หมากับเหมียว กินอาหารแบบเดียวกันได้หรือไม่

“หมาที่บ้านชอบกินอาหารแมวมากเลยค่ะคุณหมอ” ประโยคนี้จะเป็นประโยคที่สัตวแพทย์ทุกคนน่าจะต้องเคยผ่านหู และเชื่อว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายท่าน ก็น่าจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ ว่าแท้จริงแล้ว สุนัขกินอาหารแมว ได้หรือไม่ หรือ แมวกินอาหารสุนัข ได้หรือไม่

เราอาจเคยอ่านเจอบทความในอินเตอร์เน็ต ที่บอกว่าสุนัขมีบรรพบุรุษมาจากสุนัขป่า จึงมีลักษณะนิสัยในการกิน เป็นสัตว์กินเนื้อเพียงอย่างเดียว (Carnivore) แต่แท้จริงแล้วสุนัขบ้านที่เราเลี้ยงนั้นมีวิวัฒนาการจากสุนัขป่าก็จริง แต่ผ่านการวิวัฒนาการมาหลายหมื่นปีแล้ว ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังภาพที่แสดงจะเห็นว่าสุนัขป่า และน้องสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนี่ยนมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือความต้องการสารอาหาร และความสามารถในการนำสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตไปใช้ด้วย โดยลำดับอนุกรมวิธาน หรือการจัดกลุ่มของสิ่งมีชีวิต สุนัข และสุนัขป่าอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ order Canivora ซึ่งฟังดูแล้วจะใกล้เคียงกับคำว่า Carnivore นั้นแปลว่าสัตว์กินเนื้อ แต่แท้จริงแล้วสัตว์ที่อยู่ใน Order นี้ ไม่ได้ต้องเป็นสัตว์กินเนื้อ (carnivore) ทุกชนิด ยกตัวอย่างเช่น หมีแพนด้า ที่เป็นสัตว์กินพืชเป็นหลัก (herbivore) ดังนั้นหมายความว่าสุนัขบ้านที่เราเลี้ยงกันในปัจจุบันนี้ อาจจะไม่ใช่สัตว์กินเนื้อเพียงอย่างเดียวดังที่เราเห็นในบทความ มีหลักฐานยืนยันเรื่องนี้คือการนำพันธุกรรมของสุนัขบ้านหลากหลายสายพันธุ์ มาเปรียบเทียบพันธุกรรมของสุนัขป่าจากหลายประเทศ พบว่ามียีน 10 คู่ที่สุนัขเลี้ยงมีเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับการย่อย และนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้ นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า สุนัขบ้านที่เราเลี้ยงกันนั้น แตกต่างจากสุนัขป่าในอดีตแล้ว และสามารถนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้ได้ด้วย สุนัขบ้านจึงเป็นสัตว์ที่มีนิสัยในการกิน เป็น omnivore หรือ สัตว์ที่กินทั้งพืชและเนื้อสัตว์นั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก : wagwalking.com

ทีนี้เรามาพูดในส่วนของแมวบ้างนะคะ แมวและสุนัขอยู่ใน order Carnivora เช่นเดียวกัน แต่นิสัยในการกินของแมวนั้นเป็นสัตว์กินเนื้อเพียงอย่างเดียว หรือ Carnivore ค่ะ ซึ่งประเด็นนี้มีนัยยะไปถึงความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกันระหว่างแมวและสุนัขด้วย การที่แมวเป็นสัตว์กินเนื้อเป็นหลักนั้นคือแมวมีความจำเป็นต้องใช้โปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นสารอาหารหลัก โดยเมื่อได้รับโปรตีนเข้าสู่ร่างกายแล้วจึงค่อยนำโปรตีนมาเปลี่ยนเป็นคาร์โบไฮเดรต และนำไปสร้างเป็นพลังงานเพื่อใช้ในร่างกายต่อไป แต่อาจจะไม่สามารถย่อย และนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้ได้ดีมากนัก ดังนั้นอาหารของแมวจึงต้องเป็นอาหารที่มีระดับโปรตีนที่ค่อนข้างสูง

