ศุภพงศ์ สอนสังข์ ดีไซเนอร์ผู้หักดิบจากโลกของดีไซน์ มาลงมือปลูกป่าด้วยตัวเองกว่า 70 ไร่

ศุภพงศ์ สอนสังข์ ดีไซเนอร์ผู้หักดิบจากโลกของดีไซน์ มาลงมือปลูกป่าด้วยตัวเองกว่า 70 ไร่

ศุภพงศ์ สอนสังข์ ดีไซเนอร์ผู้หักดิบจากโลกของดีไซน์ มาลงมือปลูกป่าด้วยตัวเองกว่า 70 ไร่
ศุภพงศ์ สอนสังข์ ดีไซเนอร์ผู้หักดิบจากโลกของดีไซน์ มาลงมือปลูกป่าด้วยตัวเองกว่า 70 ไร่

เมื่อ 10 ปีที่เเล้ว คุณตั้ม – ศุภพงศ์ สอนสังข์ เคยได้รับรางวัล DEmark และ Designer of the Year ก่อนที่เขาจะหันหลังให้กับวงการออกแบบ แล้วลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ที่ท้าทายกว่า ด้วยการขับรถไปกลับวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อปลูกป่าผืนแรกที่กำแพงเพชร และขยายต่อมายังราชบุรี จนกลายเป็นฐานผลิตวัตถุดิบให้แก่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Jird Design Gallery ของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดีไซเนอร์ HAT

โดยครั้งนี้ room ได้มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมห้องทำงานกลางป่าที่จังหวัดราชบุรีของคุณตั้ม-ศุภพงศ์ สอนสังข์ ดีไซเนอร์ผู้หักดิบจากโลกของงานดีไซน์ เพื่อมาลงมือปลูกป่าอันเป็นเเหล่งวัตถุดิบให้แก่เเบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของตนเอง บนที่ดินเนื้อที่กว่า 70 ไร่ เพราะเชื่อว่านี่คือวิธียืดอายุการประกอบอาชีพ “นักออกแบบ” ของเขาได้ยั่งยืนกว่า อันหมายถึงลดการพึ่งพาผู้ว่าจ้างให้ดีไซเนอร์สามารถเป็นผู้สร้างสรรค์และนำเสนอผลงานไปสู่ผู้ใช้สินค้าได้โดยตรง

room: ทำไมคุณตั้มจึงลุกขึ้นมาปลูกป่าละครับ

ศุภพงศ์: “ต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีแล้ว ขณะที่ผมกำลังทำงานอย่างมือขึ้นอยู่ในวงการออกแบบ ในมุมหนึ่งเราก็ได้เห็นแรงกดดันที่ว่าอาชีพของเรานั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำสั่งเเละว่าจ้างจากลูกค้า ไม่ว่าจะในระดับของประเทศไทย หรือในระดับโลก บางทีการจะได้ทำงานดี ๆ กับบริษัทดี ๆ บางครั้งแค่มีฝีมืออาจจะยังไม่พอ เพราะต้องมีเรื่องของความพร้อม เรื่องของดวง เเละปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ก็เลยหาวิธีที่เราจะประกอบอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนั่นคือลดการพึ่งพาผู้ว่าจ้าง เเละเราสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์และนำเสนอผลงานไปสู่ผู้ใช้สินค้าได้โดยตรง

“อีกมุมหนึ่งผมเป็นคนชอบต้นไม้อยู่แล้วมาตั้งแต่เด็ก อย่างดีไซเนอร์ถ้าไม่มีผู้ว่าจ้างก็เหมือนเป็นการสิ้นสุดของอาชีพ ผมก็เลยมองว่าการเกษตรนี่แหละที่ถือเป็นอาชีพเบสิกทำให้เราประคองตัวเองได้ สอดคล้องกับตอนที่เราอ่านหนังสือแล้วพบว่า เฮ้ย! ศิลปิน นักเขียนที่มีชื่อเสียง หลายคนอาจไม่ได้ร่ำรวย พวกเขามักจะมีบ้านสวน สร้างไว้เสมือนเป็นที่หลบภัยเวลาไม่มีงาน เราก็เลยอยากทำตรงนี้ขึ้นมาบ้าง”

