ผ้าย้อมสีธรรมชาติ

Kamon Indigo : ความแสบสันของผ้าย้อมสีธรรมชาติที่กล้าใส่แบบไม่เขิน

ผ้าย้อมสีธรรมชาติ
ผ้าย้อมสีธรรมชาติ

แม้จังหวัดแพร่จะขึ้นชื่อเรื่องของการย้อมฮ่อม หนึ่งในกรรมวิธีการสร้างสีครามลงบนผืนผ้าของชาวเหนือ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาช้านาน แต่สำหรับ กมลชนก แสนโสภา เด็กสาวอายุ 18 ที่กำลังจะก้าวเท้าเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในตอนนั้น เธอรู้เพียงแค่ว่าฮ่อมคือสีย้อมผ้าที่ใช้สวมใส่ในช่วงวันสงกรานต์ และเมื่อโดนน้ำสีจากผ้าจะตกจนเปรอะเปื้อนร่างกาย

“ความไม่รู้” ที่เธอมีในตอนนั้น เหมือนเป็นประตูบานใหญ่ที่ทำให้หญิงสาวย้อนกลับมาหาคำตอบกับสิ่งใกล้ตัวที่เคยมองข้ามไป ซึ่งการมองย้อนกลับไปค้นหาภูมิปัญญาเรื่อง “ฮ่อม” พืชที่อยู่คู่กับชุมชนของเธอมานาน ได้นำมาสู่ต้นกำเนิดของสตูดิโอเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนจากโรงเลี้ยงหมาหลังบ้าน กลายเป็นห้องเรียนเรื่องสีธรรมชาติ และทำให้ Kamon Indigo เดินหน้าขึ้นมาเป็นงานคราฟต์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่กล้าสวมใส่ผ้าย้อมสีธรรมชาติกันมากขึ้น

เริ่มต้นที่สตูดิโอหลังบ้าน

“ตรงนี้เคยเป็นบ้านหมามาก่อนค่ะ แต่พอเราคิดจะทำงานนี้อย่างจริงจังหลังเรียนจบก็เลยเปลี่ยนมาเป็นโรงย้อม ช็อปจำหน่ายสินค้า และสตูดิโอสำหรับเวิร์กชอป ใครอยากเรียนรู้วิธีย้อมสีธรรมชาติก็มาเจอเราที่นี่ได้เลย” กมลชนกเล่าถึงสถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Kamon Indigo อย่างติดอารมณ์ขัน

ผ้าย้อมสีธรรมชาติ  Kamon Indigo

“สิ่งที่ทำให้เราหันมาสนใจเรื่องย้อมสี เริ่มจากความไม่รู้ก่อนค่ะ ตอนสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยเราตอบคำถามง่าย ๆ ของอาจารย์ที่ถามว่าใครคือศิลปินแห่งชาติคนแรกของจังหวัดแพร่ไม่ได้ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเราเองเเท้ ๆ เพราะตอนนั้นมัวแต่ไปหาความรู้เรื่องอื่น แต่สิ่งใกล้ตัวเเบบนี้กลับตอบไม่ได้ เราเลยกลับมาหาคำตอบและเรียนรู้จากผู้ที่อยู่ในวงการจนได้รู้จักกับคุณป้าท่านหนึ่งซึ่งแกย้อมฮ่อมขาย เราเองก็อยากหารายได้พิเศษ จึงไปขอเรียนรู้งานตรงนั้น 

“ตอนนั้นเราไม่รู้จักฮ่อมเลย ทั้ง ๆ ที่เราเป็นคนจังหวัดแพร่ จังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องฮ่อม  เรารู้แค่ว่าเสื้อย้อมฮ่อมมักนิยมใส่กันในช่วงวันสงกรานต์ และสีจะตกเลอะตัวตอนเล่นน้ำ  เรารู้แค่นั้น เเต่พอได้มาทำความรู้จักลึก ๆ ยิ่งทำให้แปลกใจ เพราะฮ่อมเป็นพืชที่มีใบสีเขียว แต่กลับย้อมผ้าออกมาได้สีฟ้าคราม เลยลองศึกษาให้ลึกขึ้น แล้วก็ทำจำหน่ายดู”

ผ้าย้อมสีธรรมชาติ  Kamon Indigo

หลังจากทำสินค้าย้อมฮ่อมออกจำหน่าย เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลยสักนิด เมื่อกมลชนกค้นพบว่าตนคือคนเขลาที่ไปบอกคนซื้อว่าสินค้าจากฮ่อมที่จำหน่ายนั้นเป็นสีธรรมชาติ ทั้งที่จริงแล้วมันคือเคมี

