ระเบิดเวลาที่ชื่อว่า “ความอ้วน”

ในช่วงราว 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ มีรายงานการศึกษาในทางสัตวแพทย์มากมายที่บ่งชี้ว่า ความอ้วน (obesity) กำลังเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต (quality of life; QOL) ของสุนัขเลี้ยงและแมวเลี้ยงทั่วทั้งโลก อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะพบปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี

โดยในบทความวิชาการที่ว่าด้วยการจัดการ ความอ้วน ในสัตว์เลี้ยงของ Maryanne Murphy ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการสัตว์เลี้ยง ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Veterinary Clinics of North America เมื่อปี ค.ศ. 2016 ได้กล่าวถึงอุบัติการณ์การพบปัญหาอ้วนในสุนัขและแมวเลี้ยงว่าพบได้มากถึง 59% ในสุนัข และ 63% ในแมว ซึ่งเป็นอุบัติการณ์การเกิดปัญหาที่ถือว่าสูงมากเลยทีเดียว

 

นิยามความอ้วนในสัตว์เลี้ยง

ความอ้วนในสุนัขหรือแมว หมายถึง สภาวะที่ร่างกายของสุนัขหรือแมวรายใดรายหนึ่งมีน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือมีการสะสมไขมันมากเกินไป โดยเทียบกับน้ำหนักตัวในอุดมคติของสุนัขหรือแมวรายนั้นๆ (น้ำหนักในอุดมคติหรือ ideal body weight โดยปกติแล้วจะคิดคำนวณมาจากลักษณะโครงร่างของร่างกายซึ่งมีความจำเพาะหรือแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ น้ำหนักโดยประมาณที่ควรจะเป็นของสุนัขหรือแมวรายนั้นๆ นั่นเอง) ซึ่ง Alexander James German นักวิชาการโภชนาการจาก Institute of aging & chronic disease ประเทศอังกฤษ ได้กำหนดนิยามไว้ว่า หากเมื่อไรที่น้องหมาน้องแมวมีน้ำหนักตัวมากเกินกว่า 20% ของน้ำหนักมาตรฐาน ก็ถือได้ว่ามีภาวะอ้วนแล้ว แต่หากน้องหมาหรือน้องแมวรายใดมีน้ำหนักตัวเกินกว่า 10% ของน้ำหนักมาตรฐาน (แต่ยังไม่ถึง 20%) ให้จัดว่าน้องหมาน้องแมวรายนั้นมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน (overweight) และเร็วๆ นี้เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ทาง American Veterinary Medical Association (AVMA) ได้กำหนดนิยามว่า เมื่อไรก็ตามที่สุนัขหรือแมวรายใดรายหนึ่งมีน้ำหนักตัวมากกว่า 30% ของน้ำหนักในอุดมคติให้จัดว่ามีภาวะอ้วน กับทั้งยังได้ประกาศว่าภาวะอ้วนในสุนัขและแมว ถือเป็นโรค (disease) อีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก : https://www.gettyimages.com/

ความอ้วนในสุนัขและแมวก็ถือได้ว่าเป็นบ่อเกิดของปัญหาสุขภาพหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกันกับในมนุษย์เราดังนั้น หากจะเรียกว่าความอ้วนเป็น ระเบิดเวลา” ที่แสนจะอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของสุนัขและแมวของเราก็คงจะไม่เกินความจริงแต่อย่างใด ว่าแต่ แล้วปัญหาสุขภาพอะไรที่มากับความอ้วนบ้าง มาดูกันดีกว่าครับ

  • โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) : จากการศึกษาวิจัยในแมว พบว่าความอ้วนมีผลทำให้ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ซึ่งความหมายก็คือ ทำให้อินซูลินไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ เป็นสาเหตุสำคัญมากอย่างหนึ่งของการเกิดโรคเบาหวานในแมว ซึ่งก็จะมีความคล้ายคลึงกับการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type II DM) ในคนที่มีภาวะอ้วนเช่นกัน ส่วนในสุนัขนั้น แม้ว่าการเกิดโรคเบาหวานจะมีกลไกของการเกิดโรคที่แตกต่างออกไปจากในแมวและคน (ในสุนัขมักพบเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ type I DM) และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าความอ้วนมีส่วนทำให้เกิดโรคเบาหวานอย่างไร แต่ก็พบว่าสุนัขที่อ้วนก็จะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินเกิดขึ้นในร่างกายเช่นเดียวกัน และในรายของสุนัขที่เป็นโรคเบาหวานและมีภาวะอ้วนร่วมอยู่ด้วย ก็มักจะพบว่าประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลด้วยการฉีดอินซูลินในขนาดต่ำๆ อาจไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร
  • ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ : สุนัขที่อ้วนมักมีปัญหาหายใจลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสุนัขที่เป็นสายพันธุ์หน้าสั้น (เช่น สุนัขสายพันธุ์ Pug) ซึ่งมีภาวะอ้วนร่วมด้วย ยิ่งมักพบปัญหาการหายใจลำบากที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น บางรายมีอาการกรนอย่างรุนแรงเนื่องจากมีปัญหาทางเดินหายใจส่วนต้นเกิดการอุดกั้น ฯลฯ นอกจากนี้ ในสุนัขพันธุ์เล็กที่มักมีปัญหาหลอดลมตีบหรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หากพบว่ามีภาวะอ้วนร่วมด้วย ก็มักจะพบความรุนแรงของปัญหาทางเดินหายใจเหล่านี้ตามมามากขึ้นด้วยเช่นกัน
  • ปัญหาข้อกระดูก : พบว่าความอ้วนอาจมีผลต่อการเกิดปัญหาโรคข้อกระดูก โดยอาจเป็นผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านชีวกลศาสตร์ (biomechanical) และ/หรือด้านชีวเคมี (biochemical) ของกระดูกและข้อต่อ นอกจากนี้แล้ว ยังพบว่าในสุนัขที่มีปัญหาข้อกระดูกร่วมกับมีภาวะอ้วน จะพบความรุนแรงของอาการมากกว่าเมื่อเทียบกับสุนัขที่มีปัญหาข้อกระดูกแต่มีน้ำหนักตัวอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้แล้วยังมีการศึกษาวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การลดน้ำหนักในสุนัขอ้วนที่มีปัญหาข้อกระดูกอักเสบ (osteoarthritis) มีผลช่วยทำให้อาการเดินกระเผลก (lameness) ลดลง ส่วนในแมวนั้น ก็พบข้อมูลว่าภาวะอ้วนมีส่วนทำให้ปัญหาข้ออักเสบแย่ลงได้เช่นเดียวกัน
  • ไขมันพอกตับ (fatty liver หรือ hepatic lipidosis) : แมวที่น้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน จะมีความเสี่ยงเกิดปัญหานี้ได้มากกว่าแมวที่มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

นอกจากปัญหาหลักๆ ที่ได้เอ่ยถึงไปแล้ว ก็ยังพบว่ามีความเป็นไปได้ที่สุนัขหรือแมวที่มีภาวะอ้วนจะมีความเสี่ยงในการเป็นเนื้องอกได้มากขึ้นเช่นเดียวกับในคน และนอกเหนือไปจากเรื่องของโรคภัยต่างๆ แล้ว ยังพบว่าสุนัขและแมวที่มีภาวะอ้วนมักจะมีปัญหาเหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้ไม่ทน กิจกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน (เช่น การลุกไปปัสสาวะ) ก็มักจะลดลงเนื่องจากไม่อยากออกแรง รวมทั้งยังมักจะทนต่ออากาศร้อนไม่ค่อยได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ ที่ทำให้น้องหมาน้องแมวอ้วนนั้นมีอายุสั้นกว่าที่ควร รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไรนัก ดังนั้น การจัดการกับความอ้วนอย่างเหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่เจ้าของสุนัขและแมวทุกๆ ท่านไม่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจ เพื่อให้สุนัขและแมวของท่านมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

 

สาเหตุของภาวะอ้วนในสัตว์เลี้ยง

เล่าถึงความอันตรายของความอ้วนกันมามากแล้ว มาเล่ากันต่ออีกสักนิดว่า แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้สุนัขและแมวของเราเกิดภาวะอ้วนขึ้นได้บ้าง ?

