THE VILLAGE ลุคใหม่ไฉไลกว่าเก่าของอพาร์ตเม้นต์สีขาวกลางเมืองกว่างโจว - room

THE VILLAGE ลุคใหม่ของอพาร์ตเมนต์เก่ากลางเมืองกว่างโจว

THE VILLAGE ลุคใหม่ไฉไลกว่าเก่าของอพาร์ตเม้นต์สีขาวกลางเมืองกว่างโจว - room
THE VILLAGE ลุคใหม่ไฉไลกว่าเก่าของอพาร์ตเม้นต์สีขาวกลางเมืองกว่างโจว - room

ลุคใหม่ของ The Village อพาร์ตเมนต์เก่าทรุดโทรมกลางเมืองกว่างโจว ที่สถาปนิกจาก TEAM_BLDG สร้างจุดเด่นด้วยฟาซาดอะลูมิเนียมเจาะรูกึ่งโปร่งแบบลอนสีขาว นอกจากช่วยให้อาคารดูเท่เเละทันสมัยแล้ว ยังคงมีกลมกลืนไปกับบริบทหรือพื้นที่ใกล้เคียงอยู่เช่นเดิม

ในหนังสือ Arrival City: The Final Migration and Our Next World ที่เขียนโดย Doug Saunders บ่งชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับเเรงงานอพยพที่หลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อน จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม เพราะบางทีการทำเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่นั้น อาจเป็นแหล่งกำเนิดของคลื่นลูกต่อไปในการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมก็เป็นได้

สารจากสถาปนิก TEAM_BLDG เกริ่นนำถึงปัจจัยการพัฒนาพื้นที่พักอาศัยเดิมด้วยวิถีใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งในกรณีนี้พวกเขาพูดถึงชุมชนเมือง หรือ Urban Village ในกว่างโจว เมืองเศรษฐกิจสำคัญของจีน ที่ปัจจุบันยังคงมีอาคารพักอาศัยในรูปแบบอพาร์ตเมนต์ตั้งอยู่อย่างหนาแน่น โดยมีข้อมูลอ้างอิงจากสถาปนิกระบุว่าจากสถิติจากปี2016 พบว่ามีอาคารพักอาศัยในลักษณะนี้มากกว่า 304 แห่ง หรือคิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 716 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรกว่า 6 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

โดยอาคารส่วนใหญ่กำลังอยู่ในสภาพทรุดโทรม และมีความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงที่พักอาศัยให้มีสุขลักษณะที่ดี เช่นเดียวกับโครงการปรับปรุงอาคารพักอาศัยในชื่อ The Village ของ TEAM_BLDG ที่เรากำลังจะพาคุณไปเยี่ยมเยือน  เนื่องจากที่นี่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีเยี่ยม ทำให้มีแนวโน้มว่ากลุ่มเเรงงานจากต่างเมืองจะหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นทุกปี ทว่าปัญหาสำคัญอย่างคำอธิบายของสถาปนิกที่ได้บอกไว้คือ การขาดแคลนเงินทุน รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ยุ่งยากซับซ้อน ได้กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการปรับปรุงอพาร์ตเมนต์เก่าเหล่านี้

ดังนั้นในการปรับปรุงสถาปัตยกรรมเพื่อการพักอาศัยในเมืองกว่างโจวครั้งนี้ ทีมสถาปนิกจาก TEAM_BLDG  ได้มุ่งหวังว่าการทำงานของพวกเขาจะไม่เป็นเพียงการช่วยแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมเพียงแค่อาคารใดอาคารหนึ่งเท่านั้น หากเเต่ยังคงคิดรูปแบบงานออกแบบให้สามารถทำซ้ำ เพื่อสร้างทางออกที่ดีให้แก่การรีโนเวตตึกเก่าที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมหลาย ๆ แห่งในเมืองให้กลับมาพร้อมใช้งาน เเละสร้างมาตรฐานการอยู่อาศัยที่ดีได้อีกครั้ง

การปรับปรุงภายใต้ข้อจำกัดด้านความเบียดเสียดของชุมชนแนวตั้งใจกลางเมือง

โครงการปรับปรุงอพาร์ตเมนต์เก่าในชื่อ THE VILLAGE แห่งนี้ ตั้งอยู่บนถนน Siyou Second ในย่าน Yuexiu ซึ่งเป็นเขตที่พักอาศัยใจกลางเมือง ที่มีพื้นที่เล็กที่สุด แต่มีความหนาแน่นของประชากรสูงที่สุดในเมืองกว่างโจว ข้อดีของทำเลที่ตั้งคือการคมนาคมที่สะดวกสบาย มีถนนสายหลักผู้คนสัญจรเดินทางกันอย่างคึกคัก ทั้งยังมีตลาดสดค้าเนื้อและผักอย่าง Siyou เเหล่งรวมร้านค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่

แต่ด้วยข้อจำกัดของรูปแบบอาคารเดิม ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงปีค.ศ.1950 และ 1960 ที่มีช่องทางเดินค่อนข้างแคบ อีกทั้งในบริเวณใกล้เคียงยังมีอาคารพักอาศัยอีกสองแห่งมีโครงสร้างภายในลักษณะคล้ายคลึงกัน สถาปนิกจึงปรับปรุงพื้นที่ภายในรวมถึงภายนอกอาคารทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับความต้องการพื้นที่ส่วนกลางที่น่าใช้งาน เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้มากขึ้น

