ARCH SU FEST

3 แนวคิด 3 อินสตอลเลชั่นอาร์ต จาก “ARCH SU FEST เข้าท่า”

ARCH SU FEST
ARCH SU FEST

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาตลอดอายุ 64 ปีของการก่อตั้งคณะ แต่โครงการรีโนเวทอาคารเรียนที่เริ่มในราวปี พ.ศ.2559 นับได้ว่าเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่มีความสำคัญมากที่สุดครั้งหนึ่ง

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: PHTAA Living Design

ในมุมมองของพวกเขาที่นี่ไม่ใช่เพียงแค่สถานศึกษา แต่เป็นพื้นที่แห่งความผูกพันและความทรงจำ โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีครึ่งของการซ่อมแซม นักศึกษาและคณาจารย์จำเป็นต้องย้ายออกจากมหาวิทยาลัยเป็นการชั่วคราว กระทั่งเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2562 ทั้งหมดได้กลับมาเยือนอาคารเรียนในวังเก่าอีกครั้ง นำมาสู่เทศกาลงานออกแบบ Arch SU Fest เข้าท่า เพื่อแสดงความยินดีกับการได้กลับมาใช้ “วังท่าพระ” เป็นสถานศึกษา ซึ่งเป็นสถานที่ของความทรงจำร่วมกันของนักศึกษาและศิษย์เก่าหลายต่อหลายรุ่น

Arch SU Fest เข้าท่า

ในงานนี้ ทางคณะฯ ได้เชิญสถาปนิกซึ่งเป็นศิษย์เก่าจาก 3 สตูดิโอออกแบบที่คุ้นหน้าค่าตากันดี อย่าง Hypothesis, PHTAA Living Design และ ธ.ไก่ชน มาร่วมแสดงความยินดีผ่านผลงานอินสตอลเลชั่นอาร์ตจำนวน  3 ชิ้น ที่ได้รับการติดตั้งเเละจัดเเสดงอยู่รอบ ๆ พื้นที่อาคารเรียนของคณะฯ โดยทุกผลงานล้วนมีคอนเซ็ปต์เเละเเนวคิดที่น่าสนใจเเตกต่างกันไป room จึงขออาสาพาคุณไปเยี่ยมชมผลงานของสถาปนิกศิษย์เก่าทั้ง 3 ท่าน พร้อมรับฟังเเนวคิดการทำงานของพวกเขาไปพร้อมกัน

HYPOTHESIS Arch SU Fest เข้าท่า

HYPOTHESIS 

มีชื่อเสียงจากหลายผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบภายใน แต่ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ คุณมนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา หนึ่งในผู้ก่อตั้งกล่าวว่า สำนักงานของเขาเริ่มก้าวข้ามความสนใจ นอกเหนือไปจากงานออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบภายใน เขายังสนใจการตั้ง “สมมติฐาน” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาองค์กร ซึ่งท้ายที่สุดงานของการพัฒนานั้นอาจไม่ใช่งานออกแบบก็ได้

“มีองค์กรที่ไม่ได้จ้างเราออกแบบ แต่จ้างเราเพื่อให้เราทำรีเสิร์ชว่าเขาควรจะตั้งสมมติฐานใหม่อะไรให้กับที่อยู่อาศัย หรือให้กับสังคมที่มันแตกต่าง หรือเเม้เเต่การตั้งสมมติฐานใหม่ให้กับโลก”

เช่นเดียวกับงานอินสตอลเลชั่นอาร์ตในครั้งนี้ เขากล่าวว่า ไม่ได้มุ่งไปที่การทำงานออกแบบให้โดดเด่นหรือสวยงาม แต่ยังหวังผลถึงการมอบบางสิ่งให้สถานที่ที่เคยศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ไปไกลกว่านั้น

ตอนที่ได้รับการติดต่อมาว่าให้ทำอินสตอลเลชั่นเพื่อมาเปิดบ้านของเรา จริง ๆ ผมตั้งสมมติฐานเเละคำถามกลับไปว่า ถ้าเราไม่ทำอินสตอลเลชั่นอาร์ตที่เป็นแค่งานชิ้นหนึ่งที่สวยละ จะเป็นอย่างไร

“ช่วงหลัง ๆ ผมไม่ได้สนใจแล้วว่างานจะออกมาสวยหรือไม่สวย  ผมสนใจว่ามันจะสำเร็จ หรือเกิดประโยชน์ให้กับองค์กรได้ไหมต่างหาก

 “เราอยากจะเป็นที่ปรึกษา หรือผู้ที่สร้างประโยชน์ให้กับองค์กร ผมยินดีที่จะเป็นจุดตั้งต้นในการเชิญศิษย์เก่ากลับมาทำประโยชน์อะไรสักอย่างให้กับคณะฯ ซึ่งอินสตอลเลชั่นอาร์ตครั้งนี้อาจเป็นตัวเปิดประเดิมก่อนก็ได้”

คุณมนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา
คุณมนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา

อินสตอลเลชั่นอาร์ต ของ Hypothesis ตั้งอยู่ในบริเวณมุมหนึ่งของลานโล่งด้านหน้าคณะฯ แวดล้อมไปด้วยบรรดาโต๊ะและที่นั่งที่ใช้งานอยู่เป็นประจำ ตัวผลงานเป็นชั้นเหล็กชุบสังกะสีติดล้อขนาด 0.8 x 2 เมตร สูง 60 เซนติเมตร จำนวน 4 ชิ้น วางซ้อนกัน ด้วยฟังก์ชันของชั้นเหล็กนี้ มีขนาดเทียบเท่ากับโต๊ะทำงาน ซึ่งออกแบบมาแล้วว่าทนทานต่อการใช้งานหนักต่าง ๆ ในสตูดิโอของนักเรียนออกแบบได้  เมื่อประกอบกับเรื่องที่ตั้ง คุณมนัสพงษ์กล่าวว่าต้องการเลือกพื้นที่ที่ไม่โดดเด่น เพื่อมอบความโดดเด่นกว่าให้กับผลงานชิ้นอื่น เพราะด้วยสาระของผลงานของเขานั้น ไม่ได้ต้องการการแสดงตัวอย่างที่โดดเด่น หรือชูความสวยงามมากไปกว่าอรรถประโยชน์ที่คณะฯ จะได้รับ หลังจากจบงาน

ARCH SU FEST เข้าท่า

“เราคิดว่าผลงานจะอยู่ได้ไม่กี่วัน” คุณมนัสพงษ์กล่าว “ผมตั้งโจทย์ว่าผมไม่อยากให้สุดท้ายมันกลายเป็นขยะ ผมอยากให้อินสตอลเลชั่นนี้เป็นประโยชน์ให้กับน้อง ๆ ได้ใช้ประโยชน์จริง ๆ และเป็นที่ระลึกของผม ว่าป็นสิ่งที่ผมออกแบบเอง 

“ผมลองนำเสนอให้คณะฯ ดูก่อน มันเหมือนเป็นสมมติฐาน หรือ Hypothesis น่ะครับ อันนี้ผมก็ลองทดลองดูว่ามันจะเป็นไปได้ไหม ในด้านการให้ ผมอาจจะไม่ได้มีเงินมากมาย แต่เราใช้ไอเดีย เราใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้สิ่งที่เรามีความรู้ มามอบคืนให้กับสถานที่ที่เราเคยร่ำเรียนมา ”

Studio Visit: HYPOTHESIS ผู้ไม่หยุดคิด หยุดสร้างสมมติฐานใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยงานออกแบบ