แมลงสาบ จิ้งจก เเละตุ๊กแก เป็นสัตว์ที่หลายคนมักเกลียดเเละกลัวกันเเบบสุด ๆ โดยเฉพาะหากสัตว์เหล่านั้นวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ ตัว หรือพบเจอได้บ่อยในบ้านเรือนที่เราพักอาศัย ด้วยความห่วงใยท่านผู้อ่าน บ้านและสวนจึงไม่รอช้า รีบหาวิธีการจัดการกับสัตว์เเละแมลงสุดยี้เหล่านั้นมาให้แล้ว
สมุนไพรไล่แมลง สูตรร้อนแรง ทำใช้เองแบบง่าย ๆ
เข้าใจพฤติกรรม
ก่อนอื่นถ้าจะกำจัดก็ต้องเริ่มจัดการกันที่ต้นตอ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องรู้พฤติกรรม การดำเนินชีวิต และสิ่งที่ชักนำ แมลงสาบ จิ้งจก ตุ๊กแก เหล่านั้นเข้ามาในบ้าน

แมลงสาบ
แมลงสาบที่พบตามบ้านเรือนทั่วไปคือ แมลงสาบเยอรมัน และแมลงสาบอเมริกัน ส่วนแมลงสาบพื้นถิ่นดั้งเดิม(ที่ไม่ค่อยพบเห็นแล้ว)จะเรียกว่า แมลงสาบไทย หรือแมลงสาบเอเชีย ในที่นี้จึงจะขอกล่าวถึงแมลงสาบเยอรมันและอเมริกันเป็นสำคัญ เพราะพบเจอได้บ่อยที่สุด
ลักษณะ พฤติกรรม และแหล่งอาศัยภายในบ้าน
มีลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ยาว ขนาดประมาณครึ่งนิ้ว ปีกยาวทั้งสองเพศ บินเก่ง ที่ด้านหลังของทรวงอกท่อนแรก มีแถบสีดำสองแถบ เห็นชัดเจน มีอายุประมาณ 100 วัน ชอบอากาศอบอุ่น ตัวเต็มวัย 7–10 วันจะผสมพันธุ์ ตัวเมียที่มีไข่จะลากเกราะหุ้มไข่ติดกับท้องตลอดเวลาจนกว่าไข่จะสุก ประมาณ 2–4 สัปดาห์ พบได้ตามบ้านเรือน สามารถแพร่พันธ์ุได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งเพศผู้แต่อย่างใด
สำหรับนิสัยของแมลงสาบจะชอบอยู่เป็นกลุ่ม ตามซอกมุมภายในบ้าน-นอกบ้าน ท่อน้ำทิ้งทั้งภายใน-นอกอาคารบ้านเรือน ตามซอกมุมที่มีความอับชื้น การทำความสะอาดเข้าไม่ถึง เเละไม่ชอบแสงสว่าง เราจึงมักไม่ค่อยพบแมลงสาบในเวลากลางวัน แต่พวกมันจะออกมาหาอาหารและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในเวลากลางคืนและในที่มืด แมลงสาบกินอาหารได้เกือบทุกชนิด การวางอาหารทิ้งไว้ หรือทำเศษอาหารตกหล่นเลอะเทอะ จึงเหมือนเป็นการเรียกให้แมลงสาบมาหา โดยมันมักจะวางกระเปาะไข่ในบริเวณที่ตัวอ่อนสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ง่าย เช่น ตามซอกอับชื้นภายในบ้าน หรือใกล้บริเวณที่มีน้ำและอาหารอยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงมักพบเห็นได้บ่อยในห้องน้ำและห้องครัว
สิ่งเร้าที่ชักนำเข้าสู่บ้าน
พื้นที่ชื้นแชะ มุมอับ เศษอาหาร และคราบสกปรก(ในครัวและห้องน้ำ)
อันตรายจากแมลงสาบ
เป็นตัวการนำเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่าง ๆ ได้แก่ โรคเรื้อน กาฬโรค โรคบิด โรคท้องเสียในเด็ก โรคติดเชื้อของช่องขับถ่าย (Urinary tract) โรคฝี ผิวหนังพุพอง โรคในระบบทางเดินอาหาร โรคอาหารเป็นพิษ และโรคไทฟอยด์ ทั้งยังเป็นพาหะ หนอนพยาธิ เชื้อไวรัส โปรโตซัว และเชื้อรา
