Hotel Art Fair

BREAKING BOUNDARIES ศิลปะที่ไร้ซึ่งพรมแดนแห่งการสร้างสรรค์

Hotel Art Fair
Hotel Art Fair

ณ ห้องพักบนชั้น 8 เลขที่ 814 กับห้อง Spectrum หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน Hotel Art Fair 2019 กับโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของ มูลนิธิออทิสติกไทย และ มูลนิธิ ณ กิตติคุณ ซึ่งร่วมกันนำเสนอผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการจากเด็กพิเศษ

เราพบกับ ครูพิงค์-เพียงกาญจน์ สุวรรณปัทม ครูสอนศิลปะแห่งมูลนิธิออทิสติกไทย และ ครูปุ๊-สนทนี นทพล จากมูลนิธิ ณ กิตติคุณ สองตัวแทนจากสองมูลนิธิ มาช่วยอธิบายความหมายของคำว่า Breaking Boundaries ที่ชัดเจน และชื่นใจที่สุดให้ได้รับฟัง

ครูปุ๊-สนทนี นทพล จากมูลนิธิ ณ กิตติคุณ

“น้องแต่ละคนอาจจะวาดได้รูปเดียว แต่เราคือคนช่วยสอนให้เขาได้วาด ได้เห็นมากขึ้น ดังนั้นเขาก็เริ่มก้าวข้ามสิ่งที่เขาเคยทำเป็นความจำเจของเขาได้” 

ครูปุ๊บอกว่า “น้องทุกคนเป็นบุคลที่มีความต้องการพิเศษ เขาต้องการความพิเศษไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ สมองของเขาไม่เหมือนเรา แต่เขาคือคนคนหนึ่ง ดังนั้นเราต้องหาวิธีว่าสิ่งที่เขามีปัญหานั้นคืออะไร  เเล้วจึงค่อยหาทางช่วยแก้ปัญหา ตั้งแต่ทำงานมา 15 ปี เรารู้ว่าอะไรคือปัญหาที่แก้ได้ อะไรที่เราจะต้องอยู่กับมันต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นผลได้เป็นอย่างดี คือ เมื่อเราใช้ศิลปะ  สิ่งนี้ได้ช่วยให้เราเริ่มเข้าใจเเละรู้จักตัวตนของเด็ก ๆ มากขึ้น ทำให้สามารถดึงศักยภาพบางอย่างออกมาจากพวกเขาได้”

“Boundaries ในความหมายของทุก ๆ คน อาจไม่เหมือนกัน บางคนอาจบอกว่าเป็นเพราะว่าสมองทำงานไม่ปกติ หรือเป็นเพราะร่างกายยังมีความไม่ชัดเจนในการทำงาน หรือปัญหาด้านการพูดที่อาจพูดไม่ชัด พูดไม่ได้ พูดแล้วไม่เข้าใจ พูดได้ประโยคเดียว เป็นเหตุผลให้เราต้องหาวิธีช่วยให้ครอบครัวของเด็ก ๆ ได้ทราบว่าเขามีศักยภาพบางอย่าง และสามารถเป็นคนคนหนึ่งที่ทำอะไรได้เหมือนกับทุก ๆ คน ‘เหมือน’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเหมือนทุกอย่าง แต่จะมีอะไรที่ทำได้บ้าง เราทำทั้งศิลปะ ดนตรี เบเกอรี่ และการออกกำลังกาย เเต่สิ่งที่ดีที่สุดและเห็นผลเป็นรูปธรรมก็คืองานศิลปะ”

