THE SHOPHOUSE 1527 เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการอยู่อาศัยผ่านร่องรอยในความดิบ

ชั้น 1 ของตึกได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นมุมร้านกาแฟบรรยากาศเรียบเท่ ใช้ชื่อว่า Labyrinth Cafe โดยเพิ่มเคาน์เตอร์ยาวสำหรับบริการลูกค้า เปลี่ยนผนังด้านหน้าทางเข้าและด้านหลังเป็นประตูเหล็กบานใหญ่ สามารถเปิดเชื่อมทะลุพื้นที่ได้ ส่วนชั้น 2 และ 3 ปรับให้เชื่อมต่อกันกลายเป็นโถงสูงชั้นเดียวเพื่อให้เกิดสเปซที่ยืดหยุ่น รองรับการเป็นแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะและจัดกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังหมุนกลับด้านบันไดเดิมระหว่างชั้น 1 กับ 2 โดยเปลี่ยนทิศทางบันไดให้สามารถเดินขึ้นจากพื้นที่ด้านหน้าได้เลยทันที เชื้อเชิญให้แขกจากชั้นล่างเดินสู่ชั้นบนได้ง่ายขึ้น

อาร์ตสเปซ รีโนเวตตึกแถว

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการเก็บรักษาร่องรอยเดิมภายในห้องแถวไว้ให้ได้มากที่สุด ทั้งร่องรอยอันบ่งบอกถึงการใช้งานมาตลอดครึ่งศตวรรษ รวมไปถึงร่องรอยของการปรับเปลี่ยนและก่อสร้างครั้งใหม่นี้ด้วย หากมองในแง่ของผู้ออกแบบ พื้นที่ทุกมุมที่ตั้งใจรองรับการจัดแสดงศิลปะล้วนมีความโดดเด่น และได้กลายเป็นงาน “ศิลปะ” ชิ้นหนึ่งไปพร้อมกันโดยปริยาย

“เรารู้สึกว่านี่เป็นเรื่องราวที่เล่าได้” คุณนัฐพงษ์ว่า “เราต้องการทำนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเมือง ผู้คน และการอยู่อาศัยในสามย่าน เลยรู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นเราทำให้ที่นี่กลายเป็นนิทรรศการไปด้วยเลยแล้วกัน สิ่งที่เราจะจัดแสดงนั้นก็คือตัวตึกนี่แหละ ให้ตัวอาคารเป็นเหมือน Art Object ให้คนมาดูตึก ดูร่องรอย ซึ่งเป็นสิ่งช่วยบอกเล่าเรื่องราวของคนที่เขาเคยอยู่ที่นี่มาก่อนว่าเขาอยู่กันอย่างไร”

นิทรรศการแรกพร้อมการเปิดตัวของ The Shophouse 1527 เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา จึงมีชื่อว่า “Resonance of Lives at 1527” โดยจัดแสดงงานร่วมกับ soi | ซอย และ DON BOY สิ่งที่ถือเป็นงานศิลปะของงานครั้งนี้คือ ร่องรอยดั้งเดิมบนผนัง พร้อมรอยชอล์คของช่างที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการก่อสร้าง ปะปนไปกับรอยชอล์คของศิลปินผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในนิทรรศการครั้งนี้ ผสานกับร่องรอยเดิมอย่างแยกไม่ออก เช่น คำว่า “อยู่” “จวน” “แล้ว” “was” “were” “becoming” และอื่น ๆ ซึ่งล้วนมีความหมายกลาย ๆ ถึงเวลา และสภาวะการเปลี่ยนผ่าน

นอกจากนี้ยังมีเสียงของการทุบ ขุด เจาะ ที่ดังก้องจากลำโพง เปิดควบคู่ไปกับการเดินดูตึก คล้ายเป็นการพาผู้เข้าชมย้อนไปสู่ช่วงเวลาขณะที่กำลังเกิดการขนย้ายและรื้อถอน เพื่อเชื่อมโยงผู้ที่เข้ามาใหม่กับผู้อาศัยเดิม ระหว่างสถานที่กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลง ซึ่งบรรยากาศและโมเม้นต์ดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและถูกมองข้ามไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

อาร์ตสเปซ รีโนเวตตึกแถว อาร์ตสเปซ รีโนเวตตึกแถว

ร่องรอยบนผนังทั้งหมดยังคงอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกเหนือกว่านั้นในอนาคตผนังของตึกแถวนี้ยังจะถูกเติมแต่งเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากการใช้งานของร้านกาแฟที่อยู่บริเวณชั้นล่าง รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการในพื้นที่ต่าง ๆ โดยร่องรอยที่เกิดขึ้น (และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต) กล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากความตั้งใจของผู้สร้าง ที่อยากปล่อยให้ที่นี่เปลือยเปล่า สำหรับรองรับสิ่งใหม่ ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องรักษาความ “ดิบ” และ “ดั้งเดิม” ไว้ ในแบบที่ไม่สูญเสียเอกลักษณ์ หรือที่มาที่ไปของตัวอาคาร ตามที่คุณนัฐพงษ์ได้กล่าวไว้

“ผมไม่ได้ยึดติดกับอะไร ผมมองว่าอาคารนี้เป็นเหมือนผืนผ้าใบเสียด้วยซ้ำ ใครจะมาทำอะไรก็ได้ จะมาติดป้าย หรือเขียนอะไรก็ได้ แต่ขอมีเงื่อนไขเล็กน้อยว่า อย่าทำลายความเป็นดั้งเดิม หรือ Originality ของมัน”

“เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็น New Originality น่ะ” คุณดลพรกล่าวเสริม “มันจะกลายเป็นเหมือนเราแยกไม่ออกว่า อันไหนเก่า หรือใหม่ เพราะจริง ๆ แล้วภาพความตั้งใจของเราคือ อยากให้รู้ว่าจุดเริ่มต้นของอาคารนี้เคยมีความเป็นมาอย่างไรมากกว่า”

ตามแผนที่วางไว้ The Shophouse 1527 จะเปิดเป็นพื้นที่ทดลองทางความคิดไปอีกราว 2 ปี หลังจากนั้นพื้นที่แห่งนี้อาจจะยังคงอยู่ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือตึกทั้งตึกอาจอันตรธานหายไปเลยก็ได้ ยังไม่มีผู้ใดทราบได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทราบอย่างแน่ชัดคือ อดีตและปัจจุบันของสถานที่นี้ได้ถูกหลอมรวมกันผ่านร่องรอยความดิบบนพื้นผิว เป็นการหลอมรวมอันเกิดขึ้น ณ สถานที่ที่ออกแบบให้เวลาค่อย ๆ ชะลอตัวเดินช้าลง ๆ เพื่อให้ความคิดค่อย ๆ ดำเนินไปพร้อมกับความหอมกรุ่นของกาแฟที่ลอยอบอวลไปทั่ว ราวกับกลิ่นอายแห่งอดีตและภาพปัจจุบันที่ผสานกันเป็นหนึ่งเดียว

อาร์ตสเปซ รีโนเวตตึกแถว อาร์ตสเปซ รีโนเวตตึกแถว

ออกแบบ : Cloud-Floor  และ IF (Integrated Field)


เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: นันทิยา