PM 2.5 วายร้ายขนาดจิ๋ว ที่มีผลกระทบและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง

ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีรายงานว่าในหลายๆ ที่พื้นที่ของประเทศไทย มีความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (particulate matter) เพิ่มสูงขึ้นในอากาศและสภาพแวดล้อม จนถึงระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นๆ (และหนึ่งในพื้นที่เหล่านั้นก็คือ กรุงเทพเมืองฟ้าอมรฯ ของพวกเรานี่เอง)

โดยเจ้าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กล่าวถึงอยู่นี้ เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “ PM 2.5 ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพมาตรฐานคุณภาพอากาศที่สำคัญในปัจจุบัน วันนี้ บ้านและสวน Pets จะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบของเจ้าวายร้ายขนาดจิ๋วนี้กันครับ

PM 2.5 คืออะไร? มาจากไหน?

PM 2.5 (particulate matter with diameter of less than 2.5 micron) หรือ fine particulate matter ตามคำนิยามของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (U.S. Enviromental Protection Agency หรือ U.S. EPA) หมายถึง ฝุ่นละเอียด (fine particles) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางของอนุภาคไม่เกินกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งจัดว่ามีขนาดที่เล็กจิ๋วมาก จนไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ฝุ่น PM 2.5
แสดงขนาดเปรียบเทียบของ PM2.5 กับเส้นผมของมนุษย์ (human hair) เม็ดทรายละเอียด (fine beach sand) และ PM10 (ที่มา : https://www.epa.gov จัดทำโดย U.S. Environmental Protection Agency)

จากการศึกษา พบว่า PM2.5 อาจเกิดได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงแล้วเกิดเป็นฝุ่นควันออกมาจากแหล่งกำเนิดโดยตรง หรือเกิดจากก๊าซที่มีการกลั่นตัวเป็นเม็ดฝุ่นเริ่มต้น ก่อนจะรวมตัวกันจนเกิดเป็นเม็ดฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (ซึ่งจัดว่าเป็นฝุ่นทุติยภูมิ หรือ secondary particle) ซึ่งองค์ประกอบของ PM2.5 ก็จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับชนิดและลักษณะของเชื้อเพลิงที่เป็นต้นกำเนิด รวมทั้งกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงเหล่านั้นอีกด้วย โดยการเผาไหม้ที่ว่านี้ อาจเกี่ยวข้องกับการจราจรหรือการคมนาคมขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม กิจกรรมจากแหล่งที่อยู่อาศัย รวมทั้งการเผาไหม้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โล่ง เช่นการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ของภาคการเกษตร การเผาป่า การเผาขยะ ฯลฯ

PM2.5 น่ากลัวอย่างไร?

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า PM2.5 นั้นมีขนาดที่เล็กมาก (ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน) ซึ่งถ้าหากท่านผู้อ่านท่านใดจินตนาการภาพไม่ออกว่าเล็กขนาดไหน ให้ลองดูขนาดเปรียบเทียบของ PM2.5 กับขนาดเส้นผมของมนุษย์และเม็ดทรายละเอียด ซึ่งจะเห็นว่าได้ว่า PM2.5 มีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50-70 ไมครอน) และเม็ดทรายละเอียด (ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 90 ไมครอน) หลายเท่าตัวเหลือเกิน และด้วยความเล็กของมันนี่เอง ที่ทำให้ PM2.5 สามารถก่อปัญหาทางสุขภาพได้อย่างที่ใครหลายๆ คนอาจจะคาดไม่ถึง ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อ PM2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋วนี้ถูกสูดดมเข้าไปแล้ว ก็จะสามารถหลุดลอดผ่านจากการดักกรองของขนจมูกและแผงกระดูกเทอร์บิเนต (terbinate bone) ภายในโพรงจมูก แล้วล่องลอยล่วงเลยผ่านลงไปสู่ท่อทางเดินหายใจส่วนล่าง จนไปถึงท่อหลอดลมฝอยที่มีขนาดเล็ก และถุงลมปอด (alveolar) ซึ่งจัดว่าเป็นเนื้อเยื่อชั้นในสุดของปอด และตกค้างอยู่ภายในปอด จนทำให้เกิดผลเสียทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อเนื้อเยื่อปอด เป็นเหตุให้สมรรถภาพของปอดลดลง นอกจากนี้ยังสามารถที่จะแพร่ผ่านจากถุงลมปอดเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบน้ำเหลืองของร่างกาย และแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้อีกด้วย ซึ่งก็ทำให้มีผลเสียต่อโครงสร้างหรือการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ผลเสียต่อการทำงานหรือการพัฒนาของสมองและระบบประสาท รวมทั้งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย (immune system) อีกด้วย