“พวกเขารู้แต่ว่าฉันทำ ฉันกำลังวาด แต่เขาไม่ทราบว่านี้คือศิลปะ หรือไม่ศิลปะ พวกเราเป็นคนดีไซน์มัน เราเป็นคน ดูดีไซน์นั้นว่านี่คือสวยนะ มีคุณค่านะ แต่เขาไม่ทราบว่ารูปนี้สวยขนาดไหน เขาแค่วาดลงไปตามที่อยากวาด แต่เราสิ พอได้มอง เรารู้สึกว่าเขามีอะไรบางอย่างในตัว แต่ตัวเขาเองไม่รู้เลย น้อง ๆ แต่ละคนอาจจะวาดได้รูปเดียว เหมือนรูปช้างที่จะวาดแบบเดียวแบบนี้เสมอ แต่เรามาช่วยให้เขาไม่วาดแบบนี้อย่างเดียว ช่วยให้วาดหลายอย่าง เขาก็ได้เห็นมากขึ้น ดังนั้นเขาก็เริ่มก้าวข้ามสิ่งที่เขาเคยทำเป็นความจำเจของเขา ให้เขามีความเข้าใจมากขึ้น”

เพียงกาญจน์ สุวรรณปัทม ครูสอนศิลปะแห่งมูลนิธิออทิสติกไทย

“ศิลปะอยู่ทุกหนทุกแห่ง แล้วสามารถที่จะเยียวยาหรือช่วยทุก ๆ คนได้”

ด้านครูพิงค์บอกว่า “ศิลปะอยู่ทุกหนทุกแห่ง แล้วสามารถที่จะเยียวยาหรือช่วยทุก ๆ คนได้ ในส่วนของกลุ่มเด็กออทิสติก เราจะใช้ศิลปะบำบัดบวกกับการปรับพฤติกรรม หลังจากที่เขากล้าที่จะตัดสินใจแล้ว อย่างอื่นก็จะเริ่มเปิดออก เริ่มที่จะสื่อสารกับคนอื่น ๆ รอบข้างได้ เท่าที่ทำมาหลังจากที่ทำการเยียวยาไปพักหนึ่งแล้ว เขาจะสามารถสื่อสารกับผู้คนภายนอกได้ชัดเจนขึ้น แล้วก็พูดอะไรที่คนเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม ทีนี้เวลาเขาจะสื่อสาร เขาจะสื่อออกมาผ่านสีสัน เเละลายเส้น  โดยเราจะดูว่าแต่ละผลงานดูเป็นอย่างไร แล้วจะพูดคุยให้เขาช่วยเล่าเรื่องถึงภาพที่กำลังวาด พูดถึงความรู้สึกที่เขามีต่อภาพนั้น  ๆ เด็กพวกนี้จริง ๆ มีปัญหาถึงความรู้สึกว่าเขารู้สึกอย่างไร แต่หลังจากที่ใช้สีสัน หรือได้ใช้เวลาพูดคุย ขาจะบอกได้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร จากตรงนั้นก็จะต่อยอดขึ้นมาเรื่อย ๆ

“เด็กเหล่านี้เขาแสดงความรู้สึกผ่านภาพ ผ่านสี ผ่านเส้น ซึ่งบางครั้งเขาพูดไม่ได้ และไม่สามารถที่จะสื่อออกมาเป็นคำพูดได้ ดังนั้นศิลปะไม่มีผิด ไม่มีถูก มันออกมาจากข้างในโดยที่เราไม่ต้องไปกฎไปเกณฑ์มากมาย ซึ่งเราเชื่อมาก ๆ ว่ามันจะช่วยเยียวยาข้างในพวกเขาได้จริง ๆ”

ที่สำคัญลวดลายน่ารักที่เด็กเหล่านี้วาดมันขึ้นบางชิ้นจะถูกนำไปทำเป็นสินค้าออกจำหน่ายที่ ไอคอนสยาม สร้างรายได้เข้ามูลนิธิภายใต้แบรนด์ Art Story by Autistic Thai ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาน่ารัก  ๆ ผ้าพันคอ แก้ว เสื้อผ้า ฯลฯ

ประณิธาน พรประภา

“ก่อนจะ Breaking Boundaries เราต้องมีความรู้เรื่องนั้นก่อน ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม”

เรานั่งคุยกับ คุณพีท-ประณิธาน พรประภา ในห้องน้ำ ใช่ คุณอ่านไม่ผิด เรานั่งคุยกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด และผู้ก่อตั้งบริษัท สแครทช์ เฟิร์สท์ จำกัด ในห้องน้ำจริง ๆ

