อันตรายจากช็อคโกแลต (chocolate toxicity) ที่มีผลต่อสัตว์เลี้ยง

ว่ากันว่า เมื่อเครียดหรืออารมณ์ไม่ดีให้กินช็อกโกแลต จะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น ซึ่งช็อกโกแลตเป็นขนมหวานสุดโปรดของใครหลายคน และในบางครั้งกลิ่นของช็อกโกแลตยังเย้ายวนมาก สำหรับเจ้าตัวน้อยที่บ้านด้วย แต่หารู้ไม่ว่าช็อกโกแลตแสนอร่อยของเรานั้นสามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อน้องหมา และน้องแมวอย่างที่เราคาดไม่ถึง

วันนี้ บ้านและสวน Pets จะมาพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ อันตรายจากช็อคโกแลต ให้ฟังกันค่ะ

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงเรื่องราวของช็อกโกแลตสักเล็กน้อย ช็อกโกแลตผลิตมาจากเมล็ดของต้นโกโก้ (Theobroma cocao) ซึ่งกลุ่มของสารที่สำคัญที่ทำให้เกิดความเป็นพิษชื่อว่า เมทิลแซนทีน (methylxanthine) ซึ่งประกอบด้วยชนิดของสารพิษหลายชนิดด้วยกัน แต่สารที่เรารู้จักกันดีคือคาเฟอีน (caffeine) ที่มีอยู่ในชา กาแฟ หรือแม้กระทั่งในเครื่องดื่มรสโคล่าที่เราคุ้นเคยกันดี  และอีกชนิดหนึ่งคือ ทีโอโบรมีน (theobromine) ซึ่งความรุนแรงของการเกิดพิษนั้นจะขึ้นกับปริมาณสารดังกล่าวที่สัตว์ได้รับ ซึ่งในช็อกโกแลตแต่ละชนิด ก็จะมีส่วนประกอบของสารเหล่านี้อยู่ไม่เท่ากัน

 

ช็อกโกแลตที่เราเห็นกันในท้องตลาดนั้นมีหลากหลายมาก และแต่ละอย่างใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ได้แก่

