เที่ยวสุพรรณบุรี แวะอุทยานผักพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติฯ บึงฉวาก

วัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทยในแต่ละภาคอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่แตกต่างกันเลยนั่นก็คือ ต้องมีผักเป็นเครื่องเคียงในสำรับอาหาร บึงฉวาก

โดยเฉพาะผักพื้นบ้านที่เก็บได้จากริมรั้ว นำมากินเป็นผักสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก แค่นี้ก็อร่อยเหาะ เจริญอาหารอย่าบอกใคร บึงฉวาก

หนังสือ Garden & Farm Vol.5 ผักและสมุนไพรพื้นบ้าน รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับผักพื้นบ้านหลากหลายชนิด ตั้งแต่การจำแนกผักพื้นเมือง การกินผักตามธาตุเจ้าเรือน รู้จักผักพื้นบ้าน 4 ภาค การปลูกผักพื้นบ้านเพื่อรับประทานในครัวเรือนและปลูกขายเป็นอาชีพ รวมถึงแนะนำสวนให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับผักและสมุนไพรพื้นบ้าน

เกริ่นเรื่องถึงผักพื้นบ้าน… ไปเที่ยวสุพรรณบุรีครานี้จึงไม่แคล้วต้องพาไปแวะอุทยานผักพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติฯ บึงฉวาก อำเภอเดิมบางนางบวช ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อุทยานแห่งนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้คนทั่วไปเห็นคุณค่าและประโยชน์ รวมถึงอนุรักษ์ผักพื้นบ้านไทย ที่นี่ไม่ได้มีเฉพาะแค่ผักพื้นบ้านภาคกลางเท่านั้น แต่ยังรวบรวมผักพื้นบ้านจากทั่วทุกภูมิภาคมาปลูกให้ได้เห็นกันด้วย

 

เส้นทางเดินภายในอุทยานผักพื้นบ้านฯ สะดวกสบาย ร่มรื่นด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่

ก่อนไปชมอุทยานมาทำความรู้จักบึงฉวากกันก่อนนะคะ… บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติเดิมเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำท่าจีน แต่เกิดการทับถมของตะกอนดินโคลนเป็นเวลานานทำให้ส่วนหนึ่งของแม่น้ำแยกตัวออกมาเป็นบึงรูปโค้งขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์จนกลายเป็นแหล่งหากินของนกและสัตว์ป่านานาชนิด ครอบคลุมทั้งพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและชัยนาท บนพื้นที่ร่วม 2,000 ไร่

สิ่งแรกที่เห็นเมื่อเข้าไปในเขตบึงฉวากคือ ถนนหนทางสะดวกสบาย สองข้างทางร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ช่วยเติมโอโซนให้ปอดได้สดชื่น ลมธรรมชาติที่พัดเอื่อยช่วยขับไล่ไอร้อนจากแสงอาทิตย์เที่ยงวันไม่ให้ร้อนจนเกินไป ก่อนเข้าอุทยานผักพื้นบ้านฯ อาจแวะเที่ยวสวนสัตว์ เกาะกระต่าย ศูนย์รวบรวมพันธุ์ไก่ และสัตว์หาดูยากก่อนก็ได้ โดยมีรถรางแวะให้เที่ยวชมในจุดต่าง ๆ อีกทั้งมีเส้นทางจักรยานที่น่าจะถูกอกถูกใจผู้รักการปั่น ได้ออกกำลังกายและท่องเที่ยวด้วยตัวเอง

ด้านหน้าอุทยานผักพื้นบ้านฯ มีจักรยานให้เช่า

ด้านหน้าอุทยานผักพื้นบ้านฯ มีป้ายเด่นสะดุดตา เลี้ยวเข้าไปจะเจอสะพานข้ามไปยังสวนที่มีผืนน้ำล้อมรอบ บนพื้นที่ 26 ไร่แห่งนี้รวบรวมพันธุ์ผักพื้นบ้านทั่วประเทศกว่า 540 ชนิด บรรยากาศแสนสบายทำให้การเดินชมไม่เหน็ดเหนื่อย หากใครอยากปั่นจักรยานด้านหน้าทางเข้าก็มีบริการจักรยานให้เช่า ภายในอุทยานมีการจัดภูมิทัศน์อย่างสวยงาม มีตัวอย่างผักพื้นบ้าน อาทิ มะเขือยักษ์ บวบหอม น้ำเต้า และฟัก ปลูกขึ้นค้างในกระถางหรือบ่อซีเมนต์ ตลอดเส้นทางมีผักพื้นบ้านหลากหลายทั้งที่เป็นไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เถาเลื้อย ไม้น้ำ ไม้ล้มลุก ไม้ชื้นแฉะ และไม้หัวเหง้า บางชนิดมีป้ายบอกส่วนที่นำไปบริโภคทั้งสำหรับนำไปประกอบอาหารและทำเครื่องดื่ม

