อันตรายของพิษจากคางคกที่มีผลต่อสุนัข พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

“ย่างเข้าเดือน 6 ฝนก็ตกพรำๆ กบมันก็ร้องงึมงำ ระงมไปทั่วท้องนา….”  เพลงนี้ช่างเข้ากับบรรยากาศช่วงนี้เหลือเกิน แต่นี่ก็เข้าสู่เดือน 7 ไปแล้ว ฝนยังคงตกทั้งวันทั้งคืน ในสวนบ้านฉันช่างชุ่มฉ่ำเหลือเกิน ที่แน่ๆนอกจากเสียงกบร้องแล้ว ยังมีอึ่งอ่าง และคางคกร้องกันระงมไปทั่วเช่นกัน โดยเฉพาะเจ้าตัวหลังนี่เจอเยอะมากที่สุด

เมื่อก่อนไม่ได้รู้สึกกังวลใจอะไรกับเจ้าสัตว์ที่มากับหน้าฝนพวกนี้ แต่หลังจากที่เลี้ยงสุนัขแล้วนั้น ความกังวลเรื่อง พิษจากคางคก ก็เกิดขึ้น แถมเจ้าสุนัขที่เลี้ยงก็พันธุ์บูลเทอเรียร์เสียด้วย เรื่องความขี้สงสัย จมูกไว นักดมกลิ่นอันดับหนึ่งก็ต้องยกให้เลย

วันหนึ่งเมื่อฝนหยุดตก เราก็ดีใจจะได้ปล่อยเจ้าหมาน้อยออกไปวิ่งเล่นในสวนบ้าง หลังจากอุดอู้มาทั้งวัน ด้วยความที่เป็นช่วงเย็น ใกล้ค่ำท้องฟ้าเริ่มมืดมองอะไรไม่ชัดแล้ว แต่สังเกตได้ว่าเจ้าหมาน้อยของเราดมอะไรฟุดฟิดอย่างสนใจมากผิดปกติ ดูจากลักษณะร่างกายทั้งหางที่ชี้เกร็ง ความกระตือรือร้นต่างๆ รวมถึงการพุ่งตัวเข้าใส่พุ่มไม้ใกล้บ่อน้ำอย่างเอาเป็นเอาตาย เราจึงรีบเปิดไฟสนามให้ทั่วและร้องเรียกเจ้าหมาน้อย แต่หาได้สนใจเสียงเรียกเราไม่ ฮ่าๆๆๆๆ เราพยายามเข้าไปจับตัวออกมา ด้วยความซนและสนใจใคร่รู้ต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า มันดึงดันที่จะมุดเข้าไปในพุ่มไปที่เปียกชื้นนั้นอย่างไม่ย่อท้อ กว่าจะจับตัวออกมาได้ตัวเราเองยังได้แผลจากกิ่งไม้ แล้วเจ้าหมาน้อยจะเหลือรึ?

ปรากฏว่าใบหน้าอันหล่อเหลาเนียนขาว เต็มไปด้วยร่องรอยความซน รอยแดงเต็มไปหมดโดยเฉพาะบริเวณจมูกและปาก จะด้วยสาเหตุอะไรไม่รู้ เมื่อแยกตัวออกมาแล้วเจ้าหมาน้อยยังคงเห่า กระสับกระส่าย ตื่นเต้นไม่หยุด เอาแล้วไง โดนตัวอะไรกัดเข้าหรือเปล่า เรารีบรุดไปดูที่จุดเกิดเหตุ นั่นมันแก๊งคางคกแม่ลูกสองสามตัวนี่นา ว่าแต่คางคกมันจะทำอะไรเจ้าหมาเราได้เหรอ? มือใหม่เพิ่งเลี้ยงสุนัขหารู้ไม่ สายตรงถามผู้รู้และเสิร์ชหาข้อมูลเรื่องคางคกกับสุนัขทันที ผลปรากฏว่ามีข้อมูลให้กังวลและตกใจเพียบ มาๆๆ จะสรุปให้ฟังค่ะ

 