โรงงานขนาดย่อมท่ามกลางธรรมชาติ มีช่างไม้ที่ฝึกมาจากเด็กในท้องถิ่นทำงานอยู่ โดยปัจจุบันส่วนใหญ่ยังใช้ไม้จากแหล่งอื่นอยู่ มีการทำเฟอร์นิเจอร์ไว้ใช้งานเองบางส่วนมาจากไม้โตเร็วอย่างกระถินเทพาที่ปลูกไว้
โรงงานขนาดย่อมท่ามกลางธรรมชาติ มีช่างไม้ที่ฝึกมาจากเด็กในท้องทำงานอยู่  เฟอร์นิเจอร์บางส่วนทำมาจากไม้โตเร็วอย่าง กระถินเทพา ที่คุณตั้มปลูกไว้

room: คุณตั้มเชื่อมโยงการปลูกป่าเข้ากับอาชีพดีไซเนอร์อย่างไร

ศุภพงศ์: “ในการเลือกพึ่งพาตอนเอง การทำเกษตรมีอะไรให้ปลูกเยอะ เเยะ แต่พอเราเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์เราเห็นอยู่ว่า ไม้ คือทรัพยากรที่มีค่า และมีมูลค่าสูง จึงโฟกัสไปที่ไม้เศรษฐกิจ เเละไม้ป่ายืนต้น แล้วเริ่มต้นด้วยการศึกษาหาความรู้ใหม่ เรียกว่าหักดิบจากโลกของดีไซน์ มาสู่โลกของการเกษตรในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ในระหว่างนั้นเราหายไปนานร่วม 4  ปี ก่อนจะกลับมาดีไซน์ผลงานชิ้นใหม่ โดยในช่วงที่หายไปนั้นเราก็ใช้เวลาในการศึกษาทดลองการปลูกป่าทำมาเรื่อย ๆ  จนได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์จากการได้ไม้มาเป็นวัตถุดิบในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการได้สถานที่ทำงานที่มีบรรยากาศร่มรื่น  ที่สำคัญได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ศุภพงศ์ สอนสังข์ ดีไซเนอร์ผู้หักดิบจากโลกของดีไซน์ มาลงมือปลูกป่าด้วยตัวเองกว่า 70 ไร่
คุณตั้ม-ศุภพงศ์ สอนสังข์ กับอดีตบ้านสวนที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นโชว์รูมขนาดย่อมให้ลูกค้ามาเยี่ยมถึงแหล่งผลิต

room: ช่วงแรกมีคำถามมาหาเราเยอะไหม

ศุภพงศ์: “คนตั้งคำถามว่าทำสวนเนี่ย ทำสวนอะไร พอเราบอกว่าปลูกป่า เขาก็จะบอกว่าปลูกไปทำไม ปลูกไปชาตินี้ก็ไม่ได้ใช้ คือความเข้าใจของหลายคน มองว่าการปลูกป่าเป็นเรื่องระยะยาว จนไม่สามารถดำรงชีพได้

“แต่ถ้าเราศึกษาดี ๆ จะพบว่าในระหว่างที่ป่าเติบโตมันเป็นอาชีพได้ด้วย เรามีกิจกรรมในสวนเยอะเยะที่สามารถสร้างเป็นแหล่งอาหารเเละแหล่งรายได้  ขณะเดียวกันเราก็เฝ้าดูเเลต้นไม้ในระหว่างนั้นไปด้วย เรามองว่าต้นไม้เป็นเครื่องจักรที่สร้างตนเองได้ ต้นกล้าต้นเล็ก ๆ ปลูกลงไปในดิน ให้น้ำ เเสงแดด และเวลา 3 ปัจจัยนี้ช่วยสร้างวัตถุดิบหมุนเวียนได้ดีกว่าวัตถุดิบตัวอื่น ๆ

“พอเราเป็นดีไซเนอร์ก็มีความสามารถในการแปรรูปสิ่งเหล่านี้ในขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ละเอียด เรียงลำดับจากต้นกล้ามาเป็นต้นไม้ มาเป็นไม้ซุง มาเป็นไม้กระดาน และจากไม้กระดานมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ เรียกว่าจากต้นกล้าต้นละ 2 บาท ผ่านไป 20 ปี จะมีมูลค่าเป็นแสนบาท ถ้าเรารู้จักวิธีจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ”

ศุภพงศ์ สอนสังข์ ดีไซเนอร์ผู้หักดิบจากโลกของดีไซน์ มาลงมือปลูกป่าด้วยตัวเองกว่า 70 ไร่
เก้าอี้ไม้ หน้าโชว์รูมบ้านสวนที่ราชบุรี ผลงานของ Jird Design Gallery ที่คุณตั้มออกแบบเอง

room: รูปแบบการทำงานของคุณตั้มมีขั้นตอนเป็นอย่างไร ในการทำสวนควบคู่ไปพร้อมกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์

