ห้องสมุดชุมชน

MICROLIBRARY WARAK KAYU อาคารห้องสมุดสาธารณะประหยัดพลังงานแห่งเมืองเซมารัง

ห้องสมุดชุมชน
ห้องสมุดชุมชน

Microlibrary Warak Kayu อาคารห้องสมุดประหยัดพลังงาน กันแดดและฝนได้ดี มีมุมอ่านหนังสือที่สร้างสภาวะน่าสบายโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ ผลงานการออกแบบจาก SHAU Indonesia

Microlibrary Warak Kayu คือห้องสมุดประหยัดพลังงานแห่งเมืองเซมารัง ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ที่ Taman Kasmaran จัตุรัสสาธารณะย่านใจกลางเมืองใกล้กับแม่น้ำ และ Kampung Pelangi หมู่บ้านสีรุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อในท้องถิ่น

นี่คืออาคารหลังที่ 5 ที่สร้างขึ้นในโปรเจ็กต์ Microlibrary series ผลงานจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในท้องถิ่นของเมืองเซมารัง นำโดยมูลนิธิ Arkatama Isvara และกลุ่ม Harvey Centre ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มจำนวนห้องสมุดในเมือง ที่มาพร้อมพื้นที่ใช้สอยแบบมัลติฟังก์ชัน ผ่านการออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียจากบริษัท PT Kayu Lapis Indonesia มาใช้เพื่อก่อประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองโดย Forest Stewardship Council (FSC) รับประกันว่าเป็นไม้ที่ได้จากป่าธรรมชาติหรือป่าปลูกที่มีการจัดการป่าอย่างถูกต้อง

Microlibrary Warak KayuMicrolibrary Warak Kayu

ออกแบบโดยสำนักงานออกแบบ SHAU ไม้ที่ใช้ก่อสร้างทั้งหมดล้วนได้รับการประกอบสำเร็จจากโรงงาน ใช้เวลาการขนส่งมายังไซต์งานไม่เกิน 20 กม. จึงช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อสภาพแวดล้อม ก่อสร้างได้ทันที ไม่เกิดฝุ่น และเสียงดังรบกวน ขณะที่ฐานรากและวัสดุมุงหลังคามีไอเดียพื้นฐานมาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมในท้องถิ่น ซึ่งเรียกกันว่า ‘Rumah panggung’ หรือบ้านยกใต้ถุนสูงสอดรับกับสภาพอากาศในเขตร้อนชื้น ช่วยให้สามารถใช้งานได้อย่างสบายตลอดทั้งวัน

พื้นที่ใต้ถุนอาคารสามารถจัดเวิร์กช็อปเล็ก ๆ โดยมีอัฒจันทร์ขนาบบันไดทางขึ้นไว้นั่งเล่น หรือใช้จัดกิจกรรมสาธารณะในโอกาสต่าง ๆ มีชิงช้าให้เด็ก ๆ ได้เล่นสนุกทุก ๆ ช่วงเวลา ในขณะที่ชั้นบนมีพื้นตาข่ายให้เด็ก ๆ ได้หยิบหนังสือจากชั้นมานอนอ่านเล่น ประกอบกับมีมุมให้ความรู้เกี่ยวกับวัสดุไม้และเทคนิคการก่อสร้างของ PT Kayu Lapis Indonesia อีกด้วย

จุดเด่นอีกอย่างที่อดกล่าวถึงไม่ได้คือ ผนัง ซึ่งเรียกกันว่า Brise Soleil พัฒนาขึ้นมาจากระบบการก่อสร้างแบบ Zollinger Bauweise คิดค้นขึ้นใช้เมื่อปี 1920 ในเยอรมนี ด้วยการประกอบชิ้นส่วนไม้ต่อกันแบบโมดูลาร์จนเกิดเป็นผนังบังแสง เชื่อมโยงกับความเชื่อท้องถิ่นที่ดูคล้ายกับเกล็ดมังกร หรือสัตว์ในตำนานของอินโดนีเซียอย่าง Warak Ngendog

และถึงแม้ว่าข้อจำกัดของพื้นที่ตั้งจะบังคับให้ตัวอาคารต้องหันหน้าปะทะกับเเสงแดดในทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้โดยตรง ทว่าด้วยความลึกของผนังที่คิดคำนวณและออกแบบมา กลับสามารถช่วยป้องกันแสงและความร้อนของดวงอาทิตย์ในตอนเช้าและช่วงบ่ายไม่ให้เข้ามาถึงยังตัวอาคารได้ รวมไปถึงการสร้างระยะยื่นของหลังคาหรือกันสาด ยังช่วยป้องกันแดดและฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนช่องเปิดที่ดูโปร่งโล่งได้ทำหน้าที่ระบายอากาศ ให้ลมนำพาความชื้นออกจากอาคาร ป้องกันไม่ให้หนังสือเกิดเชื้อราหรือชำรุด โดยมีเพียงผ้าม่านไว้รูดปิดยามจำเป็นเท่านั้น

มีจุดประสงค์เปิดเพื่อต้อนรับผู้คนทุกเพศทุกวัยให้เข้ามาใช้เวลาพักผ่อนเเละหาความรู้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ จึงนับเป็นอีกหนึ่งอาคารสาธารณะที่มอบประโยชน์ให้เเก่ชุมชนที่น่าปรบมือให้ สะท้อนถึงความร่วมมือกันของหลาย ๆ หน่วยงานที่เล็งเห็นคุณค่าของการพัฒนา เเม้จะเริ่มจากสถานที่เล็ก ๆ อย่างห้องสมุด เเต่เชื่อว่าผลลัพธ์ที่จะได้กลับมาย่อมเกิดความคุ้มค่าในอนาคตเเน่นอน

Plan, Section, and Elevation

เจ้าของโครงการ: Arkatama Isvara Foundation โดย Michael Sutanto และ Yessica Leoni Suryaharja
พื้นที่ใช้สอย: 182 ตารางเมตร
ออกแบบ: SHAU Indonesia
สถาปนิกโครงการ: Florian Heinzelmann และ Daliana Suryawinata ร่วมด้วย Rizki Maulid Supratman, Muhammad Ichsan, Alfian Reza Almadjid และ Multazam Akbar Junaedi
วิศวกรรมโครงสร้าง: Joko Agus Catur Wibowo
Prefabrication: PT – Kayu Lapis Indonesia, Andre Sulistyo Purnomo, Dodong Budijanto Purnomo และ Yosep Bayu Setiyawan
ผู้รับเหมา: RAH Contractor

เรียบเรียง: ND24
ภาพ: KIE & team