คุยเฟื่องเรื่องฝันกับรชยา วัฒนศิริชัยกุล เจ้าของนามปากกา SHERRAE ผู้วาดฝันผ่านลายเส้นลงในสมุดสเก็ตช์

“ความฝันของเราอาจจะไม่ได้เป็น dot หรือจุดที่ใหญ่ที่สุด แต่ว่าเป็นเส้น ซึ่งเส้นเกิดมาจากจุดเล็กๆ ที่มาต่อเนื่องกันมากพอ มันก็แปลว่าเราก็ยังเดินอยู่ในเส้นทางที่เราฝัน มันคือความฝันแล้ว ความฝันมันเป็นเส้นมากกว่าเป็นจุดใดจุดหนึ่ง เพราะถ้าไม่ได้ทำไปตลอด ก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม”

ถึงแม้เราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่สิ่งที่หล่อเลี้ยงให้เรายังมีแรงกระตุ้นที่สร้างให้ชีวิตทุกวันมีความหมายนั่นก็คือความฝัน ฝันในสิ่งที่อยากทำ ฝันในสิ่งที่ใหญ่ขึ้น เช่นเดียวกับ Sherrae นามปากกาของสถาปนิกสาว เชล – รชยา วัฒนศิริชัยกุล ที่เธอยังคงใช้ความฝันเพื่อเป็นแรงบันดาลใจจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่าสมุดสเก็ตช์

 Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล

ในมุมของการทำงาน เชลคือสถาปนิกจบใหม่ไฟแรงที่รักในงานสถาปัตยกรรม เธอออกเดินทางเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางด้านงานสถาปัตยกรรมทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่ว่าจะจากงานชิ้นมาสเตอร์​ในประเทศต้นกำเนิด หรือการสมัครเข้าไปฝึกงานในออฟฟิศสถาปนิกชื่อดังของญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยยังเรียน ส่วนในเวลาส่วนตัว การวาดภาพคือพื้นที่ที่สบายใจที่สุดของเธอ 

 Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล

  • สเก็ตช์​ กับ สถาปัตยกรรม

room: สำหรับเชลแล้ว การทำงานในชีวิตประจำวันกับการวาดรูปเป็นงานอดิเรกมีความสัมพันธ์กันในจุดไหนบ้าง

Sherrae: “จุดเปลี่ยนอาจจะตอนที่เรียนจบ ก็เคยคิดเหมือนกันว่า เราควรจะมีอาชีพในด้านไหน ก็สัญญากับตัวเองว่าอย่างไรเราก็ยังอยากทำงานสถาปัตย์ แล้วงานสถาปัตย์มันเป็นงานที่ต้องมีประสบการณ์ ทำงานเป็น ก็เลยเลือกว่าจะทำงานในออฟฟิศ งานประจำที่เราจะได้เรียนรู้ตรงนี้ ส่วนงานวาดรูปก็จะพยายามต่อ แล้วพอทำงานเราก็เหมือนทดลองอยู่กับตัวเอง ทดลองให้การวาดรูปเป็นสิ่งที่สบายใจที่สุด นั่นแหละกลับไปจุดเริ่มต้นว่า เราจะทำมันตอนที่เรารู้สึกว่างที่สุด รู้สึกสบายใจที่สุด ออกจากทั้งงานประจำทั้งงานนอกที่รับมา หรือว่าอะไรต่างๆ ก็เหมือนคุยกับตัวเองไปแล้วว่าเราโพสิชั่นอันนี้ดีกว่า ให้สบายใจที่สุด”

“มองว่างานออกแบบกับวาดรูปโดยตรงมันอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน อย่างที่คนทั่ว ๆ ไปอาจจะเข้าใจ แต่ว่าเวลาทำคู่กัน ก็รู้สึกว่ายังใส่ตัวตนของเราไปได้ เช่นเราได้วาดสิ่งที่เราชอบ ซึ่งเป็นเรื่องประสบการณ์ชีวิตที่เราได้เคยทำ”

Sherrae

 Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล

room: จุดเริ่มต้นของการรวมเล่มสเก็ตช์มาจากตรงไหน

Sherrae: “น่าจะเริ่มต้นด้วยเล่มสเก็ตช์ที่มันเป็นเบอร์ลินกับ Notre-Dame ซึ่งไม่ได้เอาไปพิมพ์ที่ไหน แต่ว่าเป็นสิ่งที่เราทดลองคุยกับตัวเอง มันเป็นทริปที่ตอนเรียนจบไปเที่ยวกับเพื่อนที่สองประเทศนั้นเพื่อดูงานสถาปัตยกรรม แล้วเราก็นั่งคิดกับตัวเองว่า ถ้าเราอยากจะวาดรูป เราเริ่มที่เป็นตัวเองมากที่สุด เราชอบอะไรมากที่สุด? สรุปว่าชอบหลายอย่างมาก ชอบทั้งงานสถาปัตยกรรม ชอบทั้งเขียน แล้วเราก็สนุกกับการพอไปตามดู ก็วิเคราะห์ตัวสถาปัตยกรรมกับเพื่อนว่าอันนี้มันสร้างยังไง แล้วก็กลับไปศึกษาเรื่องแนวความคิด เราก็เอามาเขียนด้วยความรู้สึกว่า เราจะเขียนในสิ่งที่เราอยากจำอยากเข้าใจ บันทึกไปพร้อมกับเรื่องราวที่เกิดกับเพื่อนด้วย เช่น ตกรถไฟ หรือตอนที่กินของอร่อย เราก็เขียนให้มันสบายใจที่สุด เป็นไดอะรี่ ก็ดีใจที่ได้ทดลองทำ”

 Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล  Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล  Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล  Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล

  • พิมพ์ครั้งแรก เรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง

room: อะไรคือจุดที่ทำให้กล้าที่จะพิมพ์งาน และลงมือทำกระบวนการทุกอย่างด้วยตัวเอง

Sherrae: “เล่มโตเกียวเล่มนี้ เกิดขึ้นจากความฝันที่ว่า อยากจะรวบรวมผลงานให้พิมพ์ได้สักเล่มหนึ่ง ซึ่งรายได้ไม่ใช่ประเด็นหลัก คือมันแค่แบบเหมือนเป็นจุดหนึ่งที่พิสูจน์ว่ามันมีคนยอมรับ แล้วก็เรามีโพสิชั่นที่เราจะสามารถเอาตรงนี้มา มันเหมือนเขาอนุญาตให้เราทำสิ่งที่เรารักต่อไปได้ ซึ่งมันมีค่ามาก เราก็รวบรวมความกล้าอยู่นานมากหลายๆ ปี เพราะเราไม่กล้าทำ เพราะเรากลัวมันไม่ได้รับการยอมรับ แต่สุดท้ายเราก็ข้ามผ่านกำแพงความกลัวด้วยจุดที่ว่าเล่มนี้ต้องการจะเป็นตัวเองมากที่สุด เอาตัวเองใส่ลงไปมากที่สุด แล้วก็ไม่ต้องกลัวคนอื่น”

“จะเห็นได้ว่าเล่มที่เชลทำมันแทบจะแบบเป็นเล่มที่คล้ายกับต้นฉบับที่สุด เพราะเรารู้สึกว่าอยากให้คนที่ได้รับเหมือนได้รับเกือบจะเป็นต้นฉบับ แต่อยากให้มันส่งไปถึงจริงๆ เหมือนเป็นประสบการณ์เดียวกัน ซึ่งอันนี้ก็สนุกดีเพราะยาก แต่ว่าปกต้องไปศึกษาว่าจะเอาปกหุ้มหนังทำขอบดีไหม ซึ่งราคาก็แพง โรงพิมพ์จะเอาเหรอมันแพงนะ แล้วก็เอาค่ะ อย่างไรก็ต้องสู้เพราะว่าเราอยากทำสิ่งที่ตั้งใจ ซึ่งเอาจริงๆ ค่าพิมพ์ต่อเล่มก็ค่อนข้างแพงค่ะ ถ้าเทียบกับราคาที่คิดไว้ในใจว่าอยากขายให้มันไม่สูงเกินไป แล้วก็ไม่ต่ำเกินไป คือตอนนั้นคิดอย่างเดียวคืออยากให้มีคนอยากจะใช้เงินซื้อมันเอาไปให้มากที่สุด อยากให้มันส่งถึงคนมากที่สุด”

 Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล

room: มีเรื่องไหนที่เป็นเรื่องราวน่าจดจำและประทับใจจากการทำหนังสือเล่มนี้บ้าง

Sherrae: “จุดเปลี่ยนอีกอันหนึ่งก็คือตอนที่เราเอาไปให้เพื่อนที่สั่งซื้อ ทุกคนที่ได้รับค่อนข้างที่จะเห็นว่าเราตั้งใจ มันสื่อ แต่ก็อาจจะยังไม่เยอะ ทีนี้เราก็เอาไปให้เพื่อนคนหนึ่ง ปรากฎว่าเพื่อนคนนี้เขาไปลงในทวิต ตัวเพื่อนอาจจะไม่ได้ดัง แต่มีคนที่มีชื่อเสียงรีทวิตไปเยอะเลย ก็ตลกดีที่อยู่ๆ มีคนรู้จักขึ้นเยอะ แต่ก็ดีใจที่มันสำเร็จ และต่อไปว่าเราพิมพ์เพิ่มอีกล็อตก็ยังมีคนสั่ง มันทำให้เราสามารถจะเอามันไปทำโปรเจ็กต์ล้านอันแบบที่เราอยากทำต่อ ดีใจมาก”