แนวทางการจัดการแมลงสาบ
กำจัดที่อยู่
ทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้มีเศษอาหาร เเละคราบสะสม ทั้งการวางทิ้งไว้ หรือเศษอาหารที่ตกหล่นตามพื้น จัดการพื้นที่อับชื้น และปิดฝาท่อระบายน้ำด้วยผลิตภัณฑ์ที่กันแมลงได้
นอกจากนี้เฟอร์นิเจอร์ที่มีมุมอับ หรือเฟอร์นิเจอร์ไม้อัดโดยเฉพาะ MDF ที่อับชื้น รวมทั้งลังกระดาษยังอาจเป็นแหล่งวางไข่ให้เหล่าแมลงสาบได้อีกด้วย ดั้งนั้นจึงควรกำจัดเสีย
การไล่ด้วยวิธีธรรมชาติ
1. สบู่ผสมน้ำ สามารถแก้กลิ่นอับชื้น และไล่แมลงสาบได้ แต่อาจจะไม่ค่อยได้ผลนัก
2. ใบกระวาน ใบเตย ใบยูคาลิปตัส หรือไม้ใบจำพวกที่มีน้ำมันหอมระเหย จะทำให้เหล่าแม่งสาบไม่อยากเข้าใกล้ ลองเลือกกลิ่นที่ชอบ แล้วนำไปไว้ในจุดอับของบ้านดู รับรองช่วยได้แน่ ๆ
3. พริกไทย เช่นเดียวกับไม้ใบที่มีน้ำมันหอมระเหย เหล่าแมลงสาบจะระคายเคืองเมื่อเราใช้พริกไทยผสมน้ำไปฉีดพ่นไว้ตามแหล่งที่พบเจอแมลงสาบอาศัยอยู่ หรือง่ายกว่านั้นก็นำพริกไทยเม็ดไปวางในมุุมก็ช่วยได้
4. เปลือกส้ม เปลือกมะนาว ผลไม้ที่เปลือกมีน้ำมันซิตรัส สามารถช่วยไล่แมลงและแม้แต่จิ้งจกได้เป็นอย่างดี
5. น้ำมันสะเดา ผสมน้ำฉีดพ่นตามจุดที่พบแมลงสาบจะสามารถช่วยไล่แมลงสาบได้
การกำจัดด้วยวิธีเคมี
1. ลูกเหม็น หรือ Naphthalene ใช้ใส่ในที่อับเพื่อไล่แมลง แต่ก็ควรระวังเด็กเล็กนำเข้าปาก เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
2. ยาเบื่อแมลงสาบ สามารถนำไปใส่ในอาหารเพื่อวางล่อไว้ให้แมลงสาบกินได้ รับรองว่าดาวดิ้น
3. ผงกรดบอริก สำหรับใช้ในการเกษตร สามารถนำมาใช้ไล่แมลงสาบได้เช่นเดียวกัน แต่ควรจัดการทำความสะอาดทันทีเมื่อเห็นว่าแมลงสาบตายหมดแล้ว
4.เบกกิ้งโซดา สามารถนำมาผสมกับน้ำตาลได้ ล่อให้มากินจะทำให้แมลงสาบตาย เนื่องจากเกิดแก๊ซในกระเพาะมากเกินไป
5. กับดักแมลงสาบ มีทั้งแบบกาว และแบบอาหารล่อ ออกแนวโหดนิด ๆ แต่ได้ผลจริงจัง
6. ยาฆ่าแมลง โดยทั่วไปก็คือ DDT แน่นอนที่สุดที่ต้องฆ่าแมลงได้ แต่ก็เป็นพิษสะสมต่อคนด้วยเช่นกัน

จิ้งจก
จิ้งจกที่เราเห็นกันอยู่บ่อย ๆ คือ จิ้งจกบ้าน เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ใกล้ชิดกับคนเรามากที่สุด ซึ่งพบได้ทั่วไปตามบ้านเรือน ชอบอาศัยตามซอกมุม หรือตู้เสื้อผ้า และออกหากินแมลงตามแหล่งที่มีเเสงไฟ จิ้งจกมีข้อเสียมากกว่าประโยชน์ เช่น จิ้งจกมักร้องเสียงดังน่ารำคาญ และมักถ่ายมูลติดเปื้อนข้าวของ
ลักษณะ พฤติกรรม และแหล่งอาศัยภายในบ้าน