แมวกินอาหารสุนัข
ขอบคุณภาพจาก : portlandcatvet.com

นอกจากนี้หน่วยย่อยที่สุดของโปรตีนได้แก่กรดอะมิโน กรดอะมิโนในสัตว์นั้น แบ่งเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์เองได้ และ กรดอะมิโนจำเป็น คือกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ ต้องได้รับมาจากแหล่งอื่น ซึ่งก็คือจากการกินอาหารนั่นเอง เนื่องจากแมวเป็นสัตว์กินเนื้อเป็นหลัก แมวจึงได้รับกรดอะมิโนจากอาหารเป็นจำนวนมาก จึงแทบไม่มีความจำเป็นต้องสังเคราะห์กรดอะมิโนเองเลย ดังนั้น ชนิดของกรดอะมิโนที่แมวสามารถสังเคราะห์เองได้จึงน้อยกว่าสุนัข ทำให้มีความจำเป็นต้องได้รับกรดอะมิโนบางชนิดจากอาหารเท่านั้น ชนิดที่สำคัญได้แก่ ทอรีน (Taurine) หากขาดกรดอะมิโนตัวนี้จะทำให้เป็นโรคต่างๆตามมา ในอดีตเมื่ออาหารสำเร็จรูปเริ่มมีการใช้แพร่หลายในสัตว์เลี้ยงในระยะแรก ๆ พบว่ามีแมวเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (Dilated Cardiomyopathy) จำนวนมาก จึงได้มีการตรวจสอบอาหาร พบว่าปริมาณของกรดอะมิโนตัวนี้ต่ำเกินไป หลังจากนั้นจึงได้มีการตั้งมาตราฐานของระดับของกรดอะมิโนตัวนี้ในอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคจากการขาดกรดอะมิโนทอรีน โรคที่เกิดจากภาวะดังกล่าวได้แก่ โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และโรคตาบอดกลางคืน (Feline Taurine Retinopathy) นอกจากกรดอะมิโนตัวนี้ยังมีกรดอะมิโนตัวอื่นอีก ที่แมวไม่สามารถสังเคราะห์ได้ และมีความจำเป็นต้องเติมลงในอาหารของแมว การขาดกรดอะมิโนในกลุ่มนี้บางตัวทำให้สีขนของแมวสีดำสีตกกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งแมวในกลุ่มนี้หากเปลี่ยนให้กินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน สีขนสามารถกลับมาดำสนิทได้เหมือนเดิมด้วยค่ะ แต่ในบทความนี้ขอไม่ลงรายละเอียดมากนะคะ แค่ยกตัวอย่างมาให้ท่านผู้อ่านได้เห็นถึงความแตกต่างของความต้องการสารอาหารของสุนัขและแมวในเบื้องต้นเท่านั้นค่ะ

แมวกินอาหารสุนัข
ขอบคุณภาพจาก : www.dogfoodinsider.com

ดังนั้น หากถามว่า แมวกินอาหารสุนัข ได้หรือไม่ สามารถตอบได้เลยว่าระยะยาวคงไม่ดีแน่นอน เนื่องจากจะทำให้แมวขาดสารอาหารได้ โดยเฉพาะโปรตีน และกรดอะมิโน และจะทำให้เกิดโรคตามมาได้ กลับกันหากถามว่าสุนัขทานอาหารแมวได้หรือไม่ คำถามนี้อาจต้องตอบในหลายประเด็น ในแง่ของความต้องการของสารอาหารนั้นถือว่าครบถ้วน และระดับของโปรตีนอาจจะสูงเกินไปสำหรับสุนัขบางช่วงวัย โดยเฉพาะในสุนัขสูงอายุ ระดับโปรตีนที่สูงมากขนาดนั้นสามารถทำให้ไตมีปัญหาได้ในระยะยาวค่ะ อีกประเด็นคือเรื่องของราคา เนื่องจากอาหารแมวต้องเติมสารอาหารลงไปมากกว่าจึงทำให้ราคาแพงกว่าด้วย ดังนั้นจึงแนะนำให้ให้อาหารให้ตรงกับชนิดของสัตว์ และช่วงชีวิตของสัตว์จะเป็นการดีที่สุด เพราะจะได้รับสารอาหารที่ตรงตามความต้องการของสัตว์แต่ละชนิด และแต่ละช่วงวัยค่ะ