สิ่งที่เจ้าของอาคารมุ่งหวังไว้ว่าก็คือการปรับปรุงในครั้งนี้จะสามารถขจัดปัญหาเดิมที่เรากล่าวไป รวมถึงความสกปรกของหมู่บ้านกลางเมือง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ หรือมาตรฐานใหม่ของแบรนด์ ซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์ให้เช่าระยะยาว ในขณะเดียวกันก็หวังว่าจะปรับปรุงพื้นที่ภายในเพื่อให้อพาร์ตเมนต์ไม่เพียงมีความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย แต่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะเพื่อทำกิจกรรมและเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย

เพิ่มความโปร่งเบา ลดความหนาหนัก เพื่อสร้างภาษาใหม่ผ่านฟาซาดอพาร์ตเมนต์

“Lose weight” หรือ ลดความหนาหนัก คือความตั้งใจของทีมผู้ออกแบบ ในการสร้างภาษาใหม่ของฟาซาดอาคารที่พวกเขาอยากเปลี่ยนผิววัสดุหุ้มอาคารภายนอกให้ต่างออกไปจากหน้าตาเดิม ๆอย่างอาคารทั่วไป ทั้งนี้ก็ยังคงมีความกลมกลืนไปกับบริบท หรือพื้นที่ใกล้เคียงอยู่เช่นเดิม

ฟาซาดที่สถาปนิกเลือกใช้คือแผ่นอะลูมิเนียมจะรูกึ่งโปร่งแบบลอนที่ผ่านการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงวิธีการเจาะผิว กำหนดสัดส่วนจนพอเหมาะ เพื่อห่อหุ้มหน้าอาคารในส่วนระเบียงที่ยื่นออกมา เพื่อคงสภาพของอาคารดั้งเดิม (ที่ดูใหม่และเท่ขึ้นอย่างมาก) และจัดระเบียบความไม่เรียบร้อยซ่อนไว้หลังฟาซาดอะลูมิเนียม คล้ายกับการตัดแปะพื้นผิวอันทันสมัยเข้าไปสร้างความแตกต่างระหว่างภาษาใหม่กับภาษาเก่า

THE VILLAGE THE VILLAGE

นอกจากนี้ยังปรับพื้นที่โถงอาคารและบันไดหลักให้สะอาดตา โดยพื้นที่ส่วนกลางนี้มีลักษณะเป็นคอร์ดยาร์ดกลางอาคาร ผู้ออกแบบพยายามรักษาโครงสร้างดั้งเดิมของอาคารให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไป พร้อมจัดระเบียบตำแหน่งเครื่องปรับอากาศและงานระบบต่าง ๆ เพื่อให้คอร์ดยาร์ดเปิดโล่ง สบายตา สบายใจ เกิดการใช้งานพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

คงสภาพโครงสร้างเดิม แต่จัดระเบียบและตกแต่งภายในพื้นที่ส่วนกลางให้น่าใช้งานมากขึ้น

ในกระบวนการปรับปรุงอาคารนั้น เนื่องจากตัวอาคารเดิมขาดการดูแลซ่อมแซมมาเป็นเวลานาน อีกทั้งระบบท่อที่ไม่ถูกจัดระเบียบ การติดตั้งงานระบบท่อเพื่อลำเลียงน้ำ และระบบท่อดับเพลิงใหม่ภายในอาคาร จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในการรีโนเวตครั้งนี้ อย่างไรก็ตามวิธีการเชื่อมต่องานระบบใหม่ภายในโครงการให้เข้ากับงานระบบของเมืองที่มีอยู่ได้รับการแก้ไขอย่างสมเหตุสมผลด้วยความพยายามและคำปรึกษาจากหลายฝ่าย

ในด้านวัสดุเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการและงานออกแบบที่มีประสิทธิภาพสูงพร้อมต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งมีราคาเพียง 150-180 เหรียญสหรัฐฯต่อตารางเมตร ผู้ออกแบบได้เลือกห้องน้ำสำเร็จรูปและวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปมาใช้ให้ได้มากที่สุด เช่น กระเบื้องปูพื้นหินขัด และแผ่นโลหะแขวนผนัง ภายใต้ข้อจำกัดของเวลาและงบประมาณ วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งทางเข้าของอาคารและพื้นที่ส่วนกลางจึงเลือกใช้วัสดุที่สามารถสร้างได้เร็ว  และตอบสนองความต้องการการใช้งานจริงได้ดียิ่งขึ้น

THE VILLAGE THE VILLAGE THE VILLAGE THE VILLAGE THE VILLAGE THE VILLAGE THE VILLAGE THE VILLAGE  

Plan, Section, and Elevation

ระยะเวลาออกแบบ: ก.ค. 2018 – ก.พ. 2019
ระยะเวลาการก่อสร้าง: ก.พ. – ต.ค. 2019

ที่ตั้ง: Yuexiu, กว่างโจว, จีน
ขนาดพื้นที่: 6,000 ตารางเมตร
ออกแบบสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตยกรรม: TEAM_BLDG
สถาปนิกโครงการ: Xiao Lei, Shigeno Yuji, Yang Yuqiong, Wang Zipeng, Cao Yi, Pedro Manzano Ruiz

ภาพ: Jonathan Leijonhufvud