ไขข้อข้องใจ “สุนัขกินกระดูก” ได้หรือไม่ ?

ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ในบ้านเรา หรือ แม้แต่ทางต่างประเทศเองก็ตาม มักจะมีวัฒนธรรมความเชื่อที่ว่า หมาจะต้องแทะกระดูก ซึ่งหมอว่ามีมานานเป็นพันปีหรือล้านปีแล้ว ตั้งแต่มนุษย์ยุคแรกยังไม่เดินตัวตั้งตรงเริ่มเลี้ยงหมาด้วยซ้ำ รวมถึงหมอเองก็โตขึ้นมาในบ้านที่เลี้ยงหมามาตั้งแต่เด็กและมักจะเห็นคุณพ่อให้หมาที่บ้านแทะกระดูกอยู่เป็นประจำ แต่ก็ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องไปถึงโรงหมอ เพื่อทำการรักษาพยาบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะค้านกับที่คนรักสัตว์อย่างเราเคยได้ยินกันมาว่า “อย่าให้ สุนัขกินกระดูก นะ เดี๋ยวมันจะไปติดในท้องแล้วจะต้องเสียเงินผ่าตัด

แล้วสรุปว่า การที่เราให้ สุนัขกินกระดูก มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรกันบ้าง วันนี้ บ้านและสวน Pets จะมาคุยเรื่องนี้กันครับ

กรณีแรก

ถ้าเราให้เป็นกระดูกชิ้นใหญ่มาก เช่น กระดูกท่อนขาของหมูหรือวัว หมาจะได้แค่แทะครับ แต่ไม่สามารถกินกระดูกตรงนี้ได้ เพราะขนาดก้อนมันใหญ่มากและมีความแข็ง โดยเฉพาะกระดูกที่ผ่านความร้อนจนทำให้สุกแล้ว เนื้อกระดูกก็จะแข็งมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าโชคร้ายในการแทะ บางครั้งก็อาจจะทำให้ฟันหักหรือบิ่นจนถึงโพรงประสาทฟัน (pulp cavity) ซึ่งภายในประกอบด้วยเส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่มาก ถ้าเกิดอย่างนี้ขึ้นรับรองว่าหมาจะปวดฟันแน่นอน แบบนี้ก็ต้องไปหาคุณหมอ เพื่อทำการถอนฟันหรือทำการอุดฟันต่อไป

กรณีที่สอง

ถ้าเราให้เป็นกระดูกที่มีขนาดเล็ก เช่น กระดูกขาไก่ ด้วยความตะกละของหมาก็มักจะกินเข้าไปแล้วเคี้ยวเพียงไม่กี่คำแล้วก็กลืน ซึ่งจะทำให้กระดูกแตกออกเป็นชิ้นเล็กที่มีปลายแหลมและอาจจะทิ่มแทงทางเดินอาหารได้ เกิดเป็นแผลในทางเดินอาหาร (gastrointestinal laceration and abrasion) ทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร หมาก็จะมีลักษณะอาการถ่ายเป็นเลือดสีดำหรือถ้ากระดูกนั้นทิ่มถึงบริเวณลำไส้ใหญ่ก็จะมีเลือดสดไหลออกมา จึงต้องส่องกล้องคีบออกหรือผ่าออกครับ

แต่ถ้าโชคดีว่าเมื่อทานกระดูกเข้าไปแล้วไม่ทิ่มตำ เราก็จะต้องลุ้นกันต่อไปครับว่า เศษกระดูกที่ถูกเคี้ยวมาแล้ว มันจะไปอุดตันทางเดินอาหาร (gastrointestinal obstruction) ไหม แล้วถ้าอุดตันหมาก็จะมีอาการอาเจียน อาจร่วมกับท้องเสียด้วย ซึ่งจะต้องทำการผ่าออกด้วยเช่นกันครับ แต่ไม่ว่า หลอดอาหาร (esophagus) จะอุดตันแบบสมบูรณ์หรือไม่ก็ตาม บริเวณนี้จัดเป็นตำแหน่งที่ทำงานยากที่สุด โดยหลอดอาหารแบ่งออกเป็นสองส่วนคือหลอดอาหารส่วนคอ (cervical esophagus) และหลอดอาหารส่วนอก (thoracic esophagus) ส่วนที่มักจะมีการติดของกระดูกคือหลอดอาหารส่วนอก ซึ่งถ้ามีอาการเศษกระดูกติดตันในช่องอก หมอจะมีการรักษา 3 ทางเลือก คือ

1) ส่องกล้องและพยายามคีบออก

2) ดันกลับเข้าไปในกระเพาะอาหาร (ถ้าไม่แหลมคมหรือก้อนใหญ่มากจนเกินไปก็น่าจะสามารถผ่านออกมากับอุจจาระได้ แต่ถ้าแหลมคมหรือก้อนใหญ่มากก็จะต้องผ่าเอากระดูกออกจากกระเพาะผ่านทางหน้าท้อง)

3) ถ้าสองชั้นแรกไม่สำเร็จสิ่งที่หมอจะต้องทำก็ คือ ผ่าเปิดช่องอก ซึ่งจะมีความซับซ้อนมากกว่าการผ่าผ่านทางหน้าท้อง เพราะ ตำแหน่งของหลอดอาหารบริเวณช่องอกจะอยู่ใกล้กับเส้นเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า ที่มีเส้นประสาทหลายเส้นพาดผ่าน อีกทั้งต้องใช้การวางยาสลบพร้อมกับเครื่องช่วยหายใจในขณะที่ผ่า รวมถึงหลอดอาหารเองก็เป็นอวัยวะที่แผลหายยากกว่าอวัยวะในช่องท้องเยอะมาก เพราะ