อันตรายจากช็อคโกแลต
ขอบคุณภาพจาก : paleomio.de/kakao-wunderdroge
  1. ผงโกโก้ (dry cocoa powder) จะเป็นผงโกโก้ล้วนๆ แบบที่เราไม่ได้ผสมน้ำตาล หรือครีมเทียม โดยส่วนมากจะใช้ทำขนม หรือชงทาน โดยช็อกโกแลตในรูปแบบนี้จะมีปริมาณของเมทิลแซนทีนสูงที่สุด คือ 5 มิลลิกรัมต่อกรัมของผงโกโก้ ทำให้หากได้รับในปริมาณเล็กน้อยก็สามารถเกิดอันตรายกับสัตว์ได้
  2. Unsweetened (Baker’s) chocolate จะเป็นผงช็อกโกแลตอัดแท่ง โดยมีการใส่ส่วนของไขมันจากเมล็ดโกโก้เข้าไปเล็กน้อยเพื่อคงรูปแท่งไว้ เป็นชนิดที่มีปริมาณของเมทิลแซนทีนรองลงมาจากผงโกโก้ กล่าวคือ 16 มิลลิกรัมต่อกรัม โดยมากเราจะใช้ช็อกโกแลตชนิดนี้ในการทำขนม เพื่อแต่งกลิ่นและรสชาติให้เป็นช็อกโกแลต แต่ที่สำคัญคือสัตว์เลี้ยงของเรามักจะเผลอกินช็อกโกแลตชนิดนี้เข้าไป เพราะรูปร่างและกลิ่นที่เหมือนช็อกโกแลตที่เรากินกันทั่วไป แต่มีปริมาณของเมทิลแซนทีนสูงกว่าช็อกโกแลตทั่วไปมาก เมื่อได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษได้แล้ว
  3. เปลือกเมล็ดโกโก้ (cocoa bean hull) เปลือกเมล็ดโกโก้ โดยส่วนใหญ่จะใช้ในการโรยโคนต้นไม้ในสวน แต่หากบ้านเรามีสัตว์เลี้ยง ให้พยายามเลี่ยงการใช้เปลือกเมล็ดโกโก้จะดีกว่า เนื่องจากมีส่วนประกอบของเมทิลแซนทีน อยู่ไม่น้อยทีเดียว ได้แก่ประมาณ 1 มิลลิกรัม ต่อกรัม หากน้องหมาของเราเลี้ยงแบบเลี้ยงปล่อยวิ่งเล่นในสวน ด้วยพฤติกรรมการกินของสุนัขที่มีลักษณะกินไม่เลือก ชอบเล่นคุ้ยเขี่ย อาจจะมีโอกาสพลาดกินเข้าไปได้ค่ะ
  4. Semisweet chocolate และ Dark chocolate เป็นช็อกโกแลตที่มีการผสมผงโกโก้ ไขมันจากเมล็ดโกโก้ และน้ำตาลเข้าไปเพิ่มเล็กน้อย ทำให้มีปริมาณของเมทิลแซนทีนที่ลดลงกว่า Baker’s chocolate ตัวอย่างของช็อกโกแลตชนิดนี้ที่เราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ช็อกโกแลตชิพที่ใส่ในคุกกี้นั่นเอง ดังนั้นเวลาให้คุ้กกี้ช็อกโกแลตชิพกับเด็กๆ อย่าลืมเอาช็อกโกแลตออกก่อนด้วยนะคะ เนื่องจากมีความเข้มข้นของเมทิลแซนทีนสูงถึง 4-5.7 มิลลิกรัมต่อกรัมของช็อกโกแลต
  5. ช็อกโกแลตนม (Milk chocolate) คือช็อกโกแลตที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในบรรดาช็อกโกแลตทั่วไป ส่วนผสมที่เพิ่มขึ้นมาจาก dark chocolate ก็คือมีการเติมนมลงไปด้วย ทำให้ความเข้มข้นของเมทิลแซนทีนนั้นน้อยลงกว่า dark chocolate คือประมาณ 3 มิลลิกรัมต่อกรัมของช็อกโกแลต
  6. ช็อกโกแลตขาว (White chocolate) เป็นช็อกโกแลตที่ไม่มีส่วนประกอบของเมทิลแซนทีน เนื่องจากเป็นส่วนผสมระหว่างไขมันจากเมล็ดโกโก้ นม และน้ำตาล เท่านั้น การกิน white chocolate จึงไม่ทำให้เกิดพิษจากเมทิลแซนทีน แต่เนื่องจากมีไขมัน และน้ำตาลเป็นองค์ประกอบเยอะมาก จึงทำให้สัตว์อ้วน รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะตับอ่อนอักเสบได้

เมื่อเราทราบถึงรายละเอียดของช็อกโกแลตชนิดต่าง ๆ กันแล้ว พร้อมถึงปริมาณของเมทิลแซนทีนภายในช็อกโกแลตชนิดต่าง ๆ ทำให้เราทราบว่าการบริโภคช็อกโกแลตแต่ละชนิดนั้น ทำให้มีโอกาสเกิดความเป็นพิษจากช็อกโกแลตที่ไม่เท่ากัน หลายครั้งพบว่ามีความเข้าใจผิดจากเจ้าของสัตว์เลี้ยง ว่าการกินเค้กช็อกโกแลตนั้น ไม่เป็นพิษ หรือมีโอกาสเกิดความเป็นพิษที่น้อยกว่าการกินช็อกโกแลตเป็นแท่ง หรือ bar ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย จากสูตรการทำเค้กช็อกโกแลตนั้นต้องใช้ผงโกโก้ หรือ Baker’s chocolate ในการทำ โดยยกตัวอย่างสูตรการทำเค้กช็อกโกแลตหน้านิ่ม 1 ปอนด์สูตรหนึ่ง จะต้องใช้ผงโกโก้ทั้งหมดประมาณ 90 กรัม ซึ่งประกอบด้วยเมทิลแซนทีน 2,500 มิลลิกรัม หากเราตัดแบ่งเค้กออกเป็น 8 ชิ้น พบว่าแต่ละชิ้นจะประกอบด้วยเมทิลแซนทีนถึง 320 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อพิจารณาขนาดของสารที่ทำให้เกิดพิษในสุนัขคือเมื่อได้รับเกิน 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว แสดงว่าหากสุนัขยิ่งตัวเล็กกินขนมเค้กนี้เข้าไปเพียงเล็กน้อย จะสามารถเกิดความเป็นพิษจากเมทิลแซนทีนได้ทันที

