การดูแลสัตว์ตั้งท้อง สำหรับคุณแม่สี่ขาและลูกน้อยในครรภ์

การดูแล สัตว์ตั้งท้อง ควรมีการวางแผนตั้งแต่ก่อนการจัดการการผสม ได้แก่ การหาสายพันธุกรรมที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรม เช่น ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงหุ้มอัณฑะหรือทองแดง (cryptorchidism) หรือเพื่อคัดเลือกลักษณะในการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้น

เมื่อพิจารณาเลือกสัตว์แล้ว ต่อไปเป็นการจัดการโปรแกรมสุขภาพ การกระตุ้นวัคซีน ถ่ายพยาธิ หากสัตว์ขาดการกระตุ้นวัคซีนหรือมีกำหนดจะครบในช่วงที่จะให้ตั้งท้องควรทำวัคซีนก่อนการจัดการการผสมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากช่วงที่ สัตว์ตั้งท้อง และ ให้นมลูก ไม่แนะนำให้ทำวัคซีน เพราะการทำวัคซีนอาจทำให้แม่สัตว์มีไข้ ผลการสร้างภูมิในระหว่างการตั้งท้องอาจไม่ดี และวัคซีนบางประเภทอาจมีผลต่อการเจริญของลูก

ดังที่ทราบกันว่าระยะเวลาในการตั้งท้องสุนัขและแมวประมาณ 2 เดือน  จริงแล้วมีรายละเอียดย่อยลงไปว่าใช้ข้อมูลอะไรในการอ้างอิง  กล่าวคือ สุนัขตั้งท้อง 58-72 วันนับจากวันที่ผสมครั้งแรก หรือ 62-64 วันจากวันตกไข่ วันตกไข่จะได้จากการเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนโปสเจสเตอโรน (progesterone) ในช่วงที่สุนัขเป็นสัด  กรณีแมว 62-65 วันหลังที่แมวร้องหว่าวและเข้าผสม  หลังผสมประมาณ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไปจะเริ่มสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายสัตว์  เริ่มจากลักษณะหัวนมสีชมพูและสังเกตได้ชัดเจนขึ้น  ช่องท้องกางขึ้น เต้านมขยาย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น  แต่อย่างไรควรพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจยืนยัน

 

วิธีตรวจการตั้งท้อง

ขอบคุณภาพจาก https://www.pets4homes.co.uk

1.การคลำตรวจ เหมาะในระยะต้นของการตั้งท้อง ช่วง 2-3 สัปดาห์หลังการผสม ลักษณะที่สัตวแพทย์ตรวจคลำคือปีกมดลูกที่ขยายใหญ่และคลำพบถุงตัวอ่อน หากพ้นระยะแรกนี้แล้วถุงตัวอ่อนจะเจริญใหญ่ขึ้น จนต้องแยกวินิจฉัยออกจากมดลูกโตจากปัญหาอื่น เช่น มดลูกอักเสบเป็นหนอง

2.ชุดทดสอบการตั้งท้องสำหรับสุนัขและแมว ชุดทดสอบนี้ใช้การเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนรีแลกซิน (relaxin) ที่ผลิตจากรก เหมาะการตรวจท้องตั้งแต่ 21-30 วัน ซึ่งช่วงนั้นจะมีการฝังตัว การสร้างรกและหลั่งฮอร์โมนรีแลกซิน วิธีนี้ความแม่นยำไม่ 100 % ในชุดทดสอบนี้จะต่างจากชุดทดสอบการตรวจการตั้งครรภ์ในคน ที่เก็บปัสสาวะตรวจฮอร์โมน hCG จึงไม่สามารถเก็บปัสสาวะสุนัขไปตรวจท้องด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ในคน

3.อัลตร้าซาวด์ วิธีนี้นอกจะทราบผลการตรวจการตั้งท้องแล้ว ยังช่วยประเมินอายุท้อง สุขภาพลูกในท้อง หรือ กรณีไม่พบการตั้งท้องจะช่วยตรวจสภาพภายในมดลูกสัตว์ว่า มีปัญหาอื่นๆร่วมหรือไม่

