น้องหมา น้องแมว เป็นโรคเครียดได้ด้วยหรือ? เค้าเครียดเรื่องอะไรกันนะ?

เราต่างรู้ว่าความเครียด หรือ โรคเครียด (stress) นั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เครียดแต่พอดีก็ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นความเครียดแบบเรื้อรัง หรือ เครียดสะสมแล้วนั้นจะส่งผลเสียต่อทั้งสภาพจิตใจและทำให้ร่างกายอ่อนแอด้วย

วิธีการลดความเครียดในคนคือการฝึกวิธีคิดใหม่ เปลี่ยนทัศนคติ การปล่อยวาง หรือ แม้แต่การทำสมาธิ เดี๋ยวนะ… แล้วน้องหมาน้องแมวทำยังไงล่ะ เราไปเปลี่ยนทัศนคติเค้าได้หรอ และเดี๋ยวนะ.. (อีกครั้ง) แล้วน้องหมาน้องแมวเค้าเป็น โรคเครียด ได้ด้วยหรอ แล้วเค้าเครียดเรื่องอะไรกัน งานก็ไม่ต้องทำ ไม่มีเรื่องอะไรให้รับผิดชอบ ไม่ต้องคอยติดตามข่าวเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ให้ต้องปวดหัวนะ

 

สาเหตุของความเครียดในน้องหมาน้องแมวมาจาก

“ร่างกาย” เช่น อาการป่วยต่างๆ อาการเจ็บปวด การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศไม่ดี หนาวเกินไป ร้อนเกินไป มีสิ่งรบกวนทำให้อดนอน  หิวน้ำ หิวอาหาร

“จิตใจ” เช่น การที่ต้องปะทะกับเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัว ความสับสน สิ่งรบกวนการกิน การนอน ความผิดหวัง พบเจอกับสิ่งที่ผิดกับที่คาดไว้ เช่น การถูกดุหรือทำโทษ ตารางเวลาหรือกิจวัตรที่เคยเจอเป็นประจำนั้นเปลี่ยนไป

และสัตว์ก็เช่นเดียวกับคน คือแต่ละตัวมีความสามารถในการรับมือกับความเครียดได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ สายพันธุ์ ประสบการณ์ชีวิต เพศ วัย และ สุขภาพ การที่ได้เคยพบปะกับความเครียดเบาๆ ตั้งแต่วัยแบเบาะ ส่งผลให้ฮอร์โมน ต่อมหมวกไต และ ต่อมใต้สมองได้เตรียมความพร้อม เมื่อสัตว์เหล่านั้นโตขึ้นจะสามารถแก้ไขปัญหา ทนต่อความเครียดได้ดีกว่า

 

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าเค้ากำลังเครียดอยู่

จริงๆ แล้วความเครียดเล็กน้อยๆ อาจจะสังเกตจากสีหน้าและท่าทางได้ ลองดูภาพตัวอย่างของน้องหมาที่บ่งบอกว่าเค้าเครียด ใบหูที่ตก ทำตัวย่อต่ำ หาวบ่อยๆ เลียปากบ่อย หายใจเร็วๆ หอบลิ้นยาว หรือ บางตัวกระสับกระส่ายเดินไปๆ มาๆ เป็นต้น

โรคเครียด
ขอบคุณภาพจาก www.doggiedrawing.net

ส่วนภาพด้านล่างนี้แสดงให้เห็นใบหน้าและท่าทางของน้องแมวที่ไม่ได้แฮปปี้กับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เวลาที่บังเอิญผ่านไปพบน้องแมวนอนอยู่ พอเราเดินเข้าไปแล้วเค้าทำท่าทางประมาณนี้ก็จงระวังไว้บ้าง น้องเค้าสื่อสารมาแล้วนะ “อย่าเข้ามานะมนุษย์” “ถือดียังไงมารบกวนการนอนของชั้น” ถ้าเค้าสื่อสารมาแล้วแต่เราไม่สนใจ ยังคงแสดงความเอ็นดูเข้าไปลูบหัวลูบหางน้องละก็ อาจจะได้รับของฝากเป็นรอยข่วนเลือดซิบกลับบ้านก็ได้

โรคเครียด
ขอบคุณภาพจาก www.cahillanimalhospital.co.nz

 