 

ระดับความเป็นพิษจากช็อกโกแลตนั้นแบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่

  • ระดับเบา คือ เมื่อได้รับเมทิลแซนทีนเข้าไป 20 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม จะเริ่มมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาจจะมีอาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย
  • ระดับปานกลาง คือ เมื่อได้รับเมทิลแซนทีนเข้าไป 40-50 มิลลิกรัมต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ถ้าบางตัวมีความไวต่อสารพิษมากจะสามารถมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถึงขนาดหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
  • ระดับรุนแรง คือได้รับเมทิลแซนทีนเข้าไป มากกว่า 60 มิลลิกรัมต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะทำให้มีอาการชักอย่างรุนแรง และเสียชีวิตได้
อันตรายจากช็อคโกแลต
ขอบคุณภาพจาก : www.holidogtimes.com

หากสัตว์เลี้ยงของเราเผลอกินช็อกโกแลตเข้าไป สิ่งที่เราต้องรีบทำคือ รีบพามาพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะถ้ากินเข้าไปไม่เกิน 1 ชั่วโมง สัตวแพทย์สามารถกระตุ้นให้น้องอาเจียน หรือทำการล้างท้องได้ เพื่อลดโอกาสการได้รับสารพิษให้น้อยที่สุด และควรแจ้งปริมาณ และชนิดของช็อกโกแลตที่สัตว์ได้รับกับสัตวแพทย์ด้วยนะคะ เพื่อที่คุณหมอจะได้ประเมินความฉุกเฉิน และความน่ากังวลของความเป็นพิษได้อย่างถูกต้อง หลังจากนั้นสัตวแพทย์จะประเมินอาการตามความเหมาะสม ว่าควรต้องแอดมิดดูอาการที่โรงพยาบาลหรือไม่ค่ะ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับสัตว์เลี้ยง (First aid)

หลายคนอาจจะสงสัยว่า อันตรายจากช็อคโกแลต ทำไมมีผลต่อสุนัข และแมว ในขณะที่เรากินแล้วไม่เป็นไร นั่นเป็นเพราะว่าร่างกายของมนุษย์สามารถกำจัดสารเมทิลแซนทีนได้อย่างรวดเร็ว แต่น้องหมา และน้องแมวกำจัดเมทิลแซนทีนออกจากร่างกายได้ช้ามาก ๆ ทำให้ระดับเมทิลแซนทีนที่สะสมอยู่ในร่างกายนั้น ก่อให้เกิดความเป็นพิษได้นั่นเองค่ะ

ช็อกโกแลตนั้นเป็นพิษต่อทั้งสุนัขและแมว แต่โดยส่วนใหญ่จะพบในสุนัขมากกว่า เพราะสุนัขมักมีนิสัยการกินที่ไม่ค่อยเลือกมากกว่าในแมว โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์เล็ก ที่แม้จะได้รับช็อกโกแลตในปริมาณเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกิดความเป็นพิษของเมทิลแซนทีนได้

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้ทราบถึงความน่ากลัวของช็อกโกแลตต่อน้องหมา และน้องแมว รวมถึงข้อควรปฏิบัติตัวเบื้องต้น และข้อมูลที่ควรแจ้งต่อสัตวแพทย์ หากสัตว์เลี้ยงของเราเผลอกินช็อกโกแลตเข้าไปได้

 

บทความโดย

สพ.ญ. ฐิตา เตโชฬาร
Thita Taecholarn DVM, MS
คลินิกระบบขับถ่ายปัสสาวะ คลินิกหัวใจ และคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
Urology clinic , Cardiology clinic and Diabetic clinic
Small Animal Teaching Hospital , Faculty of Veterinary Science , Chulalongkorn University