“จากนั้นมาเราก็มองว่าโชคดีมากที่กล้าทำไปจนได้ มันอาจจะไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ที่สุด แต่ว่าเราก็ตั้งใจกับมันมานาน เราก็พอทำได้ มันก็ชัดมากว่า มันเป็นสิ่งที่จะสื่อสารกับคนอื่น แล้วก็ชอบมากที่สุดตอนที่เราส่งออกไป เสร็จแล้วมีคนฟีดแบ็คกลับมาตลอด เขามาบอกว่า ช่วงนี้กำลังเครียดๆ พอเปิดแล้วก็มีแรงที่จะทำ หรือว่าทำให้อยากกลับไปวาดรูป หรือแม้แต่ว่าแค่เปิดก็มีความสุขแล้ว โห รู้สึกสุดยอดมาก ไม่เคยนึกออกเลยว่าความสุขที่เราใส่ลงไปในงานมันจะไปถึงจริงๆ แค่ได้กล้าลงมือทำ หรือว่าได้มีแรงบันดาลใจมันก็สุดยอดแล้ว”

 Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล  Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล  Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล

  • เติบโตผ่านการลงมือ

room: จากที่วาดรูปมาตลอดตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน เรามองเห็นว่าตัวเองเติบโตมาจากการวาดรูปได้อย่างไร

Sherrae: “ทั้งในเรื่องทัศนคติหรือการใช้ชีวิตมองโลก มันเปลี่ยนไปผ่านการวาดรูปค่ะ มันอาจจะเหมือนไม่ใช่ว่ามันเป็นทั้งตัวเรา รูปที่วาดก็เปลี่ยนไปตามที่ตัวเราเปลี่ยน แล้วเราก็เปลี่ยนไปคู่กับมันด้วย อย่างตอนที่วาดที่เราก็จะคิดอะไรได้ขึ้นมาว่าสิ่งนี้แหละที่เราชอบหรือว่า ไอ้โมเมนต์ที่นั่งเขียน เพ้นต์ ไปทีละใบ มันสุดยอดที่สุดแล้ว”

“การวาดรูปมันเหมือนการนั่งสมาธิของเรา คือถ้าเกิดเราเครียด เราคิดไม่ออก เราวาดรูปก่อนเลย แล้วทุกอย่างก็ดีขึ้นด้วยอะไรสักอย่าง รู้สึกว่าการวาดรูปเป็นเพื่อนมาตลอด แล้วก็เป็นเพื่อนตอนที่เราเหนื่อย และเราไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหนบนโลก หรือว่าเป็นเพื่อนที่เราอยากเล่าอะไรให้โลกฟัง และก็ผ่านตรงนี้ได้ตลอดเลย”

 Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล

แววตาของความกระตือรือร้นในสิ่งที่เธอเล่าสู่ให้เราฟัง คือสิ่งที่เรามองเห็นเธอตลอดการสนทนาเกือบชั่วโมง ความสุขจากการที่ได้ใช้ความสุขของตัวเองสร้างความสุขให้คนรอบข้างต่อ ความสุขกับประสบการณ์ที่สร้างเอง เจ็บเอง แต่ก็สุขเอง และความสุขที่ได้พบกับเพื่อนแท้ของชีวิตที่เรียกว่าการวาดรูป

“หลายคนถามเหมือนกันว่าตกลงจะทำอะไรเป็นหลักเป็นรอง มันทำให้เราถามตัวเองตลอดว่าตกลงเราจะทำอะไรดีกับอนาคต พอมาถึงจุดนี้ก็คือตอบไม่ได้เหมือนเดิม แต่ว่าเลิกหาคำตอบแล้ว ก็ไม่เห็นต้องตอบเลย ก็ทำไปแล้ว ก็โอเค มันเหมือนอยู่คนละตำแหน่งกัน ณ ปัจจุบันเราคิดว่าโอเค แล้วเราก็มองว่าเราตั้งใจกับปัจจุบัน อนาคตมันก็คงเปลี่ยนแปลง แต่ว่าไม่จำเป็นต้องคิดขนาดนั้น ถ้าเรามานั่งเลือกก็ไม่มีโอกาสต่อๆ ไปอยู่ดี ความฝันเชลคือการรวมเล่ม พอรวบรวมความกล้ากับงานตัวเองให้ออกมาได้หนึ่งเล่ม ทำความฝันนี้สำเร็จเราก็รู้สึกว่า ที่เหลือมันเป็นกำไรชีวิตทั้งหมดแล้ว”

 Sherrae รชยา วัฒนศิริชัยกุล


เรื่อง: skiixy
ภาพ: อนุพงษ์
ขอบคุณสถานที่ : SLURE พื้นที่คลุมเครือ เพื่อแสดงออกถึงตัวตน

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019
อ่านต่อบทสัมภาษณ์ของรพิ ริกุลสุรกาน นักวิเทศสัมพันธ์ที่ฝึกมือวาดอักษรด้วยพรแสวง และนิทรรศการที่เขาขนการบ้านมาแสดงให้ชมที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง

นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019 พรรษชล โตยิ่งไพบูลย์
พรรษชล โตยิ่งไพบูลย์ กราฟิกดีไซเนอร์ผู้รังสรรค์งานศิลปะจากแรงบันดาลใจในฉากของภาพยนตร์

เมื่อภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิตพิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์แห่งราชเทวี
เมื่อภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิตพิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์แห่งราชเทวี