คางคก

เป็นหนึ่งในสัตว์ที่อันตรายต่อสุนัขอย่างมาก เนื่องจากคางคกมีต่อมพิษอยู่บริเวณใต้ผิวหนัง เป็นต่อมที่เก็บและขับสารพิษ ที่เรามักเรียกกันว่า ยางคางคก นั่นล่ะ  ที่แน่ๆคือไม่ว่าจะคางคกชนิดไหนก็พิษทั้งสิ้น และคางคกที่เราๆพบบ่อยในช่วงหน้าฝนคือ คางคกบ้าน ลักษณะเด่นคือ หนังที่ขรุขระ ตะปุ่มตะป่ำทั่วทั้งตัวโดยเฉพาะบริเวณด้านหลัง  เมื่อเจ้าสุนัขไปดม กัด หรือคาบ ปากที่สัมผัสโดนต่อมน้ำลายที่ผิวหนังจะปล่อยน้ำพิษออกมา พิษจะถูกดูดซึมผ่านเยื้อชุ่มในช่องปากและซึมเข้ากระแสเลือดอย่างรวดเร็ว และหากโชคร้ายเจ้าสุนัขกัดกินคางคกเข้าไป พิษจะถูกดูดซึมผ่านทางเดินอาหารหรือผิวหนังทางบาดแผลหรือเยื่อบุตา ร้ายแรงถึงขั้นพิษกระจายเข้าสู่ระบบหมุนเวียนของเลือดและระบบประสาทเสียชีวิตได้เลย

 

อาการที่ต้องสังเกตเมื่อโดนพิษ

อาการเริ่มต้นเมื่อได้รับพิษคือ บริเวณผิวหนังชุ่มบวมแดง น้ำลายไหลอย่างมาก เกาหรือตะกุยบริเวณปากและส่งเสียงร้อง ถ้าโดนพิษมากก็จะมีฟองและน้ำลายที่ปาก และแสดงอาการทางปราสาทเช่นอาการตากระตุก เดินไร้ทิศทาง หรืออาเจียน หายใจเร็ว หากถึงขั้นรุนแรงจะชัก โดยแสดงอาการภายใน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งอาการที่กล่าวมานี้ขึ้นอยู่กับขนาดของคางคกและปริมาณสารพิษที่ได้รับ

 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ให้รีบใช้น้ำสะอาดหรือน้ำประปาที่ไหลอย่างต่อเนื่องชะล้างบริเวณช่องปากหรือผิวหนังที่สัมผัสกับน้ำพิษของคางคก โดยทิศทางการไหลของน้ำนั้นห้ามไม่ให้ไหลเข้าจมูกหรือปาก จนอาจทำให้เกิดการสำลักน้ำ จากนั้นรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที

 

ส่วนเจ้าหมาน้อยของดิฉันในวันนั้น ถือว่าโชคดีที่เราเห็นเหตุการณ์ทันทีและช่วยเหลือทัน น่าจะเพียงแค่เลียหรือสัมผัสโดนพิษไม่มากนัก หลังจากใช้สายยางฉีดล้างนานประมาณเกือบ 15 นาที ชะล้างพิษออกไปมากที่สุดแล้ว อาการดีขึ้นไม่บวมแดง น้ำลายหยุดไหล และไม่มีอาการทางปราสาทร่วมด้วยใดๆ จึงถือว่าพ้นอันตราย เฮ้อ! รอดตัวไปนะเจ้าจอมซน

หมายเหตุ: สัตว์ส่วนมากมักหายจากอาการพิษเมื่อได้รับการชำระล้างน้ำพิษในช่วงแรกและได้รับการรักษาตามอาการอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เช่นในรายที่มีอาการปอดบวมหรือโรคหัวใจ

 

ขอบคุณ
ข้อมูลจากคุณหน่อย Studio Doger และ
เอกสารเผยแพร่ความรู้ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

Story + Photo : ลีฬภัทร กสานติกุล


 

5 อาหารคนที่สุนัขกินได้ คนก็กินดี

รวม 15 ผักและผลไม้ที่สุนัขกินได้ แถมยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย