“สวนศิลป์บินสิ” บ้านดินกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย

ใกล้กับเขตป่าชุมชนในหมู่บ้านทุ่งยาว ตำบลศรีบัวบาน อำเภอ เมืองฯ จังหวัดลำพูน สายน้ำไหลเอื่อยของแม่น้ำสารเลียบเลาะ ผ่านบ้านหลังเล็กกะทัดรัดไปรวมกับแม่น้ำปิง พร้อมกับชีวิต ที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายจนดูเหมือนเวลาจะค่อย ๆ ผ่อนช้าลง

เมื่อเข้ามาอยู่ที่นี่ เนาว์ – เสาวนีย์ สังขาระ เป็นนักผลิตรายการสารคดีอิสระ เจ้าของบินสิโปรดักชั่นเฮ้าส์ เธอตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2558 ตั้งชื่อว่า “สวนศิลป์บินสิ” จากนั้นเริ่มปรับปรุง ที่ดินรกร้างเป็นพื้นที่เกษตรและบ้านแสนน่าอยู่ เมื่อสิบกว่าปีก่อนเนาว์เคยเรียนและใช้ชีวิตที่ประเทศสหรัฐ- อเมริกา เมื่อกลับมาเมืองไทยได้ไม่นานก็ตั้งใจว่าจะเดินทางรอบโลก โดยเริ่มจากทดลองบินไป – มาประเทศอินเดียหลายครั้ง และลอง ใช้ชีวิตที่นั่นนานถึง 4 ปี ด้วยเหตุผลคือหากสามารถอยู่ในประเทศนี้ ได้ก็สามารถเดินทางไปที่ไหนในโลกได้

“ระหว่างที่กลับมาเตรียมตัวเดินทางรอบโลก ใช้เวลา 2 – 3 เดือนอยู่บ้านที่สมุทรปราการ ช่วงนั้นรู้สึกว่าพ่อดูแปลก ๆ จนกระทั่ง พบว่าเป็นมะเร็ง ช็อกและตกใจมากเพราะเขาเป็นคนแข็งแรง มาตลอด ตอนนั้นเลยหยุดทุกอย่าง ตั้งใจว่าจะดูแลพ่อเต็มที่ คุยกันว่าจะรักษาโดยวิธีธรรมชาติควบคู่ไปด้วย ปรากฏว่าผ่านไป 3 เดือน เครียดทั้งคู่ เพราะสิ่งที่ต้องปรับคือวิถีชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่อง อาหาร แต่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง”

เนาว์ตัดสินใจหาซื้อที่ดินเพื่อให้คุณพ่อได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มากขึ้น เธอรู้จักกับ คุณโจน จันใด มาตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาจึงแนะนำให้มาซื้อที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เมื่อไปดูที่แล้ว รู้สึกว่าเดินทางไม่สะดวกเพราะเธอยังทำรายการสารคดีซึ่งต้อง เดินทางบ่อยครั้ง จนกระทั่งมาเจอที่ดินแปลงนี้ในจังหวัดลำพูน ซึ่งใช้เวลาเพียง 35 นาทีจากเชียงใหม่ ที่ดินขนาด 2 ไร่ครึ่ง อยู่ติดกับแม่น้ำและป่าชุมชน มีบรรยากาศสงบเงียบ ทำให้เธอตัดสินใจวางเงินมัดจำทันทีตั้งแต่ ครั้งแรกที่มาเห็น

“ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินติดมา 3,000 บาท ตอนนั้นก็ยังมีหนี้อยู่ หกหลัก ที่ดินเดิมมันรกมาก เจ้าของทิ้งร้างไว้ 7 ปี แต่เราเห็น แม่น้ำ ภูเขา เห็นภาพพ่อแม่และครอบครัวมาอยู่ด้วยกัน เส้นทาง มันชัดมากว่าจะทำอะไรบ้าง เราตั้งใจจะทำเวิร์คชอป จัดกิจกรรม สร้างศูนย์การเรียนรู้” ภาพที่ชัดเจนในวันนั้นค่อย ๆ ก่อรูปร่างทีละน้อย