อีกประเด็นที่แตกต่างกันระหว่างสุนัขและแมวคือ ลักษณะนิสัยในการกินอาหาร ผู้เขียนได้รับคำถามจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายท่าน ตลอดระยะการทำงานหลายปี บางท่านกังวลว่าเลี้ยงแมว ให้อาหารแค่ 2 มื้อ แต่แมวไม่เคยกินอาหารหมดในทันทีหลังจากที่ให้อาหาร ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวล เนื่องจากพฤติกรรมการกินอาหารของแมวในธรรมชาตินั้นเป็นนักล่าที่ชอบฉายเดี่ยว และชอบล่าสัตว์ตัวเล็กๆกินทีละเล็กละน้อย แต่บ่อย ๆ ดังนั้นพฤติกรรมการกินของแมวจึงชอบกินอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ แต่บ่อย ๆ มากกว่าการกินเป็นมื้อใหญ่ ๆ หากพบปัญหาอย่างที่กล่าวในข้างต้น ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกังวล นอกจากนี้แมวยังเป็นสัตว์ที่หากินเวลากลางคืน ดังนั้นบางบ้านอาจจะพบว่าแมวแอบมากินอาหารที่วางทิ้งไว้ตอนกลางคืนด้วย หรือกินอาหารกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจจะแตกต่างกันในแมวแต่ละตัว เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงควรลองพยายามสังเกตธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงของตน เพื่อจะได้เข้าใจธรรมชาติของพวกเขา และดูแลได้อย่างถูกต้องค่ะ

ในส่วนของสุนัขจะแตกต่างกัน โดยสุนัขจะชอบกินเป็นมื้อใหญ่ ๆ โดยอาจจะให้ประมาณ 1-2 มื้อใน 1 วัน ในสุนัขที่โตเต็มที่แล้ว พฤติกรรมการกินของสุนัขอาจจะไม่มีความหลากหลายเท่ากับแมว แต่สิ่งที่ควรระวังก็คือเวลาที่เราให้อาหาร อย่าให้อาหารระหว่างมื้อ หรือให้ snack มากจนเกินไป เพราะ จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำหนักเกิน และก่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้อีกมากมายค่ะ

สุดท้ายนี้หวังว่า สมาชิก บ้านและสวน Pets จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างของทั้งความต้องการสารอาหาร และพฤติกรรมการกินอาหารของทั้งสุนัขและแมว และสามารถนำไปปรับใช้กับสัตว์เลี้ยงของท่านได้ รวมถึงหวังว่าท่านจะเข้าใจสัตว์เลี้ยงของท่านมากยิ่งขึ้นค่ะ

 

บทความโดย

สพ.ญ. ฐิตา เตโชฬาร
Thita Taecholarn DVM, MS
คลินิกระบบขับถ่ายปัสสาวะ คลินิกหัวใจ และคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
Urology clinic , Cardiology clinic and Diabetic clinic
Small Animal Teaching Hospital , Faculty of Veterinary Science , Chulalongkorn University


 

มา เพาะข้าวสาลี เป็นของขวัญให้น้องแมวกัน

ขนาดและความสูงมาตรฐานของเคาน์เตอร์อาหาร เพื่อคุณน้องหมา