Artisan

ARTISAN HOUSE บันทึกความทรงจำผ่านบ้านหลากวัสดุหลายอารมณ์

Artisan
Artisan

หลังจากย้ายมาอยู่เชียงใหม่ คุณภู-ภูริทัต คุณุรัตน์ สถาปนิกแห่งบริษัท Proud Design ผู้ออกแบบร้านอาหารชื่อดังอย่างร้านเขียวไข่กา หรือโรงแรม Oxotel ในตัวเมืองเชียงใหม่ ได้ลงหลักปักฐาน และออกแบบ แบบบ้านสไตล์อินดัสเทรียล  Artisan House” เป็นที่อยู่อาศัยของตัวเขาเองและครอบครัว ซึ่งตั้งอยู่ในรั้วเดียวกันกับบ้านของคุณพ่อ-คุณแม่ภรรยา ท่ามกลางความสงบของหมู่บ้านที่ไกลออกไปจากตัวเมืองเชียงใหม่ไม่มากนัก

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Proud Design

แบบบ้านสไตล์อินดัสเทรียล บ้านปูนเปลือย แบบบ้านเหล็ก

บ้านนี้ประกอบขึ้นจากวัสดุหลากหลาย  ด้านนอกแม้จะดูแตกต่างไปจากบ้านในละแวกใกล้เคียงกัน ภายใต้ขนาดพื้นที่ใช้สอยราว 250 ตารางเมตร ได้รับการออกแบบแปลนเป็นรูปตัวยู (U) ล้อมคอร์ตสระว่ายน้ำขนาดย่อมไว้ตรงกลาง โดยชั้น 1 แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ โถงนั่งเล่นซึ่งเป็นทางเข้าหลักที่เชื่อมมาจากที่จอดรถ และส่วนครัวผนวกกับส่วนรับประทานอาหาร ในขณะที่ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง ได้แก่ ห้องนอนในอนาคตของลูก กับห้องนอนหลักของคุณภูและภรรยาที่เชื่อมต่อกับห้องทำงานขนาดเล็ก ด้วยความที่เป็นนักสะสมของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์เก่า เรือนกระจกด้านบนจึงใช้เป็นที่เก็บของสะสม และมีแผนจะทำเป็นเรือนปลูกแคคตัสในเวลาอีกไม่นาน

แบบบ้านสไตล์อินดัสเทรียล บ้านปูนเปลือย แบบบ้านเหล็ก แบบบ้านสไตล์อินดัสเทรียล บ้านปูนเปลือย แบบบ้านเหล็ก

โดยคุณภูเล่าว่า “คอนเซ็ปต์ของที่นี่คืออาคารที่ถูกแบ่งเป็นสองส่วน มีสระว่ายน้ำอยู่ตรงกลาง เพราะอยากให้มีพื้นที่พบปะระหว่างบ้านเก่ากับบ้านใหม่ ซึ่งก็คือห้องครัวที่ตั้งอยู่ติดกับบ้านเก่านั่นเอง

“ส่วนรูปแบบของสถาปัตยกรรมนั้นมาจากความชอบที่หลากหลาย เราชอบทั้งสแกนดิเนเวียน อินดัสเทรียล และญี่ปุ่น จึงนำรูปแบบของแต่ละสไตล์มาผสมผสานกัน เหมือนเป็นจิ๊กซอว์”

ต่อเนื่องจากคอนเซ็ปต์ เจ้าของบ้านนำเสนอความชอบของตนเอง มาบอกเล่าผ่านวัสดุต่าง ๆ อันประกอบด้วยการใช้คอนกรีตหล่อในที่สร้างกล่องสี่เหลี่ยมที่แสดงร่องรอยของไม้แบบบนความดิบของผิวคอนกรีตอย่างตรงไปตรงมา ก่อนจะกรุด้วยบานเกล็ดระบายอากาศอะลูมิเนียมสำหรับทำเป็นฟาซาด  ซึ่งมีต้นแบบมาจากสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นที่หยิบยกไอเดียมาจากเมื่อครั้งเดินทางไปท่องเที่ยว โดยกล่องคอนกรีตนี้จะเกาะอยู่กับตัวบ้านกรุกระจกซึ่งอยู่ด้านหลัง ขนาบด้วยเรือนกระจกที่ตั้งโดดเด่นอยู่ด้านหน้าอันเป็นภาพลักษณ์แบบอินดัสเทรียลผสมวินเทจ ซึ่งมาจากความชอบสะสมของเก่า โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม่ว่าจะเป็นบรรดาเก้าอี้สแกนดิเนเวียนโดยนักออกแบบชื่อดัง หรือโคมไฟวินเทจตั้งแต่ยุค Mid-century ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในห้องต่าง ๆ โดยทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานของการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กเป็นโครงสร้างหลักของบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่าโครงสร้างเหล็กนั้นใช้เวลาก่อสร้างรวดเร็ว เหมาะกับพื้นที่แคบที่แทรกอยู่ระหว่างบ้านหลังอื่น ๆ และเป็นงานก่อสร้างที่เจ้าของบ้านและช่างรู้จักดี