การมาอยู่ ที่นี่ไม่เพียงแต่เพื่อคุณพ่อเท่านั้น แต่ยังเหมือนได้สานต่อความฝัน อีกส่วนหนึ่งของเธอด้วย ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เนาว์เล่าว่าเคยทำมูลนิธิบ้าน เมล็ดดาวกล่อมฝัน (The Whispering Seed Foundation) ก่อตั้ง ร่วมกับเพื่อนโดยจดทะเบียนมูลนิธิที่อเมริกาอยู่ 7 ปี และลงพื้นที่ ทำกิจกรรมที่เมืองไทย เป็นบ้านเด็กกำพร้าศูนย์การเรียนรู้เพื่อ เด็กชายขอบกาญจนบุรี เน้นช่วยเหลือเด็กทั้งกะเหรี่ยง มอญ พม่าในอำเภอสังขละบุรี มีกิจกรรมทำบ้านดินและการพึ่งพาตนเอง

เมื่อมาสร้างสวนศิลป์บินสิเธอจึงนำประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด มาลงมือทำบนที่ดินแปลงนี้ “เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ตอนอยู่ที่อเมริกา เนาว์ไปเที่ยว เทศกาลบอลลูนและมีโอกาสเห็นบ้านดินในรัฐนิวเม็กซิโก บ้านดินที่นั่นอายุเป็นพันปีแต่ยังอยู่ได้จริงจนทุกวันนี้ พอกลับมาเมืองไทย มีชาวอเมริกันคนหนึ่งมาจากอเมริกาเปิดเวิร์คชอปทำบ้านดิน เลยตัดสินใจไปเรียน ทำให้รู้จักพี่โจนตั้งแต่ตอนนั้น ตอนเริ่มต้นทำที่นี่ พี่โจนก็มาช่วยอยู่ 5 – 6 สัปดาห์ “เนาว์มาอยู่ที่นี่จริง ๆ เดือนมิถุนายน พอปลายเดือนกรกฎาคม ก็เริ่มเปิดรับสมัครคนมาร่วมเวิร์คชอปทางเฟซบุ๊ก ชวนมาก่ออิฐ ก้อนแรกด้วยกัน เป้าหมายคือการทำบ้านเองได้และใช้ต้นทุนน้อย”

กิจวัตรประจำวันของเนาว์เริ่มตั้งแต่ตื่นตีสี่ นั่งทำงาน เขียนสคริปต์รายการ วางแผนงานของวัน ช่วงแรก ๆ ที่มาอยู่ พอดวงอาทิตย์เริ่มขึ้นก็จะไปย่ำดิน ทำอิฐดินได้วันละ 30 – 40 ก้อน ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง แล้วจึงอาบน้ำนั่งทำงานต่อจน ถึงช่วงบ่าย ๆ เมื่อสมองล้าแล้วก็จะไปทำงานสวนและบ้านดินต่อ ที่นี่จะจัดเวิร์คชอปช่วงสุดสัปดาห์โดยเปลี่ยนหัวข้อไปเรื่อย ๆ เน้นให้มาลองใช้ชีวิตเรียบง่าย รู้จักกระบวนการเรียนรู้แบบ พึ่งตนเอง ซึ่งเวิร์คชอปลุยสวนศิลป์รุ่นบุกเบิกมีผู้มาเข้าร่วมมากถึง 27 คน

เนาว์เล่าว่าเวิร์กชอปบ้านดินแต่ละหลังใช้เวลานาน ทำต่อ กันไปเรื่อย ๆ หลายรุ่นจึงเสร็จสมบูรณ์ และบ้านเหล่านี้ก็กลายมา เป็นที่พักของผู้ที่มาเวิร์คชอปด้วย ภายหลังจึงเปิดคอร์สหลากหลาย ขึ้น เช่น อบพิซซ่า ทำขนมปัง ปั้นดิน ทอผ้า โยคะ รวมทั้ง ค่ายเด็กและครอบครัว “หลายคนโหยหาเรื่องเหล่านี้ อยากกลับมาอยู่กับธรรมชาติ อยากได้แรงบันดาลใจ ตอนหลังเราตั้งชื่อคอร์สว่า ‘กลับบ้าน’ เพราะคนอยากกลับมาหา ‘บ้าน’ บ้านที่ไม่ใช่แค่วัตถุสิ่งของ แต่ เป็นบ้านที่มีครอบครัว ความฝัน ความรัก ความสุข