จิ้งจก มีลำตัวขนาดเล็ก จากหัวถึงปลายหางประมาณ 8-10 เซนติเมตร ลำตัวมีผิวหนังบางใส มองเห็นสีเนื้อด้านใน หรือมีสีเทา เเละสีน้ำตาลอ่อน สามารถเปลี่ยนสีได้ ผิวหนังดูผิวเผินจะเรียบ แต่หากส่องกล้องดูจะพบเป็นตุ่ม หรือเกล็ดปกคลุม ส่วนหัวมีขนาดเท่ากับลำตัว ตามี 2 ข้าง ไม่มีม่านตา จมูกมี 2 รู ขนาดเล็ก อยู่บริเวณเหนือปากด้านบน มุมปากยาว อ้าปากได้กว้าง ภายในปากมีลิ้นสั้น แต่ยืดยาวได้ หางสามารถงอกใหม่ได้ หากหางขาด ซึ่งจะใช้เวลางอกใหม่ประมาณ 1 เดือน ขึ้นอยู่กับจุดที่ขาด ไข่จิ้งจกมีลักษณะกลมรี คล้ายไข่ไก่ เปลือกไข่มีสีขาวคล้ายไข่เป็ด ไข่มีขนาดเล็ก กว้างประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.7-1.0 เซนติเมตร
แหล่งที่พบจิ้งจกส่วนมากจะพบตามอาคารบ้านเรือน บ้านร้าง เเละต้นไม่ใหญ่ กลางวันชอบหลบตามซอกมุมมืดต่าง ๆ ชอบออกหากินในเวลากลางคืน หรือในแหล่งที่มีแสงไฟล่อแมลง ผีเสื้อกลางคืน หรือเเม้เเต่เเมลงสาบอันเป็นอาหารอันโอชะของจิ้งจก
สิ่งเร้าที่ชักนำเข้าสู่บ้าน
ซอกมุมมืดเงียบ ๆ และแสงไฟที่ล่อแมลง
อันตรายจากจิ้งจก
มูลจิ้งจก มีเชื้อ ซัลโมเนลล่า(Salmonella)ซึ่งเป็นเเบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ โรคไข้รากสาดน้อย หรือไข้ไทฟอยด์ โรคไข้รากสาดเทียม ลำไส้อักเสบ โรคอุจจาระร่วง โลหิตเป็นพิษ อีกทั้งยังสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในคน เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กเล็ก และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปในปริมาณมากจะทำให้เกิดโรค โดยจะเกิดอาการภายใน 8-48 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ ปวดบิดในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และเป็นนานถึง 1-8 วัน แล้วแต่กรณี ในรายที่รุนแรงอาจติดเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด เเละเยื่อหุ้มสมอง จนถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยจะเป็นพาหะนำโรคเป็นเวลานาน และสามารถแพร่โรคจากคนสู่คน
แนวทางการจัดการจิ้งจก
กำจัดที่อยู่
จิ้งจกมักออกมาหากินในพื้นที่ที่มีแสงเพราะจะมีเหล่าแมลงมาเล่นเเสงไฟเยอะ แต่ที่อยู่ของมันจริง ๆ ก็คือซอกหลืบในมุมมืดของบ้าน รวมทั้งตามตู้เสื้อผ้า หรือหลังตู้อื่น ๆ ในบ้าน เพราะฉะนั้นหากจะจัดการที่อยู่ของเหล่าจิ้งจก เราควรจะต้องจัดการบ้านให้รกน้อยที่สุด กำจัดซอกหลืบ เช่น ตู้ลอยตัวที่มีด้านหลังตู้ หากใช้ตู้แบบที่เป็น Build-In ก็จะทำให้ลดซอกหลืบไปได้มาก หรือปิดช่องตามชายประตูให้มิดชิดติดมุ้งลวดตามกรอบบานต่าง ๆ และระมัดระวังแสงไฟที่จะล่อแมลงเข้ามา เพราะถ้ามีแมลงก็จะมีจิ้งจกตามมาด้วยนั่นเอง
นอกจากนี้จิ้งจกยังไม่ชอบแสงแดด เพราะฉะนั้นหากว่าพื้นที่ใดที่ได้รับแดดดีแล้วก็จะไม่มีจิ้งจกอยู่ในพื้นที่นั้น อีกทั้งหากปลูกต้นไม้ไว้รอบบ้านก็จะเป็นที่อยู่อาศัยให้จิ้งจก พวกมันจะได้ไม่ต้องเข้ามาในบ้าน