“ความอ้วน” นั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งในสุนัขและแมวแต่ละรายก็จะมีปัจจัยโน้มนำของความอ้วนที่แตกต่างกัน มากบ้าง น้อยบ้าง ก็ว่ากันไป และในบางราย ปัจจัยมากกว่าหนึ่งปัจจัยก็อาจจะผนึกกำลังร่วมกันจนผลักดันน้ำหนักและรอบเอวของสุนัขและแมวรายนั้นให้มากขึ้นๆ อย่างหยุดยั้งไม่ได้ ซึ่งปัจจัยที่ว่า ก็ได้แก่

  • อาหาร : อาหารที่มีพลังงานมากเกินความต้องการ รวมทั้งมื้ออาหารและวิธีการให้อาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น การให้อาหารแบบตามใจมากเกินไปหรือบ่อยเกินความพอดี ก็สามารถทำให้สุนัขและแมวอ้วนได้
  • กิจกรรมในชีวิตประจำวัน : กิจกรรมในชีวิตประจำวันก็มีส่วนกำหนดน้ำหนักตัวของสุนัขและแมวได้ สุนัขและแมวอายุมาก มักจะมีกิจกรรมลดลง ทำให้การเผาผลาญพลังงานต่อวันลดลง เป็นเหตุให้อ้วนได้ง่าย
  • ปัจจัยส่วนตัว ของตัวสุนัขและแมวแต่ละราย ตัวอย่างเช่น เพศ สายพันธุ์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังหมายรวมไปถึง เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บบางชนิด ซึ่งก็อาจทำให้สุนัขและแมวอ้วนผิดปกติได้ด้วย เช่น ภาวะธัยรอยด์ต่ำ (hypothyroidism) ในสุนัข ฯลฯ
ขอบคุณภาพจาก : https://www.independent.ie

 

การจัดการกับความอ้วนในสัตว์เลี้ยง

เอาล่ะครับ เมื่อเราได้รู้กันไปแล้วว่าปัจจัยที่เข้ามาโน้มนำให้สุนัขและแมวของเราเกิดภาวะอ้วนได้นั้น มีอะไรบ้าง ต่อไปเราก็มาดูกันซิว่าจะจัดการกับเรื่องความอ้วนอย่างไร