นอกจากคุณสมบัติทางกายภาพของเจ้า PM2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋ว ที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการก่อปัญหาสุขภาพแล้ว จากการศึกษาเพิ่มเติม ยังพบว่าเจ้า PM2.5 นี้ มักจะมีสารพิษหรือละอองลอยต่างๆ เคลือบอยู่ที่ผิวด้านนอก ซึ่งสารพิษเหล่านี้มักมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิดทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง โดยตัวอย่างของสารพิษที่มีการตรวจพบ ก็ได้แก่ สารประเภทโลหะหนัก (เช่น ตะกั่ว แคดเมียม สังกะสี ฯลฯ) และสาร PAHs (polycyclic aromatic hydrocarbons) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งเมื่อเจ้า PM2.5 มีการตกค้างหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ก็จะมีการปลดปล่อยสารพิษเหล่านี้เข้าสู่เนื้อเยื่อหรือเซลล์ในบริเวณนั้นๆ แล้วทำให้เกิดผลกระทบทางด้านลบต่อสุขภาพร่างกายตามมาได้ เช่น ทำให้มีระดับของอนุมูลอิสระ (free radicals) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ของเซลล์ต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการทำลายหรือการตายของเซลล์ การอักเสบของเนื้อเยื่อ ฯลฯ ซึ่งก็จะส่งผลให้อวัยวะที่เกี่ยวข้องเกิดการเสียหายหรือมีการทำงานที่ผิดปกติไปได้ในที่สุด รวมทั้งยังเป็นปัจจัยร่วมอย่างหนึ่งที่สำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดมะเร็งขึ้นได้อีกด้วย โดยหน่วยงาน The International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้จัดฝุ่น PM2.5 นี้ เข้าอยู่ในประเภทของสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 ทั้งนี้เนื่องจากพบความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับ PM2.5 กับอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปอด

ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสัตว์เลี้ยงมีอะไรบ้าง?

ในปัจจุบันนี้ การศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของมนุษย์มีอยู่มากมายหลากหลายแง่มุมดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนต้นของบทความ แต่การศึกษาเรื่องดังกล่าวในสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะกับสุนัขและแมวโดยตรงนั้นยังมีไม่มากเท่าไรนัก อย่างไรก็ดี แม้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของสุนัขและแมวจะมีอยู่น้อย แต่ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งจะขอนำมาสรุปให้ฟังโดยย่อ ดังนี้

เมื่อปี ค.ศ. 2001 Calderon-Garciduenas และคณะ ได้นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบของมลพิษในอากาศ (air pollutants) ต่อระบบการเกิดรอยโรคในทางเดินหายใจและหัวใจของสุนัขที่อยู่ในท้องที่ต่างๆ ของประเทศเม็กซิโกซึ่งมีระดับมลพิษในอากาศที่อยู่ในระดับน่าเป็นห่วง ซึ่งในการศึกษานี้ได้กล่าวถึงมลพิษชนิดหลักๆ ก็คือ PM2.5, PM1.0 และโอโซน (ozone; O3) โดยผลการศึกษาโดยสังเขป สามารถสรุปได้ว่า มลพิษในอากาศเหล่านี้มีผลทำให้เกิดรอยโรคในเนื้อเยื่อของปอดและกล้ามเนื้อหัวใจของสุนัข โดยรอยโรคที่สำคัญที่มีการกล่าวถึง ก็คือ รอยโรคภายในเส้นเลือดฝอยเล็กๆ ที่อยู่ในเนื้อเยื่อปอดและในกล้ามเนื้อหัวใจ

