ในปัจจุบันการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกเริ่มเป็นที่นิยมและมีความต้องการมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการรักษาอาการป่วยต่างๆ ในคน ไม่ว่าจะเป็น การใช้สมุนไพร การฝังเข็ม ครอบแก้ว หรือ แม้แต่การนวดกดจุด เพื่อบำบัดอาการต่างๆ จนเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
ซึ่งวิธีการรักษาทางเลือกนี้ ก็สามารถใช้ในสัตว์เลี้ยงได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ยังคงจำกัดในวงแคบๆ อยู่ วันนี้หมอจึงจะมาเล่าถึงการรักษาที่ตัวหมอใช้อยู่เป็นประจำและการรักษาลักษณะนี้ก็เป็นหนึ่งในศาสตร์การรักษาแบบทางเลือกที่หมอใช้บ่อยที่สุด นั่นก็คือ “การฝังเข็มสัตว์เลี้ยง”
ที่มาของการฝังเข็มในสัตว์เลี้ยง
ประเทศจีนเป็นต้นกำเนิดของการฝังเข็ม โดยมีการขุดพบหลักฐานช่วงยุคหินใหม่ อายุไม่ต่ำกว่าสี่พันปีซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุด ทำมาจากหินที่ถูกปรับแต่งให้บางและเล็กลง เพื่อนำมาใช้รักษาโรค เราเรียกเครื่องมือชนิดนี้ว่า “เปี่ยนสือ” ต่อมาก็มีพัฒนาการทำเข็ม มาจากวัสดุพวก กระดูก ไม้ไผ่ ทองแดง เหล็ก ทองคำ และ เงิน นอกจากนี้ ยังมีตำราการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดและตกทอดมาในยุคปัจจุบัน คือ ตำราหวงตีเน่ยจิง ซึ่งเป็นการรวบรวมทฎษฎีทางการแพทย์และการรักษาโรคต่างๆ เอาไว้อย่างครบครัน รวมถึงศาสตร์ของการฝังเข็ม
อีกทั้งหมอยังมีตำนานบทหนึ่งเกี่ยวกับหมอฝังเข็มที่เล่าต่อกันมา นามว่า “มาซือหวง” มาเล่าให้ฟัง โดยมาซือหวงหรือหมอฝังเข็มท่านนี้เป็นหมอที่มีความสามารถเก่งกาจในการรักษาม้าด้วยสมุนไพรจนชื่อเสียงระบือไปไกล ไปถึงหูของเทพพระเจ้ามังกร ซึ่งประจวบเหมาะพอดีที่ตอนนั้นเทพพระเจ้ามังกรกำลังป่วย ท่านจึงได้บินลงมาหามาซือหวง เพื่อทำการรักษา จากนั้นเมื่อมาซือหวงได้มอบสมุนไพร่ให้แก่เทพมังกรและรักษาอาการจนหายเป็นปกติแล้ว จึงกลับมารับหมอมาซือหวงไปอยู่ด้วย จากนั้นท่านหมอก็หายไปจากโลกมนุษย์ อืมมมม..ม สงสัยออกนอกเรื่องไปไกลเลยกลับเข้าเรื่องต่อครับ..555.