  • ปรับเปลี่ยนชนิดอาหารและพฤติกรรมการให้อาหาร : สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการจัดการกับความอ้วนครับ สิ่งที่แนะนำก็คือ ควรให้อาหารในปริมาณและความถี่ที่เหมาะสม และห้ามตามใจแม้ว่าสุนัขหรือแมวจะแอบมาทำตาละห้อยเพื่อขออาหารเพิ่มก็ตาม ส่วนในเรื่องของชนิดอาหารนั้น วิธีการเลือกง่ายๆ ก็คือ หากเป็นอาหารสำเร็จรูปก็ควรเลือกใช้สูตรที่เหมาะสมกับวัยและสายพันธุ์ของสุนัขและแมวรายนั้นๆ หรือไม่ก็อาจเลือกใช้เป็นสูตรไขมันต่ำหรือสูตรสำหรับควบคุมน้ำหนักก็ได้ครับ แต่ถ้าหากว่าเป็นการอาหารปรุงเองนั้น โดยทั่วไปที่แนะนำก็คือ ลดปริมาณแป้งหรือไขมันในอาหารลงอย่างเหมาะสม แล้วชดเชยด้วยเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกและสะอาดแทน โดยควรเลือกใช้การปรุงแบบต้มหรือนึ่ง แทนการทอด แล้วก็ควรเป็นเนื้อสัตว์ส่วนที่ไม่ติดมัน ฯลฯ ซึ่งในเรื่องของอาหารนี้ หากมีข้อสงสัยหรือตัดสินใจเลือกไม่ได้ ก็แนะนำว่าลองพาสัตว์เลี้ยงของท่านไปปรึกษากับคุณหมอสัตวแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อให้คุณหมอประเมินร่างกายและแนะนำอาหารที่เหมาะสมครับ
  • ชวนออกกำลังกายบ้าง : สุนัขหรือแมวบางตัวถูกเลี้ยงในพื้นที่จำกัดหรือพื้นที่ที่ไม่อำนวยต่อการออกกำลังกาย ก็เลยได้แต่นั่งๆ นอนๆ ทั้งวัน จึงทำให้มีโอกาสอ้วนได้ง่าย กรณีนี้ คุณเจ้าของอาจจะต้องปรับเปลี่ยนลักษณะการเลี้ยง โดยอาจจะต้องมีการหากิจกรรมเพื่อชวนให้ได้เล่นหรือออกแรงบ้าง หรือถ้าเป็นสุนัข ก็อาจจะพา ไปออกกำลังกายนอกบ้านบ้าง โดยอาจจะเป็นการวิ่งจ้อกกิ้งเบาๆ การว่ายน้ำ หรือการมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ได้ออกแรงเสียหน่อย เช่น การชวนเล่นลูกบอล ฯลฯ วิธีการนี้ นอกจากจะได้ลดหุ่นแล้วยังได้ร่างกายที่แข็งแรงตามมาอีกด้วย
  • การดูแลสุนัขและแมวที่ทำหมันแล้ว : การทำหมันอาจมีผลทำให้อัตราการเผาผลาญของร่างกายลดลงบ้าง เนื่องจากกิจกรรมที่ลดลงภายหลังจากการทำหมัน แต่อย่างไรก็ดี หากเจ้าของได้มีการปรับเปลี่ยนเลือกใช้ชนิดอาหารและวิธีการให้ที่เหมาะสมร่วมกับมีการสนับสนุนให้สัตว์เลี้ยงได้มีการออกกำลังกายทุกวัน ก็จะช่วยให้สุนัขและแมวมีหุ่นที่ดีอยู่ได้
  • พาสุนัขและแมวไปหาคุณหมอ : กรณีที่พยายามแล้วทุกวิถีทางแต่ก็ไม่สามารถทำให้สุนัขลดควลงามอ้วนได้เสียที กรณีนี้อาจต้องพาเขาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจร่ายกายโดยละเอียดดูเสียหน่อยแล้วครับ ทั้งนี้เนื่องจากว่ามีโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบการเผาผลาญที่ผิดปกติไปหลายๆ โรค ที่อาจทำให้สัตว์เลี้ยงเป็นโรคอ้วนได้

การดูแลสุนัขและแมวไม่ให้อ้วนนั้น จริงๆ แล้วไม่ยุ่งยาก และสามารถทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพายาลดความอ้วนแต่อย่างใด ขอเพียงแต่ให้คุณเจ้าของมีความตั้งใจจริงและมีวินัยในการจัดการเรื่องการกินการอยู่ของสุนัขและแมวของเราอย่างต่อเนื่องก็พอ เอาล่ะครับ นับจากวันนี้เป็นต้นไป เรามาร่วมมือกันในการกำจัดระเบิดเวลาที่ชื่อว่าความอ้วนในร่างกายสุนัขและแมวของเรา เพื่อให้สุนัขและแมวของเรามีสุขภาพที่ดีและมีอายุที่ยืนยาวอย่างมีความสุขกันนะครับ

 

บทความโดย

อ.น.สพ. เสลภูมิ ไพเราะ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)

Selapoom Pairor DVM, MS, DTBVIM

ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Department of Companion Animal Clinical Science, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University


 

“เบาหวาน” อีกหนึ่งภัยเงียบของสัตว์เลี้ยง

โรคความดันสูง (Systemic hypertension) ในสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด