บ้านทรงสูงท่ามกลางความเขียวครึ้มของแมกไม้โดยรอบ ระยะทางเพียงไม่กี่อึดใจ จากตัวเมืองเชียงใหม่ ภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าก็ได้เปลี่ยนไป ในละแวกนี้มีบ้านสวย ๆ หลายหลัง แต่ละหลังก็ได้ใส่เอกลักษณ์เฉพาะตัวของเจ้าของบ้านลงไปเป็นส่วนประกอบหลัก และหนึ่งในนั้นก็คือ บ้านปูนสองชั้น หลังคาจั่วหลังนี้ค่ะ
คุณเอก – วราพงษ์ มาเตียง เจ้าของ บ้านปูนสองชั้น ขี่เวสป้าคู่ใจมารับ my home ในลุคสบาย ๆ วิวทั้งสองข้างทางปกคลุมไปด้วยต้นไม้สูงเป็นทิวแถวดูสบายตาใครจะเชื่อว่าละแวกนี้เป็นที่อยู่อาศัย เมื่อมาถึงตัวบ้าน คุณเอกพาเราเดินสำรวจรอบ ๆ ก่อนจะได้นั่งคุยถึงที่มาของบ้านหลังนี้ “เริ่มมาจากเราอยากได้ที่ดินเพื่อสร้างบ้านผืนเล็ก ๆ และอยากให้อยู่นอกตัวเมืองออกมาหน่อย ได้เจอที่ดินแปลงนี้ซึ่งเป็นที่ผืนสุดท้ายก่อนจะเข้าเขตป่าไม้ ”

“ ละแวกนี้ยังมีเพื่อนบ้านไม่มากนัก เจ้าของบ้านแต่ละหลังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงมาก
ท้ายซอยเป็นลุงฝรั่งทำไวโอลิน ส่วนบ้านที่อยู่ติดกันเป็นคู่สามีภรรยาชาวญี่ปุ่น – ไทย
ที่ทำงานศิลปะลักษณะบ้านก็มีเอกลักษณ์ตามตัวเจ้าของ ”
บ้านปูนสองชั้น ขนาดกลางบนพื้นที่ 70 ตารางวา นอกจากตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สีเขียวแล้ว เรายังสังเกตว่ารอบ ๆ บ้านนั้นมีต้นไม้ใหญ่อยู่หลายต้นที่ช่วยให้ร่มเงากับตัวบ้านได้อย่างดี ซึ่งเกิดจากความต้องการของคุณเอกและสถาปนิกผู้ออกแบบ ที่อยากเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้
“บ้านหลังนี้ออกแบบโดยเพื่อนที่รู้จักกันซึ่งเป็นสถาปนิกคนเดียวกับที่ออกแบบ ‘บ้านหน้อย นอนม่วน ’ ช่วยดูแลเรื่องโครงสร้างให้ แต่ส่วนรายละเอียดยิบย่อยอย่างการตกแต่งและผนังไม้หน้าบ้านนี้เราค่อย ๆ เลือกค่อย ๆ ทำเอง เนื่องจากอาชีพเราที่ทำงานเป็นผู้จัดการนิตยสารเชิงท่องเที่ยวของเชียงใหม่มา 10 ปี ก็ได้ไปตามโรงแรมและร้านสวย ๆ เยอะ ส่วนนี้ทำให้เริ่มสะสมไอเดียมาทีละนิด ตรงไหนที่เราคิดว่าน่าจะปรับมาใช้กับตัวบ้านได้ก็หยิบมาทดลองทำดู ”
ไทยประยุกต์โดยบังเอิญ
ผังบ้านได้รับการออกแบบไว้อย่างเรียบง่ายและลงตัว ตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ซึ่งมีที่จอดรถยนต์ด้านหน้า พร้อมผนังสำหรับแขวนอุปกรณ์งานช่าง เชื่อมต่อกับสนามหญ้าที่มีต้นไม้ขนาดกลางซึ่งโตมาพร้อมกับตัวบ้านและส่วนนั่งเล่น ทางเข้าบ้านเป็นชานเรือนเล็ก ๆ ยกพื้นสูงจากระดับดินเนื่องจากเป็นทางน้ำไหลผ่าน


พื้นที่ส่วนกลางด้านใน ได้แก่ ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหารและครัวเชื่อมต่อถึงกันหมดภายใต้เพดานสูง อีกฝั่งเป็นห้องนอนชั้นล่างและห้องน้ำซึ่งถูกแยกไว้เป็นสัดส่วนส่วนชั้นสองเป็นห้องนอนและโถงนั่งเล่นซึ่งมีความเป็นส่วนตัว แต่ต่อเนื่องในเวลาเดียวกัน
“โจทย์ที่ผมให้กับสถาปนิกเลยคือต้องโปร่ง อยากได้ เพดานสูง อยากได้อิฐขัดมันและผนังก่ออิฐโชว์แนวส่วนการยกพื้นขึ้นนั้นเนื่องจากสถาปนิกเห็นว่า ที่ดินเป็นทางน้ำไหลจึงจำเป็นต้องยกตัวบ้านขึ้นเพื่อหนีน้ำ โจทย์อีกข้อคือ ต้องการแสงสว่างเยอะ ๆ จึงมีช่องหน้าต่างอยู่โดยรอบ แสงและลมเข้าได้ตลอดทั้งวัน ช่วยประหยัดค่าไฟ จะมีความต้องการบางอย่างเท่านั้นที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นคือ ผมอยากได้ห้องน้ำเอ๊าต์ดอร์แต่สถาปนิกได้ท้วงไว้ว่า เมื่อใช้งานจริงอาจจะมีปัญหาเช่นเมื่อฝนตกจะเลอะเทอะ จึงใช้แค่หลังคาโปร่งแสงเพื่อให้แสงจากภายนอกเข้าไปในห้องน้ำแทน ดูไปดูมาก็คล้ายบ้านไทยอยู่ มีชานหน้าบ้าน มีเสาค้ำหลังคา ดูโล่งโปร่งสบาย ”

- บ้านกึ่งโฮมสเตย์ ดีไซน์ร่วมสมัยเเบบบ้านไทย ใต้ถุนสูง
- บ้านกรอด้ายบ้านไทยจากความทรงจำในวันวาน
- บ้านกิติสุข..บ้านปูนเปลือยลอฟท์ร่วมสมัย
