การสื่อสารระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง เมื่อต้องฝึกหรือทำโทษ

ตามธรรมชาติแล้ว สัตว์แต่ละสปีชีส์ต่างมีวิธีในการสื่อสารกันภายในพวกเดียวกัน สุนัขก็มีวิธีสื่อสารกันเอง แมวก็มีอีกวิธีในการสื่อสารของเค้าเอง ด้วยท่าทาง การขยับ การแสดงสีหน้า การส่งเสียง การสร้างและการรับกลิ่น หรือ แม้แต่การสัมผัสซึ่งกันและกัน

สุนัขอยู่ด้วยกันกับมนุษย์มาเป็นเวลานานเกือบ 4 หมื่นปี สุนัขจึงนับมนุษย์เป็นเสมือนสมาชิกในสังคมเค้า เค้าเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับมนุษย์ เค้าจะคอยสังเกตการณ์กระทำของมนุษย์เพื่อจะเรียนรู้ว่า เวลามนุษย์แสดงพฤติกรรมเช่นนี้หมายถึงอะไร เห็นได้ว่าไม่ใช่เพียงแค่พวกเราที่พยายามอ่านภาษากายของสุนัขเท่านั้น สุนัขเองก็พยายามที่จะเรียนรู้ภาษามนุษย์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามว่ากันว่า มนุษย์เป็นสปีชีส์ที่ใช้ “การมอง”เป็นหลัก ภาษาที่เราสื่อสารกันก็มีพื้นฐานมาจากสิ่งที่เรามองเห็น สำหรับสุนัขนั้นโลกของเค้าคือ “การดมกลิ่นและฟังเสียง” การสื่อสาร ที่ใช้กลิ่นและเสียงระหว่างสุนัขจึงใช้ไม่ได้กับมนุษย์นั่นเอง

สุนัขเป็นสัตว์ที่ปรับตัวได้ดีเยี่ยม เค้าสามารถที่จะเรียนรู้ท่าทางและคำพูดของเจ้าของ เจ้าของที่ดีก็ต้องพยายามที่จะเรียนรู้จากท่าทางภาษากายของสุนัขด้วยเช่นกัน การที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขในบ้านเดียวกัน เราย่อมต้องการให้สัตว์เลี้ยงของเรา ไม่ทำอะไรให้เป็นปัญหา เช่น บางบ้านอาจพบปัญหาน้องหมาที่ชอบแทะรองเท้า ไม่เว้นแม้กระทั่งรองเท้าคู่โปรดที่เราอุตส่าห์วางซ่อนไว้บนสุด บางบ้านพบปัญหาของการขับถ่ายตามพื้นบ้านทำให้เลอะเทอะ บางบ้านมีปัญหาเวลาเล่นกันแล้วน้องหมาทำให้เราเจ็บตัวจนสุดท้ายเลิกเล่นกันไปเลยก็มี ปัญหาเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เราต้องสื่อสารให้เค้ารู้ว่าเค้าไม่ควรทำหรือควรทำอะไรในบ้านบ้าง แล้วการสอนหรือการทำโทษควรทำหรือไม่ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าทำโทษแล้วเค้าเข้าใจ วิธีการทำโทษหรือสั่งสอนที่ถูกต้องนั้นทำอย่างไร

 

วิธีการสอนที่ดีที่สุดในปัจจุบันได้แก่ การฝึก (training)

การสื่อสาร
ขอบคุณภาพจาก https://www.pet365.co.uk

นั่นคือการสอนสิ่งที่สุนัขควรทำ ให้รู้ว่าทำแบบนี้ดีแล้วจะได้รางวัลหรือคำชม ส่วนการทำโทษ การทำให้เค้าเจ็บตัวหรือตกใจนั้น นอกจากจะไม่ใช่การฝึกให้เค้าทำถูกแล้ว อาจจะยิ่งทำให้เค้าสับสนเกิดความเครียด และ ยังก่อให้เกิดปัญหาระหว่างน้องหมากับเจ้าของได้อีกด้วย สุนัขเป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้เร็วมาก มีหลักการง่ายๆเพียงแค่เรา ปฏิบัติให้เค้ารู้ว่า เมื่อทำสิ่งนี้จะได้รับสิ่งใดตามมา และ จะได้รับสิ่งนั้นอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น เมื่อเรากลับมาถึงบ้าน แล้วเค้าแสดงการต้อนรับอย่างถูกต้อง ไม่กระโดดเข้าหาแรงๆ หรือ ตะกุยจนขาเราเป็นแผล เค้าจะได้รับการเอาใจใส่ ได้รับคำชมและรางวัล แต่ตรงกันข้ามเมื่อเค้าแสดงการต้อนรับแบบรุนแรง เราจะหันหลังกลับและเมินเค้าทันที เค้าจะไม่ได้รับทุกความสนใจ อย่าแม้แต่จะเรียกชื่อแม้จะเป็นน้ำเสียงที่แสดงความโมโห ไม่อุ้ม ไม่จับ และอดทุกรางวัล สิ่งสำคัญคือต้องสม่ำเสมอในการปฏิบัติด้วย

