การดูแลลูกหมาและลูกแมวหลังคลอด

การดูแลลูกหมาและลูกแมวหลังคลอด ให้เจริญเติบโตและมีสุขภาพที่ดีได้นั้น นอกจากจะต้องดูแลลูกสัตว์อย่างดีแล้ว ยังควรดูแลสุขภาพของแม่หลัง คลอดให้ดีด้วย

วันนี้คุณหมอจึงได้แบ่งเนื้อหา การดูแลลูกหมาและลูกแมวหลังคลอด ออกเป็น 2 ส่วนคือ การดูแลลูกและการดูแลแม่

 

การดูแลลูกหมาและลูกแมวหลังคลอด

ลูกหมาและลูกแมวหลังคลอด มักเสียชีวิตจาก 1. การได้พลังงานหรืออาหารไม่เพียงพอ 2. การทนความหนาวหรือการปรับตัว เพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่ได้  และ 3. เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคและเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้นการเลี้ยงดูลูกหมาและลูกแมวควรคำนึงถึงคือ

การดูแลลูกหมาและลูกแมวหลังคลอด
ขอบคุณภาพจาก https://www.rspcasa.org.au

1.ภายใน 3 วันแรกหลังคลอด ลูกหมาและลูกแมวต้องได้รับการกินนมน้ำเหลือง (colostrum อ่านว่าโคลอสตุ้ม) จากแม่ ซึ่งเป็นนมที่มีภูมิต้านทานโรคสูง เนื่องจากภูมิต้านทานโรคจากแม่ถ่ายทอดผ่านทางรกในขณะที่อยู่ในท้องได้น้อยมาก จึงต้องพยายามจับให้ลูกทุกตัวกินนมให้ได้ โดยเฉพาะ 24 ชมแรกหลังคลอด แม่หมาหรือแม่แมวที่ได้รับการผ่าคลอด อาจมีนมน้อย แต่ยังต้องพยายามจับลูกดูดนมแม่ เต้านมที่ได้รับการกระตุ้นบ่อยๆจะสร้างน้ำนมปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์นมโคลอสตุ้มออกมาจำหน่ายแล้ว

2.ถ้าแม่หมาหรือแม่แมวได้รับการผ่าคลอด หลังจากฟื้นจากยาสลบ อาจไม่รู้จักลูกตัวเอง หรือ อาจยังเจ็บแผลผ่าตัดอยู่ เมื่อนำลูกไปดูดนมแม่ แม่อาจกัดได้ คนเลี้ยงต้องคอยสังเกตอาการของแม่ อาจให้เริ่มจากการดมก่อน ถ้าแม่ยอมรับ ค่อยให้ลูกดูดนม

3.กรณีที่น้ำนมแม่ไม่พอ ก็สามารถซื้อนมลูกสัตว์ป้อนเสริมให้ได้ การใช้นมแพะหรือนมโค จะมีคุณค่าอาหารน้อยกว่านมลูกสัตว์ และ อาจทำให้ท้องเสียได้

4.ควรมีไฟกก อยู่สูงจากลูกสัตว์อย่างน้อย 1-2 ฟุตขึ้นไป กรณีลูกสัตว์นอนสุมกันแสดงว่าลูกหนาว แต่ถ้านอนแยกๆ กัน หรือ หนีห่างจากโคมไฟ แสดงว่า ร้อน ถ้าลูกเลี้ยงรวมกับแม่ ก็ไม่จำเป็นต้องมีไฟกก เพราะลูกมักนอนสุมอยู่ใกล้ตัวแม่ แต่ควรระวัง แม่สุนัขทับลูกตัวเอง และ ควรดูแลความสะอาดของที่อยู่ของแม่-ลูกอย่างสม่ำเสมอ

5.กรณีที่กินนมแล้วลูกยังร้อง ไม่ยอมนอน ท้องแฟบ หมายถึงลูกยังกินไม่อิ่ม แต่ถ้าท้องกางๆ และ ไม่ยอมนอน แสดงว่าลูกมีอาการท้องอืด

ขอบคุณภาพจาก https://www.thriftyfun.com

6.หลังการดูดนม แม่มักเลียบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อกระตุ้นการขับถ่าย กรณีที่แม่ไม่ยอมทำ ให้ใช้สำลีชุบน้ำอุ่น เช็ดถูเบาๆ บริเวณอวัยวะเพศ ลูกสัตว์จะขับถ่ายออกมา และ ควรทำทุกครั้งหลังการดูดนม