4.เอ็กซเรย์ เอ็กซเรย์เป็นเครื่องมือที่ตรวจท้องจากการเห็นโครงร่างกระดูกลูก ดังนั้นใช้ในระยะที่เริ่มมีการพัฒนาของกระดูกตั้งแต่อายุท้อง 40 วันในแมวและ 45 วันในสุนัข นอกจากนั้นการเอ็กซเรย์ใช้ช่วยนับจำนวนลูกและประเมินภาวะคลอดยากจากท่าลูกและขนาดในระยะท้ายสุดของการตั้งท้อง

การตรวจท้องนอกจากจะช่วยแจ้งผลการตั้งท้องแล้ว ยังได้ข้อมูลอื่น เช่น สุขภาพทั่วไปของแม่สัตว์ อายุท้องอย่างคร่าวๆ และพัฒนาการของตัวอ่อน เพื่อช่วยให้ข้อมูลในการดูแลแม่ตั้งท้องและการจัดการดูแลในช่วงการตั้งท้อง ตลอดจนการเตรียมคลอดได้ดีขึ้น

 

การดูแลสัตว์ในแต่ละระยะการตั้งท้อง

การตั้งท้องแบ่งเป็น 3 ระยะ

ระยะแรก (หลังผสม – 3  สัปดาห์) ช่วงนี้อาจยังไม่ทราบว่าสัตว์ตั้งท้องหรือไม่  แนะนำให้ลดกิจกรรมที่หนัก เช่น กระโดด วิ่งเร็ว เนื่องจากระยะนี้จะเริ่มมีการฝังตัวและเจริญตัวอ่อน  การดูแลเรื่องอาหารยังแนะนำอาหารสูตรเดิม ปริมาณเท่าเดิม เนื่องจากปรับสูตรอาหารและเพิ่มปริมาณอาหารตั้งแต่ระยะแรกอาจทำให้แม่สัตว์อ้วน โดยภาวะอ้วนจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการคลอดยาก

ระยะสอง (3-6 สัปดาห์) ระยะนี้อาจจะเริ่มเห็นมีการเปลี่ยนแปลงสรีระของสัตว์ตามที่ได้เกริ่นไปข้างต้น  บางตัวพบการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้

ระยะสาม (6-9 สัปดาห์)  เริ่มปรับอาหารสูตรแม่ตั้งท้องหรือแม่ให้นมลูก เพื่อเพิ่มปริมาณโปรตีนในสูตรอาหาร อาจปรับมื้ออาหารให้ถี่ขึ้นและเพิ่มประมาณอาหาร เนื่องจากมดลูกที่ขยายใหญ่จะกดพื้นที่ของกระเพราะอาหารทำให้แม่กินได้ครั้งละน้อย  แต่การเจริญของลูกในระยะท้ายนี้จะพัฒนาได้เร็ว แม่จึงต้องการสารอาหารที่มากขึ้น  ก่อนการคลอด 1-2 สัปดาห์ควรจัดเตรียมพื้นที่ที่เงียบ สงบ ให้แม่สัตว์ อาจแบ่งโซน กรง กล่อง ตามความเหมาะสมของขนาดสัตว์ พื้นที่ที่เลี้ยงและนิสัยสัตว์  อาการแม่สัตว์ใกล้คลอดอาจแตกต่างในแต่ละตัวสัตว์  ส่วนมากจะพบว่าเริ่มมีน้ำนมไหล มีเมือกใสไหลออกทางอวัยวะเพศ (ไม่พบในแมว) เบื่ออาหาร เก็บตัวหรือเข้าโซนที่จัดเตรียมคลอด ขุดคุ้ย หากสามารถวัดอุณหภูมิทางทวารของแม่สัตว์ได้จะพบว่าอุณหภูมิร่างกายจะต่ำกว่า 99 องศาฟาเรนไฮท์ก่อนการคลอด 24 ชั่วโมง