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่เข้ามาในสังคมมนุษย์เมื่อไม่กี่พันปีมานี้เอง จึงมีความแตกต่างจากสุนัขตรงที่แมวยังมีความเป็นตัวของตัวเอง ความพยามปรับตัวเข้ากับมนุษย์จึงน้อยกว่าในสุนัข ฉะนั้นการสื่อสารของแมวที่มนุษย์อย่างเราๆจำเป็นต้องเรียนรู้คือ การสื่อสารที่กำลังบอกว่าเค้ากำลังกลัวหรือกำลังโกรธ เมื่อเค้าแสดงใบหน้าหรือท่าทางที่บอกว่ากำลังกลัวอยู่นะ อย่าพยายามที่จะเข้าหาเค้าแม้ว่าจะเข้าหาอย่างเป็นมิตรก็ตาม เพราะอารมณ์ของเค้าขณะนั้นจะอยู่นอกเหนือจากการรับรู้ใดๆ อาจจะข่วนหรือกัดเราแรงๆ ได้โดยไม่รู้ตัว

 

การทำโทษ (punishment)

การสื่อสาร
ขอบคุณภาพจาก https://www.afectoanimal.com

จุดประสงค์เพื่อลดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี ตามหลักการการทำโทษที่ถูกต้องคือการทำเสียงดัง เช่นส่งเสียงว่า “หยุด” หรือ “ไม่” เป็นการทำเพื่อหยุดพฤติกรรมอย่างฉับพลันเท่านั้น แต่ต้องระวังว่าต้องไม่ฟังดูรุนแรงจนสัตว์เกิดความกลัว หรือความเครียด ซึ่งถ้าเราทำแล้วเค้าแสดงอาการหวาดกลัวขึ้นมา อาจจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาได้ และแน่นอนว่าหลังจากเค้าหยุดพฤติกรรมนั้นชั่วคราวแล้ว เราก็ต้องฝึกเค้าให้รู้ว่ากระทำอะไรถึงจะถูกต้องและได้รางวัล ส่วนการลงมือทำร้ายให้เจ็บปวดหรือการใช้อวัยวะของเราในการทำโทษ เช่นการตีด้วยมือ การเตะด้วยเท้า อาจส่งผลให้เค้าเกิดความหวาดระแวงต่อมือของเราได้ ต่อไปเวลาใช้มือลูบหรือจับ ก็จะไม่ทำให้เค้าสนิทใจอีกต่อไป

ลองคิดดูดีๆ ว่าเราเป็นคนซื้อเค้ามาเลี้ยง เพื่อความพึงพอใจของเราเอง ถ้าเรารักเค้า ก็ควรให้เวลากับเค้าในการเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้อง และเราก็ต้องค่อยๆเรียนรู้วิธีที่จะทำให้เค้าอยู่กับเราอย่างมีความสุขด้วยเช่นกัน การทำโทษหรือความรุนแรงไม่ได้ช่วยให้เค้าทำในสิ่งที่ถูกต้องได้แล้ว แม้ว่าบางรายอาจจะมีพฤติกรรมที่เราต้องการมากขึ้น แต่จริงแล้วเราได้ทำลายความเชื่อใจ ทำลายความสัมพันธ์ที่ดี และยังอาจทำให้เค้าเกิดโรคเครียด วิตกกังวล หวาดระแวง เป็นน้องหมาน้องแมวที่ไม่มีความสุขในชีวิตอีกเลยก็ได้

 

บทความโดย

สพ.ญ.แทนหทัย กระจ่างแจ้ง

Tanhatai Krajarngjang, DVM)

คลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

Neurology Clinic, Thonglor International Pet Hospital


 

น้องหมา น้องแมว เป็นโรคเครียดได้ด้วยหรือ? เค้าเครียดเรื่องอะไรกันนะ?

เข้าใจภาษากายด้วยท่าทางและหางสุนัขบอกอารมณ์

สุนัข กับ การฝึกเพื่อปรับพฤติกรรม by jojo dog master