จากความชัดเจนเรื่องการเลือกใช้วัสดุที่หลากหลายนี้ คุณภูเล่าว่าแท้จริงแล้วมีจุดเริ่มต้นมาจากการคิดถึงตำแหน่งการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ และของสะสมในห้องต่าง ๆ ว่าจะทำอย่างไรให้เฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นดูราวกับเป็นพระเอกของบ้าน จากนั้นจึงคิดถึงรูปแบบการออกแบบพื้นที่ เพื่อเอื้อให้เฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นตั้งอยู่อย่างโดดเด่นยิ่งขึ้น

“ผมชอบปรัชญาในงานออกแบบของเขา” คุณภูกล่าวถึงบรรดาเฟอร์นิเจอร์สไตล์สแกนดิเนเวียนและญี่ปุ่นเป็นพิเศษ

“มันแปลกตรงที่ว่า เฟอร์นิเจอร์พวกนี้แม้จะมีอายุ 60 ปี หรือบางตัวมีอายุเกือบ 100 ปี แต่เรายังเห็นเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ในบ้านโมเดิร์นปัจจุบันหรือในหนัง มันก็ไม่เคยเชยเลย เขาเรียกว่ามันเป็น Timeless แสดงว่าดีไซเนอร์ในยุคนั้น เขาต้องผ่านกระบวนการคิดที่ค่อนข้างลึกซึ้ง และน่าจะใช้เวลาในการออกแบบเยอะ มีทฤษฎีหรือปรัชญาบางอย่างที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์พวกนี้ไม่ล้าสมัย”

ในโถงนั่งเล่น เก้าอี้สีเขียวลายใบไม้ โดย Hans Wegner ตั้งอยู่ใต้โคมไฟกระดาษ Bubble Lamp ดีไซน์ปี 1952 โดย George Nelson มองเข้าไปในห้องรับประทานอาหาร เก้าอี้รับประทานอาหารจากปลายยุค 40’s วางอยู่ใต้โคมไฟสีขาวซึ่งเป็นงานสไตล์เดนิชในยุคใกล้เคียงกัน ถัดขึ้นไปบนชั้น 2 เด่นด้วยเล้านจ์แชร์เบาะหนังสีดำ โดย Charles & Ray Eames จากยุค 50’s วางเคียงอยู่กับเก้าอี้สำนักงานสีแดงจากดีไซเนอร์คนเดียวกัน นอกจากนั้นในทุก ๆ ห้องของบ้านยังหลากหลายไปด้วยตู้ และชั้นไม้วินเทจ อันเปรียบเสมือนการส่งเสียงของงานดีไซน์ยุคหลังสงครามโลกที่ประกาศตัวตนออกมาจากทั่วทุกมุม

เฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ สำหรับนักสะสมอย่างคุณภู ไม่ได้มีไว้เป็นเพียงเครื่องสะท้อนรสนิยม หรือของประดับตกแต่งเพื่อให้บ้านดูดี แต่ยังเป็นดั่งเครื่องเตือนความจำ คล้ายอัลบั้มรูปที่บอกเล่าความคิดและตัวตนของเขาในแต่ละช่วงชีวิตที่ผันผ่าน  เช่นเดียวกับสไตล์การใช้วัสดุที่หลากหลายของบ้านหลังนี้ นอกจากใช้สนองความชอบ แทบทุกองค์ประกอบในบ้านยังช่วยเตือนความจำที่ชวนให้ระลึกถึงสถานที่ และบุคคลสำคัญ ๆ ในชีวิต ที่ทั้งเขาและภรรยาเคยใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข

 “พอเรามองดูบรรดาของสะสมเหล่านี้ ก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย! ตอนนั้นเราชอบของแบบนี้ หรือตอนนั้นเราทำอะไรอยู่ มันรู้สึกดีนะ แม้แต่ตัวบ้านเองที่เราออกแบบพาร์ทนี้เป็นคอนกรีต พาร์ทนี้เป็นไม้ หรือห้องนี้เป็นเรือนกระจก ก็เปรียบเหมือนพาร์ท ๆ หนึ่งของชีวิตเรา ย้ำเตือนว่าเราไปเที่ยวญี่ปุ่นมา แฟนเราชอบแล้วอยากได้แบบนี้ เรือนกระจกนี้เราเคยทำที่ร้านอาหาร ก็นำความชอบนั้นมาออกแบบที่บ้านเราบ้าง

“เปรียบเหมือนเป็นประสบการณ์ชีวิตของเรา พอเราเห็น เราก็จะนึกถึงเรื่องราวเหล่านั้นขึ้นมา”


เรื่อง : กรกฎา
ภาพ : ศุภกร
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์