ต่อมาในปี ค.ศ. 2017 Calderon-Garciduenas และคณะ ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ PM2.5 และโอโซน ต่อการทำงานของก้านสมอง (brain stem) ในสุนัข ลงในวารสาร Environmental research โดยเป็นการศึกษาว่าระดับของ PM2.5 และโอโซนในอากาศของเม็กซิโกซิตี้ (Mexico city) ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับมาตรฐานของ U.S. EPA นั้น มีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อและการทำงานของก้านสมองของสุนัขหรือไม่ โดยในการศึกษานี้ เลือกวัดผลกระทบโดยใช้การวัดคลื่นไฟฟ้าของเส้นประสาทการได้ยินและก้านสมอง  (brainstem auditory evoked potential; BAEP) ร่วมกับการศึกษาลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในบริเวณก้านสมอง ซึ่งผลการศึกษาพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงของการเกิดคลื่นไฟฟ้าของเส้นประสาทการได้ยินฯ ร่วมกับมีการฝ่อหรือผิดรูปไปของเนื้อเยื่อก้านสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟัง อันเนื่องมาจากมีการลดลงลดลงของเซลล์ในบริเวณดังกล่าว ร่วมกับมีร่องรอยของความเสื่อมเกิดขึ้นด้วย

บินลัดฟ้าข้ามจากแม็กซิโกกันมายังไต้หวันซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเรากันบ้าง เมื่อปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา Lin และคณะ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะมลพิษทางอากาศภายในอาคาร (indoor air pollution; IAP) กับการเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจของสุนัขและแมวที่เลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยง โดยตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of veterinary internal medicine โดยในการศึกษานี้ ได้ทำการเก็บข้อมูลจากสุนัขและแมวที่เลี้ยงในบ้านที่มีระดับของ PM2.5 ภายในบ้านที่แตกต่างกันไป (การวัดระดับ PM2.5 ภายในบ้าน ทำโดยการเก็บตัวอย่างของอากาศในบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอยู่อาศัยเป็นประจำ และเก็บตัวอย่างจากในระดับความสูงที่เพียงพอที่สุนัขหรือแมวจะสามารถสูดดมได้)

ผลจากการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แมวที่อยู่ในบ้านที่มี PM2.5 สูงกว่า 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (mg/m3) พบปัญหาโรคทางเดินหายใจมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยอาการผิดปกติที่พบได้มากมักเป็นการอักเสบของท่อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ภาวะหอบหืดในแมว (feline asthma) ภาวะหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (chronic bronchitis) รวมถึงการอักเสบของหลอดลมชนิด mixed-type inflammatory airway disease ส่วนอาการผิดปกติอื่นๆ ที่พบได้บ้าง แต่มีสัดส่วนที่น้อยกว่า ได้แก่ ภาวะการอักเสบที่เกี่ยวเนื่องกับทางเดินหายใจส่วนบน (เช่น จมูกอักเสบ (rhinitis) รวมทั้งโรคของช่องจมูก (nasopharynx) และคอหอย) และโรคที่เกี่ยวเนื่องกับปอด ส่วนผลจากการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสุนัขในงานวิจัยชิ้นนี้ ยังไม่บ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างระดับของ PM2.5 ภายในบ้านกับการเกิดโรคของระบบทางเดินหายใจในสุนัข

และเมื่อต้นปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา Lin และคณะ ก็ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับภาวะมลพิษทางอากาศภายในอาคาร (IAP) กับการเกิดปัญหาสุขภาพในสัตว์เลี้ยงอีกเรื่องหนึ่ง โดยในครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงบทบาทของมลพิษทางอากาศในอาคารต่อการเกิดโรคของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง (ได้แก่ หลอดลมฝอย (bronchus) และปอด) ในสุนัขและแมว ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of veterinary internal medicine เช่นเดียวกัน โดยการศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาบทบาทของมลพิษทั้งที่เป็น PM2.5 และที่เป็นสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds) ต่อการเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งในที่นี้ก็จะขอนำเฉพาะผลการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 มาสรุปให้กับท่านผู้อ่านครับ

จากการศึกษาโดยการเก็บตัวอย่างเซลล์จากทางเดินหายใจส่วนล่างของสุนัขและแมวที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ที่มีประวัติการอาศัยอยู่ในบ้านที่มี PM2.5 ในระดับความหนาแน่นต่างๆ กัน พบว่าสุนัขที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มี PM2.5 สูงกว่า 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีจำนวนเซลล์อักเสบในตัวอย่างที่เก็บมาได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่อยู่ในบ้านที่มี PM2.5 น้อยกว่า แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังไม่พบความแตกต่างของระดับความรุนแรงของอาการทางคลินิกระหว่างสุนัขทั้งสองกลุ่ม ซึ่งผลการศึกษานี้ พอจะช่วยให้เราเข้าใจผลกระทบของ PM2.5 ต่อการก่อปัญหาในระบบทางเดินหายใจของสุนัขได้ชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าในระยะยาว PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อไปได้อีกบ้าง แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีการศึกษาที่เพิ่มเติมในเรื่องนี้ตีพิมพ์ออกมาอีกในอนาคต

โดยสรุปจากข้อมูลการศึกษาที่มี ณ ขณะนี้ ก็พอจะยืนยันได้ว่า เจ้าฝุ่นละออกขนาดเล็กจิ๋วที่เรียกว่า PM2.5 นี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เรา แต่ยังมีผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อสุขภาพของสุนัขและแมวด้วยเช่นกัน และแม้ว่าการศึกษาเรื่องดังกล่าวในสัตว์เลี้ยงยังมีอยู่ไม่มากนัก แต่ข้อมูลการศึกษาวิจัยในมนุษย์ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง ก็อาจนำมาใช้เป็นแนวทางในการประเมินหรือคาดการณ์ผลกระทบที่อาจมีต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงได้ ทั้งนี้เนื่องจากพบรายละเอียดของการก่อปัญหาในบางส่วนที่มีความคล้ายคลึงหรือเทียบเคียงกันได้อยู่บ้างนั่นเอง

ป้องกันผลกระทบของ PM2.5 ต่อสัตว์เลี้ยงได้ด้วยวิธีใดบ้าง?

การป้องกันผลกระทบของ PM2.5 ในระยะยาวที่ดีและยั่งยืนที่สุด ก็คือ การที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันลดการกระทำใดๆ ที่จะเป็นแหล่งกำเนิดของ PM2.5 ให้มีหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด เพื่อให้มีความหนาแน่นของ PM2.5 ในอากาศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ซึ่งคงต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจกันของทุกๆ คนในสังคม และคงต้องอาศัยระยะเวลาอีกระยะหนึ่งในการที่จะจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนการป้องกันในระยะสั้นก็คือ