ปัญหาที่สามารถพบได้หลังการเกิดความเครียดสะสม

1.กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแมว บางตัวเราพบว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน (ซึ่งน้องแมวไม่ชอบเลย) การย้ายบ้าน เปลี่ยนเจ้าของ มีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้ามาใน safe zone ของเค้า หรือ ต้องอยู่อาศัยร่วมกับแมวอีกตัวที่ไม่ชอบหน้ากัน นอกจากคุณเจ้าของจะพบกับร่องรอยการสเปรย์ฉี่ตามเฟอร์นิเจอร์ ขับถ่ายนอกกระบะทราย ข่วนโซฟาสุดโปรด เจ้าเหมียวอาจจะยังเกิดปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบที่พาไปหาหมอตรวจหาเชื้อในกระเพาะปัสสาวะก็ไม่เจอ ขณะที่บางตัวเกิดการอุดตันของท่อปัสสาวะ จนทำให้เกิดไตวายไปเลยก็มี

2.เกิดปัญหาเกี่ยวกับการกินและการขับถ่าย ได้แก่ เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาเจียน รับประทานสิ่งแปลกปลอม โดยอาจพบบ่อยๆ ว่าสัตว์ป่วยที่เข้ามารักษา ผ่าตัดสิ่งแปลกปลอมในลำไส้ เช่น หิน กรวด ทราย เครื่องประดับโลหะ เหรียญ หรือแม้แต่อุจจาระของตัวเอง มักมีพื้นฐานมาจากปัญหาความเครียดในสิ่งแวดล้อมที่เค้าอยู่ ซึ่งถ้าจัดการไม่ได้ เค้าก็จะกินแล้วกินอีก ผ่าตัดแล้วผ่าตัดอีก จนกว่าจะได้รับการแก้ไขต้นเหตุได้ (ในที่นี้การกินอุจจาระของตัวเองหรือของเพื่อน ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขก็จริง แต่มันก็ส่งผลต่อสุขภาพ)

3.ปัญหาของผิวหนัง หากคุณเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Freelance ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ พระเอกเป็นโรคผิวหนังไปพบกับนางเอกที่เป็นคุณหมอนั่นไง ในสัตว์เลี้ยงก็เกิดปัญหาผิวหนังได้เช่นกัน อาจจะเป็นในลักษณะ ผื่นแดง คัน เกิดภูมิแพ้ หรือในบางตัวไม่ได้คันแต่กลับมีอาการ แทะ เกา เลีย ตามบริเวณใดๆของร่างกายบ่อยๆ ลองหันไปดูน้องหมาที่กำลังนอนเลียแขนตัวเอง หรือเลียฝ่าเท้าจนขนเปลี่ยนสี หรืออาจจะเคยพบน้องแมวที่มีอาการคันหรือแทะขาตัวเอง ดึงขนจนหลุดเป็นหย่อมๆ นั่นคือเค้ากำลังแสดงออกเพื่อบรรเทาความเครียดวิธีหนึ่ง ทีนี้ถ้าเจ้าของไปขัดขวางเค้า ทำโทษ หรือดุเค้าเมื่อพบว่าเค้าแทะขาตัวเองอย่างเมามัน บางคนต้องใส่คอลล่ากันเลียให้เค้า นั่นคือการแก้ไขที่ไม่ถูกจุด เค้าจะระบายความเครียดสะสมทางไหนต่อไป ในเมื่อทางเดิมมันไม่ได้ผลแล้ว แน่นอนต้องมีสักทาง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นก้าวร้าวขึ้น กินสิ่งแปลกปลอม หรืออาจทำสิ่งอื่นที่อันตรายกว่าเดิมทดแทน ฉะนั้นต้องแก้ที่ต้นเหตุความเครียดของเค้าด้วยเสมอ

นอกจากนี้ สัตว์ที่ชราแล้วมักจะมีความสามารถในการรับมือกับความเครียดได้น้อยลง ในโรงพยาบาลสัตว์จึงมักพบปัญหาพฤติกรรมที่มาจากสัตว์เลี้ยงสูงวัยมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ จึงเป็นอีกกลุ่มที่ต้องระมัดระวังการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม อาหาร ตารางเวลา หรือการดูแลให้เค้าประสบกับความเครียดน้อยที่สุด เนื่องจากการแก้ไขปัญหานั้นยากกว่าการป้องกันเสมอ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงต้องเสียสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าในการต้องพาเค้าไปรักษาโรคที่เกิดจากเราเป็นคนทำได้อีกด้วย เหนือสิ่งอื่นใดถ้าเราจัดการได้ดีสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราก็จะมีแต่ความสุขมากขึ้นๆ

 

บทความโดย

สพ.ญ.แทนหทัย กระจ่างแจ้ง
Tanhatai Krajarngjang, DVM)
คลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
Neurology Clinic, Thonglor International Pet Hospital


 

รู้ไหมว่า? น้องหมาน้องแมวก็มีสัตวแพทย์เฉพาะทาง

10 สัญญาณ “โรคเหงา” หรือ “โรคซึมเศร้าในสุนัข” ที่คนเลี้ยงสุนัขต้องระวัง!