โรคช่องปาก หรือ โรคปริทันต์ (periodontal disease)

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยแปรงฟันให้กับน้องหมาที่คุณเลี้ยง หรือ ไม่ได้พาไปตรวจสุขภาพช่องปากมานานแล้ว เพราะคิดว่าน้องหมายังคงมีฟันที่แข็งแรง ไม่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก หมอแนะนำให้คุณพาน้องหมาของคุณมาพบสัตวแพทย์ครับ

โรคช่องปากในสุนัขส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงอาการอย่างชัดเจนในระยะแรกของโรค แต่เมื่อสุนัขแสดงอาการของโรคช่องปาก เช่น กินอาหารลดลง ไม่เคี้ยวอาหาร มีกลิ่นปาก มีเลือดออกจากปาก นั่นแสดงถึงสุนัขของคุณมีอาการของโรคช่องปากในระดับที่รุนแรงแล้วครับ โดยเฉพาะ โรคปริทันต์ ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงมักจะสังเกตเห็นก็ต่อเมื่อโรคอยู่ในระยะท้ายและยากที่จะรักษา วันนี้ บ้านและสวน Pets จึงจะมาพูดถึงเรื่องนี้กัน

โรคปริทันต์ คืออะไร?

โรคปริทันต์ (periodontal disease) คือโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะปริทันต์  ซึ่งประกอบด้วย เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และ กระดูกเบ้าฟัน ซึ่งอวัยวะปริทันต์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างค้ำจุนฟัน โดยอยู่ล้อมรอบ พยุงและช่วยยึดฟันให้อยู่ในเบ้าของขากรรไกร ทำให้ฟันมีความมั่นคงสามารถบดเคี้ยวอาหารได้ แต่เมื่อเกิดโรคปริทันต์จะส่งผลทำให้อวัยวะปริทันต์เหล่านี้ เกิดความเสียหาย ไม่สามารถทำหน้าที่ในการยึดฟันให้อยู่ในเบ้าของขากรรไกรได้ เกิดการโยกของฟันและฟันหลุดไปในที่สุด

โรคปริทันต์เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

โรคปริทันต์มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในแผ่นคราบจุลินทรีย์หรือคราบพลัค (plaque) ซึ่งเกิดจากการสะสมของแบคทีเรีย องค์ประกอบน้ำลายและเศษอาหารภายในช่องปาก มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มเหนียว ปกคลุมอยู่บริเวณผิวฟัน คอฟัน และร่องเหงือก เกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังจากการแปรงฟันและสะสมเป็นแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่สมบูรณ์ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการกำจัดออกโดยการแปรงฟัน หรือขัดฟันแผ่นคราบจุลินทรีย์เหล่านี้ จะเกิดการสะสมและตกตะกอนของธาตุแคลเซียมที่อยู่ในน้ำลายกลายเป็นหินน้ำลายหรือหินปูน

ขอบคุณภาพจาก : http://allpetsdental.com/

โดยปกติในช่องปากสุนัขจะมีทั้งเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น (normal flora) และ เชื้อแบคทีเรียก่อโรค (pathogenic bacteria) เมื่อมีการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์ เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือกและร่องเหงือก จะทำให้จำนวนเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเพิ่มปริมาณมากขึ้น ร่างกายมีการตอบสนองต่อเชื้อแบคทีเรียก่อโรค โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น เม็ดเลือดขาวและสารก่อการอักเสบ (inflammatory mediator) ซึ่งจะทำหน้าที่ทำลายเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ ผลจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะปริทันต์ ภาวะของโรคจะดำเนินไปและรุนแรงเพิ่มขึ้น หากยังคงมีการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์อยู่ อวัยวะปริทันต์จะได้รับความเสียหายและถูกทำลาย นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่อยู่บริเวณร่องเหงือกซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียชนิดแกรมลบมีการสร้างสารพิษ (endotoxin) สามารถแพร่กระจายเข้าไปยังหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสโลหิต (bacteremia) และ แพร่กระจายเข้าสู่ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคตับ และ โรคไต

สุนัขที่เป็นโรคปริทันต์มีอาการอย่างไร ?

