เมื่อจับเสื้อผ้าแต่ละชุดขึ้นมา เคยสับสนกันบ้างไหมคะว่า นี่คือเนื้อผ้าชนิดไหน ยิ่งเดี๋ยวนี้เสื้อผ้าน่ารัก ๆ ที่เน้นความเป็นธรรมชาติก็กำลังเป็นที่นิยมเอามาก ๆ ถ้าได้รู้จักและแยกเนื้อผ้าจาก เส้นใยธรรมชาติ ออก ก็ยิ่งทำให้เลือกเสื้อผ้าได้ตรงใจมากขึ้นแน่นอนค่ะ
โดยพื้นฐานเนื้อผ้าจาก เส้นใยธรรมชาติ นั้นอาจจะได้มาจากพืชและสัตว์เพียงไม่กี่ชนิด แต่ด้วยลักษณะของพันธุ์และการทอที่ต่างกันออกไป ทำจึงทำให้ได้เนื้อผ้าที่หลากหลาย ซึ่ง เส้นใยธรรมชาติ ประเภทหลัก ๆ ที่นิยมกันจะมีที่มาจากอะไร และหน้าตาตั้งต้นก่อนจะแปรรูปเป็นผืนผ้านั้นเป็นอย่างไรบ้างนั้น ตาม my home ไปเริ่มต้นทำความรู้จักกันได้เลยค่ะ
1.ใยฝ้าย

ถ้าใครได้เห็นอาจเป็นต้องร้องอ๋อ เพราะหลาย ๆ คนอาจคุ้นหน้าคุ้นตากับใยฝ้ายสีขาวที่เป็นปุยนุ่ม ๆ กลม ๆ อยู่บนเมล็ดสีน้ำตาลที่แห้งจนแตกออกมาและกลายเป็นปุยฝ้ายอย่างที่เห็น แต่ฝ้ายนั้นก็มีอยู่หลายพันธุ์ บางพันธุ์ก็มีเส้นใยที่ยาว บางพันธุ์ก็มีเส้นใยที่สั้น จึงต้องนำมาปั่นรวมกันให้กลายเป็นด้ายก่อนจะนำไปทอเป็นผ้าสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่ผ้าเนื้อบางอย่างผ้าสาลูที่ขึ้นชื่อเรื่องความนุ่ม ระบายอากาศและซับน้ำได้ดี จึงเหมาะกับการนำไปใช้เป็นผ้าอ้อมและผ้าสำหรับเช็ดถ้วยชามต่าง ๆ ไปจนถึงผ้าเนื้อหนาอย่างผ้ายีนส์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความทนทานก็ใช้การทอจากใยฝ้ายเหมือนกันค่ะ ที่เห็นใช้งานได้เยอะขนาดนี้ก็เพราะผ้าฝ้ายนั้นทั้งทนทาน ดูดซับน้ำได้ดี ย้อมสีติดง่ายแถมยังราคาไม่สูง จึงเป็นเส้นใยที่มีการนำไปใช้งานมากที่สุดนั่นเอง
2.ใยลินิน

ใยลินินนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับใยฝ้ายเลยค่ะ แต่ถ้าเป็นเรื่องของความเหนียวทนและการซับน้ำ รวมถึงระบายอากาศนั้นจะทำได้ดีกว่า จึงเหมาะกับการนำไปตัดเป็นเสื้อผ้าสำหรับใส่ช่วงหน้าร้อนที่ต้องการความเย็นสบายเป็นพิเศษ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความยืดหยุ่นที่น้อยลง ทำให้เนื้อผ้าค่อนข้างแข็ง ยับง่าย ไม่ทิ้งตัว และไม่ถูกกับสารฟอกขาวอีกด้วย โดยใยลินินจะได้มาจากส่วนที่เป็นท่ออาหารของลำต้นแฟล็กซ์ สีที่ได้จะออกไปทางแนวเอิร์ธโทนอย่างขาวครีม และเส้นใยลินินนั้นก็สามารถนำไปทอเป็นผ้าได้ทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบเช่นกัน นอกจากเสื้อผ้าแล้วก็ยังนำไปตัดได้ทั้งผ้าปูโต๊ะ ผ้ากันเปื้อนหรือผ้าม่าน เพราะคุณสมบัติเด่นอีกอย่างของใยลินินก็คือความทนทานเวลาโดนแสงแดด รวมทั้งยังต้านเชื้อราและแบคทีเรียได้ดีอีกด้วย
3.ใยป่าน,ใยปอ