ระหว่างการตั้งท้อง

  • สัตว์สามารถออกกำลังกายเบาๆ เคลื่อนไหวได้
  • การอาบน้ำทำความสะอาดอาจพิจารณาตามสัตว์แต่ละตัว เช่น ถ้าแม่สัตว์สุขภาพแข็งแรง ไม่มีไข้ จำเป็นต้องทำความสะอาด หลังอาบน้ำควรเช็ดหรือเป่าให้แห้ง  แต่หากไม่ได้สกปรกมากแนะนำเลี่ยงเป็นการเช็ดตัวแทน
  • การให้แคลเซียมอาจไม่จำเป็นต่อแม่สัตว์ที่ได้รับอาหารคุณภาพดี เช่น อาหารสูตรแม่ตั้งท้องหรือให้นมลูก เนื่องจากอาหารที่ดีจะมีการปรับสมดุลสารอาหารต่างๆ ไว้ดีแล้ว  การเสริมเพิ่มเติมอาจมีผลต่อสมดุล โดยเฉพาะการเสริมแคลเซียมให้แม่สัตว์ที่ไม่มีปัญหาการขาดแคลเซียม จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสภาวะแคลเซียมต่ำในกระแสเลือดหรือไข้น้ำนมในช่วงการเลี้ยงลูกได้  เนื่องจากแคลเซียมที่เสริมเข้าไปจะถูกดูดซึมผ่านผนังสำไล้เล็กและเพิ่มระดับแคลเซียมในเลือด  ระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนทำงานปรับภาวะแคลเซียมสูงในกระแสเลือด  โดยการลดการดูดซึมแคลเซี่ยมจากลำไส้เล็กและเตรียมจะเก็บแคลเซียมในกระแสเลือดเข้าสะสมในกระดูก ด้วยกลไกธรรมชาติของร่างกายในการปรับสมดุลดังกล่าวการเสริมแคลเซี่ยมที่มากเกินไปหรือเสริมในขณะที่แม่สัตว์ไม่ได้ขาดแคลเซียมจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้สมดุลเสียและเกิดภาวะแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำ ส่วนวิตามินบำรุงเลือดอาจมีการเสริมตามคำแนะนำและพิจารณาของสัตวแพทย์
  • เรื่องของผลิตภัณฑ์ควบคุมปรสิตภายนอกต่างๆ ปัจจุบันมียาที่สามารถใช้ในสัตว์ที่ตั้งท้องและให้นมลูกได้  ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมหรือปรึกษาสัตว์แพทย์ก่อนการใช้ยา

 

การเตรียมการคลอด

การเตรียมการคลอดมีหลายแบบ ขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่ การดูแลและความเข้าใจเจ้าของ, สัตว์มีภาวะคลอดยากหรือไม่ ในบางสายพันธุ์ เช่น พันธ์เล็ก หน้าสั้น สัตว์ปัญหาช่องเชิงกราน สัตว์ที่มีลูกตัวเดียว หรือสัตว์ที่เคยมีประสบการณ์คลอดยากมากก่อน ควรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์

ขอบคุณภาพจาก http://www.fox13news.com

1.การคลอดธรรมชาติ เป็นการสังเกตอาการและพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด และปล่อยให้สัตว์คลอดตามธรรมชาติ โดยมีเจ้าของคอยช่วย อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดตัวลูก กรรไกรหรือมีดสะอาดสำหรับตัดสายสะดือ (แต่แม่บางตัวจะกัดสายสะดือลูกเอง) ไหมหรือด้ายสะอาดเพื่อมัดสายสะดือ ควรผูกห่างจากผนังหน้าท้องออกมา 0.5 เซนติเมตร เบตาดีนสำหรับแต้มปลายสายสะดือที่ตัดออก ไฟกกอาจใช้โคมไฟที่ใช้อ่านหนังสือหลอดไฟกำลัง 60-100 วัตต์วางห่างจากสัตว์ 30 เซนติเมตร (ไม่ควรใช้ไฟ LED เพราะไม่ให้ความร้อน) ที่ดูดเสมหะ (ไซริงค์บอล) สำหรับดูดน้ำมูกช่องจมูกและปากแนะนำให้ฝึกใช้ก่อนการใช้จริง