ศุภพงศ์: “เราแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน เรียกว่าเราลงทุนใน 3 ส่วน คือ หนึ่งเป็นเรื่องของดีไซน์ สองเป็นเรื่องทรัพยากรคน ทีมงาน เเละช่างไม้ สามคือเรื่องทรัพยากรที่เป็นไม้ ดีไซน์ มนุษย์ และการเกษตร ทั้งหมดถูกเชื่อมโยงอยู่ร่วมกันในสวนแห่งนี้ โดยเราใช้การเกษตรเป็นฐานหลัก เพราะเราจะได้ใช้เวลาอย่างมากอยู่กับงานตรงนี้ ส่วนดีไซน์เราทำเป็นฤดูกาล หมายถึงว่าถ้ามีเอ็กซิบิชั่น เราถึงจะเริ่มทำงาน ไม่ได้ขายหรือทำเฟอร์นิเจอร์ตลอดเวลา เราใช้วิถีของคนเกษตรมาจับกับงานธุรกิจดีไซน์ เกษตกรมีฤดูเพาะปลูกเเละเก็บเกี่ยว เราก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะมองว่าฐานของมนุษย์ควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะไม่ทำงานกันตลอดเวลา เเละจะทำเท่าที่จำเป็น

“เรื่องงานออกแบบผมจะเป็นคนรับผิดชอบเอง ส่วนทีมงานที่นี่เช้าขึ้นมาเขาจะต้องกวาดใบไม้ ต้องปลูกต้นไม้เป็น รวมถึงตอนกิ่ง เเละเพาะเมล็ด คนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีเราเชื่อว่าคนในชุมชนที่มาอยู่กับเรา เราฝึกวิชาช่างไม้ให้ เเละสอนเรื่องงานเกษตรให้ด้วย ความรู้ที่ติดตัวเขาไปนี้ จะทำให้พวกเขาทำงานได้อย่างยั่งยืน ส่วนป่าทั้งหมดก็จะเป็นหลักประกันว่าธุรกิจนี้จะทำให้เราอยู่ได้อย่างยาวนาน เราพูดกันเล่น ๆ ว่า จะอยู่กันจนตายไปข้างหนึ่ง เพราะใช้เวลาอีก 20-30 ปี กว่าต้นไม้ที่เราปลูกไว้จะสามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ได้จริง ๆ มันจึงเป็นหลักประกันให้กับชุมชนว่าต่อไปถ้าทรัพยากรหมด เราอาจเป็นกลุ่มที่มีทรัพยากรใช้เป็นของตนเองอีกร้อยปี

“การลงทุนที่อื่นเขาอาจจะสร้างตึก อาคารใหญ่โต ซื้อเครื่องจักรแพง ๆ แต่การลงทุนของเราคือ การซื้อที่ และปลูกป่า เราเคยโดนถามอยู่เรื่อยว่า ที่ดี ๆ ทำไมเอาไปปลูกป่า เพราะเขามองวัามันไม่ได้ประโยชน์ เเต่เรากลับมองต่างออกไป อีก 20 ปี เราก็จะได้ใช้ไม้ ภารกิจหลักของที่นี่จึงคือเรื่องของต้นไม้”

การสั่งงานของคุณตั้มเวลาคุยกับช่าง จะสเก็ตงานกันบนเศษไม้เลย ไม่ได้ใช้กระดาษ
การอธิบายงานของคุณตั้มเวลาคุยกับช่างไม้ซึ่งเป็นคนในท้องที่ เขาจะใช้วิธีสเก็ตช์งานลงบนเศษไม้เลย ไม่ได้ใช้กระดาษให้ยุ่งยาก

room: ประสบปัญหาอะไรบ้างไหม ในช่วงที่ผ่านมา

ศุภพงศ์: “ช่วงแรกของการมาปลูกป่าคือ ต้องมีเงินทุนระดับหนึ่ง ผมโชคดีตรงที่ตอนแรกที่ผมรีไทร์จากวิชาชีพออกแบบ ผมเลิกรับงานมาตั้งแต่ปี 2008 ตอนนั้นกำลังรุ่งเรืองที่สุดคือมีค่าลิขสิทธิ์งานออกแบบจากลูกค้า มีเงินที่ตกค้าง ช่วงแรกคือต้องมีเงินที่นำมาใช้หมุนเวียน และต่อมาก็ได้เงินมาจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง เพราะเราก็ต้องการเงินที่จะมาหล่อเลี้ยงแปลงปลูกป่าของเราไปเรื่อย ๆ