การไล่ด้วยวิธีธรรมชาติ
1. ไม้ใบที่มีน้ำมันหอมระเหย และผลไม้ที่เปลือกมีน้ำมันซิตรัส เป็นสิ่งที่จิ้งจกไม่ชอบเช่นเดียวกับแมลงสาบ สามารถใช้วิธีเดียวกันได้ ซึ่งเหล่าสมุนไพรไล่จิ้งจกก็ใช้ส่วนผสมจากสิ่งเหล่านี้นั่นเอง
2. ควันไฟ จากธูปหอม ถ่าน หรือสมุนไพร ควันใด ๆ ก็ตามล้วนเป็นสิ่งที่จิ้งจกไม่ชอบ
3. หัวหอม ไม่ว่าจะหอมใหญ่ หอมแดง หรือแม้แต่กระเทียมคนยังน้ำตาไหล จิ้งจกเองก็ไม่ชอบเช่นกัน โดยนำมาหั่นเป็นแว่น ๆ แล้ววางตามจุดที่พบตัวได้เลย
4. การบูร นอกจากจะช่วยไล่แมลงได้แล้ว ยังช่วยไล่จิ้งจกได้อีกด้วย
5. เลี้ยงแมว เพราะแมวชอบจับจิ้งจก แต่อย่าตกใจตอนน้องแมวเอาเหยื่อมาฝากก็แล้วกัน
6. ตุ๊กแก จิ้งจกกลัวตุ๊กแก เพราะฉะนั้นการเลี้ยงตุ๊กแกก็สามารถช่วยไล่จิ้งจกได้ ว่าแต่…แล้วเราต้องกลัวตุ๊กแกแทนหรือเปล่านะ
การกำจัดด้วยวิธีเคมี
1. ลูกเหม็น หรือ Naphthalene ยังเป็นวิธีที่ไล่สัตว์ไม่พึงประสงค์ได้เสมอ
2. น้ำมันก๊าด เจอตรงไหน เอาผ้าชุบน้ำมันก๊าดไปทาตรงนั้น จิ้งจกจะลดน้อยลงในทันที
3. กับดักแมลงสาบ ด้วยขนาดพอ ๆ กัน บ่อยครั้งที่เราจะเจอจิ้งจกติดกับดักของแมลงสาบด้วย เรียกว่ายิ่งปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยทีเดียว

ตุ๊กแก
และแล้วก็มาถึงหัวหน้าใหญ่ของสามสหายสุดสะพรึง นั่นก็คือ “ตุ๊กแก” นั่นเอง เช่นเดียวกับจิ้งจก ตุ๊กแกที่เรามักพบเจอนั่นก็คือ “ตุ๊กแกบ้าน” ซึ่งเจ้าตัวนี้นอกจากจะมีพิษภัยแล้ว ยังพกนิสัยดุร้าย (ถ้าเราไปรบกวนเขา) มาด้วย แต่หากไล่กันดี ๆ ก็ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ในแง่ของการที่ตุ๊กแกเป็นสัตว์ควบคุมแมลงในธรรมชาติ
ลักษณะ พฤติกรรม และแหล่งอาศัยภายในบ้าน
ตุ๊กแกบ้าน มีสีสันที่หลากหลายมาก เช่น น้ำตาล เทา ดำ เเละฟ้าอ่อน มีลายจุดสีแดงอมส้มทั่วตัว สามารถปรับสีได้ตามสภาพแวดล้อมที่อาศัย ความยาวเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร ออกหากินเวลากลางคืน โดยกินแมลงเป็นอาหารหลัก และอาจกินสัตว์ขนาดเล็กอย่างอื่นด้วย เช่น ไข่นก หรือลูกนก นกขนาดเล็ก หนู หรือสัตว์ฟันแทะขนาดเล็กอื่น ๆ ตุ๊กแกจะวางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ไข่สีขาว รูปทรงครึ่งวงกลม วางติดกับไม้ ผนังบ้าน ตามซอกผนัง หรือโพรงไม้ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงหน้าตาสัตว์ที่น่าเกลียดน่ากลัว แต่ตุ๊กแกยังมีอุปนิสัยที่ดุร้ายชอบกัดกันเอง และมีพฤติกรรมกินพวกเดียวกันด้วย สามารถจู่โจมสัตว์และมนุษย์ที่เข้าใกล้ตลอดเวลา แต่การจู่โจมมนุษย์นั้นก็เพียงเพื่อปกป้องอาณาเขตด้วยความหวงถิ่นเพียงเท่านั้น ยังไม่เคยพบกรณีที่ตุ๊กแกกินคนแต่อย่างใด
สิ่งเร้าที่ชักนำเข้าสู่บ้าน