  • ขาดผนังเยื่อเลื่อม (serosa) คลุม
  • มีเลือดมาเลี้ยงในปริมาณจำกัดเพราะมาเลี้ยงเป็นเส้นเดี่ยว (segmental blood supply)
  • เนื้อเยื่อไขมันโอเมนตัม (omentum) ซึ่งมีหลอดเลือดปกคลุม เพื่อช่วยในการหายของแผล
  • มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาจากการลืมและหายใจ
  • แรงตึงทีหลอดอาหารเอง (เมื่อทำการเย็บไม่สามารถดึงเข้ามาติดกันได้มากเทียบกับลำไส้ที่มีความยาวเยอะกว่า)

ถัดมา ถ้าหากว่าหมาไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ยังต้องลุ้นอีกว่า จะเกิดปัญหาอุจจาระแข็ง (fecal impaction) จนไม่สามารถถ่ายออกมาได้หรือไม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ปัญหาอุจจาระแข็งมักจะเจอกับเศษกระดูกที่มีขนาดเล็กรวมตัวกันเป็นก้อนอยู่ภายในลำไส้ใหญ่ ถ้าหากมีอาการนี้ ก็จะต้องกินยาระบาย ทำให้อุจจาระนิ่ม หรือ ถ้าหากมีอาการหนักก็จะต้องทำการวางยาสลบ แล้วสวนทวาร พยายามคีบเอาอุจจาระนี้ออกมา หรือ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็ต้องผ่าเอาออกอีกครับ

ที่ผ่านมาหมอพูดถึงการกินกระดูกส่วนแข็ง ทางนี้เรามาพูดถึงไขกระดูกด้านในครับ ไขกระดูก คือ ส่วนที่อยู่ในแกนกลางกระดูก ตามปกติจะมีหน้าที่ในการสร้างเซลล์เม็ดเลือด ประกอบด้วยเซลล์ไขมันและเซลล์เม็ดเลือดจำนวนมาก ซึ่งการกินไขกระดูกนี่เอง มีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบ เพราะ การกินอาหารที่มันมากจนเกินไป จะสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบได้นั่นเอง

สุนัขกินกระดูก
ขอบคุณภาพจาก https://thecozyapron.com

โอ้โห!!! พูดมาตั้งยาวข้อเสียของการให้กระดูกเพียบเลย กระจกมีสองด้านเสมอนะครับ คราวนี้เรามาดู “ข้อดี” ของการให้กระดูกกันบ้าง

อย่างที่คุยไปแล้วข้างต้นครับว่า กระดูกวัว กระดูกหมูชิ้นใหญ่มาก โอกาสที่หมาที่บ้านเราจะเคี้ยวได้มันยากหรือไม่มีเลย จะได้เเต่แทะเล็มเอามันส์ แต่สำหรับกระดูกไก่จะเป็นกระดูกที่สามารถทำการเคี้ยวได้ง่ายกว่า ซึ่งการที่หมาได้เคี้ยวกระดูกจริงๆ จะทำให้หมามีความสุขและตอบสนองสัญชาตญาณที่ติดตัวเขามาเป็นระยะเวลานาน นอกเหนือจากนั้นแล้ว กระดูกยังมีส่วนประกอบของแคลเซี่ยมและฟอสฟออรัสที่ถือว่าเป็นแหล่งแร่ธาตุชั้นดีสำหรับสัตว์ รวมถึงการเคี้ยวกระดูกยังช่วยขัดฟัน ทำให้ฟันสะอาด อุจจาระไม่เหลว อึเป็นก้อน และ มีกลิ่นลดลง

คำถาม สรุปแล้วจากข้อดี-ข้อเสีย เราควรจะให้หมากินกระดูกไหม?

คำตอบ คือ “ให้ครับ”

โดยสามารถให้กระดูกสัตว์ชนิดไหนก็ได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นวัว หมู ไก่ เป็ด แต่สำคัญที่สุด คือ จะต้องเป็นกระดูกชิ้นเล็ก ไม่ใหญ่มากจนเกินไปที่จะทำให้เกิดการพยายามเคี้ยวแล้วทำให้ฟันแตก และ ควรเป็นกระดูกติดเนื้อที่ ”ไม่สุกเต็มที่” (lightly cooked) จะดีที่สุด เพราะ หมาจะได้เคี้ยวและแทะ รวมถึงกินเนื้อ กระดูกอ่อน เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ติดอยู่กับชิ้นกระดูก เป็นการขัดฟัน ทำให้เหงือกและฟันสะอาดไปในตัว อีกทั้งความสุกยังสามารถที่จะฆ่าพยาธิกลุ่มตัวตืดที่มากับเนื้อดิบและแบคทีเรีย ซึ่งสามารถปนเปื้อนมากับอาหารไม่สุก เช่น E.Coli, Salmonella ได้

บทความโดย

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)

Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS

โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์

Parichart Suwinthawong Animal Hospital


รู้ไหมว่า? น้องหมาน้องแมวก็มีสัตวแพทย์เฉพาะทาง

โรคเอดส์แมว (Feline Immunodeficiency Virus; FIV)