ช่วงฤดูร้อนของเมืองไทยนับเป็นเวลาที่ทุกคนรอคอย เพราะได้กินผลไม้เมืองร้อนหลากหลายชนิดกันอย่างเอร็ดอร่อย โดยเฉพาะ “ ทุเรียน ” ผลไม้ยอดนิยมของชาวไทย ชาวจีน และอีกหลายประเทศ สวนทุเรียน
สำหรับสุดยอดของ ทุเรียน รสอร่อยขึ้นชื่อทางภาคกลาง คงหนีไม่พ้นทุเรียนเมืองนนท์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนหลายพันธุ์ ที่มีมายาวนานแต่อดีตกาล วันนี้คุณหนุ่ม-อดิสรณ์ ฉิมน้อย แห่งศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี สวนตาก้าน มาบอกเล่าประสบการณ์การทำ สวนทุเรียน ให้ฟังกัน

“เดิมเราเป็นสวนทุเรียนที่ติดอันดับต้นๆ ของจังหวัดนนทบุรี มีต้นใหญ่ๆ หลายคนโอบอายุกว่า 40 ปี จำนวน 130 ต้น และมีผลไม้อื่นๆ อย่างมังคุด มะไฟ แต่พอมาเจอมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 สวนผลไม้ของเราเสียหายอย่างหนัก ทุเรียนตายหมด เหลือเพียงมะไฟสองต้นกับมังคุดหนึ่งต้น แต่โชคดีที่เราเร่งตัดกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ส่งให้ผู้ผลิตต้นพันธุ์ทุเรียนที่ชุมพรไว้ ทำให้ทุเรียนนนท์กว่า 40 สายพันธุ์ยังไม่สูญพันธุ์ไป ซึ่งหลังน้ำท่วมก็ได้นำมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในจังหวัดนนทบุรี”
หลังน้ำท่วมคุณหนุ่มเร่งพื้นฟูพื้นที่ เพื่อเตรียมปลูกทุเรียนใหม่ ซึ่งพบปัญหาและอุปสรรคมากมาย ทั้งปัญหาน้ำกร่อย อากาศที่ร้อนขึ้น ดินมีความเป็นกรดสูงที่ส่งกับพืชที่ต้องการปลูกอย่างมาก แต่คุณอดิสรณ์ก็แก้ปัญหาเหล่านั้นได้ ด้วยวิธีภูมิปัญญาพื้นบ้าน นั่นคือการปลูกพื้นอื่นก่อนเช่น กล้วย ส้มเขียวหวาน และทองหลาง เพื่อให้พืชเหล่านั้นช่วยปรับสภาพพื้นดิน พร้อมกับสร้างระบบนิเวศให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ขึ้นดังเดิม ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปี
คุณหนุ่มได้ให้หลักการสำคัญของการปลูกทุเรียนว่าต้องเริ่มจาก ดูดิน ว่าดินดี สมบูรณ์พอหรือไม่ ทุเรียนเติบโตได้ทั้งดินเหนียวและดินร่วน ที่สำคัญคือต้องไม่เป็นกรดหรือเป็นดินเค็ม ต่อไปก็คือ ดูน้ำ ควรมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีคุณภาพดีอยู่ใกล้พื้นที่ หรือในพื้นที่เพื่อให้ต้นทุเรียนได้รับน้ำเพียงพอ ดูแดด การปลูกทุเรียนควรปลูกแนวตามตะวัน เพื่อให้ทุกต้นรับแสงแดดเพียงพอ ถ้าเป็นต้นที่เพิ่งปลูกใหม่ ควรพรางแสงด้วยทางมะพร้าวหรือซาแรน สิ่งสุดท้ายคือ ดูลม ควรใช้ไม้ปักเพื่อพยุงต้นหลังปลูก และไม่ควรปลูกขวางทิศทางลม ควรปลูกสลับฟันปลาในระยะปลูกที่เหมาะสม เพื่อให้ลมผ่านได้ง่าย


“พื้นที่เมืองนนท์เป็นที่ลุ่ม ต้องปลูกแบบยกร่องและยกโคก และระยะปลูกห่างกัน 8-12 เมตร ขุดร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร สลับกับพื้นดินร่องสวนกว้าง 7 เมตร ผมเตรียมดินให้มีธาตุอาหารด้วยวิธีง่ายๆ คือ ขุดดินเป็นหลุม เอาดินล่างขึ้น ใส่ซากพืช หรือต้นกล้วยที่ตัดทิ้งลงไป ใส่ขี้หมู ขี้วัวหนึ่งกระสอบ แล้วกลบดิน ใช้กาบมะพร้าวทับไว้ ผ่านไป 1 ฝนก็ย่อยดินในหลุมให้เล็กลง พูนดินให้สูงขึ้น แล้วทำหลุมปลูกไว้กึ่งกลาง แล้วนำต้นลงปลูก พูนโคนต้น จัดรากให้แผ่ออก เพื่อให้ทรงพุ่มสวยงาม หน้าฝนก็หมั่นฟันดินรอบๆ เพื่อ “รางโคน” ป้องกันน้ำขังหากฝนตกหนัก แล้วให้ปุ๋ยหมักที่ทำไว้ใช้เองบ้าง

“สำหรับคนที่อยากลองปลูก ผมแนะนำให้เลือกปลูกพันธุ์ที่เราชอบ อาจเป็นพันธุ์เศรษฐกิจอย่างหมอนทอง ก้านยาว หรือพันธุ์พื้นบ้านพวก กบสุวรรณ เม็ดในยายปรางก็ได้ สามปีครึ่งก็ให้ผลผลิตแล้วครับ”

คุณหนุ่มยังบอกว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ทุเรียนอร่อย คือ ระยะเก็บเกี่ยว เนื่องจากดอกบานไม่พร้อมกัน หลังดอกบานหมด ต้องนับไปอีก 90-110 วัน จึงเริ่มทยอยเก็บผลได้ สังเกตที่ขั้วจะแห้ง สีคล้ำ หนามกางออก ปลายหนามแห้งเป็นสีน้ำตาลเรื่อ เส้นในร่องหนามเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อนเป็นสีเขียวคล้ำ เท่านี้ก็แสดงว่า ผลสุกพร้อมตัดแล้ว สำหรับท่านที่ชอบกินทุเรียน ลองนำวิธีนี้ไปสังเกตผลก่อนซื้อกัน


จนถึงปัจจุบันทุเรียนรุ่นใหม่ที่ปลูกในสวนแห่งนี้สามารถให้ผลผลิตแล้ว ซึ่งทางสวนตาก้านเปิดรับสั่งจองทุเรียนในช่วงปลายเดือนเมษายน หรือถ้าอยากได้ต้นทุเรียนไปปลูกก็สั่งต้นพันธุ์ได้ แค่คลิกเข้าไปที่ Facebook : สวนตาก้าน หรือโทรศัพท์ 08-9812-6539 ได้นะคะ
ขอบคุณ คุณอดิสรณ์ ฉิมน้อย แห่งศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี สวนตาก้าน จังหวัดนนทบุรี โทร 089-812-6539
เรื่อง วิฬาร์น้อย
ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย, ธนกิตติ์ คำอ่อน, เบญจพล วรโชติพงศ์พันธุ์, สวนตาก้าน