แบบบ้านไทยโมเดิร์น

บ้านสไตล์โมเดิร์น ภูมิปัญญาไทยที่เชื่อมสระว่ายน้ำและสวนหย่อมมาไว้ใต้ถุน

แบบบ้านไทยโมเดิร์น
แบบบ้านไทยโมเดิร์น

DESIGNER DIRECTORY :

เจ้าของ : คุณอลิสา โฉมยา และคุณสมานศักดิ์ อำมฤคโชค
สถาปนิก : Greenbox Design โดยคุณสุรัตน์ พงษ์สุพรรณ์


       ในเรื่องของ บ้านสไตล์โมเดิร์น แม้ว่าเทคโนโลยีจะส่งต่อองค์ความรู้และนวัตกรรมทันสมัยจากโลกตะวันตก มาสู่ผู้คนซีกฝั่งตะวันออกอย่างเป็นสากลแล้วก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าความเป็นพื้นถิ่นที่เหมาะสม ตามสภาพภูมิประเทศจะยังคงสร้างบุคลิกเฉพาะที่แตกต่างระหว่างกันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น เพื่อสร้างสภาวะน่าสบายต่อวิถีชีวิตในบ้านได้ตรงตามจริงที่สุด แบบบ้านไทยโมเดิร์น

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมแนวคิดการเปิดพื้นที่ในบ้านให้โล่ง และการยกใต้ถุนสูงเพื่อรับแสงและลมตามฤดูกาลแบบบ้านไทยจึงยังเป็นข้อคำนึงถึงหลักๆ ในการสร้างบ้านของคนไทยเสมอมา เหมือนกับที่  คุณเอม-อลิสา โฉมยา บอกสถาปนิกไว้ก่อนสร้าง แบบบ้านไทยโมเดิร์น หลังนี้ว่า “อยากได้บ้านแบบไทยๆ ที่คนไทยอยู่ได้สบาย มีใต้ถุนที่เปิดโล่ง และลมพัดระบายอากาศได้ดี โดยไม่ต้องอยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา”

ทางเข้าหน้าบ้านที่สามารถนำรถเข้าถึงได้ มองเห็นแนวหลังคาที่ซ้อนลดหลั่นลงมาเป็นสองระดับและเป็นการคลี่คลายรูปแบบของหลังคาปั้นหยาไทยๆ ให้ดูเบาบางและทันสมัยขึ้น
หากเดินเข้าบ้านจากฝั่งริมคลองก็จะพบกับพื้นที่ส่วนกลางนี้ก่อน สถาปนิกจึงออกแบบให้เป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง เพราะจัดวางแลนด์สเคปและสระว่ายน้ำให้เชื่อมต่อเข้ามาถึงในบ้านได้
ห้องนั่งเล่นแบบไม่เป็นทางการเป็นมุมที่เด็กๆ มักมาใช้นั่งเล่นนอนเล่นเพราะอยู่ระหว่างห้องรับแขกและห้องรับประทานอาหาร ทั้งยังเปิดโปร่งรับลมและเชื่อมมุมมองออกไปสู่สระว่ายน้ำ
ห้องรับแขกถูกดันให้ไปอยู่ด้านในของบ้านและเน้นการเปิดมุมมองในแนวนอนแบบพานอรามา ผ่านผนังบานเฟี้ยมกระจกซึ่งสามารถเปิดออกได้กว้าง เพื่อให้ลมพัดผ่านได้ดี และยังดึงบรรยากาศของนอกบ้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้องรับแขกได้ด้วย

ความต้องการเฉพาะทางต่อมาคือเรื่องของทำเลที่ตั้งบ้านซึ่งแวดล้อมด้วยโรงงาน เพราะเป็นธุรกิจที่เจ้าของบ้านทำอยู่ โดยตัดสินใจใช้ที่ดินติดโรงงานนี้สร้างบ้านเพื่อลดปัญหาเรื่องการเดินทาง ซึ่ง           คุณสุรัตน์ พงษ์สุพรรณ์ สถาปนิกจาก Greenbox Design ก็ได้ตอบปัญหานี้ด้วยงานดีไซน์ไว้อย่างชาญฉลาด