ด้วยความสนใจในศิลปะ ดนตรี และวัฒนธรรมของคุณพีท เขาจึงเป็นแนวหน้าในการก่อตั้งเทศกาลวันเดอร์ฟรุ๊ต (Wonderfruit) เทศกาลดนตรีและศิลปะที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความบันเทิงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ทั้งการเป็นพื้นที่ No Plastic Zone ที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Plastic Pollution Coalition (PPC) เพื่อลดจำนวนการใช้พลาสติกภายในงานให้เหลือศูนย์ การสร้างสรรค์ Sustainability Pavilion ภายใต้ความตื่นตาตื่นใจ โครงสร้างสถาปัตยกรรมชั่วคราวยังแฝงไว้ด้วยความยั่งยืน ทั้งการใช้วัสดุและแนวคิดที่ศิลปินและผู้ออกแบบ ต่างก็มุ่งเน้นด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็น และ Carbon offset การจัดแคมเปญให้เหล่าวันเดอเรอร์ ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการซื้อเครื่องดื่มในงาน 1 แก้ว เท่ากับการลงทุนปลูกต้นโกงกาง 1 ต้น ซึ่งทำให้วันเดอร์ฟรุ๊ตเป็นเทศกาลที่มีการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้สำเร็จ

สำหรับคุณพีท เขา Breaking Boundaries ด้วยดนตรีและศิลปะที่เกิดจากความคลั่งไคล้ และใฝ่รู้เป็นที่ตั้ง เขาบอกกับเราว่า

“ผมนำความตั้งใจของวันเดอร์ฟรุ๊ตมาไว้ที่นี่ (จัดแสดงใน Hotel Art Fair) สำหรับการทำเทศกาลฯที่ผ่านมาเราสนุกกับการตั้งคำถาม อะไรที่เราไม่รู้ เราก็พยายามจะเข้าใจมัน อย่าง Recycling หรือ Upcycling แม้กระทั่งด้าน Architecture เราก็มอง เราทำงานกับสถาปนิกไม่ว่าจะนำของเก่ามาใช้ หรือการสร้างนวัตกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อมน้อยที่สุด วันเดอร์ฟรุ๊ตมีความคิดอย่างนั้นมากกว่าเรื่องดนตรี ดนตรีเป็นแค่สิ่งที่เรานำมาเสริมเพื่อทำให้สิ่งพวกนี้มันเกิดชีวิตขึ้น

Breaking Boundaries จริง ๆ เราต้องมีความรู้ก่อน ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม จุดประสงค์ของวันเดอร์ฟรุ๊ตคือการปกป้องธรรมชาติโดยใช้การสร้างสรรค์ทางศิลปะ ดนตรี ฯลฯ ดังนั้นเราต้องมีความรู้ ต้องศึกษา ต้องเข้าใจ และรู้วิธีว่าจะสื่อสารออกไปอย่างไร สำหรับงานวันเดอร์ฟรุ๊ต ‘ศิลปะ’ สำหรับเรามันมีหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ดนตรี เเละอาหาร เราพยายามจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อความรู้เรายิ่งเยอะ ก็จะยิ่งสามารถ Breaking Boundaries ได้”

“ศิลปะกับดนตรีเป็นเรื่องเดียวกัน ศิลปะมันเป็นได้หลายอย่าง แต่ว่าผมว่ามันต้องมีความตั้งใจที่เข้าใจมันก่อนว่า คนที่จะทำงานศิลปะเขาพยายามจะสื่ออะไร ต้องมีความเข้าใจมันลึก ๆ”


เรื่อง: ND24
ภาพ/วีดีโอ: วงศกร จิรชัยสุทธิกุล, อำพล ซึ้งจิตสิริโรจน์
ตัดต่อ: อำพล ซึ้งจิตสิริโรจน์

คุยกับวรทิตย์ เครือวาณิชกิจ และไผทวัฒน์ จ่างตระกูล แห่งฟาร์มกรุ๊ป ผู้ทำให้งานออกแบบกับศิลปะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

HOTEL ART FAIR 2019
9 ห้อง 9 แกลลอรี่ ที่นักสะสมผลงานศิลปะไม่ควรพลาดใน HOTEL ART FAIR 2019