7.ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ลูกจะกินนมทุก 2-3 ชม. ในสัปดาห์ที่ 3-4 จะกินนมทุก 3-4 ชม ควรชั่งน้ำหนักลูกทุกวัน และน้ำหนักลูกควรเพิ่ม 5-10 % ทุกวัน

8.เมื่อลูกอายุ 4 สัปดาห์ ควรให้ลูกหัดเลียอาหาร โดยใช้อาหารลูกสัตว์ผสมนมหรือน้ำให้อาหารเละๆ และ ใส่จานให้หัดเลียกิน โดยให้อาหารสลับกับการดูดนมได้

9.ลูกหมาและลูกแมว จะลืมตา และ หูจะได้ยินเมื่ออายุประมาณ 10-14 วัน

10.ควรหย่านมลูกหมาและลูกแมวที่อายุ 6 สัปดาห์

11.เมื่อพบอาการผิดปกติ เช่น ท้องเสีย ท้องอืดมาก ลูกไม่โต น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น มีอาการซึม ควรปรึกษาสัตวแพทย์ รวมทั้งการวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรค การถ่ายพยาธิ และการควบคุมเห็บหมัด

 

การดูแม่หมาและแม่แมวหลังคลอด 

อาการผิดปกติหลังคลอดในแม่หมาและแม่แมวที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ เต้านมอักเสบ การติดเชื้อที่มดลูก และภาวะแคลเซี่ยมในร่างกายต่ำ (ไข้น้ำนม) โดยอาการรวมๆ ที่ควรสังเกตได้แก่

การดูแลลูกหมาและลูกแมวหลังคลอด
ขอบคุณภาพจาก http://tawonliarbpom.dadli.mobi

1.สิ่งคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ กรณีที่คลอดธรรมชาติมักเป็นสีแดง (ไม่ควรเป็นสีแดงสด ไม่เป็นสีน้ำตาล สีดำ หรือสีเขียว) โดยสิ่งคัดหลั่งจะหลั่งออกมามากใน 2 สัปดาห์แรก และเป็นหยดๆ ในสัปดาห์ที่ 3-4 แต่ถ้าพบปริมาณมากและต่อเนื่องหลายสัปดาห์ หรือ สีสิ่งคัดหลั่งที่เปลี่ยนไป หรือ มีกลิ่น ควรนำไปพบสัตวแพทย์

2.เต้านมที่แดงอักเสบ จับแล้วเจ็บ แม่ไม่ยอมให้ลูกเข้าใกล้ หรือ ให้ลูกดูดนม สีน้ำนมเปลี่ยนไป เช่น สีเขียว หรือลักษณะหนืดๆ ลูกทยอยท้องเสีย หรือ ลูกน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้น แม่อาจมีปัญหาเต้านมอักเสบ ควรนำไปพบสัตวแพทย์

3.กรณีที่พบว่า แม่ตัวร้อน (มีไข้สูง) ตัวสั่นๆ โดยเฉพาะหลังการให้นมลูก หรือแม่มีอาการซึม ไม่ยอมกินอาหาร ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์

4.ควรมีน้ำตั้งทิ้งไว้ให้แม่หมาและแม่แมวได้กินตลอดเวลา ส่วนอาหารควรกินสูตรอาหารแม่หรือลูกสุนัข และ อาจแบ่งให้เป็น 3-4 มื้อต่อวัน และอาจเสริมนมให้แม่ได้

5.เมื่อพบอาการผิดปกติ แม่ไม่สนใจลูก ไม่เลี้ยงลูก ควรปรึกษาสัตวแพทย์

 

บทความโดย

รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร. เกษกนก ศิรินฤมิตร (อว. สพ. เวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์)

Assoc. Prof. Kaitkanoke Sirinarumitr, DVM, MS, PhD, DTBT

ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Department of Companion Animal Clinical Science, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University


 

การดูแลสัตว์ตั้งท้อง สำหรับคุณแม่สี่ขาและลูกน้อยในครรภ์

การสื่อสารระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง เมื่อต้องฝึกหรือทำโทษ