“โรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง” อีกหนึ่งภัยเงียบของน้องหมาน้องแมว

ทุกวันนี้ หากเอ่ยถึงชื่อ “โรคเบาหวาน” หรือ Diabetes mellitus ขึ้นมาเมื่อไร ก็คงแทบจะไม่มีใครไม่รู้จัก แถมบางท่านอาจจะตอบมาว่ารู้จักดี เพราะมีคนรู้จักหรือคนใกล้ตัวที่กำลังเป็นโรคนี้อยู่ด้วย ซึ่งจากข้อมูลสถิติทางการแพทย์ในปัจจุบัน ถือว่าโรคเบาหวานเป็นหนึ่งในปัญหาทางสาธารณสุขที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลมีที่น้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน

แต่เมื่อเอ่ยถึง “โรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง” ขึ้นมาบ้าง หลายท่านอาจจะแปลกใจ และถามกลับมาด้วยความสงสัยว่า อ้าว …. สัตว์เลี้ยงก็เป็นเบาหวานได้เหมือนกันหรือ ? คำตอบก็คือ ใช่ครับ สัตว์เลี้ยงก็เป็นเบาหวานได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในสุนัขและแมว ซึ่งมีรายงานการพบโรคนี้เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันเช่นเดียวกัน

 

โรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง

เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ได้อย่างเพียงพอ หรือ เกิดจากการที่ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่อฤทธิ์ของอินซูลิน (ภาวะ insulin resistance หรือ พูดง่าย ๆ ก็คือ อินซูลินไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างที่ควรจะเป็น) ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินนี้ เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดให้ปกติ ดังนั้น เมื่อมีการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือเกิดเหตุการณ์ที่ฮอร์โมนอินซูลินออกฤทธิ์ไม่ได้ ก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำส่งน้ำตาลกลูโคสจากในกระแสเลือด เข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายที่ต้องอาศัยอินซูลินในการนำน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นแหล่งพลังงานได้ ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าที่ควร (hyperglycemia) อยู่เป็นเวลานาน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายตามมา

สิ่งแรกๆ ที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อน้ำตาลในกระแสเลือดสูงอยู่เป็นเวลานาน ก็คือ เจ้าน้ำตาลเหล่านี้ จะเล็ดลอดออกมาสู่ปัสสาวะ (ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า “เบาหวาน” นั่นเอง) ส่งผลให้สุนัขหรือแมวที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน มีอาการปัสสาวะมากและบ่อยกว่าที่ควรจะเป็น (เนื่องจากน้ำตาลในปัสสาวะจะดึงน้ำในร่างกายให้ออกมาทางปัสสาวะมากขึ้นด้วย) แล้วตามมาด้วยอาการกระหายน้ำบ่อยขึ้น เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำออกทางปัสสาวะเป็นปริมาณมากจนทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและภาวะเลือดข้นหนืด

นอกจากนี้แล้ว ในสถานการณ์ที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลจากในกระแสเลือดไปใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับร่างกายได้ ก็จะทำให้สุนัขและแมวที่เป็นเบาหวาน มีอาการหิวบ่อยมากขึ้นผิดหูผิดตา แต่กลับมีน้ำหนักตัวลดลงและผ่ายผอมลงเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการเสียสมดุลของพลังงานในร่างกาย โดยในบางรายกว่าจะได้รับการวินิจฉัยหรือเริ่มต้นการรักษาก็เกิดปัญหาน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับการเสียสมดุลของพลังงานในร่างกายอยู่เป็นเวลานาน จนทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน ซึ่งก็อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติแบบรุนแรงจนกระทั่งเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ และ ความผิดปกติเหล่านี้ ก็จะเกิดกับคนที่เป็นเบาหวานได้เช่นเดียวกันครับ

 

โรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง
ขอบคุณภาพจาก https://i.pinimg.com

โรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง มีสาเหตุเหมือนกันกับคนหรือไม่ ?

