เครื่องเทศ เป็นสิ่งที่นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะใช้เพื่อเพิ่มกลิ่น ปรุงรส รวมไปถึงเพิ่มสีสันให้กับเมนูอาหาร ให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์มากมาย บางชนิดทานแล้วเป็นยา สามารถบำรุงร่างกาย และยังช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วยค่ะ
วันนี้ my home จะพาเข้าครัว มาทำความรู้จักกับ เครื่องเทศ 8 ชนิดที่นิยมนำมาประกอบอาหารไทยกันค่ะ ว่ามีชนิดไหน และมีชื่อเรียกว่าอะไรกันบ้าง รวมไปถึงสรรพคุณต่าง ๆ ให้การทานอาหารครั้งต่อไป อิ่มท้องพร้อมด้วยประโยชน์ที่ไม่อยากจะเขี่ยเครื่องเทศเหล่านี้ไว้ที่ขอบจานอย่างแน่นอนค่ะ
1.โป๊ยกั๊ก (Chinese star anise )
มีถิ่นกำเนิดและเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศจีนและเวียดนาม เป็นพืชที่มีรูปร่างเหมือนดอกจันทร์แปดแฉก ซึ่งโป๊ยกั๊กในภาษาจีนก็แปลไว้อย่างตรงตัวเลยค่ะ คำว่า ” โป๊ย” แปลว่าแปด และ ” กั๊ก ” แปลว่าแฉก โป๊ยกั๊กเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบมีลักษณะเป็นใบหอกกลับถึงรูปรีแคบ โคนสอบ ปลายใบแคบเป็นแถบยาว ปลายสุดเว้าหรือแหลม ไม่ผลัดใบ มีดอกเดี่ยวสีเหลือง บางครั้งแต้มสีชมพูถึงแดง ดอกรูปทรงกลมแกมรูปถ้วย กลีบดอก 10 กลีบ รูปรีกว้าง ขอบกลีบมีขน และเป็นกระพุ้ง ก้านดอกยาว ผลเป็นรูปดาว มี 5 – 13 พู เมล็ดรูปไข่ แต่ละพูมี 1 เมล็ด ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ก็คือส่วนของผลที่นำไปทำให้แห้ง มีกลิ่นหอมและรสร้อน
สรรพคุณของโป๊ยกั๊ก : เป็นหนึ่งในตำรับยาจีนโบราณช่วยระบบย่อยอาหาร ขับลม รักษาอาหารเหน็บชา บำรุงธาตุ เพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย ขับเสมหะ แก้หวัด ลดไข้
ประโยชน์ในการทำอาหาร : สำหรับอาหารคาวช่วยดับคาวในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ
พบในอาหารประเภท : พะโล้ ก๋วยจั๊บ สตู มัสมั่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเบเกอรี่ (ขนมปัง) ใช้แต่งกลิ่นลูกอม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
วิธีการใช้ : นำไปเคี่ยวกับน้ำซุป หรือนำไปเผาไฟก่อนนำมาเคี่ยว เพื่อให้ได้กลิ่นหอม จากนั้นจึงใส่เนื้อสัตว์ลงไป ตัวโป๊ยกั๊กจะช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์
2. จันทน์เทศ (Nutmeg)
มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลมรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ เนื้อใบแข็ง ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์มีอยู่สองส่วนหลัก ๆ ก็คือ ลูกจันทน์ (ส่วนของเมล็ด) เมื่อแกะออกมาจากผลสด ๆ จะมีสีน้ำตาลเข้มเงา และเมื่อนำมาทำให้แห้งจะมีลักษณะด้านและสีอ่อนลง และ ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ลักษณะเป็นริ้วสีแดง รูปร่างคล้ายร่างแห บาง มีหลายแฉกหุ้มเมล็ดติดแน่นอยู่กับเมล็ด เมื่อนำมาแกะจากเมล็ด รกที่สด ๆ จะมีสีแดง และเมื่อทำให้แห้งสีของรกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนหรือเป็นสีเนื้อ ผิวเรียบ ทั้งลูกและดอกมีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม
สรรพคุณ : บำรุงโลหิต ช่วยกระจายเลือดลม บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง ช่วยทำให้เจริญอาหาร ชาวจีนใช้เป็นยารักษาอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ชาวอินเดียและอาหรับใช้เป็นยาช่วยย่อย
พบในอาหารประเภท : แกงมัสมั่น พะแนง ฉู่ฉี่ สตูว์
วิธีการใช้ : นำมาคั่วให้หอมและป่นก่อนนำมาโขลกรวมกับเครื่องเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นส่วนผสมของเครื่องแกง
3. อบเชยเทศ (Cinnamon)
มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียและศรีลังกา เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง เปลือกลำต้นมีสีเทาและหนา กิ่งขนานกับพื้นดินและตั้งชันขึ้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันตามลำต้น ลักษณะใบคล้ายรูปไข่ ปลายใบแหลม มีเส้นใบสามเส้น และไม่ผลัดใบ ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งมีขนาดเล็ก สีเหลือง มีกลิ่นหอม ผลมีสีดำคล้ายรูปไข่ ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์คือ ชั้นเปลือกไม้ที่แห้งแล้วของต้น เป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม มีรสสุขุม เผ็ด หวานเล็กน้อย และมีกลิ่นหอมแบบเฉพาะ
สรรพคุณ : เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ ชูกำลัง ลดความดันโลหิต และช่วยควบคุมคอเลสเตอรอลในเลือด
พบในอาหารประเภท : พะโล้ เมนูน้ำแดง ซี่โครงหมูอบซอสบาร์บีคิว หมูตุ๋น และยังพบในอาหารหวานหลายอย่าง เช่น Cinnamon roll ขนมอบต่าง ๆ
วิธีการใช้ : แบบแท่ง นำไปเคี่ยวกับน้ำซุปเพื่อให้ได้กลิ่นหอมวิธีการใช้คล้ายกับโป๊ยกั๊ก และแบบผง นำไปโรยบนขนมก่อนอบเพื่อนเพิ่มความหอม
4. ยี่หร่า หรือ เทียนขาว (Cumin)
มีถิ่นกำเนิดในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุเพียงแค่ปีเดียว ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ขอบใบหยักลึกถึงเส้นกลาง มีลักษณะเป็นแฉกคล้ายเส้นด้าย โคนก้านใบแผ่เป็นกาบ ดอกออกเป็นช่อแบบซี่ร่มหลายชั้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวหรือสีชมพูเมล็ด ลักษณะเป็นผลแห้ง รูปยาวรีสีน้ำตาล เปลือกมีขนสั้นและแข็งปกคลุม เมื่อผลแก่จะแตกเป็น 2 ซีก โดยแต่ละซีกจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์คือเมล็ด มีกลิ่นหอม และน้ำมันจากเมล็ดจะมีรสเผ็ดร้อน
สรรพคุณ : ช่วยย่อยอาหาร ยาขับลม แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
พบในอาหารประเภท : แกงกะหรี่ แกงเขียวหวาน หมูสะเต๊ะ ผัดเผ็ด
วิธีการใช้ : นำไปคั่วให้หอม และนำมาโขลกรวมกับเครื่องเทศอื่น ๆ เพื่อเป็นส่วนประกอบในอาหาร หรือหมักเนื้อสัตว์