งานทดลองที่เปลี่ยนกระสอบและกระดาษให้กลับมาเป็นถุงใส่ของ

“Beautiful Things don’t Ask for Attention” ความงามที่แท้จริงไม่เรียกร้องความสนใจ เป็นถ้อยคำของเจมส์ เธอร์เบอร์ที่ช่างภาพสุดเซอร์ในภาพยนตร์เรื่อง The Secret Life of Walter Mitty พูดถึงเสือดาวหิมะหรือแมวผีที่ไม่ค่อยยอมให้ใครเห็นตัวได้ง่ายๆ dhammada garden

และเป็นถ้อยคำที่ผุดขึ้นมาในความคิดทันทีเมื่อเราได้เห็นสมุดโน้ตและถุงที่ทำจากกระดาษสีน้ำตาลนี้  เพราะแม้จะดูเรียบง่ายแต่ก็มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร dhammada garden

dhammada garden

คุณบาส-ศิรวิชญ์ ชัยอภิสิทธิ์ เจ้าของผลงานและผู้ก่อตั้งแบรนด์ Dhammada Garden ช่วยยืนยันความคิดนี้อีกที เมื่อเขาเล่าว่า “ผมชอบความธรรมดาสามัญซึ่งมีความพอดีอยู่ในตัวเอง มันเป็นความคิดแรกเริ่มตั้งแต่ตอนที่ทำสมุดโน้ตเล่มแรกไว้ใช้เอง เพราะอยากได้แค่สมุดที่มีเนื้อในสำหรับเขียนงานและปกง่ายๆ แต่มีเอกลักษณ์ก็พอแล้ว”

คิดใหม่ไม่ธรรมดา

ในขณะที่คนอื่นเลือกซื้อสมุดที่วางขายอยู่ทั่วไป คุณบาสกลับรู้สึกอยากทำสมุดขึ้นมาใช้เองตั้งแต่ครั้งเรียนอยู่คณะนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีแล้ว พอลงมือทำแล้วเพื่อนๆ ชอบจึงขอให้ช่วยทำสมุดแพลนเนอร์ต่ออีก เขาจึงลองใช้ด้ายมาเย็บติดกับฟิวเจอร์บอร์ดเพื่อทาสีแล้วพิมพ์ลงสมุด กลายเป็นงานพิมพ์ทำมือที่ไม่เหมือนใคร

“ผมชอบทำงานประดิษฐ์มานานแล้ว แต่ตอนเรียนจบผมไปทำงานด้านกราฟิกอยู่หนึ่งปี ก็เริ่มรู้สึกไม่ค่อยชอบ เพราะอยากทำงานฝีมือที่จับต้องได้มากกว่า ผมเลยนึกถึงสมุดโน้ตที่ทำสมัยเรียน แต่ก็ไม่อยากเพิ่มภาระการใช้ทรัพยากรอีก เลยพยายามค้นหาวัสดุที่มีอยู่แล้วเพื่อนำมาสร้างประโยชน์ใหม่ๆ ซึ่งก็ใช้เวลาหาอยู่นานกว่าจะมาเจอวัสดุนี้บนรถไฟขณะที่นั่งกลับจากบุรีรัมย์ มันเป็นกระสอบสำหรับใส่เม็ดพลาสติก ข้างนอกเป็นกระดาษแต่ข้างในสานด้วยพลาสติก พวกนี้เป็นขยะจากกระบวนการอุตสาหกรรมในเมืองที่ถูกนำมาขายต่อในร้านขายของเก่าเหมือนขวดพลาสติกทั่วไป ผมว่ามันมีความแข็งแรงและลวดลายที่สวยงามเฉพาะตัว ก็เลยลองนำมาตัดเป็นแพตเทิร์นทำเป็นปกหนังสือ และกลายเป็นคอลเล็กชั่นงานชุดแรกของ Dhammada Garden เมื่อราว 4 ปีที่แล้ว”

 

 

จากของเหลือใช้สู่งานดีไซน์

วัตถุดิบหลักจึงเป็นเศษกระสอบที่เหลือใช้จากโรงงานซึ่งเคยใช้สำหรับบรรจุสินค้าที่แปรรูปแล้ว โดยมีผิวด้านนอกเป็นกระดาษคราฟต์ภายในเคลือบพลาสติก มีความแน่นเหนียว และรับน้ำหนักได้ดี คุณบาสจะนำมาทำเช็ดทำความสะอาดและเคลือบพื้นผิวกระสอบด้วยสารเคลือบสูตรน้ำ ไม่มีกลิ่น เพื่อเพิ่มความทนทานในการใช้งานมากขึ้น “แต่ละกระสอบจะมีลายเฉพาะตัวอยู่แล้ว เราต้องเลือกสรรและคัดลายเพื่อสร้างดีไซน์ให้แตกต่างกัน บางชิ้นก็นำสันมาเย็บต่อๆ กัน หรือเลือกใช้สีโทนเดียวกันมาออกแบบเป็นคอลเล็กชั่น ตัวสมุดโน้ตก็เลือกใช้กระดาษจากโรงงานทำกระดาษรีไซเคิล50เปอร์เซ็นต์ และเป็นโรงงานที่ไม่ได้ใช้พลังงานถ่านหินแต่ใช้พลังงานน้ำ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย จากนั้นก็ขยายดีไซน์ไปเป็นถุงใส่ต้นไม้ เพราะดูจากคุณสมบัติที่กันน้ำได้และเช็ดทำความสะอาดได้ แล้วก็ทำเป็นของใช้ต่างๆ อย่างแฟ้ม ที่ใส่พาสปอร์ตกระเป๋า ถุงใบใหญ่ ปรับดีไซน์ให้สวยงามน่าใช้ และเป็นการนำของเหลือใช้มาสร้างประโยชน์ใหม่ ช่วยลดขยะในเมือง สำหรับดีไซน์ล่าสุดผมได้ออกแบบโคมไฟไปโชว์ในงาน Maison & Objet ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมี หม่อมหลวงภาวิณี สันติศิริ เป็นที่ปรึกษาให้นักออกแบบจากกลุ่ม Talent Thai  ทำให้ได้โคมไฟในถุงกระสอบที่ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นและสามารถแขวนหรือหิ้วไปวางตามที่ต่างๆ ได้ ซึ่งได้การตอบรับค่อนข้างดีมากครับ”

 

ไม่หยุดธรรมดา

คุณบาสยังอธิบายถึงความหมายของ Garden ที่มีอยู่ในชื่อแบรนด์ไว้ด้วยว่า “สวนในที่นี้คือพื้นที่ทดลองแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ธรรมดาๆ ของผม ซึ่งจะพยายามค้นหาวัสดุอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกนอกเหนือจากกระสอบเหล่านี้ อาจเป็นกระดาษที่เหลือจากสิ่งพิมพ์ต่างๆ โบร์ชัวร์ แคตตาล็อกสินค้า และเพิ่มดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายขึ้นอีก ยอมรับครับว่าทั้งหมดนี้ทำคนเดียวก็มีเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่ก็ยังสนุกที่จะค้นหาและสร้างสรรค์ต่อไป ผมรู้สึกว่าเวลาทำงานประดิษฐ์มือแล้วออกมาได้สมบูรณ์แบบพอดี มันได้ความภูมิใจ สร้างความแปลกใหม่ที่เฉพาะตัวดี และเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ความเรียบง่ายดูสวยงาม”

ไม่เพียงเห็นคุณค่าจากของเหลือใช้ แต่ยังสร้างประโยชน์และความงามเพิ่มเติมได้อีก ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความธรรมดาเป็นพิเศษนี้ได้ที่  dhammada garden

บุคคล

คุณศิรวิชญ์ ชัยอภิสิทธิ์

ขอขอบคุณ
สถานที่: Qualy Design Space

เรื่อง: ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข

l l l l l l l l l l ll l l l l l l l l l ll l l l l l l l l l ll l l l l l l l l l ll l l l l l l l l l ll l l l l l l l l l ll l l l l l l l l l l