AUBE

AUBE เมื่องานสถาปัตยกรรมโอบกอดคุณ

AUBE
AUBE

การมีพิธีแต่งงานอย่างสวยงามถือเป็นความฝันของคู่รักหลายคู่ ปัจจุบันจึงมีสถานที่สำหรับการจัดงานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Aube สถานที่จัดงานแต่งงานที่นำรายละเอียดเกี่ยวกับพิธีนี้มาออกแบบเป็นสเปซโล่งๆ โดยคำนึงถึงความสุขของผู้เข้ามาใช้งานเป็นสำคัญ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: PHTAA Living Design

คุณพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล  สถาปนิกผู้ออกแบบจาก PHTAA Living Design เล่าให้ฟังว่า “หลังจากไปศึกษาดูสถานที่จัดงานแต่งงาน เราก็มาคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้สถาปัตยกรรมที่ออกแบบกลายเป็นฉากถ่ายรูปมากเกินไป แม้พูดกันตามตรงมันก็คือฉากถ่ายรูปนั่นแหละ แต่ทำอย่างไรให้มีรากของคนไทยจริงๆ เราค้นพบว่าลำดับขั้นตอนพิธีของคนไทยมีความน่าสนใจมากและหลากหลาย มีทั้งพิธีแบบไทย จีน และฝรั่งผสมกัน แต่สิ่งที่บ่งชี้ความเป็นไทยมากที่สุดในสายตาเราคือการแห่ขันหมาก ก็เลยดึงเรื่องนี้มาใช้เป็นอย่างแรก”

AUBE
บริเวณคอร์ตภายในที่ใช้สำหรับโยนดอกไม้ของเจ้าสาว ด้านหลังกำแพงเป็นห้องจัดเลี้ยง ทางเดินโดยรอบทำหน้าที่กระจายผู้ร่วมงานไปตามการใช้งานต่างๆ โดยสามารถเลือกเช่าสถานที่แบบครึ่งวันในช่วงเช้าหรือครึ่งวันในช่วงเย็นก็ได้
AUBE
ทางเดินเข้าสู่ตัวอาคารที่ใช้เป็นเส้นทางแห่ขันหมาก มีช่องเปิดและปิดสลับกันไปมา ผู้ออกแบบถอดรหัสความรู้สึกของการเดินแห่บนถนนกลางหมู่บ้านมาเป็นงานโครงสร้าง โดยมีซุ้มโค้งที่นำองค์ประกอบของฉากถ่ายภาพในสตูดิโอมาเป็นจุดสร้างความน่าสนใจ

สิ่งที่คุณพลวิทย์กล่าวไปข้างต้นสะท้อนออกมาในรูปแบบการวางผังอาคาร จากเดิมที่ขบวนแห่จะประกาศถึงการแต่งงานโดยการแห่ไปตามถนนกลางหมู่บ้าน ก็ได้กลายเป็นเส้นทางเดินสวยงามซึ่งเป็นโครงสร้างโค้งแบบสับหว่างไปมา เปรียบเหมือนการมองผ่านจากบ้านแต่ละหลังในหมู่บ้าน ขณะที่แปลนด้านในออกแบบให้มีลักษณะคล้ายโบสถ์สมัยก่อนที่มีอาคารหลัก คอร์ต และระเบียงคดที่เชื่อมอาคาร ซึ่งได้กลายมาเป็นห้องหมั้น ห้องจัดงานเลี้ยง บริเวณคอร์ตกลางแจ้งก็กลายเป็นพื้นที่โยนดอกไม้ของเจ้าสาว

“สถาปัตยกรรมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานจริงๆ ไม่ควรเด่นไปกว่าผู้ใช้งาน แต่ต้องทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกตื่นเต้นยินดี” พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล

AUBE
ตัวอาคารและเส้นทางแห่ขันหมากเมื่อมองจากบริเวณที่จอดรถด้านหน้า
AUBE
ทางเดินอีกด้านเห็นได้ชัดเจนถึงเรื่องของแสงเงาที่เกิดขึ้น เป็นเหมือนฉากสีขาวนวลตาให้งานถ่ายภาพคนในพิธีแต่งงาน
AUBE
พื้นที่นอกอาคารปลูกต้นไม้แซมเป็นระยะในจุดที่ช่วยนำสายตาได้อย่างกลมกลืน

Aube ยังมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ อย่างการนำซุ้มโค้ง (Arch) มาใช้ในรูปแบบที่ดูแปลกตากว่าเดิม คุณพลวิทย์อธิบายแนวทางการออกแบบว่า ปกติการใช้งานซุ้มโค้งจะเป็นแบบ 1 โค้งคือ 1 โมดูลาร์ แล้วก็จะสร้างจังหวะซ้ำไปเรื่อยๆ แต่ที่นี่จะเริ่มจากครึ่งโค้งคือ 1 โมดูลาร์ จังหวะในการใช้เป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมจึงแตกต่างออกไป เหมือนการตีกลองที่เล่นกับการตีครึ่งจังหวะและมีจังหวะยกในเพลง รูปแบบของซุ้มโค้งเหล่านี้มีที่มาจากลิมโบ้ (ฉากในสตูดิโอถ่ายภาพ) ซึ่งช่วยไม่ให้เกิดขอบของฉากในภาพ และยังช่วยให้แสงสะท้อนออกมาสวยงามอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ในห้องจัดเลี้ยงยังเจาะช่องแสงขนาดใหญ่ พร้อมติดบัวเข้าไปด้วย ซึ่งทาง PHTAA เคยนำวัสดุอย่างบัวสำเร็จรูปพอลิยูรีเทนไปทดลองในรูปแบบต่างๆ มาแล้วหลายครั้งในงานนิทรรศการ อาทิ เชียงใหม่ดีไซน์วีค คุณธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ มัณฑนากรของโครงการนี้ขยายความว่า “เวลาเข้าไปข้างในเราจะให้ความสนใจกับรายละเอียดว่าเราจะเล่นมันอย่างไร ไม่ใช่เป็นแค่บัวผนัง บัวฝ้า แต่เรากลับไปเล่นที่สกายไลต์แทน ซึ่งก็มีคนถามเยอะว่าส่วนนี้คืออะไร”

AUBE
บรรยากาศโดยรอบของ Aube ในช่วงสายๆ ผนังในหลายส่วนเป็นทรายล้าง เพื่อให้พื้นผิวมีมิติมากขึ้นกว่าผนังขาวปกติ
AUBE
บันไดที่เจ้าสาวใช้เดินขึ้นไปโยนดอกไม้ เป็นบันไดโค้งอ้อมโอบตัวเสาไปสู่ผนังทึบด้านบน และจะเผยตัวอีกครั้งบริเวณชั้นลอยด้านนอกของอาคาร
AUBE
บริเวณห้องพิธีหมั้น พิธีสงฆ์ และยกน้ำชา ซึ่งเหมาะกับการประกอบพิธีในช่วงเช้า มีการนำผ้ามาตกแต่งล้อไปกับบัวขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นฉากบนเวที
AUBE
อีกมุมหนึ่งของทางเดินที่มองเห็นห้องพิธีหมั้นซึ่งใช้ชื่อว่า Moonstruck
รายละเอียดของบัวสำเร็จรูปพอลิยูรีเทนที่นำมาตกแต่งและทำสีเป็นแผงฉากให้เวที
AUBE
ระเบียงคดหน้าห้องหมั้น ผนังทรายล้างผสมเป็นสีชมพูพาสเทล สร้างความโรแมนติกให้สถานที่
AUBE
นอกจากซุ้มโค้งและสีเขียวของต้นไม้ที่สร้างความนุ่มนวลให้พื้นที่แล้ว ด้านหนึ่งของคอร์ตยังมีแผงหวายเทียมสานแบบงานหัตถกรรมแทรกเข้าได้อย่างลงตัวด้วย
AUBE
ห้อง Suntouch สีขาวสะอาดตาซึ่งเป็นห้องจัดเลี้ยงหลักจุได้ 300 คน (เลี้ยงแบบค็อกเทล) จะเห็นการนำซุ้มโค้งมาเป็นองค์ประกอบของงานในส่วนนี้อย่างเด่นชัด ช่องหลังคาด้านบนช่วยกรองแสงให้ส่องลงมาเป็นผืนใหญ่ดูนุ่มนวล ตกแต่งขอบด้วยบัวดัดโค้ง พร้อมโชว์หลังคาเหล็ก กลายเป็นองค์ประกอบที่ดูขัดแย้งแต่ยังอยู่ร่วมกันได้
AUBE
ผนังอีกด้านของห้องจัดเลี้ยง มีช่องหน้าต่างบนชั้นลอยเพื่อให้เจ้าสาวโยนดอกไม้หากพื้นที่ภายนอกฝนตก
AUBE
ห้องน้ำแขกมีการตกแต่งภายในที่ล้อไปกับองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมภายนอก
AUBE
แสงและบรรยากาศของ Aube ในยามเย็น มีการให้แสงเป็นจุดๆ ตามผนังและขั้นบันได
AUBE
ห้องพิธีหมั้นในตอนเช้า สามารถแปลงเป็นห้องจัดเลี้ยงแบบปาร์ตี้ได้อีกห้องในตอนเย็น โดยจุได้ 100 คน
AUBE
ภาพทางเดินทั้งสองด้านในยามเย็น ด้านซ้ายคือทางเดินในคอร์ต ด้านขวาคือทางเดินแห่ขันหมากซึ่งอยู่ติดที่จอดรถ
AUBE
ผนังและเพดานกลายเป็นฉากที่แสงสาดเข้าหา สร้างความสวยงามแม้ในยามค่ำคืน

นอกจากนี้ผู้ออกแบบยังปรึกษาช่างภาพอาชีพด้วยว่าลักษณะแสงที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ถึงจะทำให้แสงภายในฮอลล์ออกมาสวยงาม มีการทดลองความหนากับการกรองแสงลงมาของหลังคาส่วนบน เพื่อให้กลายเป็นซอฟต์บ๊อกซ์ขนาดใหญ่สำหรับการถ่ายภาพที่สวยงาม

“สถาปัตยกรรมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานจริงๆไม่ควรเด่นไปกว่าผู้ใช้งาน แต่ต้องทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกตื่นเต้นยินดี แล้วทุกอย่างก็จะแสดงออกมาทางสีหน้าของพวกเขา เวลาถ่ายรูปคนในงานแต่งงานทั้งเจ้าบ่าว เจ้าสาว และแขกที่เดินไปมาก็จะมีความสุขไปโดยปริยาย”

นับเป็นแนวคิดรวบยอดของทาง PHTAA ที่ออกแบบงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายในให้ทำหน้าที่รับใช้ผู้ใช้งานโดยเข้าใจความเป็นมนุษย์ได้อย่างดีเยี่ยม

ที่ตั้ง
Aube
10 ถนนราชพฤกษ์ แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ 08-6090 – 9395
www.aubevenue.com

ออกแบบ : PHTAA Living Design โดยคุณพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล


PHTAA งานดีไซน์ที่ก้าวออกจากเซฟโซน พลิกแพลงสิ่งเดิมภายใต้นิยามใหม่อย่างน่าสนใจ


เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
ใครชอบสัมผัสของกระดาษ อ่านเนื้อหานี้ได้ในคอลัมน์ นอกบ้าน
นิตยสารบ้านและสวน ฉบับ เดือน พ.ย. 2562