 

จิกใหญ่ (Barringtonia augusta) ยอดอ่อนกินเป็นผักสด
ช้าเรือด (Caesalpinia mimosoides) ยอดอ่อนและช่อดอกอ่อนกินเป็นผักสด ช่วยให้เจริญอาหาร

 

 

เปราะหอม (Kaempferia galanga) ใบและเหง้าช่วยดับกลิ่นคาว ซอยใส่ในแกงเนื้อสัตว์ หรือเป็นส่วนผสมในเครื่องแกง
หญ้าหวาน (Stevia rebaudiana) ใบผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ เพื่อเติมรสหวานเป็นชาสมุนไพร
ผักฉ่อย (Lactuca indica) เก็บใบจากโคนต้นมาผัดหรือใส่ในแกงส้ม หรือใส่ในราดหน้าแทนคะน้าก็อร่อย

 

นอกจากผักพื้นบ้านแล้วยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ ไม้ 8 ทิศ สวนผีเสื้อ อุโมงค์เทคโนโลยีเกษตร โซนไผ่ การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน โรงเรือนรวบรวมพันธุ์กล้วย โรงเรือนระบบระเหยน้ำสำหรับปลูกผักต่างประเทศ เช่น น้ำเต้าไต้หวัน ฟักทองเนเธอร์แลนด์ และผักสลัด เป็นต้น ทั้งยังมีโรงเรือนผลิตและขยายพันธุ์ผักพื้นบ้าน จำหน่ายให้ผู้สนใจทั่วไปหิ้วกลับบ้านคนละต้นสองต้นในราคาไม่แพง หากใครอยากซื้อมากก็ไม่ว่ากัน!!

ออกจากอุทยาน สิ่งที่ดึงดูดความสนใจก่อนขึ้นรถกลับก็คือ ร้านจำหน่ายผักพื้นบ้านของชาวบ้านในละแวกนั้น คุณยายเจ้าของร้านยิ้มรับนักท่องเที่ยวอย่างเราเป็นการเชื้อเชิญ ในร้านเล็ก ๆ ขายทั้งผักสดพร้อมหิ้ว เช่น ดอกชมจันทร์ ผักชีช้าง มันปู ยอดกระเจี๊ยบแดง และผลฟักข้าว มีเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน เช่น ถั่วพู ถั่วฝักยาว ฟัก น้ำเต้า บวบ มะระขี้นก เป็นต้น ด้านข้างร้านมีผักกระถาง เช่น ผักติ้ว ผักแต้ว มะแว้ง พริก และมะเขือ อดใจไม่ไหวต้องซื้อกลับบ้านเพราะในหัวมีแต่ภาพเมนูอาหารเรียกน้ำย่อยในกระเพาะ

“ผักนี่ยายปลูกเอง เก็บมาขายเองทุกวัน ขายได้มากบ้างน้อยบ้างแต่ก็มีความสุข และคลายเหงาเพราะได้คุยกับนักท่องเที่ยว” คุณยายบอกด้วยสำเนียงสุพรรณอันเป็นเอกลักษณ์ คนฟังอย่างเราก็พลอยยิ้มอิ่มใจ ได้แต่คิดในใจว่ามีโอกาสเมื่อไหร่คงได้กลับมาเยือนบึงฉวากอีกครั้ง

 

Contact

เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 8.30 น. – 18.00 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-3543-0011 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเดิมบางนางบวช โทร. 0-3554-5450, 0-3555-5455

 

เรื่อง : อังกาบดอย

ภาพ : ธนกิตติ์ คำอ่อน


เรื่องที่น่าสนใจ