“กระบวนหลักจึงต้องเป็นเรื่องของความอดทน คือต้องอยู่ให้ได้ในช่วงแรก ๆ งานตรงนี้จึงต้องใช้ความทุ่มเทสูง ถ้าเราผ่านงานปลูกต้นไม้มาได้ งานดีไซน์ หรืองานธุรกิจจะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก (หัวเราะ) ผมเคยถามจากลูกน้องว่า ถ้าให้ลงงานเกษตรวันหนึ่ง กับลงงานไม้ในโรงไม้จะเลือกอะไร เขาบอกว่าทำงานไม้สบายกว่าเยอะ งานเกษตรเป็นงานที่หนัก ส่วนคนที่ทำงานเกษตรเเล้วไม่ไหวเลิกไปเยอะ เรียกว่ายังอดทนไม่พอ เพราะต้องตื่นตี 5 ถ้าสายอากาศจะร้อน นับตั้งเเต่ตอน 7 โมงเป็นต้นไป งานต้องหยุดเเล้วละ ลงแปลงอีกทีก็ประมาณ 5 โมงครึ่ง ทุ่มหนึ่งยุงมาก็ต้องเลิก เพราะฉะนั้นมันคือช่วงเวลาที่ไม่มีใครอยากมาทำงานในช่วงเวลาแบบนี้ครับ และโรงไม้ที่เกิดขึ้นก็เพราะเราปลูกป่ามา 4 ปี กลางวันเนี่ยว่าง เพราะแดดมันร้อนจนทำอะไรไม่ได้ ผมก็เลยเซ็ตระบบโรงไม้ขึ้นและเริ่มต้นจากจุดนั้นครับ

“ทีนี้ถ้าถามว่าจากวันนั้นมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ก็ต้องบอกว่ามันไม่ได้มาด้วยแผน มันมาด้วยการปรับที่หน้างาน ปลูกป่าแล้วเวลามันเหลือ เราจึงเอาเวลาที่เหลือมาเตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง เเละกับคนในชุมชนซึ่งไม่มีความรู้เรื่องานไม้ เรียกว่าจากศูนย์เลย โดยพาเขามาฝึกในระหว่างที่ต้นไม้กำลังโต เพราะเราเชื่อว่าวันที่ไม้เราพร้อมใช้งาน ช่างไม้ของเราจะมีความเก่งมากพอ ซึ่งตัวดีไซเนอร์เองก็ต้องเรียนรู้เรื่องการออกแบบไปด้วย เรียกว่าทำทุกอย่างคู่ขนานกันไปหมด”

คนในสวนและคุณตั้มกำลังช่วยกันปลูกต้นไม้ การเพาะกล้าจะใช้ไม้ไผ่ฝังลงไปเลย เมื่อไม้ไผ่ผุก็ย่อยสลายต่างจากการใช้ถุงพลาสติกดำเพาะชำ
คนในสวนและคุณตั้มกำลังช่วยกันปลูกต้นไม้
คนในสวนและคุณตั้มกำลังช่วยกันปลูกต้นไม้ การเพาะกล้าจะใช้ไม้ไผ่ฝังลงไปเลย เมื่อไม้ไผ่ผุก็ย่อยสลายต่างจากการใช้ถุงพลาสติกดำเพาะชำ
การเพาะกล้าจะใช้ไม้ไผ่ฝังลงไปเลย เมื่อไม้ไผ่ผุก็จะย่อยสลายไปในดิน ต่างจากการใช้ถุงพลาสติกดำเพาะชำ

room: สวนที่เราอยู่ตรงนี้มีอะไรบ้าง

ศุภพงศ์:ที่หนองโพ แปลงนี้เป็นฐานบัญชาการใหญ่ ที่มีทั้งโรงเก็บไม้ ซึ่งส่วนใหญ่ขณะนี้ใช้เก็บไม้เก่าเเละไม้ซุงที่จ้างผ่า  มีโรงผลิตที่มีเครื่องจักรไม่เกิน 4-5 ชนิด เเละมีห้องสโตร์ไว้เตรียมห่อของส่งลูกค้า สุดท้ายคือส่วนของตัวบ้านที่ผมเปลี่ยนมาเป็นโชว์รูม เนื่องจากหลัง ๆ มานี้ มีลูกค้าที่ต้องการเข้ามาชมที่สวนกันเยอะขึ้นครับ”