โรคปริทันต์ แบ่งตามลักษณะทางคลินิกออกเป็น 2 ระยะ คือ

  • ระยะเหงือกอักเสบ (gingivitis) เหงือกอักเสบเกิดขึ้นในระยะแรกของโรคปริทันต์ การอักเสบเกิดขึ้นเฉพาะกับเหงือก โดยที่ไม่พบการอักเสบหรือการถูกทำลายของอวัยวะปริทันต์อื่น เหงือกที่อักเสบจะมีลักษณะบวมแดง มีเลือดออกที่ร่องเหงือก เหงือกอักเสบสามารถกลับมาเป็นปกติได้ เมื่อมีการกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ให้หมดไป
  • ระยะปริทันต์อักเสบ (periodontitis) ปริทันต์อักเสบเป็นการอักเสบของอวัยวะปริทันต์ที่ทำหน้าที่ค้ำจุนฟัน เกิดการทำลายของเอ็นยึดปริทันต์และกระดูกเบ้าฟัน ทำให้เกิดการสูญเสียฟันในที่สุด  อวัยวะปริทันต์ที่ถูกทำลายจะไม่สามารถหายกลับมาเป็นปกติได้ แม้ว่าจะกำจัดสาเหตุของการเกิดโรคให้หมดไปแล้วก็ตาม สุนัขที่เป็นโรคปริทันต์ระดับรุนแรงจะพบการสลายของกระดูกเบ้าฟัน กระดูกขากรรไกรล่างบางลงและเกิดการหักของขากรรไกรล่างได้ อาการของสุนัขที่เป็นโรคปริทันต์สามารถพบได้ คือ มีกลิ่นปาก มีเลือดออกบริเวณขอบเหงือกหรือมีเลือดปนออกมากับน้ำลาย กินอาหารลดลง ไม่เคี้ยวอาหาร เจ็บหรือร้องกัดเมื่อสัมผัสบริเวณปาก พบฝีหรือเป็นแผลเรื้อรังที่ใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณใต้ตา ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อเข้าไปยังโพรงรากฟัน
โรคปริทันต์
ขอบคุณภาพจาก : https://oss.adm.ntu.edu.sg/

การรักษาและป้องกันโรคปริทันต์ทำได้อย่างไร

  • การรักษาโรคปริทันต์ สามารถทำได้โดยการกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์และหินน้ำลายที่อยู่บนผิวฟันและในร่องเหงือก โดยสัตวแพทย์จะทำการขูดหินน้ำลาย กำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่อยู่บนผิวฟันและร่องเหงือกร่วมกับการเกลารากฟัน นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น การทำศัลยกรรมปริทันต์ การชักนำให้เนื้อเยื่อคืนสภาพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค การรักษาดังกล่าวจะต้องทำภายใต้ภาวะที่สุนัขสลบ เพื่อให้สามารถกำจัดหินน้ำลายและแผ่นคราบจุลินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขูดหินน้ำลาย โดยใช้เครื่องมือขูดที่ผิวฟันในขณะที่สัตว์ยังคงมีความรู้สึกอยู่ ไม่ใช่วิธีการรักษาโรคปริทันต์ที่ถูกต้อง เนื่องจากไม่สามารถกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่อยู่ในร่องเหงือกได้ แม้ว่าจะไม่มีหินน้ำลายบนผิวฟันแต่ยังคงมี เชื้อโรคที่อยู่ในร่องฟัน ดังนั้นเมื่อสาเหตุของโรคยังไม่ได้รับการกำจัด ภาวะของโรคจึงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและรุ่นแรงเพิ่มมากขึ้น
  • วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันโรคปริทันต์ คือ การแปรงฟันให้กับน้องหมาทุกวัน โดยใช้ยาสีฟันสำหรับสุนัข และ แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม เพื่อให้ขนแปรงสามารถเข้าไปยังร่องเหงือกในการกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค และ ไม่ควรใช้ยาสีฟันสำหรับคนมาแปรงฟันให้กับสัตว์เลี้ยง เนื่องจากในยาสีฟันของคนนั้นมีฟลูออไรด์ ซึ่งมีความเป็นพิษกับสุนัขหากมีการกลืนเข้าไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งการแปรงฟันจำเป็นต้องแปรงทุกวัน การแปรงฟันสัปดาห์ละครั้ง หรือ วันเว้นวันไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคปริทันต์ได้ นอกจากนี้การให้ขนมขัดฟันหรืออาหารสำหรับโรคฟันก็สามารถช่วยลดการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์ได้เช่นกัน
ช่องปากสุนัข
ขอบคุณภาพจาก : downtownveterinaryclinic.com – blog.glamorousdogs.com – prouddogmom.com

โรคปริทันต์เป็นภัยเงียบที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้นคาดไม่ถึง เชื้อโรคที่อยู่ในช่องปากสุนัขคอยหลั่งสารพิษออกมา อาจจะไม่เห็นผลทันทีในวันนี้แต่จะมีผลต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงในอนาคตอย่างแน่นอน เหมือนกับเป็นการตายผ่อนส่ง สุนัขที่เป็นโรคปริทันต์จะมีอายุที่สั้นกว่าสุนัขที่มีสุขภาพช่องปากปกติ ดังนั้น จึงควรหันมาดูสุขภาพช่องปากของสุนัข โดยการแปรงฟันทุกวัน และพาไปตรวจสุขภาพช่องปากกับสัตวแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน นะครับ

บทความโดย

น.สพ.จักรินทร์  สัทธาธรรม

Chakkarin Satthathum, DVM, DTBVS

หน่วยทันตกรรมและศัลยกรรมช่องปาก แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

Dentistry and Maxillofacial Surgery Unit, Surgery Unit, Kasetsart Veterinary Teaching Hospital