“พอรู้เรื่องฮ่อมมากขึ้น ก็เลยอยากเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนฟัง และหันมาใส่ผ้าย้อมฮ่อมกันมากขึ้น แต่เราไม่รู้เลยว่า เราเล่าเรื่องผิด เราไม่รู้ที่มาของฮ่อมที่ใช้ย้อม ห้องเรียนก็ไม่ได้สอน เราเล่าผิดเพราะไม่ได้ศึกษาให้ดีว่า ฮ่อมมี 2 อย่าง คือ ฮ่อมสังเคราะห์ กับฮ่อมที่มาจากธรรมชาติจริง ๆ ตอนนั้นก็คิดแค่ว่าเป็นภูมิปัญญา เป็นมรดก เหมือนที่เขาเรียนมา ไม่รู้ว่ามันมีทั้งแบบที่เป็นเคมี และเป็นธรรมชาติ ความเขลาในคราวนั้นทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ จากที่รู้สึกแย่ก็หันมาศึกษาหาความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพิ่มเติม จนทำให้ค้นพบสีธรรมชาติเฉดอื่น ๆ ที่สามารถนำมาย้อมผ้าได้เช่นกัน ไม่ใช่แค่สีครามจากฮ่อมเพียงอย่างเดียว”

จากสีครามสู่การค้นพบเฉดสีใหม่

“ฮ่อม” หนึ่งในพืชที่ให้สีคราม เติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น ความชุ่มชื้นสูง และมักขึ้นตามแนวต้นไม้ใหญ่ ดังนั้นพื้นที่ที่ปลูกฮ่อมได้ดีจึงมักอยู่ในป่าเขาที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่นในพื้นที่อำเภอนาคูหา จังหวัดแพร่ ซึ่งยังคงหลงเหลือไร่ฮ่อมให้ได้เห็นกันอยู่บ้าง แม้ว่าส่วนใหญ่จะหาชมได้ยากเพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนเเละมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น  แต่หากยิ่งไม่ได้รับการสืบทอดภูมิปัญญาการย้อมฮ่อม ไร่ฮ่อมที่มีจำนวนน้อยอยู่เเล้ว ในอนาคตก็อาจจะไม่มีเหลือ เเละคนก็จะไม่รู้จักมันอีกเลยก็เป็นได้

ผ้าย้อมสีธรรมชาติ  Kamon Indigo
ดอกดาวเรือง เมื่อนำมาย้อมผ้าจะให้สีเหลือง

“ฮ่อมมีน้อยลง ยิ่งช่วงหน้าร้อนแทบจะไม่มีเลย เราจึงคิดว่าจะหาสีธรรมชาติย่างอื่นมาแทน เพราะตัวเราก็ไม่ชอบสีฟ้าหรือสีขาวเพียงอย่างเดียว เราชอบสีที่สดใส จึงเริ่มค้นหาสีอื่น ๆ ค้นหาจากแหล่งเรียนรู้ชุมชน หนังสือที่มีตามหมู่บ้านต่าง ๆ  ที่มีบอกว่าย้อมสีอะไรกับผ้าเเล้วได้สีอะไร โดยศึกษาทางอินเทอร์เน็ต นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์เพิ่มเติม ตอนแรกลองย้อมด้วยพืชมาหลายชนิด อย่างการใช้ดอกชบา แต่สีก็ไม่ทน ซีดเร็ว จนไปเจอเครือข่ายที่เขาทำเรื่องนี้ เราจึงรู้ว่าพืชบางชนิดที่ใช้ทำสีอาหารหรือใช้รับประทาน อย่าง อัญชัน เเละขมิ้น สีจะไม่ติดทนกับเส้นใย ใช้ไปเเล้วสีมักจะตกเเละซีดจาง”

ผ้าย้อมสีธรรมชาติ  Kamon Indigo
แก่นขนุนให้สีเหลืองอมน้ำตาล
ผ้าย้อมสีธรรมชาติ
เปลือกนนทรีและเมล็ดคำแสด

“ตอนทำผ้าจีวรย้อมสีธรรมชาติไปถวายวัด ต้องเทสผ้าอยู่หลายรอบ เลือกวัสดุอยู่หลายชนิด เทสสีแยกเป็นเฉด ๆ จนได้เหมือนพาเลทสีแบบนี้  กว่าจะได้สีที่พอดีต้องเทสในปริมาณที่พอเหมาะ และมอร์แดนท์ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่พอดีด้วย ครั้งก่อนเราใช้ปูนแดงเป็นสารติดสี แต่ถ้าปูนแดงที่นำมาใช้ผลิตจากสถานที่ต่างกัน คนละจังหวัด หรือคนละเนื้อดินก็จะให้สีที่ไม่เหมือนกัน วัตถุดิบที่ทำสีจีวรหลัก ๆ จะมีแก่นขนุนกับเปลือกนนทรี แก่นขนุนจะให้สีเหลืองอมน้ำตาล โดยต้องผสมกับสีจากคำแสดที่ให้สีส้ม นอกจากนั้นยังมีสีจากเปลือกประดู่และดอกดาวเรืองผสมกันด้วย”

ผ้าย้อมสีธรรมชาติ  Kamon Indigo
ตัวอย่างการเทสสีให้ได้สีผ้าจีวร
ผ้าย้อมสีธรรมชาติ  Kamon Indigo
วัตถุดิบที่ทำให้เกิดสีธรรมชาติ

สร้างลายบนผืนผ้าให้เป็นเอกลักษณ์

กมลชนกเล่าต่ออีกว่าในช่วงแรกเธอก็สร้างลายแบบผ้ามัดย้อม แต่เมื่อทำไปสักพักก็ค้นพบความเหมือนที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ จึงต้องค้นหาเอกลักษณ์ใหม่ ๆ และค้นพบวิธีสร้างลายในแบบเฉพาะ

“เราเรียนมาตรงสาย จึงควรทำได้มากกว่านี้ เลยคิดค้นวิธีสร้างลายใหม่ ๆ ดู จนทำให้นึกถึงเทคนิคการปั๊มเทียนลงบนผ้าซึ่งคล้าย ๆ กับการทำผ้าบาติก แต่บาติกคือการเขียนลายจากไข ซึ่งการเขียนจะไม่ได้เหมือนกันทุกชิ้น เราต้องเขียนเองทั้งหมด ใครมาทำแทนก็ไม่ได้ จึงเริ่มนำเทคนิคการทำบล็อกสำหรับปั้มลวดลายชุบเทียน รวมกับงานย้อมสีธรรมชาติ  มันยากตรงที่สีบางตัวจะมาจากการย้อมร้อน แต่เราต้องนำสีพวกนั้นมาเป็นสีสำหรับย้อมเย็น ต้องต้ม ทดลองทำ หาวิธีให้สีย้อมติดผ้า โดยลายที่ปั๊มเทียนไว้จะต้องไม่หลุดจนสีซึมเข้าไปได้”

ผ้าย้อมสีธรรมชาติ
1 เลือกบล็อกปั๊มที่ออกแบบไว้
ผ้าย้อมสีธรรมชาติ
2 เตรียมไขโดยอุ่นให้ไขร้อน แล้วจุ่มบล็อกพิมพ์ลงไป
ผ้าย้อมสีธรรมชาติ  Kamon Indigo
3 ค่อย ๆ ปั๊มลายลงบนผ้า
ผ้าย้อมสีธรรมชาติ  Kamon Indigo
4 ปั๊มลายจนทั่วผืนผ้า และเขียนลายอักษรที่ต้องการ
ผ้าย้อมสีธรรมชาติ
5 นำไปย้อมสีเหลืองจากดอกดาวเรืองด้วยวิธีย้อมเย็น
ผ้าย้อมสีธรรมชาติ
6 ล้างสีออก จากนั้นย้อมซ้ำให้ได้สีที่เข้มขึ้นตามต้องการ
ผ้าย้อมสีธรรมชาติ
7 จากนั้นนำไปย้อมซ้ำด้วยสีครามจากใบฮ่อม ขั้นตอนนี้ระวังอย่าให้ไขที่กั้นสีหลุดออก
ผ้าย้อมสีธรรมชาติ
8 ล้างสีออกอีกครั้ง ให้ได้สีเขียวในแบบที่ต้องการ
ผ้าย้อมสีธรรมชาติ
9 ผึ่งลมให้แห้ง เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

ที่มาของลายใบไม้ ดอกไม้ เเละแมลง ที่ปรากฏอยู่บนผ้าสีสันสดใสที่วางจำหน่ายในร้านของเธอนั้น ล้วนต้องผ่านกรรมวิธีพิถีพิถันหลากหลายขั้นตอน ผสมผสานกับลวดลายที่เกิดจากการใช้เทคนิคบล็อกปั๊มเทียน ร่วมกับการย้อมสีธรรมชาติแบบย้อมเย็น อย่างผ้าที่เธอมอบให้เราเป็นพิเศษนั้น ต้องผ่านกรรมวิธีการย้อมด้วยวัตถุดิบ 2 ชนิดคือ ย้อมดอกดาวเรืองให้ได้สีเหลือง แล้วย้อมด้วยสีครามจากใบฮ่อม จนกว่าจะกลายเป็นผ้าสีเขียวลวดลายน่ารักผืนนี้

ผ้าย้อมสีธรรมชาติ  Kamon Indigo

ทุกวันนี้กมลชนกยังบอกเล่าเรื่องราวของสีธรรมชาติอันเป็นงานคราฟต์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กของเธอเอง โดยมีสามีคือ คุณจินตพงศ์ สีพาไชย เป็นผู้เล่าเรื่องราวให้ชัดขึ้น ซึ่งเธอยังคงได้เป็นครูตามความฝันในวันเด็ก ได้ทำงานศิลปะในแบบที่ตนรัก และได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ให้ภูมิปัญญาเหล่านี้คงอยู่ต่อไป

ชมผลงานของ Kamon Indigo ได้ที่ :  https://web.facebook.com/kamonindigobrand/

เรื่อง JOMM YB

ภาพ นันทิยา บุษบงค์