“แต่ที่ดิน 2 แปลงแรกของเราที่เริ่มในปี 2551จะอยู่ที่กำแพงเพชร ที่ราชบุรีจะมีอยู่ 4 แปลง แปลงนี้จะทำมาประมาณ 11 ปี และจะมีแปลงที่ปลูกมา 4 ปี กับ 1 ปีด้วย ตอนนี้ก็ค่อย ๆ ขยายไป”

room: ช่วยเล่าถึงกลุ่ม Hat สักนิด

ศุภพงศ์: “กลุ่ม Hat เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ด้วยแนวคิดที่ว่าเราอยากให้ดีไซเนอร์มีอำนาจในการสร้างเวทีของตัวเอง อำนาจนั้นมาจากการควักกระเป๋าจ่ายกันเอง ก็คือการแชร์เงิน ซื้อเอ็กซิบิชั่น แล้วก็จัดแสดงผลงาน ที่ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องของกำไร หรือการค้าขายเป็นหลัก แต่มุ่งหวังให้ดีไซเนอร์ได้มีเวทีแสดงผลงานอย่างต่อเนื่อง ทีนี่พอทำมาสักระยะเราก็พบว่ามันสามารถกลายเป็นธุรกิจได้ ซึ่งในกลุ่ม Hat ยุคเริ่มต้นก็จะประกอบไปด้วย กลุ่มนักออกแบบที่เชี่ยวชาญงานด้านเฟอร์นิเจอร์ไม้ 3 แบรนด์ คือผม Jird Design Gallery, Take Home Design และ o-d-a”

(ในยุคเมื่อ 10 กว่าปีก่อน นักออกแบบผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเองอย่างเช่นตลาดในปัจจุบัน การทำงานจึงเป็นการว่าจ้างจากโรงงานใหญ่ที่เดิมเป็นฐานการผลิตแบบ OEM และต้องการขยายตลาดมาที่ตลาดภายในประเทศ-ผู้เขียน)

ศุภพงศ์ สอนสังข์ ดีไซเนอร์ผู้หักดิบจากโลกของดีไซน์ มาลงมือปลูกป่าด้วยตัวเองกว่า 70 ไร่

room: ถ้าอีกสัก 30 ปี คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวของเราและแบรนด์ Jird Design Gallery บ้าง

ศุภพงศ์: “โดยส่วนตัวผมคงไม่ได้มองในแง่ธุรกิจ คือขออยู่อย่างมีความสุข มีงานให้ทำ และมีรายได้พอที่จะหล่อเลี้ยงตัวเองได้  เเต่สิ่งที่เราจะทำเพิ่มเติมก็คือ เราอยากจะทำคล้าย ๆ กับเป็นแกลเลอรี่ หรือเป็นมิวเซียมที่ให้ความรู้กับคนในท้องถิ่นได้ด้วย และก็อาจจะเป็นจุดสนใจของลูกค้าที่สามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้โดยไม่ต้องไปงานเอ็กซิบิชั่น

“เรามองว่าอีก 30 ปี เราก็ไม่เชื่อว่าเอ็กซิบิชั่นจะทำให้เราอยู่ได้ วันหนึ่งอาจจะไม่มีพื้นที่ให้นักออกแบบได้แสดงงานอีกเลย ถ้าเราไม่สร้างพื้นที่นั้นขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นเป้าหมายของสวนแห่งนี้ในระยะยาวคือ การเป็นพื้นที่แสดงงานของเราเองในระยะเวลาข้างหน้าครับ”

  • KOOPREE ส่วนหนึ่งในผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ BETTERISM – GOOD DESIGN FOR A BETTER WORLD ในงาน “บ้านและสวนแฟร์ select 2020” ณ ROOM SHOWCASE 
  • ศุภพงศ์  สอนสังข์ ออกแบบโครงสร้างโดยใช้ข้อต่อ (Joinery) โลหะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อทดแทนทักษะในการเข้าไม้ที่ซับซ้อนในงานเฟอร์นิเจอร์ ช่วยประหยัดแรงงานในการทำงาน ลดการสูญเสียวัสดุ ชิ้นงานนี้ใช้วัตถุดิบไม้จากป่าที่นักออกแบบเป็นผู้ปลูกเองกับมือเมื่อ 7 ปีก่อน โดยเลือกไม้กระถินเทพาพันธุ์ดีที่โตเร็วมาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบ เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือไปจากไม้เนื้อแข็งแบบเดิมที่ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์คอลเล็กชั่นนี้อยู่แล้ว

เรื่อง-ภาพ: สมัชชา วิราพร

บ้านและสวนแฟร์ select 2020
BETTERISM DESIGN TALK งานเสวนาของนักออกแบบเจ้าของแนวคิดที่อยากให้โลกดีขึ้น