เส้นใยป่านส่วนใหญ่จะได้มาจากป่านรามี ส่วนปอนั้นจะมีอยู่ 2 พันธุ์ด้วยกัน นั่นคือปอแก้วและปอกระเจา ขั้นตอนหลัก ๆ จะใช้วิธีเดียวกับการแยกใยลินิน โดยนำลำต้นมาหมักจนเปื่อยจึงค่อยนำไปปอกเปลือกและสางเอาเส้นใยออกมาปั่น ตัวเส้นใยที่ได้ออกมานั้นจะมีสีออกไปทางน้ำตาลซึ่งเข้มกว่าเส้นใยชนิดอื่น จึงต้องนำมาย้อมสีเข้ม ๆ ให้ดูสดใส หรือไม่ก็โชว์สีแบบธรรมชาติไปเลยนั่นเองค่ะ ส่วนคุณสมบัติเด่นของป่านและปอก็คือความทนทานต่อแสงแดด ความร้อน รวมทั้งมอดและแมลงต่าง ๆ จึงไม่แปลกใจเลยที่จะถูกหยิบไปใช้ทำเป็นกระสอบหรือบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ นั่นจึงทำให้บางครั้งก็ถูกเรียกรวม ๆ ว่าผ้ากระสอบ และมีการนำไปผลิตเป็นเครื่องใช้อื่นอีก ๆ เช่นพรมปูพื้น ของแต่งบ้าน กระเป๋าหรือหมวกสานที่สาว ๆ ชอบใช้กันนั่นเองค่ะ
4.ใยไผ่

ใยไผ่นั้นขึ้นชื่อในเรื่องของเส้นใยที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุด ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นตั้งแต่การต้านแบคทีเรียด้วยสาร Bamboo Kun ที่มีอยู่ในใยไผ่ ซึ่งเป็นตัวช่วยป้องกันการเกิดกลิ่นอับ สามารถระบายและซับเหงื่อได้ดี มีน้ำหนักเบาและให้สัมผัสที่นุ่มสบายเมื่อสวมใส่ จึงนิยมนำไปผลิตเป็นชุดชั้นในและชุดกีฬา แต่สำหรับเครื่องใช้อื่น ๆ อย่างผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่ม หรือผ้าขนหนูก็มีการนำใยไผ่ไปใช้เหมือนกันค่ะ ซึ่งขั้นตอนการผลิตใยไผ่มานั้นจะเริ่มจากการอบไอน้ำเพื่อให้ท่อนไผ่อ่อนตัว และค่อยนำไปปั่นจนออกมาเป็นเส้นใยที่ยืดหยุ่น อ่อนนุ่ม มันวาวคล้ายเส้นไหม และนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายเลยค่ะ
5.ใยไหม

ถ้าพูดถึงใยไหมต้องยกให้ในเรื่องของความสวยงามเลยค่ะ เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าผ้าไหมนั้นจะมีความเงาวาวต่างจากเส้นใยชนิดอื่น ๆ เห็นได้จากการนำไปตัดเป็นชุดออกงานรูปแบบต่าง ๆ ที่ต้องการความหรูหราเป็นทางการ และนอกจากจะนุ่มสวยแล้วก็ยังมีจุดเด่นอื่น ๆ อีกนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการดูดซับความชื้นได้ดี นำไปย้อมสีหรือตกแต่งด้วยสารเคมีต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา แถมเนื้อผ้ายังไม่ขึ้นเป็นขุย แต่ก็ต้องคอยดูแลรักษาและระวังในขั้นตอนการซักทำความสะอาดเป็นพิเศษ ส่วนที่มาของเส้นใยไหมนั้นจะต่างจากเส้นในประเภทอื่น ๆ ตรงที่มาจากสัตว์แทนที่จะมาจากพืช โดยเส้นใยที่ได้จะมาจากรังของหนอนไหมนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ สุดท้ายจึงได้ออกมาเป็นเส้นใยคุณภาพที่ได้ราคาสูงอย่างที่เห็นกันค่ะ
6.ขนสัตว์

เส้นใยรูปแบบสุดท้ายคือเส้นใยที่มาจากขนสัตว์รูปแบบต่าง ๆ นั่นเองค่ะ โดยเส้นใยรูปแบบนี้จะนิยมใช้กันในเมืองหนาว เพราะขนสัตว์จะให้ความอบอุ่นได้ดี จึงไม่ค่อยใช้ในบ้านเราเท่าไรนัก สำหรับขนสัตว์ที่เห็นนั้นมักจะได้มาจากสัตว์ประเภทแกะ แพะ อัลปากา ฯลฯ หรือที่เรียกรวมกันว่า HAIR FIBER ส่วนอีกรูปแบบจะได้มาจากสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างพวกกระต่าย มิงค์ บีเวอร์ ที่เรียกว่า FUR FIBER และแม้ขนสัตว์จะเป็นเส้นใยที่ยืดหยุ่นได้ดี ไม่ยับง่าย แต่ก็เหมาะกับการซักแห้งมากกว่าเพื่อไม่ให้เส้นใยเสียรูปทรงมากจนเกินไป
story : Kamonchanok.L
” สาธุ ” ฝ้าย-ใยกัญชง-สีธรรมชาติ สู่เสื้อผ้าที่ถักทอจากสัญชาตญาณ
[ DIY ] Katazome วิธีการย้อมผ้าและพิมพ์ผ้า ตามแบบฉบับญี่ปุ่นโบราณ