บริเวณที่มันชอบอยู่อาศัยจะเป็นบริเวณที่มีต้นไม้ ถ้าบ้านใดมีสวนที่ค่อนข้างครึ้มละก็ เขาชอบเลยเชียวละ ตามบ้านเรือนที่เป็นมุมมืดปราศจากการรบกวนก็เป็นอีกพื้นที่ที่เหล่าตุ๊กแกมักจะจับจ้องเพื่อรอคอยจับเหยื่ออย่างพวกแมลงต่าง ๆ เช่น แมลงเม่า อันเป็นเมนูสุดโปรด แมลงสาบ ตั๊กแตน จิ้งหรีด ด้วง มอด มด ผีเสื้อ หนอน แมงป่อง ตะขาบ หนู หรือสัตว์จำพวกแมลงศัตรูพืชเป็นอาหารขณะยังมีชีวิต
อันตรายจากตุ๊กแก
เช่นเดียวกับจิ้งจก ตุ๊กแกมีเชื้อแบคทีเรีย ซัลโมเนลล่า (Salmonella) ที่ก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ และมากกว่านั้นคือตุ๊กแกบางตัวที่มีนิสัยระวังภัย โดยอาจกระโดดกัดผู้ที่เข้าไปไกลถิ่นของมันได้ โดยในปากของตุ๊กแกนั้นมีแบคทีเรียมากมายที่อาจส่งผลให้เกิดโรคบาดทะยัก และติดเชื้อได้ทั้งทางบาดแผลและทางกระแสเลือด
แนวทางการจัดการตุ๊กแก
กำจัดที่อยู่
ส่วนใหญ่ ตุ๊กแก เข้าบ้านเพราะต้องการวางไข่ การจัดบ้านและตรวจเช็คพื้นที่ต่าง ๆ ในบ้านอยู่เสมอ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ตุ๊กแกไม่เข้ามาในบ้าน อีกส่วนหนึ่งที่มักพบได้บ่อยคือ การที่บ้านกับสวนนั้นอยู่ติดกันจนเกินไป เช่นเปิดประตูไปก็เจอต้นไม้ทันที ตุ๊กแกจึงเหมารวมพื้นที่สวนกับบ้านเป็นพื้นที่เดียวกัน จึงควรเว้นระยะห่างจากบ้านกับสวนด้วยการทำ Hard Scape เช่นปูบล๊อกพื้นซัก 1-2 เมตร เพื่อให้ตุ๊กแกเลือกอยู่ในพื้นที่สวนแทน
การไล่ด้วยวิธีธรรมชาติ
1. ใช้สมุนไพร แต่อาจจะต้องเป็นเบอร์ที่แรงขึ้นอย่าง ยี่โถ ด้วยการนำกิ่งและใบมาขยี้ให้มีกลิ่น หรือใช้ใบสาบเสือ และใบน้อยหน่ามาตำผสมกับน้ำ จากนั้นนำไปวางไว้ในจุดที่พบตุ๊กแก กลิ่นฉุน ๆ ของสมุนไพรเหล่านี้ จะช่วยไล่ตุ๊กแกได้อย่างดี
2. ยาเส้นยาฉุน สามารถนำมาผสมน้ำ แล้วนำไปฉีดพ่นไล่ตุ๊กแกได้เช่นกัน
3. หัวหอม เช่นเดียวกับจิ้งจก ตุ๊กแกก็ไม่ชอบกลิ่นหัวหอมเช่นเดียวกัน ซึ่งสเปรย์ไล่ตุ๊กแกก็พัฒนามาจากสูตรนี้
4.เลี้ยงงู เพราะตุ๊กแกกับงูไม่ถูกกัน แต่งูก็ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่ทุกคนจะสะดวกใจในการเลี้ยงไว้ในบ้าน
การกำจัดด้วยวิธีเคมี
1. ลูกเหม็น ก็ยังคงเป็นตัวช่วยในการไล่ตุ๊กแกได้ดี
2. ยาฆ่าแมลง อาจจะไม่ถึงตาย แต่ก็คงจะทำให้ตุ๊กแกเลือกที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่นได้
3 น้ำมันก๊าด เป็นอีกสิ่งที่ตุ๊กแกไม่ชอบ อาจจะใช้ผ้าชุบแล้วนำไปไว้ในรังตุ๊กแก หรือเช็ดตามจุดที่พบเจอตุ๊กแก เพียงไม่นานตุ๊กแกก็จะไม่อยู่ตรงนั้นอีกต่อไป
และทั้งหมดนี้คือวิธีจัดการกับ แมลงสาบ จิ้งจก และตุ๊กแก สามสหายสุดยี้ที่น่าสะพรึงประจำบ้าน ใครสะดวกเเบบไหนลองนำไปใช้กันได้เลยครับ
เรื่องและภาพประกอบ : วุฒิกร สุทธิอาภา