คอร์สกลับบ้านและคอร์สต่าง ๆ จึงกลายเป็นคอร์สสุดสัปดาห์วันหยุดยาว ที่ทำให้คนได้มาเติมพลัง กลับมาเจอบ้านในใจคุณ ค้นพบตัวเอง ว่าคุณคือใคร ได้ทดลองทักษะทุกอย่าง รู้คุณค่าเมล็ดผัก เห็น คุณค่าของงานทำมือ กินผักปลอดภัย อยู่กับชุมชน เดินป่า บางคนไม่ได้มาเอง แต่ส่งพ่อแม่มาก็มี

“เนาว์ไม่ได้บอกว่าเราต้องกลับมาเป็นเกษตรกร แต่เกษตรกรรม ธรรมชาติอยู่ในวิถี ที่นี่เป็นพื้นที่ให้คนกลับมาหาศิลปะการใช้ชีวิต ให้สมดุล สอนเรื่องการจัดการที่ดินและทำเกษตรอย่างยั่งยืน ทักษะเหล่านี้ ทั้งทำบ้านดิน ปลูกข้าวเกี่ยวข้าว ทำของกินของใช้เอง มันทำให้เราสามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องไปแสวงหาเงินมาแลกซื้อ”

เนาว์ออกแบบวางผังบริเวณที่นี่เองทั้งหมดอาศัยสังเกต ธรรมชาติ ดูทิศทางลม แสงแดด ชุมชน วิถีป่า รู้จักรอบ ๆ บ้าน เป็นอย่างดี ก่อนจะลงมือสร้างบ้านในตำแหน่งที่ดีที่สุด “เจ้าของที่ดินเดิมตั้งเสาไว้แล้ว 9 ต้น เทคานอย่างดี เรา เลยเรียกช่างมาถามว่าทำบ้าน 2 ชั้นได้ไหม เพราะถ้าทำเป็นบ้าน ชั้นเดียวจะไม่เห็นแม่น้ำ มุมนี้ต้องส่งเสริมการทำงานและสร้าง พลังกับตัวเรา”

บ้านหลังนี้ออกแบบเรียบง่าย ชั้นล่างซึ่งเป็นสตูดิโอบ้านดิน ปล่อยเป็นโถงโล่งใช้งานได้อเนกประสงค์ มีมุมทำงานเล็ก ๆ ส่วน ชั้นบนใช้ไม้ไผ่สานกรุผนังเป็นห้องนอนของเนาว์ มีโต๊ะทำงาน ที่เปิดรับทัศนียภาพสวยที่สุดมองออกไปเห็นแม่น้ำ มีหน้าต่าง รอบด้านเปิดรับแสงสว่าง รวมทั้งเปิดหน้าจั่วโล่งและปล่อยให้ ลมพัดเข้ามา เหมือนอยู่อาศัยเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มีเพียง หลังคาคุ้มแดดกันฝนเท่านั้น เรือนครัวสร้างแยกออกมาเป็นสัดส่วนอยู่ฝั่งหนึ่งของบ้าน อีกฝั่งหนึ่งเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวอยู่สบายของคุณพ่อทำจากยุ้งข้าว เก่า มีระเบียงรอบบ้านและปลูกพืชสมุนไพรเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้านดิน ส่วนที่เหลือทำบนเนินขึ้นไป ไม่อยู่บนที่ลุ่มด้านล่างเพื่อป้องกัน ปัญหาน้ำท่วม

สำหรับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านทั้งหมดเนาว์ออกแบบเอง โดยใช้ช่างจากบ้านม้าและบ้านธิ แหล่งทำเฟอร์นิเจอร์ของลำพูน รวมทั้งเสาะหาไม้เก่าจากแหล่งไม้ท้องถิ่น ทั้งหน้าต่าง ประตู ไม้พื้น “การเดินทางตามหาตัวเองมันสอนเราว่า จริง ๆ แล้วตัวตน เราเล็กมาก เราได้เจอเรื่องยิ่งใหญ่มาแล้วตอนดูแลพ่อ เราพบว่า เดินทางตั้งไกลครึ่งค่อนโลกแต่กลับมาเจอความหมายของการ มีชีวิตจริง ๆ อยู่ที่บ้านที่เราเติบโตมา มีคนที่รักเราเลี้ยงดูเรารอเรา กลับมาดูแลเขา ดูแลซึ่งกันและกัน เราได้กลับมาบ้านที่มีความรัก ที่แท้จริงสถิตอยู่

“พอทุกอย่างเริ่มลงตัว เรารู้สึกว่าปีกเราเริ่มกระพือ และเชื่อ ว่าสักวันเราจะได้ออกเดินทางตามความฝันอีกครั้ง แต่การเดินทาง ต่อจากนี้ไปเรารู้ว่าเรามีรัง มีบ้านที่อบอุ่นให้กลับมา” สวนศิลป์บินสิวันนี้เป็นทั้งบ้านและโรงเรียนที่มีผู้คนหลาก หลายมุ่งหน้ามาเรียนรู้ศิลปะการใช้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง

“เนาว์พูดอยู่เสมอว่า เราไม่จำเป็นต้องหวนกลับบ้านด้วย การลาออกจากงานที่เรามี เป็น อยู่ คำว่างานมีสามแบบ Job คือ งานที่ทำเพื่อเงิน อาจเป็นงานที่เราถนัด ทำได้โดยไม่ต้องมี ความชอบทั้งหมดเสียทีเดียว Career คือ งานอาชีพที่อุตส่าห์ ร่ำเรียนมา งานที่อาจทำให้เกิดความก้าวหน้า และ Calling Work (Dream Work) คือ งานที่เรารู้สึกว่าเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ เกิด มาแล้วไม่ได้ทำจะเสียชาติเกิด หากเราค่อย ๆ ทำงานทั้งสามนี้ ไปด้วยกัน แบ่งสมดุลเพื่อในที่สุดเราจะไม่ต้องทำสักงานเพราะ ทั้งหมดนั้นมันกลายเป็นชีวิต เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา อย่างที่เราเป็น การเป็นฟิล์มเมคเกอร์ ฟาร์มเมอร์ หรือทีชเชอร์ ทุกอย่างมันกลายเป็นอิสรเสรี นี่คือชีวิตที่ดีเพียงพอแล้ว”

การมาเข้าคอร์สสั้น ๆ ทำให้หลายคนได้ค้นหาตัวเอง เปิด ประสบการณ์ชีวิต ทดลองใช้ชีวิตเรียบง่าย เนิบช้า พบความสุข ที่ไม่ต้องดิ้นรนไขว่คว้า และเห็นความสำคัญของครอบครัว ทุกวันนี้เนาว์พบ “บ้าน” ที่แท้จริงในใจของเธอ บ้านที่มีพ่อแม่ ครอบครัวน้องชายซึ่งประกอบด้วยภรรยาและลูก 2 คน เป็นบ้าน ที่เต็มไปด้วยความรัก ความสุข ความฝัน และความสัมพันธ์ที่ดี กับคนที่ได้เข้ามาร่วมทาง และหากสนใจมาทดลองใช้ชีวิตเรียบง่าย และกิจกรรมต่าง ๆ ของสวนศิลป์บินสิ

สามารถติดต่อได้ที่ facebook : สวนศิลป์บินสิ filmsfarmschooluniversity

สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านและสวน 

เรื่อง : วรัปศร

ภาพ: อภิรักษ์ สุขสัย