“ผมแก้ปัญหาที่ดินตาบอดนี้ด้วยการเปิดทางเข้าบ้านไว้สองทาง ทางแรกเป็นทางหลักที่ขับรถผ่านกลุ่มโรงงานเข้ามาด้านหน้าบ้าน อีกทางเดินข้ามคลองจากโรงงานมาด้านหลังบ้าน และเพื่อให้เส้นทางเดินกลางบ้านนี้สวยงามไม่ว่าจะเข้าจากทางไหน ผมจึงทำให้เป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้งที่มีแลนด์สเคปเลื้อยเข้ามาในบ้าน เชื่อมต่อด้วยสระว่ายน้ำ และแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นหรือเสียงจากโรงงานด้านข้างด้วยการวางผังส่วนห้องนอน ห้องเก็บของ และส่วนเซอร์วิสไปขวางไว้เพราะไม่ใช่พื้นที่ใช้งานในช่วงกลางวัน แต่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลางซึ่งทุกคนใช้ในช่วงกลางวันมากที่สุด เมื่อลำดับความสำคัญตามนี้ทำให้เกิดฟังก์ชันและหน้าตาของบ้านตามมา”

จากสระว่ายน้ำและลานกลางบ้านเข้ามาถึงห้องรับประทานอาหารที่ยกเพดานให้สูง แบบดับเบิลสเปซคล้ายอารมณ์ใต้ถุนบ้านไทยเพื่อให้พื้นที่หลักของครอบครัวนี้โปร่งโล่งที่สุด
เฟอร์นิเจอร์ในบ้านส่วนใหญ่ เจ้าของบ้านเลือกหามาเองและหลายชิ้นก็สั่งทำขึ้นมาให้พอดีกับสเปซของบ้าน รวมถึงโต๊ะรับประทานอาหารที่เป็นไม้สักขนาดยาว ซึ่งกลายเป็นหัวใจหลักของบ้านที่ทุกคนมักจะมาทำกิจกรรมของครอบครัวร่วมกัน คุณเอมบอกว่า “เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าค่ะ

นอกจากนี้ยังคำนึงถึงเรื่องพื้นฐานของทิศทางแสงแดดและลมสำหรับบ้านเขตร้อนชื้น โดยใช้ผนังทึบในทิศตะวันตกและใต้ ออกแบบหลังคาสองชั้นให้มีช่องว่างระบายอากาศร้อน และเจ้าของบ้านต้องการหลังคาแบบปั้นหยาแต่ปรับดีไซน์ให้เบา บาง และโปร่งขึ้น เพิ่มช่องกระจกใสรับแสงในจุดเชื่อมต่อกับฝ้าเพื่อรับแสงเช้าเข้าห้องนอน ตามไลฟ์สไตล์เจ้าของบ้านที่มักจะตื่นแต่เช้าตรู่เสมอ

“ผังบ้านทั่วไปมักจะทำห้องรับแขกเป็นโถงสูงไว้ส่วนหน้า แต่สำหรับบ้านนี้ผมดันห้องรับแขกเข้าไปในข้างในใกล้ชิดกับสวนและสระว่ายน้ำ แล้วเปิดมุมมองในแนวนอนผ่านผนังบานเฟี้ยมกระจกใหญ่ที่เปิดออกได้เต็มที่ เพื่อดึงความสดชื่นภายนอกเข้ามาภายใน แล้วเปิดเพดานส่วนโถงสูงในส่วนของห้องครัวและห้องรับประทานอาหารแทน เพราะคุณเอมเข้าครัวทำอาหารเองทุกมื้อ กิจกรรมส่วนใหญ่ของครอบครัวจึงอยู่บริเวณนี้มากที่สุดซึ่งเหมือนใต้ถุนบ้านไทย ที่เปิดโล่งออกไปสู่สวนกับสระว่ายน้ำได้เหมือนกัน”

การออกแบบสระว่ายน้ำเปิดโปร่งไว้กลางบ้านก็เพื่อให้ผู้อาศัยสามารถมองเห็นความสดชื่นนี้ได้ผ่านจากทุกๆ มุมของบ้าน
เหนือสระว่ายน้ำเป็นทางเดินเพื่อเข้าสู่ห้องนอนชั้นบนซึ่งเป็นดีไซน์ ที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้เป็นตัวบังแดดให้สระว่ายน้ำ เพื่อสามารถใช้งานสระได้แม้ในตอนกลางวันที่แดดจัด
ต้นเสม็ดแดงกลายเป็นต้นไม้ประจำบ้านที่ให้ทั้งความร่มรื่น สดชื่น และรูปทรงกิ่งก้านสวยๆ ใบไม่ร่วงง่าย ทั้งยังมองได้เพลินตา

สถาปนิกยังออกแบบบันไดทางเดินขึ้นชั้นบนของบ้านให้มีผนังเป็นกระจกโปร่งที่สามารถมองเห็นได้รอบบ้าน และใช้ส่วนทางเดินเชื่อมต่อสู่ห้องนอนเป็นแนวบังแดดให้สระว่ายน้ำชั้นล่างไปด้วย เพื่อให้เจ้าของบ้านใช้สระว่ายน้ำได้แม้ในช่วงกลางวันที่มีแดด

ภาพรวมของบ้านยังดูกลมกลืนกันไปทั้งหมดด้วยการคุมโทนสีหลักเป็นขาว เทา และสีของไม้ที่มาช่วยเพิ่มความอบอุ่น ส่วนสีเทานั้นมาช่วยลดทอนแสงที่ตกกระทบผนังให้นุ่มนวลขึ้น เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านเปิดรับแสงค่อนข้างมาก ขณะที่สีขาวก็ได้สีเขียวจากต้นไม้มาเสริมความสดชื่น โดยเฉพาะต้นเสม็ดแดงที่เลือกปลูกไว้กลางบ้าน

คุณเอมเล่าว่า “เราชอบบ้านโมเดิร์นค่ะแต่ก็ยังรักความเป็นไทย เอมชอบพื้นที่โล่งกว้างของห้องครัวและสระว่ายน้ำมากที่สุด ได้ยินเสียงน้ำคลอเบาๆ แล้วรู้สึกดี ส่วนเฮีย (สามี) ชอบฟังเพลงก็จะติดลำโพงไว้เปิดเพลงรอบบ้าน ทำให้บรรยากาศในบ้านผ่อนคลาย และเราก็ปลูกฝังให้ลูกๆ คุ้นชินกับอากาศธรรมชาติ เลยใช้พื้นที่กลางบ้านนี้กันอย่างคุ้มค่าและหวังจะให้ยั่งยืนต่อไปถึงรุ่นลูกโตเลยค่ะ”

เพราะอย่างนี้เองบ้านนี้จึงมีชื่อเรียกว่า Viva House เพื่อหมายถึงให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านได้อย่างยืนยาวและมีความสุขไปนานๆ

บันไดขึ้นชั้นบนซ่อนตัวอยู่ระหว่างผนังบ้านเชื่อมต่อมาจากห้องรับประทานอาหาร โดยผนังฝั่งที่ติดกับสระว่ายน้ำยังเปิดโปร่ง ให้มองผ่านเห็นได้ทำให้ไม่รู้สึกตัดขาดจากพื้นที่อื่นของบ้าน
ห้องนั่งเล่นบริเวณชั้นสองซึ่งเน้นให้ใช้งานในช่วงค่ำ หรือก่อนเข้านอนเพราะส่วนนี้ใช้เป็นตัวบังแดดให้กับสระว่ายน้ำในช่วงกลางวัน จึงเน้นการเปิดช่องหน้าต่างให้ลมพัดผ่านคลายความร้อนตลอดวัน
โทนสีเรียบเข้มภายในห้องนอนใหญ่ช่วยเน้นสร้างบรรยากาศของการพักผ่อนที่สงบนิ่ง ส่วนผนังประดับด้วยลำโพงดีไซน์จาก B&O ที่คุณสมานเลือกจัดวางด้วยตัวเองเพื่อเปิดเสียงเพลงผ่อนคลายก่อนนอน
สถาปนิกให้พื้นที่ห้องนอนค่อนข้างกว้างเพราะคำนึงถึงพฤติกรรมและช่วงเวลาในการใช้ห้องน้ำ โดยเลือกวางห้องน้ำไว้ทางฝั่งที่โดนแดดจัด และยังเปิดเพดานแบบสกายไลท์รับแสงแดดเข้ามาเพื่อลดความอับชื้นภายใน

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์

บ้านชั้นเดียวดีไซน์แบบไทยโมเดิร์น ทันสมัยและอยู่สบายไปพร้อมๆ กัน

บ้านไทยพื้นถิ่น จากวัสดุสมัยใหม่ที่ผสานกันอย่างลงตัว