คำตอบก็คือ คล้ายกันครับ

โดยโรคเบาหวานในสุนัขมักมีกลไกการเกิดโรคที่คล้ายกับการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในคน (type 1 diabetes) คือเกิดจากเซลล์สร้างอินซูลินในตับอ่อนถูกทำลายโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดการขาดอินซูลินอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่โรคเบาหวานในแมวนั้น มักมีกลไกการเกิดโรคที่คล้ายกับการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes)ในคน คือตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายทำให้เกิดการขาดอินซูลินเพียงบางส่วน หรือ เกิดจากมีภาวะดื้อต่อฤทธิ์ของอินซูลิน (insulin resistance) โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานในสุนัขและแมว ก็เกี่ยวข้องกับความอ้วน อาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ (เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ โรคจากความผิดปกติของระบบฮอร์โมนบางชนิด ฯลฯ) การได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน (เช่น ยาสเตียรอยด์ และยาที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สุนัขและแมวบางสายพันธุ์มีความเสี่ยงในการพบว่า เป็นโรคเบาหวานมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น สุนัขพันธุ์ Australian Terriers, Beagles, Samoyeds และ Keeshonden และแมวพันธุ์ Burmese เป็นต้น

 

ลักษณะอาการเด่น ๆ ของสุนัขและแมวที่เป็นเบาหวาน

ประกอบด้วยกลุ่มอาการคลาสสิก 4 อย่าง ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ทานเก่ง แต่น้ำหนักลด ซึ่งหากเมื่อไรพบว่าสุนัขและแมวที่เลี้ยงไว้มีอาการน่าสงสัยเหล่านี้ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบพาไปพบคุณหมอสัตวแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพราะหากพบว่าเป็นภาวะเบาหวานก็จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการรักษาหลัก ๆ ของคุณหมอ ก็จะประกอบด้วยการปรับสมดุลของร่างกาย (เช่น แก้ไขภาวะขาดน้ำ แก้ไขปัญหาเกลือแร่เสียสมดุล ฯลฯ) การฉีดฮอร์โมนอินซูลินชดเชย รวมทั้งมีการควบคุมอาหารและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับภาวะโรค

นอกจากนี้ หากคุณหมอตรวจพบว่ามีโรคอื่นที่อาจส่งผลให้ภาวะเบาหวานดูแลยากขึ้นแอบซ่อนอยู่ด้วย คุณหมอก็จะวางแผนการดูแลรักษาโรคนั้น ๆ ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้สามารถควบคุมภาวะเบาหวานได้ดีขึ้น ซึ่งหากคุณหมอแนะนำแผนการรักษาอย่างไร ก็ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเองครับ

 

โรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง
ขอบคุณภาพจาก https://time.com

สำหรับใครที่เลี้ยงสุนัขและแมวไว้ และมีความสงสัยกังวลในใจว่า สุนัขและแมวของเรามีภาวะเบาหวานแอบซ่อนอยู่หรือไม่ ก็สามารถพาสุนัขและแมวไปพบกับคุณหมอ เพื่อตรวจคัดกรองภาวะเบาหวาน ด้วยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดว่าสูงผิดปกติหรือไม่ โดยแนะนำว่าควรเป็นการตรวจในขณะที่มีการงดอาหารสุนัขและแมวมาแล้วอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง (ส่วนคนพาไป บ้านและสวน Pets แนะนำว่าไม่ต้องอดอาหารไปนะครับ เดี๋ยวจะไม่มีแรงหิ้วกรง) ซึ่งหากคุณหมอตรวจแล้วพบว่า มีความเสี่ยงหรือมีความสงสัยอันใด ก็อาจจะมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมให้ตามที่เห็นสมควรต่อไปครับ
และอย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่า “ความอ้วน” เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานในสุนัขและแมวได้ ดังนั้น การจัดการด้านโภชนาการโดยการเลือกให้อาหารที่มีองค์ประกอบและปริมาณที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ ช่วงอายุ และ กิจกรรมในแต่ละวันของสุนัขและแมวของเรา ก็จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยควบคุมไม่ให้สุนัขและแมวของเรามีภาวะอ้วนเกินไปจนกระทั่งเกิดความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานได้ หากมีข้อสงสัย ลองหาโอกาสปรึกษากับคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำเรื่องการจัดการอาหารที่เหมาะสมกับสุนัขและแมวของเรา ซึ่งนอกจากการจัดการด้านโภชนาการจะมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของภาวะอ้วนและเบาหวานแล้ว ยังมีผลดีอย่างยั่งยืนต่อสุขภาพในระยะยาวของสัตว์เลี้ยงที่เรารักอีกด้วยครับ

 

บทความโดย

อ.น.สพ. เสลภูมิ ไพเราะ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)
Selapoom Pairor DVM, MS, DTBVIM
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Department of Companion Animal Clinical Science, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University


 

เสียงหัวใจ หน้าต่างแห่งสุขภาพของสัตว์เลี้ยง

น้องหมา น้องแมว เป็นโรคเครียดได้ด้วยหรือ? เค้าเครียดเรื่องอะไรกันนะ?