บิดาในการฝังเข็มสัตว์ ท่านหมอท่านนี้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ครับ ท่านมีนามว่า ท่านหมอ “โปเล” หรือชื่อในวงการ จะมีนามว่า “ซุนหยาง” ซึ่งมีความรู้ความสามารถในเรื่องของม้ามาก และได้เขียนตำราไว้ 3 เล่ม คือ ตำราบุคลิกของม้า, ตำราการรักษาโรคในม้า และ การฝังเข็มในม้า ซึงถือได้ว่าเป็นบิดาในการฝังเข็มในสัตว์เลยครับ

ที่มาของการฝังเข็มสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย
ในประเทศไทย การฝังเข็มรักษาสัตว์มีมานานกว่า 20 ปีแล้วครับ แต่เป็นการรักษากันอยู่ในวงแคบๆ ซึ่งสัตวแพทย์ในยุคแรกๆ จะแสวงหาความรู้ได้จากการหาตำรามาศึกษาเอง ไม่มีสถานที่สอน ทำให้ต้องอ่านเอง ทดลองเอง ด้วยความสงสัยหมอจึงไปหาข้อมูลเรื่องนี้มาเพิ่ม จนพบว่า สัตวแพทย์คนแรกๆ ที่เรียนจบการฝังเข็มในสัตว์ คือ ท่านอาจารย์หมอชำนาญ ตรีณรงค์ ซึ่งท่านไปเรียนที่สถาบัน Chi institute ที่อเมริกาในช่วงปี 2006 และ ใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปี ก่อนจะกลับมาที่ไทย
หลังจากนั้น โอกาสในการเรียนรู้จึงเปิดกว้างมากขึ้น เริ่มมีการจัด workshop มีสัตวแพทย์จากจีนและอเมริกาวนเวียนเข้ามาสอน แต่ก็ยังไม่มีองค์ความรู้ที่มากพอ และ ก็ยังอยู่ในวงแคบๆ จนมาถึงยุคปัจจุบัน ที่มีสถาบันเปิดสอนหลายแห่ง โดยสถาบันที่มีคนไปเรียนมากสุดก็น่าจะเป็น Chi Institute เพราะ มีองค์ความรู้ครบที่สุด ซึ่งตัวหมอเองก็เรียนการฝังเข็มมาจากที่นี้เหมือนกันครับ

เมื่อไหร่เราต้องพาน้องหมาน้องแมว มารักษาด้วยการฝังเข็ม ?
ตามที่หมอได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น การฝังเข็มมีคนพยายามจัดให้เป็นการรักษาแบบ “ทางเลือก” แต่ในความเป็นจริง การฝังเข็มสามารถใช้เป็นการรักษาหลักก็ได้ รักษาเสริมก็ดี หรือ อาจใช้เป็นการรักษาควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันเลยก็ไม่ผิดอะไร หรือ แม้แต่ใช้ควบคู่ไปกับการกายภาพบำบัด
ซึ่งจากประสบการณ์ที่หมอเจอเคสมา ส่วนใหญ่จะเป็นเคสที่สิ้นหวังหมดกำลังใจจากการรักษาแบบปกติ หรือ รักษามานานแล้ว แต่อาการยังทรงตัว ไม่ดีขึ้น จึงมาเปลี่ยนแนวทางรับการรักษาแบบทางเลือก และ โรคที่พบส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น อาการปวด อัมพาต ขาอ่อนแรง กระดูกทับเส้นประสาท เป็นต้น รองลงมาก็จะเป็นกลุ่มโรคที่มีความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เช่น ปัญหาของโรค ตับ ไต หัวใจ เป็นต้นครับ หรือ แม้กระทั่งโรคที่หาสาเหตุไม่เจอก็จะถูกส่งตัวมาฝังเข็ม
จะเห็นได้ว่า การฝังเข็มในสัตว์เลี้ยง แม้เป็นการรักษาแบบทางเลือก แต่ถ้าเราเข้าใจกลไกของโรค และ เอามาใช้ในลักษณะ modern medicine ผสมผสานกันให้ถูกต้องพอเหมาะพอเจาะ ก็มักจะประสบความสำเร็จในการรักษาครับ
บทความโดย
น.สพ. ดารัชพงษ์ แสงทอง
Daruschapong Sangthong, DVM
คลินิกสัตวแพทย์และสัตว์เลี้ยง
ฝังเข็มและกายภาพบำบัด
Vet and Pet Clinic
Acupuncture and Rehabilitation
รู้ไหมว่า? น้องหมาน้องแมวก็มีสัตวแพทย์เฉพาะทาง
เข้าใจภาษากายด้วยท่าทางและหางสุนัขบอกอารมณ์