  • พยายามป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราต้องสัมผัสหรือสูดดม PM2.5 เพื่อจะได้ไม่เกิดผลกระทบที่ตามมาจากการได้รับ PM2.5 มากเกินไป ซึ่งถ้าเป็นในมนุษย์ การแนะนำให้มีการใส่หน้ากากอนามัย (mask) ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันฝุ่นละอองน่าจะทำได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับสุนัขและแมวแล้ว การบังคับใส่หน้ากากอนามัยสำหรับกันฝุ่นกลับไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนักในทางปฏิบัติ ดังนั้น สิ่งที่น่าจะพอเป็นไปได้ก็คือ การพยายามให้สุนัขและแมวของเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับ PM2.5 น้อยที่สุด
  • ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงที่มีรายงานว่ามีความหนาแน่นของ PM2.5 ในอากาศมากๆ ก็อาจจะต้องพยายามงดกิจกรรมกลางแจ้งลง เช่น งดการปล่อยเล่นกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ ลดระยะเวลาในการพาเดินออกไปขับถ่ายนอกบ้านให้สั้นลง ฯลฯ
  • สำหรับสุนัขหรือแมวที่เลี้ยงอยู่ในบ้านตลอดเวลา การพิจารณาเลือกใช้ เครื่องฟอกอากาศ ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพดีในการดักจับฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว เพื่อลดความหนาแน่นของ PM2.5 ที่อาจเข้ามาสู่อากาศภายในบ้าน ก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้สุนัขและแมวของเรามีความเสี่ยงต่อการได้รับ PM2.5 ลดลง
  • ยิ่งถ้าเราทราบว่าสัตว์ป่วยของเรามีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงจะเกิดผลกระทบต่อ PM2.5 ได้ง่าย เช่น โรคทางเดินหายใจอักเสบ โรคหอบหืด หรือโรคปอดเรื้อรัง ฯลฯ เหล่านี้ ก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น นอกจากนี้ ก็ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของสัตว์เลี้ยง หากพบว่ามีอาการผิดปกติที่เกี่ยวเนื่องกับการระคายเคืองจากผลของ PM2.5 ในอากาศ เช่น อาการไอ จาม หายใจเหนื่อยหอบ หรือแม้แต่อาการระคายเคืองของดวงตาภายหลังจากสัมผัสกับฝุ่นควัน ฯลฯ ก็ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร่งด่วน ไม่ควรนิ่งนอนใจ เนื่องจากอาการต่างๆ เหล่านี้ อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งทำให้เกิดอันตรายในภายหลังได้ ส่วนการให้สารอาหารเสริมในกลุ่มโอเมกา 3 (omega-3) และวิตามินอี (vitamin E) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) นั้น มีข้อมูลว่าอาจช่วยลดการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ของเซลล์ต่างๆ รวมทั้งป้องกันหรือบรรเทาการอักเสบของหลอดเลือดฝอย (Bo และคณะ, 2016) และการเสียหายของปอด (Li และคณะ, 2019; Panebianco และคณะ, 2019) อันเป็นผลกระทบจากการได้รับ PM2.5 ได้ แต่อย่างไรก็ดี ควรมีการปรึกษากับสัตวแพทย์ก่อนที่จะมีการเริ่มให้ทานอาหารเสริมดังกล่าว

ส่งท้ายกับวายร้ายขนาดจิ๋ว

PM2.5 คือฝุ่นละเอียดขนาดเล็กจิ๋วที่ล่องลอยปะปนอยู่ในอากาศ โดยคุณสมบัติทางกายภาพ รวมทั้งองค์ประกอบทางเคมีที่ปนเปื้อนของ PM2.5 เป็นปัจจัยสำคัญในการก่อปัญหาสุขภาพ แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีมาตรการที่สามารถจัดการกับ PM2.5 ได้อย่างเด็ดขาด แต่การป้องกันสัตว์เลี้ยงที่รัก ด้วยการพยายามให้สัมผัสกับ PM2.5 ให้น้อยที่สุด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพที่เป็นผลเหนี่ยวนำจาก PM2.5 ได้ และหากพบว่าสัตว์เลี้ยงเกิดปัญหาสุขภาพที่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการได้รับ PM2.5 ก็ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินสุขภาพและวางแผนดูแลแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาเหล่านั้นอย่างเหมาะสม

บทความโดย

อ.น.สพ. เสลภูมิ ไพเราะ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)
Selapoom Pairor DVM, MS, DTBVIM
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Department of Companion Animal Clinical Science, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่