คอลัมน์ Meet The Masters อยากชวนนิสิตนักศึกษาที่เป็นเด็กสถาปัตย์ รวมถึงผู้สนใจด้านการออกแบบ มาทำความรู้จักกับ 8 สถาปนิกญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
บางคนเป็นเจ้าของวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) บางคนได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกต้นแบบคำว่า น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ โชว์ฟังก์ชัน บางคนเคยเป็นนักมวยและขับรถบรรทุกมาก่อน รวมถึงยังมีสถาปนิกดาวรุ่งผู้ได้รับเกียรติให้รับหน้าที่ออกแบบ Serpentine Pavilion เป็นคนที่ 19 ของโครงการ ทั้ง 8 คนมีจุดเด่นและความน่าสนใจที่เราสามารถศึกษาแนวคิดในการทำงาน แล้วมาประยุกต์ใช้กับการเรียนของคุณได้ ไม่มาก ก็น้อย
01 | Arata Isozaki สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในวิชาชีพ PRITZKER PRIZE 2019
“สถาปนิกที่มีความสามารถหลากหลาย มีอิทธิพล และมีความเป็นสากลอย่างแท้จริง” คำจำกัดความนี้เป็นของคณะกรรมการตัดสินรางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) ที่มีต่อ Arata Isozaki สถาปนิกวัย 87 ปี ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นสถาปนิกยุคหลังสงครามโลกที่ทรงอิทธิพลที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับรางวัล Pritzker Prize ในปี 2019 เขาถูกยกให้เป็นผู้มองการณ์ไกลแห่งโลกสถาปัตยกรรม ด้วยเอกลักษณ์การออกแบบอันล้ำสมัยในสไตล์ Futurist ที่เขาสร้างสรรค์มันขึ้นมากว่า 100 แห่ง หลายผลงานของ Isozaki ได้สร้างชื่อเสียงไปทั่วเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย
02 | Kengo Kuma จากเด็กชายที่เผลอรักสนามกีฬาโอลิมปิก สู่ผู้ออกแบบสนามกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020
สถาปนิกที่กล้าก่อตั้งบริษัทในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับวิกฤติฟองสบู่แตก ชายที่หลงรักสถาปัตยกรรมตั้งแต่วัยแตะหลักสิบเคยตามไปดูผลงานของ Frank Lloyd Wright กับบริษัททัวร์จนครบ 100 แห่ง ได้เห็นโลกจนทำให้เขาตระหนักได้ว่าสถาปัตยกรรมนั้นเกี่ยวพันกับชีวิตของผู้คนในสหรัฐอเมริกามากเพียงใด ซึ่งผิดกับบ้านเกิดของเขาในขณะนั้นที่ชีวิตประจำวันของผู้คนและสถาปัตยกรรมส่วนมากไม่เชื่อมต่อกัน ชวนอ่านเรื่องราวของ Kengo Kuma สถาปนิกญี่ปุ่นที่ทรงอิทธิพลทางความคิด ผู้ที่ออกแบบตั้งแต่สถาปัตยกรรมยันรองเท้าวิ่ง และสรรสร้างในสิ่งที่วงการสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นต้องยอมรับในความสามารถของเขา
03 | Toyo Ito สถาปนิกผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไร้กาลเวลา
สถาปนิกชาวญี่ปุ่น สุดยอดสถาปนิกผู้มีพลังสร้างสรรค์และมีอิทธิพลในวงการสถาปัตยกรรมมากที่สุดคนหนึ่ง แนวคิดด้านสถาปัตยกรรมของเขาทำให้เกิดสถาปัตยกรรมที่ไม่จำกัด ในวัยเด็ก Ito สนใจศิลปะเพียงเล็กน้อย ไม่มีความฝันที่จะเป็นสถาปนิกเลย เขาชื่นชอบเบสบอลและใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเบสบอลมืออาชีพ อย่างไรก็ตามมีอิทธิพลหลายอย่างที่เป็นสิ่งขับเคลื่อนให้เขาสนใจด้านศิลปะ เช่น คุณปู่ของเขาทำธุรกิจค้าไม้ คุณพ่อเป็นนักธุรกิจที่มีความสนใจลึกซึ้งเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาโบราณของเกาหลีและภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่น นอกจากนี้คุณพ่อยังชอบออกแบบแปลนบ้านให้เพื่อนอีกด้วย เขาเริ่มหันมาสนใจด้านสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง ตอนจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว (the University of Tokyo) ในปี ค.