ระยะที่มีการเบ่งคลอดถุงลูก แม่สัตว์ส่วนมากจะกัดถุงน้ำคร่ำและรีบเลียกัดสายสะดือลูกออกเอง  แต่ถ้าแม่ไม่ค่อยช่วยลูก ส่วนนี้เจ้าของสามารถช่วยดึงถุงลูก ฉีกถุงน้ำคร่ำ ตัดสายสะดือ และการเช็ดตัว  การเช็ดตัวนอกจากทำให้ขนแห้งแล้วยังช่วยกระตุ้นการหายใจของลูกด้วย  อาจใช้ไซริงค์บอลช่วยดูดน้ำมูกจากช่องจมูกและช่องปาก   แม่สัตว์จะมีระยะพักในการเบ่งลูกแต่ละตัว แต่หากสภาพแม่ดูอ่อนแรงมาก หอบมากหรือระยะพักการเบ่งลูกนานเกิน 60 นาที ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจพิจารณาว่ามีปัญหาระหว่างการคลอดหรือไม่

กรณีที่เจ้าของไม่สามารถดูแลสัตว์ในระยะใกล้คลอดได้ นิสัยสัตว์ที่ไม่ดุร้าย การฝากคลอดที่สถานพยาบาลสัตว์ที่มีบริการก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยจะมีสัตวแพทย์คอยประเมินการคลอดโดยธรรมชาติหรือจำเป็นต้องช่วยคลอดโดยการผ่าตัด

2.การผ่าตัดช่วยคลอด แบ่งเป็นการผ่าตัดกรณีวางแผนกำหนดผ่า (Planned cesarean section/ Elective cesarean section) และการผ่าตัดแบบฉุกเฉิน (Emergency cesarean section)

การกำหนดเพื่อผ่าคลอด นิยมในสุนัขบางสายพันธุ์ และมีการจัดการที่ดี ทราบวันตกไข่ อาจจะใช้การประเมินกำหนดวันผ่าคลอด (ได้เช่นเดียวกับในคน) แต่หากเป็นการกำหนดจากวันผสมไม่ทราบวันตกไข่อาจจะต้องพิจารณาและต้องปรึกษาสัตวแพทย์ที่ชำนาญการต่อไป เนื่องจากระยะตั้งท้องในสัตว์สั้นหากเป็นการกำหนดผ่าคลอดที่คาดเคลื่อนก่อนหลายวันมีผลต่อการพัฒนาที่ยังไม่สมบูรณ์ของลูกสัตว์

การผ่าคลอดฉุกเฉิน ใช้ในภาวะที่สุนัขไม่สามารถคลอดลูกตามธรรมชาติและไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาในการช่วยคลอด

จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาประมาณ 2 เดือนสำหรับสัตว์ตั้งท้อง  มีเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เจ้าของต้องคอยดูแล  หวังว่าข้อมูลคำแนะนำเหล่านี้น่าจะช่วยเติมเต็มให้เจ้าของที่จะรับมือกับการดูแลสัตว์ช่วงตั้งท้องนะคะ

 

บทความโดย

สพ.ญ. ชื่นสุมน  ลิ้มมานนท์ (อว.สพ. เวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์)

Chunsumon Limmanont, DVM, MS, DTBT

ศูนย์เวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์ โรงพบาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

Theriogenology Center, Kasetsart University Veterinary Teaching Hospital


 

โรคความดันสูง (Systemic hypertension) ในสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด

เสียงหัวใจ หน้าต่างแห่งสุขภาพของสัตว์เลี้ยง