ศ. 1965 เข้าทำงานในบริษัท Kiyonori Kikutake & Associates ต่อมาในปี ค.ศ.1971 เขาได้เปิดสตูดิโอออกแบบของตัวเองภายใต้ชื่อ Urban Robot (Urbot) และในปี ค.ศ.1979 เปลี่ยนชื่อเป็น Ito & Associates, Architects

04 | Sou Fujimoto สถาปนิกต้นแบบ น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ โชว์ฟังก์ชัน
เพราะสังคมเมืองที่ขยายออกไปไหนก็เป็นไปได้ยาก บ้านหลังเล็กจึงเป็นอีกทางเลือกที่มนุษย์เมืองอย่างเราๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ และ Sou Fujimoto สถาปนิกชาวญี่ปุ่นคนนี้ ก็กำลังบอกกับเราว่า ขนาดไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่ว่าคุณจะคิดและจัดสรรมันอย่างไรต่างหาก เขาคือผู้นำปรัชญาการอยู่อาศัยยุคใหม่ สะท้อนได้จากผลงานบ้านไซส์เล็กหลายหลังที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น แม้รูปลักษณ์ภายนอกของบ้านจะสร้างความพิศวงสงสัยในแวบแรกที่เห็น แต่หากได้ลงไปใช้ชีวิตอยู่แล้ว งานออกแบบของเขาคือการดึงเอาสันชาตญาณมาเป็นผู้ชี้นำว่าจะใช้งานฟังก์ชั่นพื้นที่ภายในบ้านเหล่านั้นอย่างไร เรื่องที่่เขาสนใจ คือความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมกับพฤติกรรมของมนุษย์ จึงเล่นกับโครงสร้างที่แปลความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม เขากลับไปมองยังถ้ำหรือป่าเขาซึ่งคงสภาพพื้นที่เช่นนั้นตามธรรมชาติ แล้วพบว่าสิ่งที่เป็นตัวตีกรอบการใช้งานให้กับพื้นที่เหล่านั้นคือพฤติกรรมของมนุษย์ต่างหาก จึงเกิดเป็นปรัชญาการทำงานออกแบบที่ว่า “Primitive Future” หรืออนาคตที่กลับไปสู่ความเรียบง่ายอย่างบรรพบุรุษ
05 | Shigeru Ban พ่อมดสถาปัตย์ ที่มีอาวุธเป็นกระดาษและไม้
สถาปนิกผู้นี้คือผู้อุทิศความคิดทางสถาปัตยกรรมให้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขทัดเทียมกับผู้คนทั่วไป ใครจะคิดว่าแค่โครงสร้างกระดาษและไม้ จะทำให้เขาได้รับรางวัล Pritzker รางวัลสูงสุดของวงการสถาปัตยกรรมเมื่อปี 2014 และนิตยสาร TIME ได้ขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งนวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรม และงานออกแบบแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อมนุษยชาติและความยั่งยืน และเขาผู้นั้นคือ Shigeru Ban ผู้เกิดในครอบครัวรสนิยมดี พ่อของเขารักดนตรีคลาสสิก และทำงานเป็นนักธุรกิจอยู่ในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ส่วนแม่เป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้าระดับ Haute Couture เขาจึงได้ติดสอยห้อยตามครอบครัวไปเยี่ยมชมโลกฝั่งตะวันตกทุกครั้งที่แม่ไปร่วมงานแฟชั่นวีคที่ปารีส และมิลาน ประกอบกับที่บ้านมักจะได้เปิดต้อนรับให้ช่างไม้เข้ามารีโนเวตบ้านเป็นประจำ การได้เล่นหยิบเศษไม้มาต่อนั่นเติมนี่ ทำให้เขาในวัยเด็กตกหลุมรักงานไม้แบบโบราณของญี่ปุ่นมากเสียจนอยากเป็นช่างไม้ แต่ความฝันก็ผันเปลี่ยนมาเป็นสถาปนิกแทน เมื่อได้ลงมือทำโมเดลบ้านเป็นครั้งแรกเพื่อส่งครูในช่วงฤดูร้อนตอนมัธยม 3
06 | Tadao Ando จากคนขับรถบรรทุก นักมวย สู่สถาปนิกผู้เป็นหน้าตาของเอเชีย
อีกหนึ่งสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ที่เรียนรู้การออกแบบด้วยตัวเองผ่านการใช้เซนส์ความงามเฉพาะตัวบวกกับการเฝ้าสังเกตธรรมชาติตามที่ถูกปลูกฝังในวัฒนธรรมญี่ปุ่นบ้านเกิด ทั้งหมดนี้หล่อหลอมให้เขาสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนความงามอันลึกซึ้งเกินกว่าจะสัมผัสผ่านเพียงสายตา หากแต่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อซึมซับสุนทรียะอย่างเต็มเปี่ยมเมื่อยืนอยู่ภายในอาคารของเขา สถาปนิกผู้นี้คือ TADAO ANDO ผู้เคยเป็นทั้งคนขับรถบรรทุก และนักมวย โดยไม่เคยคิดฝันว่าเขาจะกลายมาเป็นสถาปนิกในที่สุด เรื่องมันเกิดจาก ตอนไปทัศนศึกษากับที่โรงเรียนมัธยมปลาย เขาเกิดความประทับใจกับอาคารของ Imperial Hotelที่ Frank Lloyd Wright เป็นผู้ออกแบบ จึงมุ่งมั่นว่าจะเลิกชกมวย แล้วผันตัวไปเป็นสถาปนิกให้จงได้ หลังเลิกเรียนเขาจึงไปเข้าเรียนคลาสดรออิ้งและงานออกแบบตกแต่งภายใน รวมทั้งไปทัศนศึกษาอาคารต่างๆ ในญี่ปุ่นที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อก้องโลกแห่งยุคโมเดิร์น
07 | Oki Sato (Nendo) ดีไซเนอร์พลังงานล้น กับผลงานกว่า 100 โปรเจ็กต์ต่อปี!
พอพูดถึงชื่อ Nendo ชาวไทยก็น่าจะนึกออกกันถึงสถาปนิกหนุ่มชาวญี่ปุ่นใส่แว่นสูงโปร่ง ผู้ปรับโฉมสยามดิสคัฟเวอรี่ใหม่ด้วยดีไซน์สุดโดดเด่นจนโด่งดังไปทั่วโลก แต่สำหรับคนในแวดวงออกแบบล่ะก็ พ่อหนุ่มคนนี้คือนักออกแบบที่มีผลงานออกมามากที่สุดคนหนึ่งของโลก และผลงานแต่ละชิ้นของเขาล้วนแล้วแต่คอลแลบบอเรทกับแบรนด์ดังๆ ระดับโลกทั้งนั้น จริงๆ แล้ว ชื่อจริงของเขาคนนี้คือ ‘Oki Sato’ ส่วนชื่อ ‘Nendo’ นั้นเป็นชื่อสตูดิโอของเขา ซึ่งมาจากภาษาญี่ปุ่นที่ว่า 粘土 แปลว่า ดินเหนียว เหมือนเป็นการบอกเล่าตัวตนของเขาที่อยากจะเป็นเหมือนดินเหนียวที่ยืดหยุ่น จะปั้นขึ้นรูปหรือจะเปลี่ยนรูปใหม่เมื่อไหร่ก็ได้
08 | Junya Ishigami สถาปนิกญี่ปุ่นรุ่นใหม่ผู้หลอมสถาปัตยกรรม ที่ว่าง และภูมิทัศน์รวมกันเป็นหนึ่ง
Junya Ishigami คือสถาปนิกดาวรุ่งชาวญี่ปุ่นผู้ได้รับเกียรติให้รับหน้าที่ออกแบบ Serpentine Pavilion เป็นคนที่ 19 ในปี 2019 โดยเขาเป็นสถาปนิกชาวญี่ปุ่น คนที่ 4 ต่อจาก Toyo Ito ในปี 2002, SANAA ในปี 2009 และ Sou Fujimoto ในปี 2013 Serpentine Pavilion คือศาลาชั่วคราวที่ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ Hype Park ใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยในทุก ๆ ปี หอศิลป์ร่วมสมัย Serpentine Galleries จะเชิญสถาปนิกและศิลปินชื่อดังมาร่วมออกแบบศาลาดังกล่าว หลายคนอาจรู้จัก Ishigami จากงาน Kanagawa Institute of Technology Workshop ประเทศญี่ปุ่น ผลงานการออกแบบที่ท้าทายข้อจำกัดทางโครงสร้างสถาปัตยกรรม โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ว่างไปพร้อม ๆ กับแรงบันดาลใจที่ได้มาจากธรรมชาติ